Skip to main content

Final Score : ๓๖๕ วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ หนังที่ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจวัยรุ่น

คอลัมน์/ชุมชน

Final Score : ๓๖๕ วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์


หนังที่ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจวัยรุ่น  ท้าวัยรุ่นหาตัวเองให้เจอ


 



 


แต่ละปีเด็ก ม.๖ ทั่วประเทศกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ยื่นใบสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย (เอ็นทรานซ์) จากจำนวนนี้ ๑๖๐,๐๐๐ คน คือผู้ผิดหวัง


 


จิระ มะลิกุล (เก้ง) ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างหนังไทยหัวใจทรหดและมีความคิดสร้างสรร เป็นผู้จุดประกายความคิดสร้างหนังเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าชีวิตของเด็กไทยวัย ๑๗ ปีนั้น น่าสนใจมาก จากยุคโบราณ พ.ศ.๒๓๑๐ ชายไทยอายุ ๑๗ ต้องออกไปสู้ในสนามรบเพื่อปกป้องประเทศ แต่ยุคนี้ พ.ศ.๒๕๔๙เด็กไทยอายุ ๑๗ ทั้งชายและหญิงต้องสู้ในสนามสอบเอ็นทรานซ์ เพื่อแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ตนเอง (หรือพ่อ แม่) ต้องการ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลก็คือมีผู้คน "ล้มตาย" ด้วยความผิดหวังแม้กระทั่งฆ่าตัวตายเพราะเอ็นท์ไม่ติด


 



 


คุณต่าย ทีมงานผู้แข็งขัน และน้ำใจงามของคุณเก้ง โทร.มาชวนดิฉันและลูกชาย (ผู้ชนะศึกเอ็นท์มาแล้ว เมื่อ ๒ ปีก่อน) กับเพื่อนของลูกอีก ๒ คน ไปดูหนังเรื่องนี้ในรอบสื่อมวลชน พร้อมเอกสารเล่าที่มาของหนังและผู้แสดง ซึ่งระบุว่า "มีบท ไม่มีสคริปท์ สาบานได้ ไม่มีจริง ๆ" ทำให้รู้สึกทึ่งกับความคิดที่ท้าทายเช่นนี้


 


ตลอดเวลาที่ดูหนัง ดิฉันประทับใจในความรัก ความผูกพัน ของพ่อ แม่ ลูก พี่น้อง ในครอบครัว ความรักระหว่างเพื่อน ความรักระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งทุกคนได้สละความเป็นส่วนตัว ยอมให้ผู้กำกับหญิงยอดอึด แอน/โสรยา  นาคะสุวรรณ กับทีมงาน มาถ่ายทำชีวิตที่เป็นจริงตลอด ๓๖๕ วัน


 



 


เมื่อหนังเข้าฉายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ พร้อมกันทั่วประเทศ ดิฉันจึงซื้อตั๋วให้น้อง ๆ เยาวชนชาวอาข่า ลีซู ในนามชมรมคนรักศิลป์ถิ่นภูเขา และเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ไปดูที่โรงหนังในเชียงราย ได้ข้อคิดเห็นจากใจอันบริสุทธิ์ของ น้องยุวธิดา เยอส่อ[1] ซึ่งได้มีโอกาสเข้าค่ายความรู้คู่คุณธรรมครั้งหนึ่ง และเข้าโครงการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หลักสูตรการอบรมพัฒนาจิต  เพื่อเจริญปัญญาและสันติสุข อีกครั้งหนึ่ง โดย พชภ. เป็นเจ้าภาพ ศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล เป็นประธานคณะวิทยากร น้องยุวธิดา จึงเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีสติ มีธรรมะควบคู่กับความคิดและการกระทำของเธอเสมอ เชิญอ่านความคิดของเธอค่ะ


 


"รู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะคิดไว้ในใจว่า สักวันเราคงมีโอกาสได้ไปดู และโอกาสที่เราคิด เราฝันไว้ ก็เป็นจริง โดยคิดไม่ถึงเลยว่ามันจะเร็วขนาดนี้


 


ภาพยนตร์เรื่องนี้โฆษณาทางโทรทัศน์เกือบทุกวัน  ช่วงเวลาพักเที่ยง พอได้ดูโฆษณาครั้งแรกก็รู้สึกถูกใจ แต่เราก็บอกกับตัวเอง เตือนใจตัวเองเสมอว่าให้สำรวมกาย วาจา ใจ อย่าแสดงอาการอยากดูมาก เมื่อถึงเวลาสิ่งที่เราอยากได้ ก็จะมาหาเราเอง


 


มีเพื่อน ๆ หลายคนชวนเราไปดู แต่เราก็เฉย ๆ บอกเพื่อนว่าไปดูเถอะ และกลับมาเล่าให้เราฟังด้วย


 


พอเรามีโอกาสได้เข้าไปดู ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น  เรามีความรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แง่คิดกับเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนชีวิตในอนาคต การศึกษาเล่าเรียน และชีวิตที่ต้องเดินอยู่บนเส้นขนาน ที่ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ทุกฉากทุกตอนของภาพยนตร์ เวลาดูแล้วย้อนมามองตัวเองตลอด ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ภาพการศึกษาในโรงเรียน เพื่อน ๆ เราเกือบทุกคน หลังเลิกเรียน วันจันทร์ – ศุกร์ ไปเรียนพิเศษ และยังเรียนพิเศษในวันเสาร์ – อาทิตย์ อีกด้วย


 


มีนักเรียนหลายคนแข่งขันการในการเรียน ผู้ที่ด้อยกว่า คือคนที่เรียนไม่เก่ง (ปัจจุบันส่วนมากเป็นแบบนี้) เพื่อน ๆ หลายคนในรุ่นเดียวกันฝันไว้ว่าจะไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, จุฬาฯ ,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ในคณะแพทย์,วิศวกรรม ฯ ซึ่งเพื่อน ๆ ก็เตรียมตัวหนักมาก วางแผนไว้ว่าปิดเทอมจะเรียนซัมเมอร์อีก ทุกคนมีความหวังสูงมาก และเพื่อนกลุ่มนี้ก็มีฐานะดี พ่อแม่ก็หวังในตัวลูก ๆ


 


ปีนี้พี่ ม.๖ ที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ๒ สอบเข้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ ๒ คน เห็นพี่เขาใส่แว่นตาแล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่นะ อ่านหนังสือจนสายตาสั้น และร่างกายก็โทรมมาก ๆ


 


ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ในปีสุดท้ายของการเรียน นักเรียนมุ่งสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ก็ผิดที่ผู้คนแข่งขันกัน เพราะทุกคนต่างหวังที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ ทั้งนั้น แต่ในแง่มุมของเรา เราคิดว่าเราไม่ต้องไปแข่งขันกับใครเลย แข่งขันกับตัวเราเองดีกว่า เราไปแข่งขันกับผู้คนในเมืองไม่ไหวหรอก เพราะเราเป็นคนชาติพันธุ์ ถ้าแข่งขันทางวิชาการคงไม่ไหว ถ้าจะแข่งขันก็แข่งขันกันในด้านอื่น เช่น ความโดดเด่นของชาติพันธุ์ การแสดงดนตรี การเป็นแกนนำชาติพันธุ์ ต่าง ๆ เป็นต้น


 


พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ทรงให้อาวุธแก่ทุกคน แล้วแต่ว่าจะปรากฏเมื่อใด ไม่มีใครเกิดมาเพื่อโง่และฉลาดคนเดียว จงสู้ สู้ แล้วก็สู้ แล้วผลก็จะตามมาเอง"


 



 


น้องอรอุมา เยอส่อ[2] สมาชิกชมรมคนรักศิลป์ถิ่นภูเขาอีกคนหนึ่ง แสดงความคิดเห็นดังนี้


 


"ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้และเกิดขึ้นในชีวิตจริงของคนที่จะจบ ม.๖ เป็นช่วงที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องเตรียมตัวเป็นอย่างมาก ต้องอ่านหนังสือให้มาก ถ้าไม่อ่านก็จะสอบไม่ได้ ต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจเพื่อที่จะได้รับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต แต่ใช่ว่าความรู้จะอยู่หรือจะมีอยู่แต่ในหนังสือ ในห้องเรียนอย่างเดียวเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในตัวเราและรอบๆ ตัวเรามีประโยชน์และมีคุณค่าเสมอ ถ้ารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์และใช้อย่างถูกต้อง ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีวิชาไหนสำคัญเท่าและยากเท่ากับวิชาชีวิต เพราะในการดำรงชีวิตประจำวัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะไม่เจอปัญหาอะไรเลย เราจะมีแต่ความสุขจะมีแต่เสียงหัวเราะ จะไม่มีความทุกข์ จะเจอแต่สิ่งดีๆ เสมอและตลอดไป


 


ในการดำรงชีวิตแต่ละวัน เราต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆ มากมาย ที่ต้องใช้พลังใจและพลังกาย แต่ในหนังสือมันมีทั้งคำถามและคำตอบอยู่ในเล่มเดียวกัน คนเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องต่อสู้ สู้เท่านั้นถึงจะเอาชนะสิ่งต่างๆ ได้ พร้อมๆ กับความอดทน เช่นเดียวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องทำและพยายามอย่างเต็มที่ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเรื่องที่จะได้เข้าตามสายที่เราเลือกหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราจะต้องแก้ไขต่อไป


 


ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ว่าจะได้เรียนอะไรมันก็ไม่สำคัญเท่าที่ว่า จบมาแล้วจะทำงานอะไร แล้วงานนั้นมีประโยชน์ต่อตัวเอง ชุมชน และประเทศชาติมากน้อยแค่ไหนมากกว่า ไม่ใช่ว่าคุณเรียนสายนี้มาแล้วจะไม่สามารถทำประโยชน์ให้แก่พี่น้องของตัวเอง ประเทศชาติของตัวเองได้เลย ขอแค่เป็นคนดี ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แบ่งเวลาให้ถูก ยิ่งเป็นวัยรุ่นต้องมีความรับผิดชอบ ต้องทำหน้าที่ให้ดี ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ไม่ใช่วันๆ เอาแต่เที่ยว ไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจครอบครัว พ่อแม่ ยิ่งเป็นวัยรุ่นยิ่งต้องหาประสบการณ์ ยิ่งต้องรีบไขว่คว้าหาความรู้ไว้มากๆ และเราต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตของตัวเองไว้ มีความหวังในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ต้องมีความฝัน ฝันให้ไกลไปให้ถึง และที่สำคัญฝันในสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้จะเสียใจ ก่อนที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ต้องคิดหนักหรือต้องคิดให้มากๆ ว่าสิ่งที่ทำนั้น มีผลเสียและผลดีอันไหนมากกว่ากัน ต้องมีสติอยู่เสมอๆ          ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การศึกษามีความสำคัญไฉน ทำไมเราต้องเรียน แล้วถ้าเราสอบเข้าตามที่เราต้องการแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อนๆในห้องเกือบเรียนพิเศษกันหมด ตั้งความหวังไว้สูงมาก รวมทั้งพ่อแม่ด้วย วันๆ ได้แต่อ่านหนังสือ จนบางคนสายตาสั้นก็มี เป็นคนเรียนเก่งมาก แต่พอให้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ที่ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่โรงเรียน กลับกลัว กลัวไปหมด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำไม่เป็น แต่ถึงอย่างไรคนเราทุกคนก็ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ไม่มีคนไหนที่เกิดมาแล้วอยากโง่ ก่อนที่จะรู้ก็ต้องเริ่มต้นจากการไม่รู้มาก่อนเสมอ การเรียนรู้ไม่มีวันจบ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ"


 


 


 


น้องมิว อัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ อาสาสมัครด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีความเห็นดังนี้


 


"ถือได้ว่าผู้แสดงทั้ง ๔ คน คือ เปอร์ โบ๊ท ลุง และบิ๊กโชว์ มีความอดทนสูงมากในการที่จะตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์โดยมีกล้องจับอยู่ตลอด ๓๖๕ วัน


 


แต่ละปีเด็ก ม. ๖ ทั่วประเทศกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ยื่นใบสมัครสอบเอ็นทรานซ์แต่จะมีเด็กจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ คน คือ ผู้ผิดหวัง และพบได้ทุกปีเลยว่าจะมีผู้ผิดหวังคิดฆ่าตัวตายเพราะเอ็นทรานซ์ไม่ติด ในประเทศไทยเอาการเอ็นทรานซ์มาตัดสินอนาคต ถ้าเอ็นทรานซ์ไม่ติดมหาวิทยาลัยของรัฐบาล จะหางานลำบาก คอยบอกต่อๆ กันมา ทำให้เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน เล่นกีฬา มัวแต่อ่านหนังสือ เรียนพิเศษถึงมืดค่ำ ทำให้เด็กมีแต่ความเคร่งเครียด ชีวิตช่วงวัยรุ่นค่อย ๆเลือนหายไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองของแต่ละคนด้วยควรที่จะเอาใจใส่ลูกมากขึ้นมิใช่มัวแต่ทำงานจนไม่มีเวลาให้ลูก


 


มันคุ้มแล้วหรือที่จะให้เด็กอายุเพียง ๑๗ – ๑๘ แบกรับภาระเช่นนี้ต่อไป ทำให้ชีวิตในบางช่วงขาดหายไป"


 


สุดท้ายคือข้อคิดเห็นของน้องผ่องพรรณ ตันกุละ ผู้ช่วยที่ขยันขันแข็งของครูแดง ดังนี้


 


"น่าเสียดายที่เด็กที่ถูกตามติดในภาพยนตร์มีเฉพาะเด็กผู้ชาย ซึ่งผู้ชมหลายคนที่เป็นผู้หญิงไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว คงคิดแบบเดียวกัน


 


เมื่อดูจบแล้วก็เกิดมุมมองหลายด้าน เช่น มุมมองต่อวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน ขณะที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นในการเรียนหนังสือ เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า ยังคงมีวัยรุ่นอีกกลุ่มที่มีพฤติกรรมต่างออกไป ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น ครอบครัวยากจน ครอบครัวแตกแยก ทำให้ขาดความรักความอบอุ่น ขาดคนที่จะคอยให้คำปรึกษา  และคอยแนะนำ


 


อยากให้น้อง ๆ ที่กำลังเรียนระดับมัธยมปลาย ชวนผู้ปกครองไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ค่ะ เพื่อพ่อแม่ลูกจะได้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และพ่อแม่จะได้ให้กำลังใจลูก เมื่อถึงเวลาสอบเอ็นท์ เพราะกำลังใจจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ"






[1] นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ๒ ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๕ จากหมู่บ้านอาโย๊ะอนามัย ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย



[2] นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ๒ ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๕  จากหมู่บ้านอาโย๊ะอนามัย ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย