Skip to main content

พวกเราสบายดี ?

คอลัมน์/ชุมชน

ความจริงเดือนนี้ โดยเฉพาะวันที่ 27 มิถุนายน ถือเป็นวันที่มีความสำคัญ หรือมีความหมายต่อคนรักเพศเดียวกันอย่างยิ่งเลยค่ะ


เพราะวันดังกล่าว เมื่อ 35-36 ปีก่อน ( พ. ศ.2512) เป็นวันที่ทำให้เกิดเหตุการเรียกร้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกันขึ้นเป็นครั้งแรกนั่นเอง โดยเหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นที่บาร์เกย์ชื่อ " สโตนวอลล์" ซึ่งตั้งอยู่แถบกรีนวิชของกรุงนิวยอร์ค เนื่องจากมีตำรวจเข้ามาทำร้ายหญิงรักหญิงมาดทอมคนหนึ่งขณะจับกุมในข้อหาที่เธอแต่งตัวเป็นผู้ชาย เพราะกฎหมายของที่นั่น เมื่อสัก 30 กว่าปีก่อนนั้น เขาจะห้ามไม่ให้คนแต่งตัวข้ามเพศ( สภาพ) ของตัวเอง


เช่น คนเป็นทอม ก็ต้องแต่งตัวให้มีลักษณะที่ผู้หญิงควรจะเป็นเสียด้วย โดยอาจแต่งหน้า ทาลิปสติก หรือใส่รองเท้าส้นสูง อะไรก็ว่ากันไป หรือเป็นกะเทย ก็อย่าแต่งตัวออกสาวมาก แม้ใจอยากจะสาวสุดฤทธิ์แค่ไหน ก็ต้องเก็บงำกิริยาอาการเอาไว้ เป็นต้น


แต่เธอผู้นี้คงไม่มีข้าวของ หรือสิ่งอื่นใด ที่บ่งบอกถึงความเป็นหญิงในตัวเธอสักเท่าไร ตำรวจจึงตรงเข้าไปฉุดกระชากเธอจากโต๊ะ แล้วเมื่อเธอโวยวายว่าทำไมทำกับเธอหยาบคายเช่นนั้น อาวุธของตำรวจ อันได้แก่ไม้กระบองก็ฟาดเข้าที่ศีรษะของเธอ


เกย์ เลสเบี้ยน คนอื่น ๆ ที่อยู่ในบาร์นั้น เห็นเหตุการณ์นี้ก็ทนไม่ไหว จากที่เคยยอมให้จับกุมอย่างเชื่อง ๆ ก็เลยลุกมาตะโกนใส่หน้าตำรวจ ขว้างกระป๋องเบียร์ ที่เขี่ยบุหรี่ ใส่ตำรวจ ซึ่งก็ได้สร้างความตระหนกแตกตื่นให้กับตำรวจกลุ่มนี้มาก เพราะปกติคนพวกนี้ไม่เคยกล้าหือ แต่คราวนี้กลายเป็นตรงกันข้าม


ตำรวจพยายามหนี แต่ถูกกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนล้อมบาร์เอาไว้ แล้วก็ขว้างข้าวของเข้าใส่ ฝ่ายตำรวจก็ขู่ว่าจะยิงคนที่เปิดประตูบาร์เข้ามา เหตุการณ์ตึงเครียดอยู่สัก 3 ชั่วโมง ก็มีการส่งตำรวจมาที่เกิดเหตุอีก 500 นาย รุมใช้กระบองตีผู้คน แต่กลุ่มเลสเบี้ยน- เกย์ที่มาเที่ยวในคืนนั้นก็ไม่มีใครหนีไปไหน ยังคงชุมนุมกันต่อไป และมีคนมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


ในเช้าวันต่อมาเพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐนิวยอร์คยกเลิกกฎหมายพิสดารว่าด้วยเรื่องการแต่งกายและเรื่องอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้ถูกตั้งข้อหาว่าทำผิดกฎหมาย


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บาร์สโตนวอลล์จึงกลายมาเป็นจุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นถือเป็นกระแสใหม่ของสังคม ที่คนกลุ่มนี้ได้ลุกขึ้นมาทำการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตน ถัดจากการเรียกร้องของกลุ่มคนผิวสี และกลุ่มสิทธิสตรี



ปัจจุบันนี้ กองโบราณสถานของสหรัฐฯ ได้จดทะเบียนให้บาร์สโตนวอลล์รวมทั้งพื้นที่บริเวณใกล้เคียงให้เป็นโบราณสถานของชาติไปแล้ว



ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายในเดือนมิถุนายน ณ ถนนสายที่ห้า ของมหานครนิวยอร์ค จึงคราคร่ำไปด้วยหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนเปลี่ยนเพศ และชายหญิงทั่วไป แม้กระทั่งกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนรักเพศเดียวกันออกมาเดินขบวนเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในตัวเอง และบรรดาญาติมิตรของพวกเขา


แต่ที่เมืองไทยคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีขบวนพาเหรดในลักษณะเช่นนี้ และที่มีอยู่ และจัดกันทุกปี ช่วงเดือนพฤศจิกายน ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าเป็นขบวนพาเหรดที่มาจากความภาคภูมิใจในตัวเองหรือไม่ หรือมีเหตุผลใดทับซ้อนอยู่อีก หรือเป็นเพราะว่าการเดินพาเหรดในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่คนไทยคุ้นเคย ( ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย?) แต่ที่แน่ ๆ ก็คือกลุ่ม LGBT ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ จึงพลอยทำให้ไม่สามารถลงไปเดินอยู่ในขบวนพาเหรดได้ไปด้วย อย่างมากก็แค่ไปยืนอยู่ขอบถนนมองดูผู้คนในพาเหรดเงียบ ๆ


นอกจากนั้น ก็คือการขอทำเรื่องเพื่อขอใช้พื้นที่บางส่วนบนถนนสีลมเพื่อเดินพาเหรด ก็ค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากถูกมองว่าไปทำให้การจราจรติดขัด


พาเหรดของกลุ่ม LGBT ในเมืองไทยจึงมีความแตกต่างจากที่อื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะเน้นการแต่งตัวอันหวือหวาตระการตาของคนในพาเหรด สื่อแสดงไปในเชิงสนุกสนานเป็นที่ขำขันต่อผู้พบเห็น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอันใด เพียงแต่ทำให้ด้านที่ควรจะเป็นเนื้อหาสำคัญ ด้านสิทธิ และอื่นๆ ตกหายไปจากพาเหรด


ก็ไม่ทราบเพราะว่า LGBT ชาวไทย ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือเปล่า แต่จะว่าไปก็เคยมีกรณีสถาบันราชภัฎออกกฎห้ามไม่ให้รับคนรักเพศเดียวกันเข้าเรียนหนังสือ หรือมีกรณีที่กรมประชาสัมพันธ์มีหนังสือสั่งห้ามไม่ให้คนเป็นเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ออกทีวี หรือที่ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรม ทำท่าว่าจะไม่ให้คนเหล่านี้เข้าทำงานในกระทรวง แต่มันก็ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ประหนึ่งว่าไม่เคยมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น


ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเพราะสิ่งที่สังคมไทยกระทำต่อคนรักเพศเดียวกันนั้น มันแนบเนียน ละมุนละไมจนทำให้เกิดความรู้สึกว่าพวกเราสบายดี ไม่มีปัญหา


" แค่นี้สังคมไทยก็ให้ความเมตตากับพวกเรามากแล้ว จะไปเรียกร้องอะไรนักหนาให้เขาหมั่นไส้" อย่างที่ผู้เขียนได้ยินเสมอ ๆ นั่นหรือเปล่า