Skip to main content

อดีตยุคมืดของสื่ออินโด เขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพอย่างไร


"สองหนุ่มนักข่าว เป็นผู้ประสานงานของ AJI จังหวัดเมดาน สุมาตราเหนือ"


 


สื่อภายใต้อำนาจเผด็จการแต่พยายามต่อสู้เพื่อเสรีภาพท่ามกลางอำนาจที่บีบคั้น ควบคุมอย่างเข้มข้น กับสื่อในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่กล้าทำหน้าที่ ไม่เสนอข่าวเจาะลึก หรือตรวจสอบผู้มีอำนาจ ตกอยู่ภายใต้กลไกของตลาด สภาวะไหนเลวร้ายกว่ากัน?


 


ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 – 2541 รวม 32 ปี สื่ออินโดนีเซียอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลซูฮาร์โต และสื่อถูกจำกัดเสรีภาพอย่างมาก มีเครื่องมือมากมายในการควบคุมสื่อ เช่น การควบคุมและถอดถอนใบอนุญาตในการดำเนินกิจการด้านสื่อ หากสื่อไหนที่แหกคอกเสนอข่าวในทางที่เป็นผลร้ายกับซูฮาร์โต ส่งผลให้ถูกถอดถอนใบอนุญาตได้ง่ายๆ ในยุคนั้นทั้งบรรณาธิการ ทั้งเจ้าของสื่อต้องเข้าอบรมและรับฟังแนวความคิด การพัฒนาของรัฐและนำเสนอข่าวตามที่รัฐบาลต้องการ ก่อนที่จะนำข่าวออกอากาศหรือตีพิมพ์ บรรณาธิการต้องนำเนื้อหาของข่าวหรือสคริปต์ไปแจ้งให้หน่วยงานที่ควบคุมสื่อ ซึ่งก็คือทหาร ทราบเสียก่อนว่า เย็นนี้ เช้านี้ จะนำเสนอข่าวนี้ เพื่อให้ทหารอนุมัติว่านำเสนอได้หรือไม่ได้ นอกจากนี้ยังควบคุมการเข้าถึงแหล่งข่าวด้วย ปิดกั้นไม่ให้สื่อได้ค้นพบความจริง


 


ถึงแม้จะถูกควบคุมอย่างเข้มข้น แต่สื่ออินโดนีเซียยังคงพยายามต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่กล้าหาญพอจะทวนกระแส แต่ก็ถูกคุกคามหลายช่วงเวลา โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนสื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของซูฮาร์โต คือญาติและเพื่อนพ้องของซูฮาร์โตเข้าไปลงทุนในสื่อโทรทัศน์เกือบทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2517 หนังสือพิมพ์ถูกปิด 13 ฉบับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ถูกปิดอีก 7 ฉบับ เพราะลงข่าวการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลของนักศึกษา ทั้งยังเขียนบทความสนับสนุนการประท้วงของนักศึกษาด้วย หากเป็นสถานีวิทยุมักจะช่วงชิงจังหวะหรือแอบออกอากาศวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถเล็ดลอดสายตาสับปะรดของหน่วยข่าวของซูฮาร์โตไปได้ ผลก็คือสถานีวิทยุถูกทหารบุกเข้าค้น เจ้าของสถานีและผู้ประกาศถูกจับ กรณีแบบนี้เกิดขึ้นมากมายในสถานีวิทยุท้องถิ่นแถบเมืองสุราบายา เมืองมารัง ในจังหวัดชวาตะวันออก หรือกรณี  สถานีวิทยุ Unisi ในเมืองยอกยาการ์ตา เมื่อปี พ.ศ. 2538 ได้ออกอากาศความคิดเห็นของผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยกาจาห์ มาดากรณีวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลก็ถูกทหารเข้ายึดสถานีวิทยุเช่นกัน


 


ความเข้มข้นของการต่อสู้ของคนข่าวอินโดนีเซียมีมากขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2537 นิตยสารรายสัปดาห์ถูกปิดอย่างน้อย 3 ฉบับคือ Tempo, DeTik และ Editor เพราะนำเสนอข่าวการคอรัปชั่นเรื่องจัดซื้อเรือรบจากเยอรมนีของซูฮาร์โต เมื่อสื่อทั้งสามฉบับถูกปิดตัวลง ส่งผลให้เกิดอมตะวาจาของ Goenawan Mohamad ผู้ก่อตั้ง Tempo ด้วยคำพูดที่ว่า "ทำไมกองทัพต้องกลัวเราในเมื่อคุณมีปืน"  ช่วงนั้นสื่อมวลชนจำนวนมากเป็นสมาชิกของสมาคมหนังสือพิมพ์คือ คือ the Indonesian Journalist Association (PWI)  แต่ PWI ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซูฮาร์โต ไม่ยอมออกนอกกรอบที่ซูฮาร์โตขีดไว้ สมาชิกจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่ต้องการให้ PWI ทำอะไรสักอย่างเพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่ทำลายเสรีภาพสื่อ กับฝ่ายที่เข้าข้างรัฐบาล ผลสุดท้ายคือ สมาชิกที่เรียกร้องการต่อสู้อำนาจเผด็จการต้องตบเท้าออกจากสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มคนสาว ออกมาก่อตั้งองค์กรสื่อเอง ชื่อว่า the Alliance of Independent Journalists (AJI)  แต่รัฐบาลของอินโดนีเซียไม่เคยยอมรับว่า AJI เป็นองค์กรสื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้สมาชิกต้องทำงานในลักษณะใต้ดิน


 


ผลงานแรกคือรณรงค์ต่อสู้เรื่องเสรีภาพของสื่อ องค์กร AJI ก่อตั้งในเมืองหลวงจาการ์ตา แต่ก็มีพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ที่ประกาศตัวร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน ซึ่งเป็นองค์กรสื่อในจังหวัดต่างๆ เช่น  the Forum of Independent Journalists initiate (FOWI) ในเมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก the Discussion Forum of Yogyakarta Journalist (FDWY) ในเมืองยอกยาการ์ตา จังหวัดชวากลาง the Surabaya Press Club (SPC) ในเมืองสุราบายา จังหวัดชวาตะวันออก และ the Solidarity of Independent Journalists (SJI) Jakarta เป็นต้น  หลังจากที่ซูฮาร์โตหล่นลงจากอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำและผลจากการเดินขบวนประท้วงของขบวนการนักศึกษา แต่ทุกวันนี้เครือข่ายองค์กรสื่อเหล่านี้ยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อทางเลือกที่อิสระทางความคิด ทำข่าวตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและเปิดโปงการคอรัปชั่นของทั้งรัฐบาลกลางและองค์กรท้องถิ่น


 


เผด็จการที่อยู่นานถึงสามสิบสองปีทำให้สื่อมวลชนของอินโดนีเซียขยาดกับอำนาจมืด และปกป้องเสรีภาพสื่ออย่างถึงที่สุดในปัจจุบัน บทเรียนของสื่ออินโดนีเซียทำให้ดูเหมือนว่า   รัฐบาลทหาร หรือพรรคการเมืองของทหาร อยู่คู่กันไม่ได้เลยทีเดียวกับประชาธิปไตย 


 


** AJI สมาคมสื่อเสรีมีเครือข่ายทั่วอินโดนีเซีย