Skip to main content

ภาพพจน์แรงงานอินโดในสื่อมาเลย์

เพื่อนชาวอินโดนีเซีย Ms.Nina Widyawati Purnomo ได้ส่งผลงานวิจัยมาให้ผู้เขียน ซึ่งน่าสนใจมาก เธอเป็นนักวิจัยของ Indonesian Institute of SciencesIndonesia  หรือ PSDR-LIPI ได้รับทุนปัญญาชนเอเชียสาธารณะเพื่อทำวิจัยงานชิ้นนี้ เธอหวังว่างานวิจัยของเธอจะเพื่อช่วยรณรงค์เผยแพร่และสร้างความเข้าใจเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโลก ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นไหน


 


เธอศึกษาเรื่อง "หนังสือพิมพ์รายวันในมาเลเซียกับการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของแรงงานอพยพชาวอินโดนีเซีย" หรือ "Representation of Migrants’ Worker in Malaysian Dailies Newspaper" วัตถุประสงค์เพื่อช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาของแรงงานอพยพชาวอินโดนีเซียที่ออกไปขายแรงงานทั่วโลก แต่เลือกศึกษาในประเทศยอดนิยมสำหรับแรงงานอินโดเพราะมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน อย่างมาเลเซีย สิ่งแรกที่เธอบอกกับผู้เขียนคือ เธอมองหาหนังสือพิมพ์ที่มีความเป็นอิสระเสรีอย่างแท้จริงในมาเลเซียอย่างยากเย็น ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กลุ่มนักการเมือง พรรคการเมืองและกลุ่มทุนทั้งทุนจีนและทุนชาวมาเลย์


 


สิ่งที่เธอค้นพบคือ มาเลเซีย ไม่ได้เป็นสวรรค์สำหรับชาวอินโดนีเซียอย่างที่พวกเขาคิด แม้จะมีศาสนา ภาษาพูด และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันราวกับบ้านพี่เมืองน้อง (เปรียบเทียบระหว่างไทยกับลาว) แต่ความสัมพันธ์ การคบหาสมาคม หรือการมองคนอินโดของชาวมาเลเซีย จัดอยู่ในพลเมืองชั้นสอง ถูกเหยียดจากคนมาเลย์ ทั้งในสภาพความเป็นจริงและการสะท้อนจากการนำเสนอของสื่อ เช่น แรงงานชาวอินโดถูกนายจ้างกดขี่สารพัด โดยเฉพาะการทำร้ายเรื่องการทำร้ายร่างกาย ด้วยการตบตี การนาบด้วยเตารีด ใช้น้ำร้อนสาด หรือการกักขังหน่วงเหนี่ยว บังคับให้กินสิ่งสกปรกโสโครก เช่น น้ำในชักโครก หรือแม้กระทั่ง อุจจาระ แต่หนังสือพิมพ์นำเสนอเฉพาะแง่มุมของแรงงานที่ถูกกระทำอย่างรุนแรง พวกเขากลับเป็นตัวละครหลักในสื่ออย่างชัดเจนมากกว่าเน้นการเลือกเสนอความเป็นนายจ้างใจร้ายที่กระทำความรุนแรง นอกจากพวกเขาจะเป็นผู้ถูกกระทำแล้ว ยังตกเป็นเป้าตัวละครหลักของสื่อในการนำเสนอข่าว และการใช้ภาษาของสื่อสะท้อนให้เห็นถึงการมองแรงงานอพยพเป็นชนชั้นต่ำ จน และโง่ พวกเขาเป็นเพียงแค่ประเภท "คนที่รับค่าจ้าง" ที่ถูกกระทำรุนแรงเท่านั้น


 


ข่าวนำเสนอในเนื้อหาและรูปแบบเดียวกันซ้ำซาก  การกระทำความรุนแรงต่อแรงงานอินโดในรูปแบบต่างๆ แต่หามีเสียงตอบรับจากความเห็นอกเห็นใจจากคนมาเลย์ ในทางกลับกันเมื่อข่าวนำเสนอในเชิงการต่อต้าน การประท้วงของคนงานอินโดนีเซียในโรงงาน การทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลย์ กลับมีข่าวเสนอด้านความคิดเห็นของคนมาเลย์ ในเชิงต่อว่าต่อขานแรงงานว่า เป็นพวกก่อกวน เป็นกลุ่มคนอันตราย เป็นต้น เรื่องนี้กลายเป็นการแบ่ง "แยกเขา" "แยกเรา" อย่างชัดเจน


 


อินโดนีเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทรัพยากรน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่ง ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประชากรของอินโดนีเซียมีความยากจนมากกว่า 150 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 220 ล้านคน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างมาก นักวิจัยจากสถาบันเดียวกัน Mr.Cahyo Pamungkas บอกว่าอินโดนีเซียไม่มีชนชั้นกลาง คือ มีแต่รวยสุดและจนสุดเท่านั้น ผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันทั้งหมดไม่ได้ ไม่ได้ตกอยู่กับคนในประเทศ แต่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือกลุ่มทุนค้าน้ำมันต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และกลุ่มนักการเมืองคอรัปชั่น เป็นความโชคร้ายของอินโด และในอดีตประเทศอยู่ในยุคเผด็จการนานถึง 30 กว่าปีในยุคซูฮาร์โต ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงตกอยู่กับกลุ่มทุนที่เป็นพวกพ้องของซูฮาร์โต เสรีภาพของการโต้แย้งทั้งจากนักวิชาการและสื่อมวลชนแทบจะเป็นศูนย์ องค์กรต่างๆ ของหน่วยราชการก็ตกเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกในการสร้างความมั่งคั่งแก่กลุ่มซูฮาร์โตเช่นกัน แม้แต่สถาบัน LIPI เอง  คนข่าวหัวก้าวหน้าของอินโดนีเซียยังคงกังขากับบทบาท เพราะในอดีตนั้นเป็นหน่วยงานวิจัยที่ป้อนข้อมูลให้แก่รัฐบาลซูฮาร์โต และซูฮาร์โตนำข้อมูลไปใช้เพื่อพวกพ้อง 


 



สภาพชุมชนแออัดในเมืองจาการ์ตา (ภาพจากเว็บบล็อก Askiah Adam)


 


คนจนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก มักจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกกระทำ เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงอำนาจทางการเมือง ต้องตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสทุนนิยม ที่ทำให้พวกเขาเป็นเพียงผู้ผลิต เป็นเพียงแรงงานชั้นต่ำของระบบ


 


แรงงานอพยพอินโดนีเซีย นอกจากเป็นชายขอบของประเทศตนแล้ว ยังเป็น "กลุ่มคนชายขอบ" ของประเทศอื่นที่พวกเขาเดินทางไปขายแรงงานอีกด้วย


 


แม้อินโดนีเซียและมาเลเซีย ต่างก็มีศาสนา วัฒนธรรม ภาษาที่คล้ายคลึงกันมาก (เหมือนไทยกับลาว) แต่การเมืองเรื่องชาตินิยม กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเป็นอื่น กีดกัน เหยียดเชื้อชาติ ละเลยความเห็นอกเห็นใจกันและกัน กลายเป็นเส้นบางๆ ที่ทำให้มนุษย์หลงผิดคิดทำร้ายและทำลายกันได้...