Skip to main content

ขอเพียงอย่าดูถูกประชาชน

ในช่วงแรกของการทำรัฐประหาร ผมเคยเรียนว่าถึงแม้ผมไม่เห็นด้วย แต่ด้วยความจำเป็นในการแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง เราจึงจำเป็นต้องยอมรับกับการทำรัฐประหาร และผมยังบอกว่าให้คอยดู ติดตามกันให้ดีว่าคนทำรัฐประหารเขาจะทำอะไรกันต่อไป


 


แต่หลังจากตั้ง สนช. ตั้ง สสร. และมีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เราก็ได้เห็นการทำเสมือนตามใบสั่งทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งประธาน สนช. ประธาน สสร. หรือ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ


 


เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วไซร้ เราก็น่าจะฟันธงได้เลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีใหม่จะมีประเด็นดังนี้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง


ส.ส.จะใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง


ส.ว.ยังคงมี แต่จะมาจากการแต่งตั้ง


 


ก็ขออนุญาตวิจารณ์การแต่งตั้งส.ว.ดังนี้


 


ในอดีตที่มีส.ว.จากการแต่งตั้ง มีการให้เงินพรรคการเมืองที่เสนอชื่อให้ นับเป็นจำนวนสิบล้านบาทต่อคน ถือว่าเป็นโควตาหาเงินของพรรคการเมือง ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งหลายคนทำงานตามใบสั่ง  ประชุมในแต่ละครั้งใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็จบ


 


ตัวอย่างท่านคงจะเห็นได้จากการประชุมของ สนช.ชุดที่มาจากการแต่งตั้ง หลายครั้งประชุมบ่ายโมง ห้าโมงเย็นก็เลิกแล้ว ช่างเรียบร้อย ช่างเป็นระเบียบดีจริง


 


ถ้าท่านติดตามส.ว.ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องใช้เวลานานบางครั้งต้องอภิปรายถึงเหตุและผลมากมายกว่าจะผ่านกฎหมาย เพราะความเห็นของตัวแทนประชาชนเขามองละเอียด เขาแก้ไขกฎหมายตามประสบการณ์จริง  ไม่มีใบสั่ง ไม่ต้องเกรงใจใคร แม้แต่ประธานวุฒิสภาก็สั่งสมาชิกไม่ได้  เราจึงเห็นบรรยากาศของการเป็นประชาธิปไตย ที่ต้องมีความเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่บรรยากาศแบบเผด็จการ


 


มีคนบอกว่าส.ว.มาจากการเลือกตั้งเป็นสภาผัว สภาเมีย ผมไม่อยากให้คนเหล่านี้คิดแบบดูถูกประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ระบอบประชาธิปไตยคือการต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง เรียนท่านตรงๆ ว่า ถึงแม้ว่า ส.ว.ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งจะโดนแทรกแซงจากพรรคการเมืองก็ตาม แต่ใช่ว่าเขาจะมาแทรกแซงได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์!


 


ในฐานะที่ผมเป็นเสียงส่วนน้อย ในส.ว.ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ผมเรียนว่าพวกเราที่เป็นเสียงข้างน้อยคุยกันเสมอว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเขาได้ยิน  เรารู้ว่าการลงมติเราแพ้ทุกครั้ง แต่เราก็ใช้เวทีวุฒิสภาในการอภิปรายให้ประชาชนรู้


 


ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานเสนอสภาเรื่องการทุจริต ในเรื่องต่างๆ เช่นโครงการลำใยอบแห้ง, โครงการชดเชยเงินไข้หวัดนก, สนามบินสุวรรณภูมิ, การทำผิดกฎหมายในการทำหวยบนดิน,โครงการอีลิทการ์ด ฯลฯ


 


เรื่องที่โผล่ออกมาเป็นข่าวก็เพราะงานในวุฒิสภา ที่เราได้พยายามทำในกรรมาธิการแต่ละคณะ  ถึงแม้ว่าจะพยายามงุบงิบไม่นำรายงานเหล่านั้นเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา อ้างว่าไม่มีเวลา มีเรื่องด่วนอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา แต่พวกเราเสียงข้างน้อยก็ส่งข่าว อภิปรายในการถ่ายทอดสด ทำให้ประชาชนรู้


 


นี่ถ้าเป็นสภาแต่งตั้ง จะมีรายงานอย่างนี้ได้หรือ?! ที่สำคัญวุฒิสภาจะทำหน้าที่เพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือเพื่อคนที่แต่งตั้ง จะรับใช้ใคร ประชาชนหรือคนที่แต่งตั้ง ?!


 


ผมมีประสบการณ์ในวุฒิสภามีเกือบเจ็ดปี  รู้สึกผิดหวัง ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมองประชาชนว่าเลือกคนไม่ดีเข้าไปสภา


 


เสียงส่วนน้อยในวุฒิสภาดังกว่าเสียงส่วนใหญ่มากมายนัก !!


ไม่งั้นจะมีชื่อ การุณ ใสงาม เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จอน อึ๊งภากรณ์ ดังในสื่อต่างๆ หรือ


ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน


อยากให้สสร. ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญมองประชาธิปไตยโดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่โดยคนแต่งตั้ง เพื่อคนแต่งตั้ง !!


 


ต้องขออนุญาตเขียนมากหน่อย เพราะหกปีกว่าทำงานเต็ม ไม่มีเซ็นชื่อแล้วหลบกลับบ้าน ไม่มีการแอบเซ็นชื่อแล้วไปทำงานส่วนตัว หรือแอบหนีสภาไปตีกอล์ฟ


 


ผมอภิปรายตำหนินายกทักษิณ  ชินวัตร จนถูกหาว่าเป็นขาประจำ ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี และทำงานด้วยใจ ด้วยสำนึกในพระคุณของผู้ที่เขาเลือกเราเข้ามาทำงาน  ก็ต้องเสียใจน้อยใจเป็นธรรมดา ที่ถูกมองว่า ส.ว.ทั้งหมดเป็นคนเลว ขอให้ทำใจให้กว้าง อย่ามีอคติต่อนักการเมือง


 


ที่ประชาชนเขารักนักการเมืองเพราะนักการเมืองที่ดีเขามองประชาชนมาก่อนเสมอ แม้ตอนนี้ไม่ได้เป็นส.ว.หรือ ส.ส.ใครไม่ได้รับความเป็นธรรม ใครเขาโดนรังแก  เขานึกถึงนักการเมืองก่อนเสมอ เพราะเขาพึ่งพาได้ เพราะนักการเมืองที่ดี ไม่เคยปิดประตู ต้องต้อนรับประชาชนอยู่เสมอ


 


ถามว่าถ้า ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ท่านจะรู้ปัญหา รู้หรือว่าจะแก้กฎหมาย กลั่นกรองกฎหมายอย่างไร เพราะท่านเหล่านั้นอาจจะมองแต่ผลประโยชน์ หรือคอยแต่จะเป็น ส.ว.เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง


 


อย่าลืมว่า นักปราชญ์ กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า


ชนชั้นใด มักออกกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้นเสมอ แล้วคนที่เขาแต่งตั้ง มีหรือจะไม่ออกกฎหมายเพื่อคนที่เขาแต่งตั้ง???!


 


อนิจจา......อนิจจา.........