Skip to main content

"ประกายไฟแห่งใบไม้" ความอยู่รอดของโลกและมนุษย์ (2)

คอลัมน์/ชุมชน


 


ในบทที่ 8 ของหนังสือ "เมล็ดพืชสีเขียว ประกายไฟแห่งใบไม้" ซึ่งเขียนโดย "คืน ญางเดิม" ได้


กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคเอดส์ หรือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อยู่ในช่วงแพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลกว่า เอดส์ ไม่ใช่เพียงโรคติดต่อ แต่เป็นสถานการณ์ที่เตือนให้มนุษย์รู้ว่า ได้ล่วงล้ำทำลายโลกธรรมชาติไปมากมายเสียจน "ภูมิคุ้มกันของชีวิต" ได้ถูกทำลายไป


 


ผู้เขียนกล่าวว่า เบื้องหลังของโรคเอดส์ คือ สภาพเสียสมดุลของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ที่เกิดจากระบบนิเวศที่ถูกทำลาย ผลแห่งสารพิษต่างๆ ประกอบการที่ระบบนิเวศสูญเสียดุลยภาพ จึงทำให้เกิดโรคภัย และการเจ็บไข้ได้ป่วยในรูปแบบแปลกใหม่ที่ซับซ้อน อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง ภูมิแพ้ หรือแม้แต่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากอารยธรรมของมนุษย์


 


เมื่ออ่านตรงที่ระบุว่า "...เรื่องเอดส์ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ แต่เอดส์คือสัญญาณภัยร้ายที่แจ้งว่า ภูมิคุ้มกันทางชีวภาพ ของระบบธรรมชาติดั้งเดิมได้ถูกทำลายลงจนถึงขั้นวิกฤติแล้ว การแสดงอาการของเอดส์บนเรือนร่างของมนุษย์ ก็คือการแสดงอาการบนเรือนร่างของโลก เอดส์ไม่ได้เป็นเฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น แต่เอดส์เริ่มเป็นกับสัตว์พวก ไก่ หมู สัตว์อื่นๆ และพืช..." (น.62) ทำให้ผมคิดเรื่องของ "ไข้หวัดนก" ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกในตอนนี้ นี่คือสภาพของภูมิคุ้มกันบกพร่องอีกอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ และมันไม่ใช่เพียงแค่ระบาดในหมู่สัตว์ปีก หากแต่ยังสามารถกลายพันธุ์ไปติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างหมู วัว หรือแม้แต่คนได้ด้วย จะว่าไปแล้ว สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก ทำให้สถานการณ์โรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อของมนุษย์ที่ร้ายแรงที่สุด กลายเป็นเรื่องรองไปในพริบตา


 


สิ่งที่เหมือนกันระหว่างเอดส์และไข้หวัดนก คือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เอดส์นั้นติดต่อทางของเหลวจากร่างกาย แต่ไข้หวัดนกนั้น เพียงแค่การสัมผัส หรือได้รับเชื้อที่แพร่มาทางอากาศก็ติดต่อได้ทันที


 


"...โลกทั้งโลกตกอยู่ในชะตากรรมแห่งภูมิคุ้มกันชีวิตบกพร่อง เราต่างเป็นเอดส์ ซึ่งรอวันแสดงอาการ ไม่ช้าก็เร็ว..." (น.49) ผู้เขียนสรุป


 


เมื่อมองอย่างเชื่อมโยงแล้ว ผมเห็นด้วยกับผู้เขียนที่ว่า เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ความเจริญก้าวหน้าของสังคมมนุษย์นั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดของการเปลี่ยนแปลง ทำลาย ทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างสาหัสสากรรจ์ แน่นอน สิ่งที่สูญเสียไปอาจจะไม่ส่งผลในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อผ่านไป 10 หรือ 20 ปี ผลของมันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น


 


ยกตัวอย่างเช่น ก่อน พ.ศ.2500 น้ำในคลองแสนแสบที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ยังใสสะอาด ผู้คนสามารถลงไปว่ายเล่นได้ มีสัตว์น้ำหลากหลายชนิด แต่เมื่อเวลาผ่านไปแค่สิบกว่าปี ในช่วงเวลาของการพัฒนาประเทศให้เป็น "อารยะ" คลองแสนแสบกลายเป็นที่รองรับขยะจากตลาดห้างร้านบ้านเรือน และกลายเป็นลำคลองสีดำเน่าเหม็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน – แค่สิบปีเท่านั้น


 


ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นไป ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือการก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมหรือ "NICS" หรือการจะเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย หรือ จะเป็น "dual track" และอีกสารพัดจะตั้งชื่อ ทว่า ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีจุดประสงค์เดียวกัน คือการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เมืองขยายตัว ถนนราดยางตัดผ่านไปทุกที่ รถยนต์วิ่งเต็มถนน โรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นทุกๆ จังหวัด ขณะที่ชีวิตคนเราก็มีเครื่องอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น มีสิ่งบันเทิงเริงรมย์ให้เสพกันมากขึ้น แต่เรื่องที่น่าแปลกก็คือ ขณะที่เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเจริญทางเทคโนโลยีขนาดนี้ สิ่งที่เรียกว่า "ความสุข" กลับกลายเป็นของหายากสำหรับชีวิตไป


 


"คืน ญางเดิม" กล่าวว่า อารยธรรมทางวัตถุของมนุษย์ขยายตัวเติบใหญ่ พร้อมไปกับการทำลายล้างป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ท้องฟ้า ทะเล วัฒนธรรมการผลิตและการกระตุ้นการบริโภคอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการทำลายรากฐานของชีวิตดั้งเดิมตามธรรมชาติ ของเสียจากการผลิตถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ฟุ้งในอากาศ ปนเปื้อนในผืนดิน และการทำลายอย่างกว้างขวางดังกล่าว ได้ทำให้ระบบนิเวศล่มสลาย ภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต และสถานการณ์ดังว่านี้ ก็ยิ่งทวีความเลวร้ายรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ


 


"...ชีวิตมนุษย์ไม่ได้งอกงามผลิบานเหมือนเช่นเทคโนโลยีวัตถุ เหตุการณ์ของยุคสมัยนี้ชี้ชัดว่าเทคโนโลยียิ่งสูง   ชีวิตมนุษย์ยิ่งตกต่ำอยู่ในชะตากรรมอันเลวร้าย เพราะมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร เครื่องยนต์ มนุษย์ไม่ใช่เครื่องไฟฟ้า ไม่ใช่เครื่องคอมพิวเตอร์ มนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เช่นเดียวกับต้นไม้ต้นหญ้า เช่นเดียวกับนกและปลา มดและแมลง ภายใต้สถานการณ์ของเทคโนโลยีชั้นสูงที่ครอบงำชีวิต มนุษย์ได้ย่างเท้าเข้าสู่ปากประตูแห่งความหายนะอย่างชัดเจนที่สุดแล้ว..." (น.58)


 


ในสภาวะแห่งการดิ่งลงเหวของสังคมมนุษย์และโลกนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หนทางรอดเพียงทางเดียวที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามควรจะกระทำนั้นคือ "การลงมือผลิตอาหารด้วยตนเอง" เพราะผู้เขียนเชื่อว่า คำตอบทุกอย่างล้วนอยู่บนผืนดิน และความอยู่รอดที่แท้จริงของมนุษย์คือ "เมล็ดข้าว" เพราะ ข้าวคืออาหารหลักของคนทั้งโลก ไม่ว่าจะรับประทานโดยตรงจากการต้มการหุง หรือผ่านการแปรรูปเป็นแป้งก็ตาม เมล็ดข้าวเล็กๆ นี่เอง หากเราให้ความสำคัญ เพ่งพินิจถึงกระบวนการทั้งหมด เราย่อมจะเห็นว่า เราเองก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าโลก ไปกว่าธรรมชาติเลย


 


"ข้าว"คือหญ้าชนิดหนึ่ง และเราก็ล้วนยังชีวิตอยู่ได้ด้วยหญ้าที่เรียกว่า "ข้าว" นี่แหละ มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการกินเมล็ดหญ้าที่เรียกว่า "ข้าว" แล้วเราจะยังยิ่งใหญ่ไปกว่าสิ่งใดได้อีก?


 


มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึง กระบวนการของชีวิตทั้งมวลที่ประกอบกันขึ้นเพื่อให้กำเนิดเมล็ดข้าว  การเดินทางจากผืนดินมาสู่กระเพาะของมนุษย์ กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นตัวตนของมนุษย์แต่ละคนนั้น เป็นกระบวนการที่มีส่วนสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งต่อความเข้าใจชีวิตและโลก อาหารที่สดสะอาดจากพื้นดิน อากาศที่บริสุทธิ์ น้ำที่ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี ล้วนเป็น "ของวิเศษ" ที่แสนสามัญที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่ได้ "...ความอยู่รอดของเรา มิใช่การปลูกเร็วขึ้น เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น หรือขายได้มากขึ้น ความอยู่รอดของเราขึ้นอยู่กับความสะอาดบริสุทธิ์ของผืนดิน แม่น้ำ สายลม และแสงแดด ปริมาณและคุณภาพของเมล็ดข้าว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วและราคา เทคโนโลยีทั้งหลายไม่สามารถช่วยเยียวยารักษาชีวภาพในโลกธรรมชาติได้ หนทางแห่งชีวภาพเท่านั้น ที่จะให้กำเนิดชีวภาพที่แท้จริง..." (น.72)


 


แต่องค์ประกอบเหล่านี้จะมีได้อย่างไร ภายใต้สถานการณ์บริโภคนิยม ถล่มสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ?


 


ผู้เขียนแสดงความเห็นว่า "...การพึ่งตนเองเกี่ยวกับอาหาร คือบันไดขั้นแรกของการปกป้องโลกธรรมชาติ..." (น.84) ทั้งยังเห็นว่า การพูดคุยเสวนาหรือศึกษาเท่าไรๆ ก็ไม่สู้ลงมือปฏิบัติจริง ความใฝ่ฝันทะเยอทะยานทางสังคมทุกชนิด เป็นการสร้างความทุกข์ ความเครียด ความขัดแย้ง และสงคราม อีกทั้งรัฐและการเมืองไม่มีความชอบธรรมที่จะประกาศอุดมการณ์หรือจริยธรรม เพราะรัฐนั่นเองเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม "...ทั้งการเมือง และเศรษฐกิจของมนุษย์ เป็นเพียงขบวนการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับใช้ความคิดฝันอันทะเยอทะยาน เพื่อตอบสนองความอยากที่ถูกจุดระเบิด ถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐทุกรัฐตอบสนองแรงระเบิดทางจิตวิญญาณของมนุษย์ นี่คือต้นเหตุของความรุนแรงและสงคราม รัฐคือตัวแทน คือผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนขบวน และจัดขบวน..." (น.99)


 


คำอธิบายต่อการพังทะลายของสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการพัฒนาของรัฐและทุน คงไม่ต่างจากเหตุผล "ความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง" เท่าใดนัก และในความเป็นจริง เราทุกคนก็อยู่ในวงจรดังกล่าว เรายังอยู่ในสังคม ยังต้องบริโภค ต้องการพลังงานและเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบาย ซึ่งล้วนมาจากการดัดแปลงจากธรรมชาติ ที่สำคัญเราแต่ละคนยังผลิต "ขยะ" ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้จำนวนมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งไม่ว่าจะฝัง เผา หรือทำลายด้วยวิธีใด ก็ล้วนแต่กระทบต่อระบบนิเวศน์ทั้งสิ้น


 


เราทุกคนมีส่วนทำลายโลกด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่บริโภคนิยมสุดโต่ง ใช้ชีวิตอย่างไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น หรือคนที่เรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็ตาม


 


"คืน ญางเดิม" กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า โลกไม่ใช่สิ่งบกพร่อง โลกไม่ได้มีปัญหา ไม่ต้องไปแก้ปัญหาใดๆ ให้โลก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ "ตัวมนุษย์" ต่างหาก "...สิ่งที่เป็นปัญหาคือตัวมนุษย์ มนุษย์ต้องดัดแปลงแก้ไขตนเอง ไม่ใช่ดัดแปลงเปลี่ยนแปลงทำลายโลก การมีชีวิตอยู่ในโลก ต้องอยู่เหมือนโลก อยู่โดยไม่ต้องมีดีมีชั่ว ไม่ต้องโง่ ไม่ต้องฉลาด ไม่ต้องขยัน ไม่ต้องเกียจคร้าน เหมือนสายฝน เหมือนแม่น้ำ เหมือนแสงแดด เหมือนสายลม เหมือนฤดูกาลที่เป็นไป ไม่ใช่การทำงาน แต่เป็นหนทาง เป็นวิถีของโลก และจักรวาล..." (น.114)


 


ความเข้าใจที่เกิดขึ้นหลังจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมเชื่อมโยงกับข้อมูลเรื่อง โลกธรรมชาติ ชีวิต จิตวิญญาณ ที่เคยได้รับรู้มาก่อนหน้านี้ บางที นี่อาจเป็นเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับมนุษย์คนหนึ่งที่จะทำความเข้าใจ แต่ขณะเดียวกัน นี่ก็อาจเป็นเรื่อง "จำเป็น" ที่สุ       ดที่จะต้องเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาชน ชนชั้นกลาง อย่างเราๆ ท่านๆ  ที่ปัจจัยเงื่อนไขในการดำรงชีวิต เอื้ออำนวยต่อการถอยห่างจากการเพ่งพินิจกระบวนการของชีวิต


 


ใครจะเรียกแนวคิดของผู้เขียนว่าเป็น ขบถ,อนาคิสต์,ลัทธิบูชาธรรมชาติ ฯลฯ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า ความเห็นของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ หลายต่อหลายเรื่อง "ยากที่จะปฏิเสธ" หายนะของสิ่งแวดล้อมโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์โดยตรง ทั้งทางกายภาพและชีวภาพ หายนะเหล่านั้นล้วนเป็นผลโดยตรงจากสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำต่อธรรมชาติเป็นเวลานานนับศตวรรษ เราทุกคนล้วนอยู่ในชะตากรรมการล่มสลายที่กำลังดำเนินไป


 


การลงมือปฏิบัติ คือการพึ่งตนเองในด้านอาหารนั้น แม้ไม่อาจทำได้ขนาดปลูกข้าวกินเอง แต่เพียงแค่ลงมือทำอะไรสักอย่างกับชีวิต ปลูกผัก หรือ ลดปริมาณการบริโภคสารพิษลง ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ตัวเองได้ "ลึกซึ้ง" กับชีวิตมากขึ้น


 


"เมล็ดพืชสีเขียว ประกายไฟแห่งใบไม้" เป็นหนังสือ 1 ใน 2 เล่มที่ดีที่สุดที่ผมได้อ่านในรอบหลายปี ส่วนอีกเล่มหนึ่งนั้นคือ "บทสนทนากับพระเจ้า" แม้ว่าเล่มหนึ่งจะพูดถึงการเกษตร สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และอีกเล่มหนึ่งจะพูดถึง ชีวิตและจิตวิญญาณ(ไม่ใช่ศาสนา) แต่น่าแปลกมาก ที่หนังสือทั้งสองเล่มนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกัน


 


เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมได้อ่าน "วิถีสู่ธรรมชาติ เล่ม 3" ของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ มีข้อความหนึ่งที่ผมจดจำได้อย่างแม่นยำแต่ไม่เคยเข้าใจคือ "ธรรมชาติกับพระเจ้าคือสิ่งเดียวกัน"  เมื่อได้อ่านหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ผมเริ่มเข้าใจข้อความนี้ ผมเริ่มเข้าใจอะไรหลายอย่าง มองเห็นเป้าหมายในชีวิตชัดเจนขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น และเครียดน้อยลง


 


ไม่ใช่ว่าจะบรรลุ หรือจะไปทำนาที่ไหนหรอกครับ เพียงแต่เห็นความเชื่อมโยงของชีวิตมนุษย์กับโลกว่ามันลึกซึ้งขนาดไหน และท่ามกลางความปั่นป่วนของยุคสมัย เราควรจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรดี


 


ผมไม่แน่ใจว่า หนังสือเล่มนี้จะมีวางขายทั่วไปหรือเปล่า แต่ถ้าสนใจจริงๆ ขอแนะนำให้ติดต่อ พี่นนท์ สุวิชานนท์ รัตนภิมล นะครับ เข้าใจว่าน่าจะมีอยู่อีกหลายเล่ม ผมอ่านแล้วก็คิดว่า น่าจะมีการพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เพราะนี่เป็นหนังสือที่ดีมากๆ จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การพูดถึงการทำลายหรือการอนุรักษ์เท่านั้น แต่จี้ตรงไปที่ประเด็น "ความเข้าใจต่อโลกด้วยการลงมือผลิตอาหารด้วยตนเอง" พี่นนท์ เองก็บอกผมว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นแบบเรียนให้เด็กๆ ด้วยซ้ำไป


 


ขอจบตอนนี้ด้วยข้อความจากปกหลังของหนังสือก็แล้วกันครับ


 


"...นี่คือ ลักษณะเฉพาะของการเรียนรู้จากผืนดินที่ต้องออกไปสู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ถกเถียงวิจารณ์ให้น้อยที่สุด ผืนดินจะตอบคำถามทุกคำถามที่คุณสงสัย จะตอบคุณด้วยความเงียบสงัดที่สุดยามอยู่ตามลำพัง แล้วคุณจะได้เรียนรู้ว่า ผู้ที่ใกล้ชิดกับผืนดินอย่างแท้จริงนั้น คงไม่มีใครอาจหาญคิดวางแผนงานแทนโลกธรรมชาติ สิ่งที่ง่ายดาย และมีคุณค่าที่สุดนั้น มิใช่การคิดค้นวางแผนขึ้นมาใหม่ ผู้ที่เข้าใจลึกซึ้งต่อแผ่นดิน จะแสดงออกด้วยการเคารพต่อธรรมชาติ สิ่งนี้ไม่มีใครสอนเราได้นอกจาก พระแม่ธรณี..."