Skip to main content

ศีลธรรมตามเทศกาล

คอลัมน์/ชุมชน

เนื้อหาของข่าวในประเทศไทยในช่วงนี้และการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมดูเหมือนจะสอดรับกันดีเสียเหลือเกินในวิธีคิดเรื่องการพิทักษ์วัฒนธรรมและส่งเสริมศีลธรรมอันดี ทั้งผู้เสนอข่าวและผู้กำหนดนโยบายดูเหมือนตั้งใจกันอย่างยิ่งที่จะมาปกปักษ์พิทักษ์ศีลธรรมอันดีงาม  ทว่า น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทั้งสื่อและกระทรวงวัฒนธรรมมองเห็นว่าเป็นวิกฤตศีลธรรมก็คือ การที่วัยรุ่นหญิง เน้นว่าเฉพาะ "หญิง" ไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (เมื่อไรถึงจะเป็นวัยอันควรก็อาจระบุยากอยู่ไม่น้อย)  


 


ข่าวโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏออกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แม้ยังไม่ต้องฟังหรืออ่านก็น่าจะเดาได้ว่าว่าประเด็นไหนจะเด่นที่สุด รับรองได้ว่า คงจะไม่พ้นเรื่องวาเลนไทน์แน่ๆ เพราะว่าเห็นซ้ำซากมาอย่างนี้ตลอดทุกเทศกาลอยู่แล้ว เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ดูเรื่องเมาแล้วขับ สงกรานต์มากกว่าปีใหม่อีกนิดคือจับจ้องว่าผู้หญิงจะแต่งตัวโป๊ไปเล่นน้ำหรือไม่ เพราะจะเป็นอันตรายอาจถูกผู้ชายลวนลาม และขัดกับวัฒนธรรมอันดีของไทยและเป็นความผิดของผู้หญิงเองหากถูกลวนลาม ต่อมาวันวาเลนไทน์และลอยกระทงก็จะดูว่ามีวัยรุ่น "หญิง" มีเพศสัมพันธ์กี่คน


 


ดังนั้น ข่าวก่อนหน้าวันวาเลนไทน์เท่าที่เห็นการนำเสนอก็มีมีโพลล์จากสำนักต่างๆ เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นหญิงซึ่งส่วนใหญ่จะใช้คำว่า "เสียตัว" ไปกี่คน หรือมีกี่คนที่เตรียมจะ "เสียตัว" โดยที่ก่อนหน้านี้ก็มีการรณรงค์มาถึงเรื่องให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว และถึงวาเลนไทน์ก็ยิ่งพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น ดังนั้น ข่าวเกี่ยวกับวาเลนไทน์ที่ออกมาในชุดแรกของปีนื้ก่อนวันวาเลนไทน์ที่เป็นพาดหัวหัวข่าวทั้งในโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ก็คือ "วัยรุ่นหญิงหนึ่งในสาม ยอมเลิกกับแฟนหากขอมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์" มีอีกข่าวคือวัยรุ่นหญิงไทยจำนวนยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต มีบางฉบับถึงกับใช้คำว่า "ช็อค" ที่เด็กวัยรุ่นไทยไปทำแบบนี้ 


 


ข่าวต่อมาดูเหมือนตั้งใจให้เห็นว่ามีเด็กๆ ที่ยังยึดมั่นในจารีตอยู่ก็จะเป็นข่าวที่ถูกใจกระทรวงวัฒนธรรมอย่างยิ่งคือ "เด็กนักเรียนหญิงในโรงเรียน.....ตั้งชมรมรักนวลสงวนตัว" เหล่านี้นี่เป็นข่าวที่หนาหูมากในช่วงวันวาเลนไทน์  ร่วมกับข่าวที่ว่า กระทรวงวัฒนธรรมจะออกมารณรงค์ในเรื่องนี้อย่างไร หรือข่าวที่เห็นว่านี่เป็นวิกฤติทางศีลธรรมของประเทศ


 


จากปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้จึงเกิดข้อสังเกตอยู่ 2-3 ประการคือ ประการแรกในส่วนของผู้สื่อข่าวก็จะพบว่าที่สุดแล้วการทำข่าวนั้นไม่เคยต้องคิดอะไรใหม่นอกจากรอฤดูกาลว่าช่วงไหนจะมีอะไรและจะทำไปตามฤดูกาล กล่าวคือรายงานเรื่องเดิมอยู่ในทุกเทศกาลเพียงแต่เปลี่ยนสถิติของแต่ละปีเท่านั้น เช่น ทุกๆ ปีใหม่ก็จะหาสถิติว่าปีนี้มีคนดื่มสุราแล้วขับตายไปกี่คน โดยใช้วิธีการเดียวกันกับรายงานการแข่งขันกีฬาอย่างซีเกมส์หรือโอลิมปิคที่จับจ้องวันต่อวัน หรือชั่วโมงต่อชั่วโมงว่าตอนนี้คนไทยได้กี่เหรียญกันแล้ว  แต่เปลี่ยนเป็นตายแล้วกี่คน  เป็นการรายงานแบบใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร แต่การรายงานข่าวแบบนี้คงไม่มีผลใดๆ ต่อการสร้างสำนึกว่าจะทำให้คนปลอดภัยได้อย่างไร


 


ครั้นช่วงวาเลนไทน์อันเนื่องมาจากวันนี้ได้ชื่อว่าเป็นวันแห่งความรัก นอกจากบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่คอยจับจ้องขึ้นราคาดอกกุหลาบแล้ว สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งจึงต้องคอยจ้องว่าจะมีคนไปมีเพศสัมพันธ์กันมากน้อยขนาดไหน แต่อาจจะตามไปเก็บสถิติอย่างพวกเสียชีวิตตอนปีใหม่ไม่ได้จึงอาศัยโพลล์ในการรายงาน ทั้งก่อนหน้าและหลังวันวาเลนไทน์แล้วใช้ร้อยละมานำเสนอแทน จึงได้เห็นเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าวข้างต้น


 


ดังนั้น ประเด็นข้อสังเกตประเด็นที่สองก็คือเรื่องของโพลล์เองนั้นก็ทำไปแบบไม่มีอะไรมากไปกว่าเก็บสถิติเช่นกัน คือเพียงจับจ้องว่า ปีนี้จะมี "เด็กหญิง" สักกี่คนที่จะไปมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันวาเลนไทน์ ที่ต้องบอกว่าเด็กหญิงเพราะจากพาดหัวข่าวนั้นดูเหมือนตั้งใจจะไปสอบถามเฉพาะผู้หญิง ครั้นเห็นตัวเลขอกมาก็คิดว่าช่างน่าใจหาย นักข่าวเห็นข้อมูลแบบนี้ก็รายงานด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ กระทรวงวัฒนธรรมก็เดือดร้อนและคิดว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ช่างไม่รักนวลสงวนตัวกันเสียแล้วเกิดความวิกฤติทางด้านศีลธรรมขึ้นมาเสียแล้ว เลยต้องคิดแคมเปญกันใหญ่เพื่อทำให้เด็กไม่ไปมีเพศสัมพันธ์ จึงกลายเป็นเรื่องของการเคร่งศีลธรรมกันตามเทศกาลไป


 


มีที่น่าสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งก็คือหน้าที่รักษาศีลธรรมนั้น ไม่ว่าจะในส่วนของผู้ที่เคร่งในรักษาขนบประเพณีทั้งหลาย นักข่าว หรือคนทำโพลล์ต่างผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของเด็กผู้หญิงทั้งสิ้น  เริ่มตั้งแต่ที่ประเทศไทยเน้นเรื่องการรักนวลสงวนตัว และการรณรงค์ให้รักนวลสงวนตัวนั้นเป็นเรื่อง ของผู้หญิงล้วนๆ ส่วนผู้ชายไม่เป็นไรสบายๆ ชิลล์ ชิลล์ ไม่ต้องคิดเรื่องนี้จะไปทำอะไรในเรื่องนี้ก็ได้ไม่มีใครช็อค และไม่มีใครว่ากระทำเรื่องผิดศีลธรรม


 


ทั้งนี้ วิธีคิดเหล่านี้เลยสะท้อนมาถึงคนทำโพลล์ ที่ตั้งคำถามที่ใช้ในการสำรวจที่ออกมาเพียงอาจอยากรู้ว่าเด็กผู้หญิงซึ่งควรจะต้องรักนวลสงวนตัวนั้นจะต้องทำอย่างไรหากผู้ชายของมีเพศสัมพันธ์ด้วยในวันวาเลนไทน์แต่ตนเองไม่ยินยอม จึงมีผลออกมาว่า มีเด็กผู้หญิงหนึ่งในสามของจำนวนที่สำรวจยอมเลิกคบกับแฟน แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องยอม


 


การทำโพลล์ชนิดนี้จึงเป็นการผลักภาระรับผิดชอบให้ผู้หญิงอยู่เพียงฝ่ายเดียว และได้ตัวเลขที่เป็นสถิติเข้ามาเพื่อการตีตราเด็กผู้หญิงเท่านั้นโดยไม่ช่วยแก้ปัญญาใดๆ ของสังคม  ในทางกลับกับหากจะตั้งคำถามเสียใหม่จากต่างมุมมอง โดยไปตั้งคำถามจากวัยรุ่นชายว่า ข้อหนึ่ง คิดจะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนในวันวาเลนไทน์หรือไม่  ข้อสอง คิดอย่างไรหากผู้หญิงไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วยเพราะเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาอันควรและจะทำอย่างไร (เช่น เลิกกับผู้หญิงไปเลยหรือไม่)  และข้อสามซึ่งสำคัญมาก ควรจะตั้งคำถามว่า "พร้อมที่จะรับผิดชอบหรือไม่หากผู้หญิงตั้งครรภ์หรือ ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ขึ้นภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์อันเนื่องมาจากความต้องการของตนที่จะให้พิสูจน์รัก"


 


ต่อจากนั้นก็เอาผลโพลล์นี้ออกมาพิมพ์เผยแพร่หรือนำเสนอเป็นข่าว โดยใช้ผลในข้อสามมาพาดหัวก็อาจจะได้ผลว่า "วัยรุ่นชายร้อยละ 99 ไม่พร้อมรับผิดชอบหากแฟนสาวตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์กับตน" (เติมคำว่า ในคืนวันวาเลนไทน์ ด้วยก็ได้เพื่อให้เข้ากับเทศกาล)


 


ทั้งนี้ หากตั้งคำถามที่มุ่งเป้าหมายไปยังผู้ชายอย่างน้อยก็อาจทำให้วัยรุ่นที่คิดว่าจะมีอะไรกับแฟนในวันนั้นตามที่ตอบคำถามข้อหนึ่งไป ครั้นมาถึงข้อสามก็คงฉุกคิดขึ้นมาบ้างแม้สักเล็กน้อย(ก็ยังดี) อย่างน้อยก็เป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้หญิงเอง คิดว่าหลายๆ คนนั้นแค่อยากออกไปเที่ยวกับแฟนแต่อาจไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะต้องไปมีอะไรกันมากมายแต่ครั้นถึงตอนนั้นก็เลยตามเลย แต่ถ้าได้มาเห็นข่าวตามผลในข้อสามว่า ผู้ชาย (วัยรุ่น) ส่วนใหญ่นั้นยังไม่พร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ก็อาจจะช่วยให้ผู้หญิงฉุกคิดขึ้นมาบ้างเล็กน้อยว่าตอนนี้เวลาอันควรหรือไม่ควรของตนที่จะมีเพสสัมพันธ์ เพราะเกิดอะไรขึ้นผลก็รู้ๆอยู่ว่าผู้ชายอาจไม่พร้อมรับผิดชอบร่วมกัน หรืออย่างน้อยอาจทำให้ผู้หญิงคิดถึงเรื่องว่าทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยก็ได้


 


ในทางกลับกันหากคำตอบกลับกลายเป็นว่าวัยรุ่นชายยุคใหม่นั้นพร้อมรับผิดชอบก็จะได้ดูว่าจะรับผิดชอบอย่างไรก็ในเมื่อทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิหรือสถานะที่ยังอยู่ในวัยเรียนกันอยู่นั้น นั่นก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถไปรับผิดชอบได้ จึงเชื่อได้ว่าคนตอบโพลล์นั้นไม่ตอบตามความจริง โพลล์นั้นก็อาจไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ใช่หรือไม่


 


อันที่จริงแล้วมีประเด็นข่าวและมีเรื่องมากมายในเรื่องของศีลธรรมที่ควรต้องแก้ไขในสังคมไทย เช่น เรื่องทุจริตคอรัปชั่น คดโกง การฆ่าฟัน การใช้ความรุนแรงต่างๆ การเอาเปรียบผู้อื่นการค้ากำไรเกินควร การหากินกับความยากไร้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้อื่น ที่มีคดีกันอยู่มากมายทุกวันนี้ หากผู้คนเคร่งศีลธรรมกันมากกว่านี้ คดีเหล่านี้ก็คงน้อยลง มาตรการทางกฎหมายนั้นก็คงไม่จำเป็นหากคนในบ้านในเมืองมีศีลธรรม


 


ทว่า ค่อนข้างน่าเสียดายที่เวลาพูดถึงเรื่องศีลธรรมเสื่อมนั้นบรรดาสื่อทั้งหลายก็มักจะไปวนอยู่กับเรื่องทางเพศ ทั้งเรื่องเยาวชนมีเพศสัมพันธ์กัน หรือเรื่องถ่ายคลิปวีดีโอ เป็นต้น แต่ก็ทำได้แค่การรายงานตัวเลขและสนุกกับการเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้นไม่ได้นำเสนอทางแก้ใดๆ ซึ่งการกระทำแบบนี้เท่ากับการโปรโมตการกระทำดังกล่าวด้วยซ้ำ 


 


ควรจะถึงเวลาปฎิรูปวิธีคิดกันใหม่ดีหรือไม่ว่าในกรณีข่าวตามเทศกาลนั้นว่าจะหามุมใหม่มานำเสนออย่างไรถึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมนอกเหนือจากการเก็บสถิติ   และในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมเองนั้นควรจะหันมาทบทวนได้หรือยังว่ามาถึงวันนี้ คิดอะไรออกบ้างหรือยังว่าหน้าที่จริงๆแล้วของกระทรวงวัฒนธรรมต้องทำอะไรกันแน่ นอกจากอนุรักษ์ให้คนใส่ผ้าไทย และคอยเฝ้าระวังเด็กผู้หญิงให้รักนวลสงวนตัวตามเทศกาล ( ขออภัยจริงๆ เพราะว่าไม่ค่อยได้เห็นงานที่เป็นรูปธรรมของกระทรวงนี้เลย)


 


สุดท้าย หวังว่าพอหมดวาเลนไทน์แล้ว ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้คงไม่ต้องใช้ตำรวจไปเฝ้าดักจับเด็กตามแถวโรงแรมม่านรูดอีกหรอกนะ แต่ถ้าไปควรจะไปจับผู้เฒ่าที่ไปซื้อประเวณีเด็กหรือล่อลวงเด็กจะดีกว่า แล้วเอามาลงโทษให้เข็ดหลาบและได้อายจะเป็นพระคุณต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง