Skip to main content

ลองพูดเรื่อง เพศ เพศ บ้าง

คอลัมน์/ชุมชน

ความกล้าพูดเรื่องเพศในการสื่อสารสาธารณะ  สังคมไทยยังมีเส้นแบ่งเรื่องเพศว่าควรเป็นเรื่องปกปิดหรือควรเป็นเรื่องสื่อสารสาธารณะ แม้จะมีความลังเลอยู่บ้างในเรื่องนี้  แต่ก็มีการสื่อสารเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยอย่างแพร่หลายในสื่อ การพัฒนารูปแบบการสื่อสารเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การพัฒนาหลักสูตรเรื่องเพศศึกษาสำหรับวัยรุ่น แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอยู่ระหว่าง "วัฒนธรรมไทย" กับ "การสื่อสารเรื่องเพศ" ว่าควรจะเปิดเผยมากน้อยเพียงใด หรือควรมีข้อเสนอเชิงทางเลือกมากกว่าหนึ่งหรือไม่ หรือสมควรยอมรับข้อเสนอเพียงทางเลือกเดียวคือ "รักนวลสงวนตัว"  หรือ "รักเดียวใจเดียว"  เพราะข้อมูลที่ยังยืนยันจนปัจจุบันของการทำงานเรื่องเอดส์คือ ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละเกือบ 20,000 ราย  โดยส่วนใหญ่เป็นคนในวัยรุ่น และมีผู้หญิงติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นด้วย  นี่จึงยังเป็นความท้าทายของการทำงานด้านเอดส์ว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้ โดยยังสามารถดำรงชีวิตทางเพศได้อย่างปกติสุข และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์


 


กรอบความคิดในเรื่องการป้องกันโรคเอดส์และส่งเสริมสุขภาพที่มีเพียงทางเลือกเดียวดังกล่าว เป็นการผลิตซ้ำความคิดความเชื่อเดิมๆโดยอ้างว่าเป็นบทสรุปของวัฒนธรรมไทยทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้กระบวนการทำงานเรื่องเพศศึกษา ไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามบูรณาการเข้าไปในวิชาสุขศึกษา ซึ่งพบว่าบางโรงเรียนเอาไปไว้ในวิชาพลานามัยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มีกระบวนการสร้างเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิทางเพศให้กับบุคลากรทางการศึกษา การจัดหลักสูตรเพศศึกษาแม้จะมีความก้าวหน้าเพียงใดแต่หากดำเนินการภายใต้ครูหรือผู้บริหารการศึกษาที่ผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆไปด้วย จึงไม่อาจก้าวหน้าไปมากกว่าให้อดกลั้นการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะถึงวัยอันควร ซึ่งไม่มีคำตอบชัดเจนว่าเมื่อไร และหากระหว่างทางชีวิต ต้องมีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ก็กลายเป็นว่าไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเข้าใจและมีการจัดการให้เป็นไปอย่างเสี่ยงน้อยที่สุด หรือเมื่อเลือกแต่งงานจะมั่นใจเพียงใดว่าคู่ที่เลือกนั้นไม่มีความเสี่ยงทางเพศอื่นๆมาก่อนหน้านั้น


 


การระบาดของเอชไอวีกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว (ประเทศไทยกับโรคเอดส์:ความก้าวหน้าและสิ่งท้าทาย,สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, United Nations Development Programme :


UNDP,2547) นี่คือการสรุปขององค์กรระดับนานาชาติที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลย ท่ามกลางสภาพสังคมแบบบริโภคนิยมสูงสุด ภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเคลื่อนย้ายเพื่อการศึกษาของวัยรุ่น การเติบโตของบริการบันเทิงต่างๆ  การที่เยาวชนหญิงใช้เพศสัมพันธ์เป็นวิธีการแสวงหารายได้เพื่อการพึ่งตนเอง  การใช้ยาเสพติด เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีดำรงคงอยู่


 


ประเด็นคำถามคือ วิถีชีวิตคนเหล่านี้อยู่ในภาวะเสี่ยงตลอดเวลาแต่ทำไมไม่มีความสามารถที่จะป้องกันตนเองให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยได้ คนเหล่านี้มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลเรื่องเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้มีวิถีชีวิตทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งเพื่อความพึงพอใจ ทั้งเพื่อหารายได้ ทั้งเพื่อความสุขแบบฉาบฉวย เปลี่ยนคู่ไปได้เรื่อยๆตามสถานการณ์เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงาน กรณีสถิติทางระบาดวิทยาที่สำรวจอัตราการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มเด็กวัยรุ่น (http://www.aidsthai.org/sathana_050131.html )  ที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 ในช่วงปี 2545-2547  พบว่าใน 3 ปีที่สำรวจมีอัตราการใช้ถุงยางเพิ่มขึ้นไม่มาก  ในนักเรียนชายเพิ่มจากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 19 และร้อยละ  23 


 


ขณะที่นักเรียนหญิงมีอัตราเพิ่มจาก ร้อยละ 15.1 เป็นร้อยละ 9.7 และ 18.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก แสดงให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อการปกป้องตนเอง การคุ้มครองสิทธิทางเพศของตนเอง ต่ำมากในเยาวชนชายและหญิง โดยเฉพาะในเยาวชนหญิง ซึ่งขัดแย้งกับสภาพที่แสดงให้เห็นว่าเยาวชนหญิงกล้ามากขึ้นในเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่ใช้เพศสัมพันธ์ในการแสวงหารายได้ ประกอบกับการสำรวจข้อมูลในทหารเกณฑ์(www.aidsthai.org) ใน 3 ปี (2545-2547) พบว่าเมื่อใช้บริการทางเพศกับพนักงานบริการใช้ถุงยางอนามัย เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 55.6  เป็นร้อยละ 59.5 และร้อยละ 63.8  ซึ่งนับว่ายังไม่สูงมากนัก และเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับหญิงทั่วไป พบว่าใช้ถุงยางอนามัยจาก ร้อยละ 30.9 เป็นร้อยละ 25 และร้อยละ 36.8 ยิ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่า ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าโอกาสที่การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นไปได้สูงมาก โดยเฉพาะในเพศสัมพันธ์โดยทั่วๆ ไป ไม่ใช่การใช้บริการทางเพศ  ซึ่งสนับสนุนด้วยสถิติที่มีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศปีละกว่า 20,000 ราย  แน่นอนย่อมมาจากการมีโอกาสมีเพศสัมพันธ์จำนวนมากมายหลายครั้งที่ไม่ป้องกันตนเองและเป็นเพศสัมพันธ์กับคู่ไม่ใช่การซื้อบริการทางเพศ


 


จุดเปลี่ยนสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การให้ความรู้เรื่องเอดส์ แต่อยู่ที่การทำให้สังคมยอมรับความจริงว่าสังคมทุนนิยม มีการบริโภคทางเพศ มีการลงทุนสถานบริการทางเพศ ความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ทำให้อาชีพบริการทางเพศเป็นทางเลือกในการดำรงชีวิตของหญิงและชาย มีการแสวงหาอิสระทางเพศ ในขณะที่สังคมไทยยังไม่สามารถปรับตัวสร้างความเข้มแข็งในเรื่องสิทธิทางเพศ  การเคารพศักดิ์ศรีของตัวตนในการตัดสินใจเรื่องเพศทั้งหญิงและชาย ทำให้การมีวิถีชีวิตทางเพศที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนความเสี่ยงรับเชื้อเอชไอวี


 


การเสนอทางป้องกันเพียงทางเดียวว่า "รักนวลสงวนตัว" เป็นกรอบวัฒนธรรมที่บีบบังคับสำหรับผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว โดยที่แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับสามีตนเองเท่านั้น ก็ยังเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงติดเชื้อถึงครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในขณะที่ผู้ชายมีข้อเสนอทางเลือกป้องกันเพียงทางเดียวเช่นกันว่า "รักเดียวใจเดียว" ทั้งที่วัฒนธรรมเอื้อให้ผู้ชายสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลากหลายโดยไม่ถูกประณาม ทั้งการมีคู่มากกว่าหนึ่ง การใช้บริการทางเพศ การมีภรรยาหลายคน การเลี้ยงดูเด็กสาว การให้เงินทองทรัพย์สินเพื่อแลกกับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กสาวเหล่านี้  ซึ่งเป็นเด็กสาวที่พร้อมจะใช้จ่ายเงินสำหรับการเรียน การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ นี่เป็นเพียงภาพวิถีชีวิตทางเพศแบบหญิงกับชาย ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่มีมานานแล้วคือวิถีชีวิตทางเพศของคนเพศเดียวกัน ระหว่างชายกับชายหรือหญิงกับหญิง ซึ่งเป็นสภาพที่สังคมไทยปฏิเสธความมีอยู่ของคนเหล่านี้ การปฏิเสธที่จะให้ความใส่ใจช่วยเหลือเอื้ออาทร รวมถึงการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ทางเพศที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับเพศสัมพันธ์แบบอื่นๆ ส่วนใหญ่จึงเป็นเพศสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยและมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำ และแม้จะเป็นเพศสัมพันธ์ประจำในคู่สามีภรรยาก็ไม่ได้รับประกันว่าจะปลอดภัยเช่นกัน


 


การส่งเสริมสุขภาพทางเพศ เป็นการส่งเสริมเรื่องสิทธิทางเพศบนการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันของมนุษย์ทั้งหญิงและชาย การสร้างค่านิยมใหม่เรื่องเพศว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนความพึงพอใจของสองฝ่ายโดยไม่มีใครต้องถูกละเมิดสิทธิที่จะไม่ได้รับความปลอดภัย  การสื่อสารกันระหว่างคู่เพศสัมพันธ์เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน การมีทางเลือกร่วมกันที่จะป้องกันตนเอง ซึ่งอาจเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน หรือการเลือกใช้ถุงยางอนามัย หรืออื่นๆ ที่ผ่านการปรึกษาหารือระหว่างกัน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของเอชไอวี


 


ในระยะที่ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยที่ถ่างกว้างออกทุกที  ธุรกิจบริการบันเทิงทางเพศยังเติบโตต่อไป ประชาชนมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน เคลื่อนย้ายเพื่อการศึกษา มีภาวะความเครียด ความกดดันต่างๆ  ความอ่อนล้าของวัฒนธรรมที่ขาดการเคลื่อนไหวพัฒนาไปตามสภาพวิถีชีวิต การระบาดของเชื้อเอชไอวีจะยังคงดำรงอยู่  และมีความรุนแรงยิ่งขึ้นในกลุ่มคนที่มีสภาวะเปราะบางที่เข้าไม่ถึงบริการต่างๆ เช่น แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ผู้ต้องขัง ผู้ใช้ยาเสพติด และกลุ่มผู้หญิง


 


การเสริมพลังภายในในคนทุกคนกล้าทำความเข้าใจเรื่องเพศ เข้าใจที่มาของวิถีชีวิตทางเพศของตนและคนอื่น จะทำให้กล้าที่จะเลือกทางป้องกันตนเองได้หลากหลายและมากกว่าหนึ่งทางเลือก เพื่อให้เรื่องเพศ  เพศเป็นเรื่องที่ยืนอยู่บนฐานสิทธิทางเพศได้ด้วย