Skip to main content

กระโปรงสั้นและชุดรัดรูปในสถานที่ราชการ

คอลัมน์/ชุมชน


 


ผมได้แวะเวียนไปยังสถานที่ราชการบ่อยๆ  พยายามสังเกตเห็นอะไรที่อยากจะเห็นมาก (สอดส่ายหามัน…ว่างั้นเหอะ!)  นั่นก็คือ ‘ความงามและสัดส่วนของสาวๆ ประจำสถานที่ราชการ’


 


ย้อนไปในอดีตการทำงานราชการแบบอนุรักษ์นิยม (แบบขุนนาง, อำมาตย์) … ผมยังมีความทรงจำเกี่ยวกับการไปติดต่อสถานที่ราชการได้ดี  โดยเฉพาะพวก ‘ยักษ์มารในชุดกากี’  จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยพายายไปทำบัตรผู้สูงอายุที่ที่ว่าการอำเภอ  ต้องรอเป็นครึ่งวัน  นั่งน้ำตาเล็ดทนฟังคำผรุสวาทจากเจ้าหน้าที่ต่อว่ายายผม  เพราะแกแก่เงอะงะทำอะไรไม่ถูกใจพวกท่านนักปกครองทั้งหลาย … ผมจึงเก็บเอาความทรงจำนั้นมาเป็นความเจ็บแค้นฝังใจส่วนตัว


 


แต่เดี๋ยวนี้ผมให้อภัยเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วครับ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาวๆ  … เมื่อหลายวันก่อนไปนั่งแกร่วรอเพื่อนทำธุระที่เทศบาล  ผมคิดว่าผมนั่งรอได้ทั้งวัน  เพราะพนักงานของเทศบาลสาวๆแต่ละคนล้วน ‘ดูได้’ ทั้งสิ้น (ระดับน้องๆ นางงามตกรอบ) ไม่ว่าจะเป็นทรวดทรงองค์เอว, หน้าอกหน้าใจ ,บั้นท้ายเข้ารูปฟิตเปรี๊ยะ! (บทความนี้ค่อนกระเดียดไปทาง ‘โลมเนื้อนาง’ ของพี่นิวัต กองเพียร) กอปรกับชุดที่สวมใส่เสริมรูปร่างหน้าตาเข้าไปอีก … ทั้งพนักงานเทศบาลทั้งสาวแก่แม่ม่าย หรือสาววัยขบเผาะที่ประสบความสำเร็จในการหาความมั่นคงในชีวิต (อาชีพยอดฮิตของคนหนุ่มสาวในยุคทักษิณ คือ พนักงานของรัฐ … ไม่เชื่อก็ไปดูรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบเข้าทำงานเทศบาลหรือ อบต. ดูสิครับ ยาวเป็นหางว่าว)


 


ผู้หญิงเปรียบดั่งดอกไม้งามที่เติมความสดใสให้แก่โลก  มันก็ดีนะที่สถานที่ของรัฐ/ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการขูดรีดตามมุมมองของนักอนาธิปัตย์ (Anarchists)  มีดอกไม้สวยๆ งามๆ ไว้ให้เราดูและดมให้ชื่นใจบ้าง


 


ผมลองคิดไปเองลึกๆ (เรื่องของสัญญะ (sign) แฝงนะ…อย่าคิดมาก) ว่านอกจากที่มันเป็นการปฏิรูปการทำงานของระบบราชการในขั้นพื้นฐานแล้ว มันยังมีอะไรแฝงอยู่เบื้องหลังของความหมายที่เรารู้สึกในขั้นต้นนั้น


 


ประเด็นแรก ค่านิยมข้าราชการไทยเปลี่ยนไปแล้ว เพราะเรามี CEO เป็นนายก ประเทศต้องเดินหน้าไปตามครรลองของบริษัทดีๆ ซักบริษัท  ข้าราชการก็ต้องถูกเปลี่ยนเป็นพนักงานขาย/พนักงานบริการของบริษัท  ดังนั้น ภาพลักษณ์,กริยาการแสดงออกแบบพนักงานขาย/พนักงานบริการ มันคนละขั้วกับ ‘ผู้มีอำนาจอันทรงเกียรติน่ายำเกรง’ แบบข้าราชการไทยในอดีต  ภาพลักษณ์ที่เจริญหูเจริญตาถูกเข้ามาแทนที่ยักษ์มารในชุดกากี การปกครองแบบพระเดชข่มขวัญให้ชาวบ้านต้องทำตามรัฐ ถูกแทนที่ด้วยการให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นลูกค้าของรัฐ 


 


แต่โปรดอย่าได้ไว้ใจว่าเราจะไม่ถูกขูดรีดจากรัฐ   เพราะการขูดรีดเปลี่ยนวิธีให้ดูนุ่มนวลและเจริญหูเจริญตาขึ้นแค่เท่านั้น  การแก้ไขปัญหาสังคม เกี่ยวกับ ‘ความสบาย-ปากท้อง-สวัสดิการ’ ที่เท่าเทียม  มิใช่อยู่ที่การเปลี่ยนวิธีติดต่อกันระหว่าง ‘ชาวบ้าน-ประชาสังคม-รัฐ’  ที่ให้ดูดีเหมือนการทำงานแบบเอกชน  แต่หากต้องเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมด  อย่างน้อยก็เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า, สวัสดิการสุขภาพฟรี, การประกันการตกงาน ฯลฯ และการตัดสินใจเรื่องใหญ่ในท้องถิ่น หรือระดับชาติ ต้องเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่ฝ่ายปกครองที่นั่งในห้องแอร์ คนสองคน - - - แต่คงให้เป็นไปอย่างนั้นได้ยาก เอาเป็นว่าประเด็นนี้ผมชอบใจในระดับหนึ่ง เพราะมันเป็นการขัดแย้งกันเองระหว่างนายทุนกับฝ่ายปกครองอนุรักษ์นิยม …นายทุนชนะและเปลี่ยนลักษณะอำนาจนิยมอันคร่ำครึของข้าราชการไทยไปเป็นพนักงานขาย/พนักงานบริการของบริษัทประเทศไทยไปเสียแล้ว  … ถึงจะแย่เหมือนๆ กัน แต่อย่างน้อยชาวบ้านก็รู้สึกทุกข์ยากน้อยลงไปอีกนิด และมีเกียรติของความเป็นคนเพิ่มสูงอีกโข (ยายผมคงนอนตายตาหลับแล้วล่ะ!)


 


ประเด็นที่สอง  ไม่ใช่เพียงสถานที่ราชการเท่านั้นที่เราจะเห็นผู้หญิงภายใต้กระโปรงสั้นและชุดรัดรูป ย้อมสีสไลด์ผม แต่เป็นเกือบเป็นทุกภาคส่วนของสังคมไปแล้ว  ใครจะว่าอย่างไรก็ตามจินตภาพในการแกะสัญญะนี้ออกมาจากหัวสมองขี้เลื่อยของผม  ผมเห็นว่ากระโปรงสั้น, ชุดรัดรูปโชว์บั้นท้ายและร่องก้นนี่แหละ คือคำประกาศแห่งการปลดแอกจากระบบที่ถือชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ของผู้หญิงไทย


 


มาร์กซิสต์สาวสวยร่วมสมัยของไทย อย่างนุ่มนวล ยัพราช  บอกไว้ว่าก่อนที่จะไปให้ได้สิทธิเสรีภาพในด้านอื่นๆ (ด้านเศรษฐกิจและอำนาจการต่อรอง) ผู้หญิงจะต้องเริ่มแตะต้องกับปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว ความรัก เพศ และเรื่องยิบย่อยพื้นฐานอื่นๆ เสียก่อน


 


นั่นคือแนวคิดของเฟมินิสต์ (Feminists) สายมาร์กซิสต์ (Marxists) ซึ่งมันอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจนักของเฟมินิสต์สายอนุรักษ์นิยม หรือนักศีลธรรมทั้งหลาย  จะ ‘บ่น-ก่น-ด่า-สาปแช่ง’ อย่างไรก็ช่าง  มันก็ได้เป็น ‘เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเสียแล้ว’


 


แม้แต่ในขบวนการฝ่ายต่อต้านระบบทุนนิยม (anti-capitalists) เองบางส่วนก็เห็นว่าผู้หญิงกลายเป็นทาสของการบริโภค (Consumption) เครื่องประทินโฉม เครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย  หรือการสร้างให้ตัวเองเป็นทุนที่มีมูลค่าเพียงเปลือกนอก (image-capital)


 


เรื่องส่วนตัว ความรัก เพศ การแสดงออกของผู้หญิงในปัจจุบันที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม/นักศีลธรรม/คนอื่นๆ รับไม่ได้  ผมว่าเธอเหล่านั้น (ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาทำตัวให้สวย เป็นที่ดึงดูดใจ) มิได้มีอุดมการณ์มาร์กซ์อย่างแน่นอน (โดยส่วนใหญ่) … แต่เธอเหล่านั้นก็รู้สึกได้ถึงการปลดแอกจากระบบชายเป็นใหญ่เหมือนๆ กัน 


 


ลองมองอีกมุม เมื่อเราอยู่ในเกมที่ระบบทุนนิยมเป็นใหญ่ อย่างไรเสียเราก็คงต้องเล่นตามกติกาของเกม เพียงแต่ใช้เกมนั้น ‘ปลดแอก’ ใน ‘สิ่งที่สามารถปลดแอกในเกมนั้นได้’ - - - นี่แหละที่ผู้หญิงสมัยนี้เริ่มทำกัน


 


หรือจะเอาให้ปวดหัวอีกซักหน่อย  นี่คือปรากฎการณ์ที่อธิบายการทำงานของ ‘สิทธิอำนาจ’ (authority) โดยตรง  เป็นการระเบิดของสังคมชายเป็นใหญ่ในขั้นพื้นฐาน (ชาติตะวันตกระเบิดไป 30-40 ปีหรือก่อนหน้านั้นแล้ว) การใส่เสื้อผ้ามิดชิดแบบอนุรักษ์นิยม/ศีลธรรม  ผู้หญิงไม่สามารถแสดงกริยาแบบผู้ชายในเรื่องเพศ เหล่านี้มันคือการกดขี่ (dominance) สตรีของสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) 


 


สังคมไทยในอดีต ผู้หญิงเป็นทรัพย์สมบัติของสามี  ผู้หญิงเป็นผู้ที่ถูกกระทำตลอดทั้งขึ้นทั้งล่อง  โดยอำนาจของสังคมแบบนั้น  แต่ตอนนี้ผู้หญิงกลับสร้างอำนาจใหม่ (โดยใช้ร่างกายเป็นตัวนำเสนอ) ขึ้นมาท้าทายมัน  ผู้หญิงสามารถทำให้ผู้ชายหลายๆ คนมองได้  ผู้หญิงใช้ร่างกาย-ความสวย-สัดส่วน เป็นเครื่องต่อรองให้ได้มาซึ่งอำนาจแบบใหม่ที่สังคมอนุรักษ์นิยมอาจจะรับไม่ได้  ถึงแม้นมันดูจะไม่งดงามนักตามแนวคิดขบวนการปลดแอกสตรีในกระแสหลัก (women’s liberation movement) แต่มันคือ ‘การเล่นและท้าทายกับอำนาจ’ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของมนุษย์   ดังที่ Eric Fromm ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "บนสภาพเงื่อนไขต่างๆ ของสังคม-วัฒนธรรม (socio-cultural conditions) ซึ่งแบบแผนอันนั้น ผู้ชายและผู้หญิงนำเอาเรื่องเพศมาใช้เพื่อเอาชนะความเบื่อหน่าย หรือเพื่อพิสูจน์ตัวของพวกเขาเองในตลาดทางเพศ (sexual market)"


 


ผมเคยต่อต้านความคิดนี้ของผมเอง ผมเคยคิดว่าผู้หญิงเหล่านั้นเป็นทาสของทุนนิยม เน้นการบริโภค  แต่เมื่อผมเข้าถึงเรื่อง ‘สิ่งที่สามารถปลดแอกในเกมนั้นได้’ กับ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ผมจึงเข้าใจในความรู้สึกนั้นบางส่วน แต่ก็มิบังอาจสามารถเข้าใจได้ทั้งหมด เพราะผู้หญิงนั้นดูลึกลับเสมอในสายตาผม … และมันทำให้ผม ‘รักที่จะมอง’ ผู้หญิงสวยๆ ทรวดทรงดี ขึ้นไปอีกโข


 


ต่อไปนี้ผู้หญิงจะไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของสามี  จะไม่ใช่สัญลักษณ์ของสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีแต่การปิดกั้นเสรีภาพผู้หญิง   ผู้หญิงมีสิทธิ์อยากให้คนอื่นได้เห็น ‘ในความเป็นตัวฉัน’ ฉันมีสิทธิ์แต่งกระโปรงสั้น   ฉันมีสิทธิ์ใส่ชุดรัดรูป  ฉันมีสิทธิ์ปั่นหัวคนอื่นเล่น   ฉันมีสิทธิ์ที่จะมีแฟนหลายคน  ฉันสามารถให้ความปลอดภัยแก่ตัวฉันเองได้และสังคมต้องให้ความปลอดภัยแก่ตัวฉันด้วย  … หลังจากนั้น  ฉันจะไปให้ไกลกว่าเรื่องของตัวฉัน  ฉันมีสิทธิ์ที่จะพูด   ฉันมีสิทธิ์ที่จะออกความเห็น  ฉันจะทวงหาความเท่าเทียมในระบบเศรษฐกิจ-สังคม   ฉันจะไม่อยู่ในฐานะที่เหลื่อมล้ำกับผู้ชายอีกต่อไป …


 


… ไปนั่งรอเพื่อนที่เทศบาลในวันนั้น  ผมเพิ่งสังเกตเห็นการปฏิวัติเล็กๆโดยผู้หญิง  จากร่องก้นที่ทับด้วยชุดรัดรูปของพนักงานเทศบาลสาวสวยนั่นเอง!


 


และผมขอใช้สิทธิ์ซุ่มดูคุณผู้หญิงด้วยความชื่นชมเรื่อยๆ ต่อไป   รักผู้หญิงทุกคนครับ! ….


 


จาก : หนุ่มรุ่นน้องที่แอบมองเธอ :-)


 


 


 


  


 






 


ถึง เปรื่องเดช ผดุงครรภ์


           


เนื่องจากบทความ ‘ประชาทุย - กระโปรงสั้นและชุดรัดรูปในสถานที่ราชการ’ เขียนโดย เปรื่องเดช ผดุงครรภ์ หนุ่มน้อยหน้ามนย่านล้านนา  ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการไปออฟฟิศของรัฐบาลและพอเจอการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะรูปลักษณ์ของพนักงานรัฐบาล  จนได้ตั้งข้อสังเกตและให้ความเห็นถึงแนวทางการปลดปล่อยตัวเองของผู้หญิงจากระบบที่กดขี่ทางเพศของเธอในปัจจุบัน  โดยการปฏิรูปตนเองเล็กๆน้อย ๆ ผ่านรูปแบบการแต่งกายเน้นการขับเน้นสรีระทางธรรมชาติ  ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้เพิ่มอำนาจให้กับผู้หญิง  บางส่วนโดยเฉพาะซีกส่วนหนึ่งที่มีแนวความคิดอนุรักษ์นิยมมักจะมีความไม่สบายใจตามประสา  เพราะเคยชินแต่ควบคุมคนให้อยู่ในกรอบ  แต่เรามองว่าปัจจุบันแนวนี้กำลังเป็นสิ่งแปลกปลอมและกลายเป็นตัวตลกของสังคมเข้าไปทุกที


           


ปัจจุบันสังคมไทยได้พยายามปฏิรูปตัวเองให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพตามความต้องการของกลไกตลาด  ผลที่ตามมาพนักงานของรัฐบาลมีมุมมองต่อคนที่มารับบริการว่า "ลูกค้า" ดังนั้นรูปแบบการทำงานจึงเปลี่ยนไปจากเดิมการบริหารงานแบบใหม่มีความต้องการความทันสมัย  พนักงานต้องรับใช้เป้าหมายใหม่ขององค์กรอะไรที่สามารถสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ  รวมถึงรูปลักษณ์ทางด้านร่างกายด้วย   สิ่งที่น่าสงสัย คือ ชุดรัดรูปหรือรูปลักษณ์ใหม่ๆ เหล่านี้คือ โจทย์อันใหม่ หรือ มันคือหนทางที่นำไปสู่ชัยชนะที่จะสร้างความเสมอภาคทางเพศได้หรือไม่ / อย่างไร 


           


เราอยากยกตัวอย่างหนึ่งเพื่อชวนให้คิดกันเปรียบเทียบกัน คือ กรณีของ แอร์โฮสเตส ของสายการบินไทยขึ้นชื่อที่สุดในแง่ความสวย บริการเป็นเลิศ ทั้งหญิงและชาย  ใครที่ใช้บริการของสายการบินนี้จะรู้สึกว่าเราเหมือนราชาที่มีหนุ่มหล่อและสาวสวยมาคอยรับใช้ และในอีกด้านหนึ่งพนักงานที่นี่ถูกลวนลามมากเช่นเดียวกัน  และยังไม่มีมาตรการอะไรที่มาปกป้องศักดิ์ศรีพนักงานเหล่านี้ได้  กรณีนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า "ความสวยความหล่อ" ไม่ได้เป็นหลักประกันการเพิ่มอำนาจต่อรองและศักดิ์ศรีทางเพศแต่อย่างใด   แต่รูปแบบดังกล่าวมันเพิ่มกำไรให้บริษัท  สิ่งที่ถูกทำลายไปคือศักดิ์ศรีของผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นพนักงาน  แนวทางที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรอง คือ สหภาพแรงงานต่างหาก   


 


เปรียบเทียบกับสายการบินหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางการบินในยุโรป รูปแบบการบริการแทบจะเรียกได้ว่าเกือบ "หยาบคาย"  ลักษณะการทำงานของพนักงานที่นี่  พอถึงเวลาเสริฟอาหารก็จะเสริฟอาหารให้ ไม่มีการยิ้มแย้มอย่างอ่อนโยน  ไม่มีลักษณะการเพิ่มการบริการเข้าไป เช่น ใครอยากได้น้ำก็ขอเพิ่ม อาหารไม่อิ่มก็ขอเพิ่ม รูปแบบการทำงานไม่ได้เพิ่มภาระ เช่น พนักงานต้องเดินดูตรวจตราว่าน้ำหมดแก้วหรือยังเพื่อสร้างความประทับใจ   แต่พนักงานที่นี่ดูมีศักดิ์ศรีมากกว่า คือ มีลักษณะของความเท่าเทียมกันระหว่างลูกค้าและแอร์โฮสเตสมากกว่าสายการบินข้างต้น


 


เครื่องแต่งกาย  นำไปสู่การเพิ่มศักดิ์ศรีหรือไม่ เราสนับสนุนให้ผู้หญิงมีความมั่นใจและแต่งตัวเซ็กซี่ซึ่งมีหลายรูปแบบ  แต่ปัจจุบันความสวยที่ถูกยอมรับ คือ ผู้หญิงที่รูปร่างเล็ก ขาว เสื้อผ้าที่สวมใส่จะต้องเป็นตัวเล็กๆ คับ ๆ ใส่แล้วหายใจไม่ออกเพื่อยืนยันถึงความเซ็กซี่  สิ่งที่ตามมาผู้หญิงหลายคนพยายามที่จะผอมให้มากที่สุด ทั้งอดอาหารและกินยาลดความอ้วน ผู้หญิงหลายคนที่มีสีผิวเป็นสีน้ำตาลสวยกลับมองว่านี่คือสัญลักษณ์ของความอัปลักษณ์  ต้องแสวงหาเครื่องประทินผิวที่ทำให้ผิวขาวขึ้นโดยไม่ตระหนักถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น  การปล่อยให้ร่างกายของผู้หญิงถูกใช้โดยกลไกตลาด  ไม่ได้มีหลักประกันอันใดเลยที่จะนำไปสู่เสรีภาพที่มีศักดิ์ศรีแม้ว่าตอนต้นจะดูเหมือนมีอำนาจเพิ่มขึ้นก็ตาม  


 


แน่นอนเราทุกคนจะพึงพอใจที่มีคนมองเราในด้านบวก ไม่เป็นตัวตลก  ไม่น่าเกลียด  ไม่มองในแง่ของการจาบจ้วง ไม่มองอย่างหยาบคาย  รูปร่างของมนุษย์มีความแตกต่างซึ่งความสวยงามควรจะมีอยู่ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเตี้ย ล่ำ คล้ำ สว่าง อวบอ้วน ทัศนะคติที่มีควรจะเป็นในแง่ของการห่วงใยปัญหาสุขภาพ   ใช่เรากำลังพูดถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายที่เต็มไปด้วยความเคารพซึ่งกันแหละกัน  นี่คือสิ่งที่เราจะต้องท้าทาย และสร้างรูปแบบที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง


 


จาก ฝ่ายซ้ายเซ็กซี่ จ๊า.     


 


ปล.  เปรื่องเดช เอ๊ย..ลองคิดสิว่าถ้าผู้ชายมองหญิง ควรมองอย่างไรถึงจะเป็นการมองในเชิงบวกและทำให้ผู้หญิงและผู้ชายเค้ามีศักดิ์ศรี?