Skip to main content

คำเรียกหญิงรักหญิง

คอลัมน์/ชุมชน

เรื่องศัพท์แสงคำเรียกหญิงรักหญิงในเมืองไทยดูจะเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในแวดวงของหญิงรักหญิงเอง ซึ่งก็ถกเถียงกันไปมาว่าคำไหนมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่


คำถามที่พบเจอมากในกลุ่มหญิงรักหญิงจึงคือคำถามที่แสดงความงุนงงสงสัยประมาณว่า หากตนเองมีพฤติกรรมเช่นนี้ ใช่ทอมหรือเปล่า ? เป็นต้น


เพราะในคำเรียก เช่น " ทอม" นั้น มักจะตามมาด้วยบทบาททางเพศเวลาอยู่บนเตียงด้วยนั่นเอง ซึ่งบทบาททางเพศของ " ทอม" เวลาอยู่บนเตียงตามความเข้าใจทั่วไปแล้วก็คือการเป็นฝ่ายรุก หรือกระทำสถานเดียว แต่ถ้าเกิดการก้าวข้ามกำแพงนี้ไป ไหลเลื่อนไปสู่การเป็นผู้รับบ้าง ความงุนงงสับสน ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจว่าตนยังเป็นทอมหรือไม่จึงตามมา


ส่วนคำว่า " เล่นเพื่อน" ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นคำเรียกหญิงรักหญิงที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของหญิงรักหญิงไทย ก็ไม่ได้ครอบคลุมโอบอุ้มไปถึงวิถีชีวิตด้านอื่น ๆ นอกจากพฤติกรรมทางเพศสักเท่าไร นอกจากนั้นยังเป็นการให้ความหมายที่มองว่าการเป็นหญิงรักหญิงเป็นเพียงเรื่อง " เล่น ๆ" เท่านั้น แต่การแต่งงานกับผู้ชายเป็นเมีย เป็นแม่ต่างหาก คือเรื่อง " จริงจัง" กว่า ซึ่งบรรดาสตรีนิยมหญิงรักหญิงทั้งหลายไม่เห็นด้วยแน่ ๆ กับการให้คุณค่าผู้หญิงเช่นนั้น


คำว่า " ตีฉิ่ง" นั่นอีก ซึ่งก็เอาแต่ไปเน้นพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ไม่ต่างจากคำว่า " เล่นเพื่อน" สักเท่าไร แต่ก็น่าสนใจดีตรงที่ทั้งคำว่า " เล่นเพื่อน" และ " ตีฉิ่ง" นี้ไม่ได้มีบทบาททางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก ภาพของคน " เล่นเพื่อน" และ " ตีฉิ่ง" จึงเป็นภาพของผู้หญิงสองคน ที่ไม่มีใครมีบทบาทเป็นฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับ


ในขณะที่คำว่า " ทอม" และ " ดี้" แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน


แต่ขณะนี้ทั้งคำว่าทอมและดี้ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป กำแพงอันเป็นขอบกั้นคำว่าทอมและดี้ คล้ายกำลังจะพังทลายลงอย่างช้า ๆ สองคำเรียกดังกล่าวเหมือนจะค่อย ๆ กลืนเข้าหากัน และก็ด้วยบทบาททางเพศ ( บนเตียง) อีกนั่นแหละ


เพราะจากที่เคยถูกแบ่งอย่างชัดเจนว่าใครเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ ปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ทำให้เกิดศัพท์เรียกหญิงรักหญิงใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่นคำว่า " ทอมวันเวย์" หรือ " ทอมทูเวย์"


ทอมวันเวย์ ความหมายคือทอมที่ไม่ยอมให้ดี้เป็นฝ่าย " รุก" ตนเองอย่างเด็ดขาด ทอมกลุ่มนี้จะมั่นใจ และมีความสุขกับการเป็นผู้กระทำ หรือฝ่ายรุกเท่านั้น


อันเป็นที่มาของคำว่า " ถึงทางใจ" นั้นด้วย ซึ่งในหมู่หญิงรักหญิงก็เคยเกิดภาวะประหลาดใจต่อปรากฏการณ์ถึงทางใจนี้เช่นกัน เพราะไม่เข้าใจว่า( ทอมวันเวย์) ที่เป็นฝ่าย " รุก" เพียงข้างเดียวนั้นจะมีความสุข ( ทางเพศ) ได้อย่างไร ในเมื่อไม่ให้ดี้ฝ่ายรับสัมผัสเนื้อตัวร่างกายของตัวเองเลย แต่ทอม กลุ่มนี้เขาก็ยืนยันกันอย่างหนักแน่นว่า พวกเขามีความสุขได้ พวกเขา " ถึง" ได้ ซึ่งก็คือการ " ถึงทางใจ" นั่นเอง


มีทอมวันเวย์ แล้วก็ต้องมีทอมทูเวย์ ซึ่งทอมกลุ่มนี้หมายถึงทอมที่สามารถให้คู่รักของตัวเองซึ่งคือ " ดี้" แตะต้องเนื้อตัวร่างกายได้ พูดง่าย ๆ เลยก็คือ ให้ดี้เป็นฝ่าย " รุก" ได้นั่นเอง


ไม่ทราบว่า เพราะเกิดคำว่า " ทอมทูเวย์" นี่หรือเปล่า ที่ทำให้ขอบกั้นแบ่งความเป็นทอมเป็นดี้ที่เคยแข็งแกร่งตั้งตระหง่าน ค่อย ๆ กลืนกลายในต่อมา


แต่ว่าขณะเดียวกัน ก็มี " ดี้" จำนวนไม่น้อย ที่เกิดอาการรับไม่ได้ หากเจอทอมที่ต้องการให้เธอ " รุก" บ้าง ซึ่งจะเรียกพวกเธอว่า " ดี้วันเวย์" ก็คงจะได้ ไม่มีปัญหาประการใดหากได้แฟนเป็นทอมวันเวย์ แต่คงเกิดอาการอิหลักอิเหลื่อกันน่าดู หากได้คู่เป็นทอมทูเวย์


นอกจากนั้น ผู้เขียนยังทราบว่าตอนนี้มีคำว่า " เลส" เพิ่มเข้ามาในพจนานุกรมหญิงรักหญิงอีกด้วย คำว่า " เลส" จะหมายถึงหญิงรักหญิงที่ไม่แบ่งว่าใครเป็นทอม หรือดี้ รวมไปถึงบุคลิกภายนอก การแต่งเนื้อแต่งตัวนั้นด้วย เลสจะเหมือนผู้หญิงธรรมดาทั่วไป แต่งหน้าทาปาก นุ่งกระโปรงไปทำงานออฟฟิศ เพียงแต่เธอชอบผู้หญิงเช่นกันเท่านั้น


แต่แม้ว่าบุคลิกภายนอกจะไม่มีความเด่นชัด เช่นคนเป็น " ทอม" หรือ " ดี้" ทว่าบทบาทบนเตียงก็ยังถูกแบ่งอยู่ดี ว่าใครเป็นฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับ ด้วยการเรียกว่า " เลสคิง" หรือ " เลสควีน" ซึ่งความหมายของเลสคิง ก็ไม่ต่างจากเกย์คิงเท่าไร คือเป็นฝ่ายรุกนั่นเอง ขณะที่เลสควีนคือฝ่ายรับ


ตอนนี้ยังไม่มีคำว่า " เลสควิง" เหมือนที่ชาวเกย์มีคำว่า " เกย์ควิง" ซึ่งหมายถึงเป็นได้ทั้งฝ่ายรุกฝ่ายรับ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นานคงมีคำนี้อย่างแน่นอน


เพราะคำว่าหญิงรักหญิง ที่กลุ่มอัญจารีบัญญัติขึ้นมาใช้นั้น แม้จะไม่ได้เป็นคำที่แบ่งแยกบทบาททางเพศชัดเจนเช่นคำว่าทอมหรือดี้ แต่คำว่าหญิงรักหญิงก็กว้างขวางเกินกว่าจะบอกถึงบทบาทความสัมพันธ์เวลาอยู่บนเตียงของคนสองคน


ในคำว่าหญิงรักหญิงนั้น ได้หมายรวมเอาทั้งคำว่าทอม ดี้ เลสคิง เลสควีน ไว้ด้วยทั้งหมดนั่นเอง


อีกคำที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ที่ผู้เขียนทราบมาก็คือ คำว่า " ทอมรักทอม" ความหมายนี้คือคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นทอม ที่รู้สึกรักใคร่ชอบพอกับคนที่มีบุคลิกเป็นทอมเหมือนกันนั่นเอง


ซึ่งจะว่าไปแล้วคำนี้ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการหญิงรักหญิงอยู่ไม่น้อย เพราะตามความเชื่อความคิดของพวกเธอทั้งหลายนั้น เชื่อว่าทอมจะต้องคู่แต่กับดี้เพียงเท่านั้น ( ส่วนจะวันเวย์หรือทูเวย์นั่นอีกเรื่อง) แต่เมื่อทอมมารักใคร่ชอบพอในเชิงพิสวาทกับทอมด้วยกันเอง ผู้ดี้ทั้งหลายจึงเกิดอาการที่ " รับไม่ได้" สักเท่าไร ทำให้ทอมรักทอมกลายเป็นพวกชายขอบในกลุ่มหญิงรักหญิงอยู่ไม่น้อย


เช่นเดียวกับการที่ทอมคนหนึ่ง ที่ต่อมามามีคนรักคนใหม่แล้วเลื่อนไถลกลายมาเป็นดี้ อาการรับไม่ได้ก็มีให้เห็นประปราย เพราะได้กลายเป็น " ทอมไม่แท้" ไปเสียแล้ว ในขณะที่หากดี้เลื่อนไหลกลายเป็นทอม จะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเท่า


ส่วนการเป็นดี้รักดี้ ยังไม่มีให้เห็นมากเท่ากับการเป็นทอมรักทอม ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าในความหมายของการเป็นดี้รักดี้ มีคำว่า " เลส" รองรับอยู่แล้วก็เป็นได้


แต่ล่าสุด ผู้เขียนเจอคำเรียกหญิงรักหญิงคำใหม่ ว่าเป็นพวก " ข้างบน" หรือ " ข้างล่าง" ความหมายของคำว่า " พวกข้างบน" ก็คือคนเป็นทอมในคำเดิมนั่นเอง ส่วน " พวกข้างล่าง" ก็คือดี้ ซึ่งเป็นฝ่าย " รับ" ยังให้นึกเล่น ๆ ต่อไปว่า แล้วจะมี " พวกตะแคงข้าง" หรือ " พวกหกคะเมนตีลังกา" เพิ่มเติมเข้ามาอีกไหมในอนาคตข้างหน้านี้


ทราบแต่ว่าใน งานประชุมทางวิชาการนานาชาติเรื่องคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ (Sexualities, Gender and Right in Asia :1 st International Conference of Asian Queer Studies) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7-9 กรกฎาคม ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ที่จะถึงนี้ จะมีเวทีคุยกันเรื่องคำเรียกหญิงรักหญิงโดยนักวิชาการด้านนี้โดยเฉพาะ


ส่วนจะมีความเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ผู้เขียนจะมารายงานต่อไปค่ะ .



( รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานประชุม Sexualities, Gender and Right in Asia :1 st International Conference of Asian Queer Studies ได้ที่ เว็บไซต์นี้ค่ะ http://bangkok2005.anu.edu.au/thai/index.htm)