Skip to main content

เกาะสินไห ขอแค่เป็นคนไทยเท่านั้นเอง

คอลัมน์/ชุมชน


 


หากวันหนึ่ง คุณตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า แผ่นดินที่คุณอาศัยอยู่ รวมทั้งชีวิตคุณ พี่น้องวงศ์วานของคุณ ถูกควบคุมยึดครองโดยชาติอื่น คุณจะทำอย่างไร


 


เรือหางยาวพาเราออกจากเกาะตาครุฑตั้งแต่พระอาทิตย์ยังแอบซ่อนอยู่ในม่านฟ้า เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เราก็มาถึงเกาะสินไห เป็นการเดินทางที่ไม่ลำบากนัก แต่สำหรับเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ที่ต้องนั่งเรือเช่นนี้ ทุกวัน เช้า เย็น บางฤดู นับว่าเสี่ยงภัยพอสมควร


 


เท้าแตะพื้น หาใช่ผืนทรายอันนุ่มเนียนไม่ แต่เป็นโคลนเลนที่มีเส้นสายของรากไม้สอดประสานราวตาข่ายครอบคลุมอยู่เป็นผืนใหญ่  ก้าวขึ้นไปอีกนิด สายตาปะทะกับกระท่อมหลังน้อยๆมุงด้วยใบจาก ยืนเรียงแถวยาว หายลับไปในขอบโค้งของเกาะ สังเกตหน้าตาของเด็กๆ ที่นี่ มีผิวดำคล้ำผมหยิกหยอง และรูปแบบการสร้างเรือนง่ายๆ น่าจะเป็นมอแกน... ใช่จริงๆ คนนำยืนยัน เรือนแถวเหล่านั้น ขนาบทางเดินแคบๆ ที่เรากำลังปีนขึ้นไปเหยียบ



ทางเดินที่ว่าทำจากซีเมนต์ ขนาดกว้างพอให้คนสวนทางกันได้  เราตั้งใจจะไปที่ชุมชนใหญ่ แต่เพราะระดับน้ำในทะเลเป็นช่วงน้ำลด จึงไม่สะดวกที่จะไปขึ้นที่ท่าเรือใหญ่ของหมู่บ้าน


 


อ่านเจอมาว่า เกาะสินไห เป็นชื่อที่เรียกสั้นๆ มาจากคำว่า กำปง ปูเลา ปีไหง เป็นภาษามาลายู กำปงแปลว่าหมู่บ้าน ปูเลา หมายถึงเกาะ ส่วนคำว่าปีไหง....ขออภัย  ไม่ทราบ ไม่ได้ถามใคร เพราะตอนที่รู้จักใครบางคนและถามถึงวิธีการเดินทางมารู้แต่ในนามสินไห และชื่อสินไห ยังมีตำนานแบบแปร่งๆ ประหลาดๆ ว่า เป็นที่ๆ ชาวเรือมาหาน้ำจืด โดยใช้บรรทุกใส่ในไห หรือโอ่ง เมื่อมาถึงเกาะ เกิดคลื่นซัด เรือกระแทกหิน ไหที่เตรียมใส่น้ำแตกหมด จึงเรียกว่า เกาะสิ้นไห  ต่อมากลายเป็น สินไห


 


หากเดิมชื่อ กำปง ปูเลา ปีไหง ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะชื่อแบบนั้น เพราะเกาะในทะเลอันดามัน มีชื่อเรียกเป็นภาษามาลายูทั้งสิ้น เพียงแต่ถูกกร่อนชื่อให้สั้นลง และเรียกผิดเพี้ยนไปในทีหลัง และชาวบ้านที่เกาะนี้นับถือศาสนาอิสลามทั้งเกาะ ภาษาพูดที่ใช้กันมากที่สุดคือ ภาษายาวี ส่วนที่พูดแบบแปลกๆ และที่คนบางคน บางกลุ่มพูดกันเบาๆ คล้ายกลัวเราจะได้ยิน เมื่อเราเดินผ่าน น่าจะเป็นภาษาพม่า (แน่ล่ะ เพราะเราไม่รู้จักทั้งภาษาพม่าและยาวี และเขาก็พูดกันเบาๆ จนเราไม่ได้ยิน)


 


ประวัติของเกาะ มีทั้งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมมายาวนาน และที่อพยพมาจากฝั่งพม่าไม่ต่ำกว่าสามสี่สิบปี หรือที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ คนบนเกาะจึงมีทั้งที่มีบัตรประชาชน เป็นคนไทย และที่เป็นคนไทยแต่มีบัตรเป็นพม่า รวมทั้งที่ไม่มีสัญชาติใดๆ เลย อยู่ร่วมกัน


 


จากทางเดินที่ยกเสาสูงประมาณครึ่งเมตร เราเดินเรื่อยๆ เมียงมองสองข้างทางดูพืชพันธุ์หลากหลาย ฝั่งซ้ายเป็นป่าโกงกางชายทะเล ฝั่งขวาเป็นภูเขาที่ยังมีป่าแน่นทึบ ในระยะการเดินมาได้สักสองร้อยเมตร ด้านซ้ายมีกลุ่มคนกำลังวุ่นกับงานจัดการบ่อหมักแมงกะพรุน ด้านขวาเป็นสนามฟุตบอลเล็กๆ ในแบบฉบับของชาวเกาะ และเดินเรื่อยมาอีกประมาณห้าร้อยเมตร จนเข้าบริเวณชุมชน พบบ้านหลังเล็กๆ สภาพคล้ายเพิง ด้านขวามือพอมีบริเวณบ้าน ส่วนฝั่งซ้ายไม่มี เพราะบ้านสร้างอยู่ในน้ำ สารถีเรือของเราบอกว่า เมื่อก่อนก็เป็นบ้านแบบนี้ทั้งเกาะ  คือเป็นกระท่อมมุงจาก  ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระเบื้อง สังกะสีบ้างแล้ว ทางเท้าที่เดินอยู่นี่ก็ของใหม่


 


มองไปบนยอดภูเขาที่ยังร่มครึ้มไปด้วยไม้ป่า ไม่ต้องสงสัยว่าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจะหลากหลายสักเพียงใด คติของคนมุสลิมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ ก็คือ ไม่กินเนื้อสัตว์ป่า


 


ดังนั้น พื้นที่ของเกาะประมาณ 3.2 ตารางกิโลเมตร มีคนอาศัยอยู่ราวๆ สองร้อยกว่าครอบครัว ประชากรพันกว่าคน วิถีชีวิตที่พึ่งพาทะเลมากกว่าแผ่นดิน การทำลายป่าเพื่อเพาะปลูก จึงยังมีน้อย ที่เห็นเป็นสวนผลไม้แบบโบราณ มีต้นมะม่วงใหญ่ๆ มีมะพร้าวๆสูงๆ ไม่กี่ต้น อยู่หลังโรงเรียน ใกล้ๆ ชุมชนใหญ่


เกาะสินไห โชคดีกว่าเกาะตาครุฑ เพราะเป็นเกาะที่มีชื่อในทะเบียนการปกครองของกรมการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้าน มีโรงเรียนที่เปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษา  มีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิด มีสถานีอนามัย....(แต่ที่เราไปพบ ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาอยู่ประจำ อาคารมีสภาพทรุดโทรม).....ใครบางคนจากเกาะตาครุฑกระซิบเตือนพวกเราว่า ที่เกาะสินไหมีพฤติกรรมภายในบางอย่างที่น่ากลัวเหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขออภัย ที่ต้องพูดถึง...จริงเท็จไม่รู้ ไม่ได้พบกับครูที่สอนอยู่ที่นั่น ที่เขาบอกว่า ครูโดนกลั่นแกล้ง โดยกลุ่มผู้ที่แสดงตัวว่าฝักใฝ่ในการก่อการร้าย


 


ไม่อยากเชื่อ แต่สงสัยว่าถ้าเป็นความจริง จะอธิบายอย่างไร กับน่านน้ำเจ้าปัญหา ที่มีเจ้าที่ปกครองถึงสามประเทศ  สองประเทศเดิม คือไทยกับพม่า แต่อีกประเทศหนึ่งที่มาเช่าเกาะเล็กๆ ของพม่าทั้งเกาะ ที่อยู่ระหว่างเกาะสองกับระนอง ตั้งบ่อนคาสิโน แม้จะเป็นเกาะที่เช่าเขาอยู่ แต่คนอื่นไม่มีสิทธิจะล่วงรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่บ้าง และเพื่อการลงทุนด้านการพนันเท่านั้นเองหรือ


 


ปากน้ำระนอง ยังคงความลึกลับ น่าหวาดกลัว มีการแข่งขันสูงไม่ต่างจากสมัยเหมืองแร่รุ่งเรือง แต่ปัจจุบันรูปแบบการค้าหลากหลายออกไป ความร้อนแรงแห่งการแข่งขันยังคุกรุ่น ผลประโยชน์ข้ามเส้นพรมแดน เท่าๆ กับวิถีชีวิตผู้คนที่พันพัวข้ามพรมแดน


เรามาที่นี่เพียงเพื่อดูว่าชีวิตความเป็นอยู่หลังสึนามิเป็นอย่างไรบ้าง แต่กลับพบปัญหาที่หนักหน่วงกว่า คือปัญหาคนไทยพลัดถิ่นหรือถิ่นพลัด  แม้ได้ชื่นชมความงามของหาดทรายสวย ด้านหลังเกาะ ที่เป็นหาดทรายขาวโค้งยาว น้ำทะเลใสแจ๋ว เรียกว่า "หาดใหญ่" นั้น แต่ความงามที่มีเบื้องหลังมีความเศร้าโศกซ่อนอยู่


พวกเขาไม่มีทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติพม่า หลายสิบครอบครัว


"ถ้าเป็นพี่น้องของคุณ แล้วจู่ๆ วันหนึ่งสงครามแยกพวกเขาออกไปจากชีวิตคุณ กฎหมายของเรายังระบุอีกว่าเขาคือต่างด้าว...และคุณรู้ว่าเขาถูกรังแกจากทั้งสองรัฐ คุณจะช่วยเหลือพวกเขาไหม และคิดว่าจะช่วยอย่างไร"