Skip to main content

คำประกาศของชาวย่าหมี "อนุรักษ์อ่าวคลองสนด้วยชีวิต"

คอลัมน์/ชุมชน

ยามเช้าที่อ่าวคลองสน  น้ำลงจนเห็นชายหาดยาวสุดสายตา  แสงแดดอ่อนทาบทาผืนหญ้าทะเลแปลงใหญ่  [1]ป๊ะสามารถวัย ๗๐ กับชาวบ้านอีก ๓ – ๔ คน พาดิฉันเดินดูทรัพยากรในหญ้าทะเล  เห็นปลิงแดง  ปลิงดำ  ปลิงขาว  หอยชนิดต่างๆ แล้วเดินดูแนวคลองที่ทอดผ่านแนวป่าชายเลน ๒ พันไร่ที่ชาวบ้านรักษาไว้  เป็นแหล่งวางไข่  แหล่งเลี้ยงตัวอ่อน  และที่อยู่ของปูดำ  กุ้ง  และปลาชนิดต่างๆ ที่ชาวบ้านกิน  และขายเลี้ยงครอบครัวมานานหลายสิบปี


 


วิถีชีวิตที่สงบสุขของชุมชนมุสลิมที่มีหลักศาสนานำจิตใจ  คงจะดำรงอยู่ได้ตลอดไปหากไม่มีข่าวร้ายคือ โครงการขออนุญาตสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำบริเวณอ่าวคลองสน  โดยบริษัทเอกชนถึง ๔ โครงการ คือ


            ๑.ขุดลอกทรายบริเวณอ่าวคลองสน  ๖๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เรือเข้าจอดได้


            ๒.สร้างสะพานกว้าง ๕ เมตร ยาว ๘๕ เมตร


            ๓.สร้างพอนทูนจอดเรือ เปิดให้นักท่องเที่ยวนำเรือเข้ามาจอดได้สะดวกขึ้น


            ๔.ทำเขื่อนป้องกันคลื่นยาว ๓๒๐ เมตร  ห่างจากชายฝั่งประมาณ  ๑๘๕ เมตร


 


สามโครงการแรกได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำจังหวัดพังงา  เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙  โครงการที่ ๔ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน  ๒๕๔๙ 


 


ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนแห่งนี้ได้ซื้อที่ดินไว้แต่เดิมแค่ ๗ ไร่ แต่เอกสารสิทธิกลับขยายกลายเป็น ๘๐ กว่าไร่  โดยได้เริ่มถางต้นไม้ เพื่อเป็นแนวถนน และเตรียมสร้างรีสอร์ท เพื่อขายหรือให้คนเช่า  โดยอาศัยปัจจัยอำนวยความสะดวกจาก ๔ โครงการแรก


 


ชาวบ้านย่าหมีเริ่มรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว จึงยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด พร้อมกับทำหนังสือปรึกษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา เรื่องการอนุรักษ์ป่าชายหาดบ้านย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙


 


๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ ๕ สาขาพังงา ยื่นรายงานผลการตรวจสอบการอนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแก่ประธานคณะทำงานตรวจสอบผลกระทบสิ่งล่วงล่ำลำน้ำจังหวัดพังงา "เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือที่ปลอดภัยขึ้น และส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำ" ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ไม่ขัดต่อผังเมืองโดยรวม และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเห็นควรอนุญาต ๔ โครงการดังกล่าว


 



ชาวบ้านย่าหมีเดินขบวนคัดค้านโครงการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ


 


ชาวบ้านย่าหมีเริ่มเดินหน้าเรียกร้องสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ต่อทรัพยากรที่เป็นอาชีพเลี้ยงผู้คนมานาน โดยยื่นหนังสือขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดจากหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และยื่นจดหมายถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในบริเวณอ่าวคลองสน


 


สื่อมวลชนให้ความสนใจนัดเสนอข่าวการต่อสู้ของชาวบ้านย่าหมีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เช่น มติชน ข่าวสด เสียงใต้


 


เมื่อต้นเดือนมกราคมนี้เอง ชาวบ้านเกือบ ๓๐๐ คน ยกขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัดพังงา คัดค้านโครงการและยืนยันที่จะอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล ปะการัง ป่าชายเลน และป่าบนภูเขาด้วยชีวิต ซึ่ง ไทยรัฐ เดลินิวส์ Post Today ได้นำเสนอข่าว


 


สองครั้งที่ดิฉันได้เข้าไปศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่อ่าวพังงาจากการร้องเรียนของชาวบ้าน  โดยการอำนวยความสะดวกของคุณธนู  แนบเนียน  (แห่งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์)


 


ครั้งแรก คณะผู้นำชุมชนพานั่งเรือดูสภาพอ่าวพังงา  ได้เห็นว่าอ่าวพังงาที่มีธรรมชาติบริสุทธิ์ทั้งป่า เขา ชายหาด กำลังถูกกระทำย่ำยี  ด้วยสิ่งก่อสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในทะเล  บางเกาะถูกยึดเป็นสิทธิ์ของคนมีเงินทั้งคนไทยและคนต่างชาติ  มีรีสอร์ทบ้านพักอย่างหรูผุดขึ้น  ติดป้ายที่ส่วนบุคคล ห้ามเข้า อันเป็นการทำลายสิทธิของคนในท้องถิ่น


 


ชาวบ้านย่าหมีได้รักษาป่า  รักษาหญ้าทะเล  แนวปะการัง  ชายหาด  ด้วยวิถีชีวิตพอเพียง  ด้วยความยึดมั่นในหลักศาสนา  จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้มีอาหารจากธรรมชาติทุกฤดูกาล  ทั้งพืช  ทั้งสมุนไพรจากป่า กุ้ง หอย ปู ปลา จากทะเล จากลำคลอง เด็กนักเรียนหารายได้ด้วยตัวเอง  โดยเอาลอบไปวางดักปูในป่าชายเลน  ขายได้เงินไปโรงเรียนทุกวัน


 



หญ้าทะเลผืนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลายชนิด


 


กะปิที่ทำจากเคย (กุ้งตัวเล็ก) แท้ๆ เอามาตำน้ำพริก  กินกับผักที่เก็บจากป่าริมหาด       ป๊ะสามารถ เก็บผักหลายอย่างมาลวกกินกับน้ำพริก  แกงส้มปลาสดๆ ปลาทอด เป็นอาหารพื้นบ้านที่ปลอดสารพิษ  มีคุณค่าทางโภชนาการและอบอุ่นด้วยน้ำใจไมตรี


 


นาข้าว  สวนยาง สวนผลไม้แบบผสมผสาน  คืออาชีพหลากหลายที่ทำให้ชาวย่าหมีมีงานทำทุกฤดูกาล  ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงาน  ไม่ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่น  ดิฉันได้ไปดูชาวบ้านเกี่ยวข้าว  ตั้งใจว่าจะลงนาด้วยเท้าเปล่าแต่เห็นปลิงตัวเล็กๆ จึงเข้าใจว่าทำไมชาวบ้านที่อยู่ในนาต้องสวมรองเท้ายางถึงครึ่งหน้าแข้ง และใส่ถุงมือยางด้วย


 



ร่มไม้ใหญ่ครึ้ม  ออกดอกสวย เรียกผึ้ง แมลงมาดอมดม


 


ป่าบนภูเขาบางช่วงเห็นยอดเป็นสีแดง  ชาวบ้านบอกว่าบริษัทจ้างคนไปถางไม้เตรียมไว้สำหรับสร้างรีสอร์ท  ถ้าโครงการก่อสร้างสำเร็จก็จะขายบ้านคู่กับท่าจอดเรือส่วนตัวได้  วิถีชีวิตชาวบ้านที่เคยอยู่อย่างสงบสุขก็จะถูกรุกรานด้วยกระแสวัตถุนิยมจากคนภายนอก  ที่อาจมีนักฟอกเงินจากอาชีพทุจริตปะปนมาด้วย  จึงแปรเงินมาซื้อรีสอร์ทราคาหลายสิบล้านบาทและเรือยอร์ชลำละ ๘๐ ล้านบาทขึ้นไป บนคราบน้ำตาของชาวบ้าน


 


มติครม. เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๘ ที่เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอ่าวพังงาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (เขตพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวพิเศษ อพท.) ตามกลุ่มยุทธศาสตร์สามจังหวัด  คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ คือต้นตอของโครงการก่อสร้าง ปัจจัยอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาบริโภคความงามของธรรมชาติ  โดยละเลยชีวิของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อย่างพอเพียงมาเนินนาน


 



ชาวบ้านย่าหมีปักธงที่ชายหาดแสดงการคัดค้านโครงการ


 


ป๊ะสามารถ เขียนบันทึกขอความเป็นธรรมจากสังคมไว้ว่า


 


"ในทะเลอ่าวคลองสนมีปูม้า และปูอื่นๆ หลายชนิด ปลาหลากหลายชนิด ที่เข้ามาวางไข่อยู่ในหญ้าทะเล ปลิงดำ ปลิงขาว แมงดา เห็ดลม ลูกกุ้งมังกร กุ้งเคย ม้ามังกร ปลากระเบน ปลาฉลาม ปลาโลมา เต่าทะเล ปลาพะยูน และนก ชาวบ้านหากินกันอย่างพอเพียง ไม่ต้องพึ่งพาจากแหล่งทรัพยากรที่อื่น


 


ตอนนี้ชาวบ้านย่าหมีมีประชากร ๔๕๙ คน มีเด็กนักเรียน ๖๗ คน มีโรงเรียน ๒ หลัง มีมัสยิด ๑ หลัง มีครู ๔ คน ภารโรง ๑ คน คนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำประมง ทำสวน และอาชีพพื้นบ้านต่างๆ อยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่า ตา ยาย จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่เคยมีใครได้มาสร้างความลำบากและขับไล่ ในอ่าวแห่งนี้เป็นที่ชาวบ้านทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ของผู้ลำบาก ยากจน (เปรียบเหมือนเรารักษาป่าชายเลน ให้มี ปลา กุ้ง ปู หอย หลายชนิด และนกหลายชนิดทั้งแมลงและผึ้ง) และมีทรัพยากรในป่าชายเลนใช้เป็นยาสมุนไพรได้หลายชนิด ชาวบ้านนำมารักษาผู้ป่วย ในป่าชายเลนแห่งนี้มีลิงหางยาวเข้ามาอยู่ด้วยเป็นฝูง เมื่อน้ำแห้งก็ออกมาหากินตามอ่าวเลนและริมชายฝั่งป่าชายเลนเป็นสถานที่หากิน ปู หอย ต่างๆ  ในอ่าวนี้ คือ นาไร่ของสัตว์หลายๆชนิด รวมทั้งมนุษย์ก็หากินอยู่ในอ่าวแห่งนี้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อมแห่งนี้เท่ากับขับไล่มนุษย์และสัตว์ในหมู่บ้านนี้เพราะเราอยู่กันมาหลายชั่วโคตรไม่มีใครมาทำแบบนี้


 


สิ่งที่สร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน ซึ่งเกิดจากโครงการพัฒนาที่จะดำเนินงานในพื้นที คือ


๑.      ชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านข้างเคียงไม่สามารถทำมาหากินได้


๒.      ฐานทรัพยากรของชุมชนถูกทำลาย


๓.      แนวปะการังน้ำตื้นของชายฝั่งทั้ง ๒ ด้านถูกทำลาย


๔.     มีการทำลายหญ้าทะเลซึ่งเป็นที่วางไข่ของสัตว์ทะเลนานาชนิดที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น"


 



แผนที่แสดง ๔ โครงการก่อสร้าง


 


ชายหาดขาวสะอาด  ร่มไม้ใหญ่ครึ้ม  ออกดอกสวย เรียกผึ้ง แมลงมาดอมดม และวิถีชีวิตพอเพียงของชาวประมงพื้นบ้าน จะดำรงอยู่ได้ถ้าพลังของปีระชาชนเข้มแข็ง ต่อสู้ชนิดกัดไม่ปล่อย  ควบคู่กับนโยบายรัฐที่มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน  ขอให้ชัยชนะเป็นของธรรมชาติและประชาชนผู้รักสันติตลอดไป


 







[1] ภาษาท้องถิ่นแปลว่าพ่อ  ป๊ะสามารถ เป็นผู้ใหญ่บ้านทางการคนแรกของบ้านย่าหมีหมู่ ๓ ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา  อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุ