Skip to main content

ที่นี่ภาคใต้ - - ความรุนแรงไม่ใช่แค่เรื่องแฟชั่น

คอลัมน์/ชุมชน

สถานการณ์ความรุนแรงในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นประเด็นร้อนและมีความละเอียดอ่อนอยู่มาก หลายภาคส่วนใช้ความพยายามในการระดมวิธีการเพื่อประนีประนอมปัญหาความรุนแรงระหว่างพี่น้องในชาติเดียวกัน เพื่อแสวงหาจุดสมดุลย์ในระบบความคิดความเชื่อ และวัฒนธรรม หากเป็นที่น่าสนใจว่าความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว ยืดเยื้อมายาวนาน ฉะนั้น การย้อนหลังกลับไปมองเรื่องราวที่ผ่านมา อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปิดไปสู่หนทางแห่งความเข้าอกเข้าใจกันได้


มุสลิมตอนใต้ ไร้ที่ทาง ร้างที่มา อย่างนั้นหรือ ?
อาณาบริเวณทางตอนใต้ของไทย ถูกมองเป็นภูมิศาสตร์ทางการเมือง ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงมากว่าครึ่งศตวรรษ หากมองย้อนกลับไปในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว พื้นที่ทางตอนใต้ไม่ว่าจะเป็นปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล อาจหมายรวมไปถึงสงขลา เพิ่งถูกผนวกเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกันกับ "วัฒนธรรมสยาม" เมื่อ พ.ศ.2445 ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง การผนวกรวมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ระบอบอาณานิคมอังกฤษได้อ่อนกำลังลง ขณะเดียวกัน มีความเข้มแข็งของกำลังกู้ชาติต่างๆ เกิดกระแสความพยายามในการประกาศเอกราชตลอดทั่วทั้งคาบสมุทรมลายู


หลังจากที่วัฒนธรรมสยาม หรือ "วัฒนธรรมไทย" ครอบคลุมไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเวลาเดียวกับที่สภาวะทางการเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้น ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, จนถึงเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519, กระทั่งถึงยุคที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเมื่อประกอบกันเข้า เป็น "จินตนาการสาธารณะ" ที่แทรกสอดผ่านข่าวสาร และความเห็นของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ดูเหมือนว่า "จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมไทย ผ่านความรุนแรง"


ทั้งนี้ การจัดการกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีด้วยกันหลายแบบ เผยแพร่ออกมาหลายกระแสเป็นช่วงเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ภายใต้บริบทของสังคม และการเมืองที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีใครยืนยันหรือสามารถปักใจเชื่อ "ภาพสะท้อน" จากการจัดการความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ภาคใต้ของไทย จวบจนทุกวันนี้ที่ความรุนแรงเกิดขึ้นเพิ่มเสริมเข้าไปอีก


ระเบียบ รัฐ (รัด) , ระบอบ ร้อน
ในความเป็นตัวตนของชาว "มุสลิม" มีจุดเด่นชัดอย่างหนึ่งคือ ความใกล้ชิดผูกพันกันผ่านเครือข่ายทางศาสนา ผู้คนในแถบจังหวัดชายแดนใต้ของไทยจึงอาจจะมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้วยบทบาทหน้าที่หลัก 4 แบบที่สังเกตได้ง่ายคือ แสดงบทบาทหน้าที่ของศาสนิกภายใต้กรอบปฏิบัติของศาสนาอิสลาม, เป็นทายาทโดยเชื้อชาติที่ได้รับอิทธิพลทางประเพณีวัฒนธรรมจำเพาะแบบ, เป็นพลเมืองของรัฐไทยต้องปฏิบัติตนให้สอดรับกับกฎหมายไทย, กระทั่งท้ายที่สุดนับว่าเป็นประชากรของ "โลก" ที่ต้องรับมือกับวัฒนธรรม "ป๊อบ" (Popular Culture) ตามสมัยนิยม


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ระบอบอำนาจทหารนิยมอย่างเด็ดขาดได้ยุติลง และรัฐบาลเริ่มตระหนักในสภาพเฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามภูมิหลังทางวัฒนธรรม, ประเพณี และศาสนา จึงได้ใช้นโยบายพิเศษในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล แต่ข้อจำกัดอยู่ที่รัฐบาลในบางยุคสมัย ยังคงกระทำการไปในเชิงบีบบังคับชาวมุสลิม โดยคาดไม่ถึงความแตกต่างทางด้านสังคมวัฒนธรรม ยังความไม่พอใจแก่ชาวใต้ที่ได้รับผลกระทบ ในบางกรณี ข้าราชการซึ่งเป็นเสมือนกลไกของรัฐก็ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยไม่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายของรัฐ


รัฐนิยม, ชาตินิยม, ไม่น่านิยม
ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2481-2487) ได้ออกรัฐนิยมฉบับแรกที่ว่าด้วย "ใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ" แล้วเปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" ทั้งยังกำหนดให้เรียก "คนสยาม" ว่า "คนไทย" เพื่อเน้นความถูกต้องตามเชื้อชาติ แนวคิดชาตินิยมทำนองนี้สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจรัฐ กำหนดทิศทางวัฒนธรรม และบีบบังคับความเป็นตัวตนของพลเมืองในประเทศ


รัฐนิยมที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมอย่างชัดเจนที่สุดน่าจะเป็น 3 ฉบับที่ว่าด้วย การเรียกชื่อชาวไทย ภาษาและหนังสือไทย, กับ หน้าที่พลเมืองดี, และ การแต่งกายกับประชาชนชาวไทย


จากข้อกำหนดดังกล่าวนับเนื่องให้เกิดกรณีห้ามชาวมุสลิมไม่ให้แต่งกายตามวัฒนธรรมมลายู ไม่ให้ตั้งชื่อมลายู ห้ามพูดภาษามลายู ศาสนาอิสลามกลายเป็นสิ่งต้องห้าม กระทั่งเกิดกรณีที่ว่า ในอำเภอสายบุรี ชาวมุสลิมถูกบังคับให้ไหว้พระพุทธรูป, ในจังหวัดสตูลมีหนังสือจากราชการขอความร่วมมือจากพ่อค้า ให้งดนำผ้าโสร่งมาขาย, ในปัตตานีหากใครนุ่งโสร่งหรือแต่งกายตามประเพณีเดิมจะไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ ยิ่งไปกว่านั้นเคยเกิดกรณีผู้หญิงมุสลิมที่แต่งกายด้วยเสื้อแขนยาวและคลุมหัวถูกตำรวจ "ถีบ" และ "ทุบ ตี ด้วยด้ามปืน" ขณะจ่ายตลาด


แม้ว่ากลไกในการจัดระเบียบที่ถูกใช้โดยภาครัฐ บางกรณีเปิดเผยให้เห็นถึงการกดขี่ บีบบังคับ จนพอจะใช้เป็นคำให้การได้ว่า เหตุใดการท้าทายต่ออำนาจรัฐจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า การใช้ลักษณะพิเศษจำเพาะของตนหรือกลุ่ม มากีดกันผู้อื่น ให้ผู้อื่นด้อยกว่า กระทั่งมองว่า "คน" เท่ากับ "วัตถุ" ที่ทุบ ทำลาย หรือ สามารถใช้ความรุนแรงด้วยได้นั้นเป็นการไม่เหมาะไม่ควร ดังนั้น ในตรรกะเดียวกัน การท้าทายอำนาจรัฐด้วยวิธี "ฆ่ารายวัน" ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก


พับนกวันละสองพันตัว ก็คงแทนหนึ่งชีวิต หรือกระทั่งหนึ่งหยดเลือด ไม่ได้