Skip to main content

"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" กับ "ภาพลวงประวัติศาสตร์" ของคนไทย (1)

คอลัมน์/ชุมชน


 


นาทีนี้ คำถามที่ว่าภาพยนตร์ไทยเรื่องใดแรงที่สุดในช่วงต้นปี 2550 ได้ถูกตอบโดยอัตโนมัติแล้วว่า "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ซึ่งกำกับโดย ม..ชาตรีเฉลิม ยุคล


 


เดิมที ผมไม่คิดจะเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ในฐานะที่ท่านให้สัมภาษณ์ว่ามันเป็น "ตำนาน" และเป็น "ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง" ที่ท่านทุ่มเททำด้วยชีวิต (นิตยสารสารคดี ธันวาคม 2549)


 


แต่เมื่อเห็นปรากฎการณ์ที่บางคนออกจากโรงหนังแล้วตะโกนว่า "รักประเทศไทย"  ได้ยินนายสนธิ  บุญยรัตนกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร  กล่าวกับสื่อมวลชนในหลายวาระ เช่น "หนังเรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ถ้าคนไทยไม่รักกัน ไม่สามัคคีกัน บ้านเมืองก็จะเกิดปัญหา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยทั้งชาติกลับมาทบทวนว่าเราเสียกรุง 2 ครั้ง แต่ละครั้งเกิดจากคนไทยเอง ก็ควรให้เป็นบทเรียนเพื่อทบทวนว่าปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร อยากให้คนไทยตระหนักว่าความรัก ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติมีความสำคัญมาก"  (30 .. 2550) - -  กล่าวหลังนำนายทหารระดับสูงชมภาพยนตร์ที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน


 


"การแสดงออกถึงความรักชาติเวลานี้คือไปดูภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้มาก สิ่งที่น่ายินดีคือทราบว่าคนที่ดูหนังเรื่องนี้มากที่สุดในประเทศคือคนภาคใต้ ที่น่าภูมิใจคือมีคนจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้เข้าไปดูหนังแล้วออกมาตะโกนว่า ‘รักประเทศไทย’ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้" (1 .. 2550)  - -  กล่าวขณะบรรยายเรื่อง "นักศึกษากับภาวะผู้นำ" กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (หนังสือพิมพ์นิยามว่าเป็นการชี้แนะเชิงตลก)


 


ยังรวมคำกล่าวของคณะบุคคล พรรคการเมือง โรงเรียน หน่วยงานราชการต่างๆ ที่ขานรับว่าจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเหตุผลเดียวกับที่นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า


 


"รำลึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย เทิดทูนวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงเสียสละทุ่มเทเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยให้ดำรงอยู่ถึงลูกหลานไทยในวันนี้"


 


ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องวิจารณ์และถอดรหัสภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเจือจางม่านหมอกมายาทางประวัติศาสตร์ที่ปกคลุมสายตาของคนไทยออกไปเสียบ้าง ในฐานะที่มันถูกรัฐบาลเผด็จการทหารไทยใช้งานผิดประเภท (คือนำไปทำให้คนไทย "คลั่งชาติ" และ "รักชาติ" แบบผิดๆ)


 


สำหรับผม คำกล่าวของกลุ่มบุคคลข้างต้น คือกระจกสะท้อนว่าคนไทยส่วนหนึ่งและอาจส่วนมาก แยกไม่ออกระหว่าง "ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์" กับ "ความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีข้อยุติ" (ทั้งที่ท่านเหล่านี้น่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษามากกว่าชนชั้นอื่นๆ ในสังคมไทยด้วยซ้ำ)


 


หรือถ้าแยกออก พวกท่านก็เกาะกระแสจงรักภักดีโดยไม่ดูว่าสิ่งที่ให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้ขับเคลื่อนประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคตจะไปส่งผลกระทบระยะยาวกับการรับรู้ประวัติศาสตร์ในเยาวชนรวมถึงคนไทยทั่วประเทศมากเพียงใด


 


หากสถานการณ์เป็นเช่นปัจจุบันไปเรื่อยๆ ผลที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่อ่านประวัติศาสตร์อย่างจริงจังแล้วไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่แยกแยะจึงน่ากลัวอย่างยิ่ง


 


ด้วยเส้นแบ่งระหว่าง "ความบันเทิง" กับ "การสร้างความจริงทางประวัติศาสตร์ด้วยภาพยนตร์" มันบางเฉียบ


 


คาดว่าคงมีบุคคลอีกหลายกลุ่มที่จะแสดงความเห็นในลักษณะคลั่งชาติเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ตลอดปี 2550 เพราะตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีถึง 3 ภาค


 


ดังนั้น ควรหรือยัง ที่คนไทยทุกคนจะต้องทบทวนอะไรบางอย่างก่อนจะเข้าโรงหนังดูภาพยนตร์เรื่องนี้


 


เปล่าครับ ผมไม่ได้บอกว่าการรักชาติไม่ควรส่งเสริม กลับกัน มันควรได้รับการส่งเสริมอย่างยิ่ง หากแต่ต้องทำ อย่างมี "สติ" บนฐาน "ความรู้" และบนพื้นฐานการคิดอย่างรอบด้าน


 


กระบวนการนี้ผมเรียกมันว่า "การทำให้คนไทยรักชาติอย่างมีสติ"


 


- 1 -


 



 


หากใครได้ชมตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาค "ปฐมวัย" แล้วจะพบว่า ภาพยนตร์เล่า "ตำนาน" สมเด็จพระนเรศวร (ซึ่งคนดูร้อยละ 90 คิดว่าเป็นเรื่องจริงจากประวัติศาสตร์จนลืมไปว่าเป็น "ตำนาน") เท้าความตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมาทำศึกกับพิษณุโลก จนพิษณุโลกต้องยอมเข้ากับฝ่ายหงสาวดีแล้วร่วมยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา


 


สมเด็จพระนเรศวรขณะพระเยาว์เป็นเด็กที่มีความสามารถเกินวัย กล้าโต้ตอบกับพระเจ้าบุเรงนองที่ตกอยู่ในฐานะตัวประกันของเมืองพิษณุโลก อีกทั้งยังให้บทว่าพระเจ้าบุเรงนองสั่งสอนกลยุทธการศึกให้พระองค์โดยอ้อมอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่าในฉากที่ทัพหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยานั้น บนสัปคับช้างทรงของพระเจ้าบุเรงนอง พระนเรศวรได้ประทับบนนั้นด้วย โดยต้องทรงสดับบุเรงนองสรรเสริฐความเก่งกาจของพระมหาจักรพรรดิและพระราเมศวรที่ป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งโดยชี้ว่าการเอาชนะศึกมิใช่แค่ด้วยกำลัง หากแต่ยังต้องมีเรื่องของปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


 


จนในที่สุด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกษัตริย์อยุธยายอมเจรจาหย่าศึก ยอมเสียช้างเผือก 4 เชือก ส่งพระราเมศวรไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี แถมโดนพระเจ้าบุเรงนองสอนวิธีบริหารราชการแผ่นดินด้วยการระบุว่าหากพระองค์ไม่ยอมส่งโอรสองค์โตไปเป็นตัวประกัน ในภายหน้า กรุงศรีอยุธยาก็จะเกิดการจลาจลแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างพี่น้อง (ระหว่างพระราเมศวรกับพระมหินทราชา) เป็นแน่แท้ หากแต่ที่แท้คือการตัดกำลังอยุธยานั่นเอง


 


ภาพยนตร์เล่าต่อไปว่า พระนเรศวรเสด็จไปเป็นองค์ประกันโดยมีความเชื่อเรื่อง "เสรีภาพ" อย่างเต็มที่ผ่านเหตุการณ์ที่ทรงพบไอ้บุญทิ้ง (เด็กคนนี้คือ ออกพระราชมนูขุนศึกคนสำคัญในเวลาต่อมา) เด็กกะโปโลที่ยังชีพด้วยการขโมยของในตลาดโยเดีย (หมู่บ้านที่พระเจ้าบุเรงนองพระราชทานให้คนอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนตั้งถิ่นฐาน) จนเกิดกรณีพิพาทกับขุนเดช นายทุนน้อยที่เก็บส่วยส่งเจ้านายในราชสำนักหงสาวดี จนพระองค์ดำต้องเข้าไปห้าม


 


ขุนเดช ถูกภาพยนตร์ให้บทเป็น "คนสยามแปรพักตร์" ถึงกับกล้าว่าพระราชบิดาพระนเรศวรว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขาต้องมาอยู่ที่นี่ และพระองค์ดำถึงกับต้องตรัสว่า


 


"เราไม่อยากเชื่อว่าคนสยามจะแปรพักตร์ได้ง่ายดายเช่นนี้"


 


ภาพยนตร์ยังเล่าเรื่องความกดดันที่สมเด็จพระนเรศวรได้รับในลักษณะนี้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฉากที่พระองค์พบพระมหาอุปราชาบนถนนสายหนึ่งแล้วถูกบังคับให้ต้องคุกเข่าคารวะ ผ่านฉากที่พระองค์ผนวชเป็นสามเณรในสำนักของพระมหาเถรคันฉ่องเพื่อฝึกวิชาต่างๆ แล้วต้องคอยฟังข่าวศึกที่เกิดขึ้นกับอยุธยา (ในปี 2112) ด้วยหัวใจปวดร้าว ผ่านฉากที่พระองค์พบไก่เหลืองหางขาวแล้วนำไปชนได้ชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา เรื่องจึงได้ขึ้นถึงจุดสูงสุด


 


นำไปสู่บทสรุปที่ว่า ก่อนจะได้ "อิสรภาพ" "ไก่เชลย" (รวมไปถึงคนสยาม) ก็ต้องสู้ก่อน


 


ในที่สุดพระองค์ก็ปล่อยไก่ตัวนี้สู่ป่า ต่อมาปลดปล่อยพระองค์จากการเป็นเชลยที่หงสาวดี โดยความช่วยเหลือลับๆ ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา พระพี่นางที่ยอมมอบกายแลกกับอิสรภาพของพระอนุชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองเอง ก็มีจิตเมตตาปล่อยให้หนีกลับอยุธยา (อย่างเหลือเชื่อ)


 


ด้วยทรงทราบจากการทำนายของโหรหลวงว่า ดวงชะตาของพระองค์กับพระนเรศวรนั้นผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง จะทรงฆ่าพระนเรศวรไม่ได้ (นี่ก็เหลือเชื่อเช่นกัน) ต้องทรงเลี้ยงเอาไว้แทนและวางแผนให้อภิเษกกับมณีจันทร์ พระธิดาลับของตนเอง


 


- 2 -


 


ทัศนะวิพากษ์ว่าด้วยตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตอนแรกนี้ ผมอยากกล่าวถึงคำว่าสยามกับคำว่าไทยเสียก่อนเป็นประเด็นหลัก


 


ด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้ ตีความคำว่า  "สยาม" ให้มีความหมายเท่ากับคำว่า  "ไทย" ทั้งที่ในปัจจุบัน ความหมายของคำสองคำนี้แตกต่างกันอย่างลิบลับ


 


ที่ผ่านมา….


 


"สยาม" หมายถึงชื่อเรียกกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอาณาจักรอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันประกอบด้วยชนหลากเผ่าหลายชาติพันธุ์ และปัจจุบันมันก็ยังมีความหมายเช่นนั้น


 


ส่วนคำว่า "ไทย" มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนกลาง ความหมายของมันในอดีตเป็นไปในแง่เดียวกับคำว่า "สยาม" คือใช้การเรียกกลุ่มคนในอาณาจักรอยุธยา หากแต่มันเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถูกนำมาตั้งเป็นชื่อรัฐประชาชาติ (Nation-State) สมัยใหม่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อตอบสนองนโยบาย "ชาตินิยม"


 


"ไทย" จึงเปลี่ยนไประบุว่าประเทศนี้เป็นของคนเชื้อชาติไทย เป็น Race เป็นไปในแง่สายเลือดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนที่เรียกว่า "ไท" เติม "" นั้นมีจริงหรือไม่ (ขณะที่คน "ไท" หรือ "ไต" นั้นมีจริงแน่นอน เพราะปรากฏกระจายอยู่ทั่วไปในอุษาคเนย์)


 


ในสมองของคนไทยยุคปัจจุบัน ความชัดเจนในเรื่องความหมายของคำสองคำนี้จึงจางอย่างยิ่ง และมีการใช้ถูกๆ ผิดๆ มาตลอด


 


หากแต่หนังเรื่องนี้ได้ทำให้คำว่า "ไทย" ในฐานะ "รัฐประชาชาติ" (Nation-State) ซึ่งความจริงต่างกับคำว่า "สยาม" สิ้นเชิงในแง่ความหมายและการใช้งานมาหลอมกันได้อย่างลงตัว


 


เพราะท่านมุ้ยนิยามสองคำนี้ผ่านตัวละครในภาพยนตร์ให้มันมีค่าเท่ากับ  "ประเทศไทย" เรียบร้อยโรงเรียนพร้อมมิตรโปรดักชั่น


 


คนดูจึงต้องแยกให้ดีว่าตัวละครในภาพยนตร์โดยเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรภาคเด็กตรัสว่า "คนสยาม" มิได้หมายถึงหรือเท่ากับ "คนไทย" ที่มี "สัญชาติไทย" (ซึ่งผมเชื่อว่าท่านที่อ่านทัศนะวิพากษ์ของผมขณะนี้ ส่วนมากต้นตระกูลน่าจะเป็นเจ๊ก จีน ลาว ทั้งนั้นหากสืบค้นกันไปจริงๆ)


 


"อยุธยา" ที่ถูก "หงสาวดี" ยึดครอง  จึงไม่เกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศพม่าในปัจจุบันแต่อย่างใด (แต่ในภาพยนตร์ตั้งใจให้หมายถึงพม่า เพราะตัวละครหลุดคำว่า "พม่า" ออกมาหลายครั้ง และผมเชื่อว่าเป็นความจงใจโดยสุจริตของท่านผู้กำกับภาพยนตร์)


 


ไก่เชลยในเรื่อง ไม่ว่าจะเรียกผิดๆ ถูกๆ ว่าไก่สยาม ไก่ไทย จึงเผยความนัยออกมาว่าเป็น "อุบาย" ปลุกกระแสชาตินิยม สร้างความสมานฉันทน์ในทางที่ผิด เพราะขณะที่ให้คนดูรักชาติแต่ก็ด่าคนพม่ายุคปัจจุบันที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อยู่ดี 


 


อีกอย่าง ฉากไก่ชนนี้ มันทำได้แค่สร้างความสุขให้เซียนไก่ผู้พิสมัยตำนานไก่เหลืองหางขาวที่ไม่มีพงศาวดารที่น่าเชื่อถือใดๆ กล่าวถึงแม้แต่ฉบับเดียว (ยกเว้นคำให้การขุนหลวงหาวัด กับคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งจากการพิสูจน์พบว่า เป็นบันทึกคำให้การเชลยศึกอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะในช่วงหลังเสียกรุงครั้งที่ 2  และนี่คือฉบับเดียวกัน)


 


หรือถ้าการชนไก่มีจริง ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวไก่ชนเองมันก็คงไม่ได้แบ่งเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดียวกันว่าตัวมันเป้นไก่ไทยหรือไก่พม่า แบบที่คนยุคปัจจุบันไปเจ้ากี้เจ้าการแต่อย่างใด


 


เราไปแบ่งเชื้อชาติให้มันตามกรอบคิดเรื่อง "รัฐชาติ" ซึ่งเกิดมีขึ้นหลังการชนไก่ครั้งนั้น (ถ้ามีจริง) นานหลายร้อยปีใช่หรือไม่ ลองถามตัวเองดู


 


ยังครับ  ยังมีอีกหลายจุด แต่ผมจะขอยกยอดไว้ตอนหน้า


 


เพราะถ้าภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคแรกซึ่งถูกเชื่อว่าเป็น "ประวัติศาสตร์จริง" เช่นที่สังคมไทยส่วนใหญ่เชื่อขณะนี้  


 


คนดูอย่างเรา ก็ยิ่งควรรู้ถึงแนวคิดเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ให้มากกว่าเดิมเป็น 10 เท่า


 


** ภาพประกอบเป็น โปสเตอร์ภาพยนตร์ของบริษัทพร้อมมิตรโปรดักชั่น จำกัด ผู้ผลิต "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"