Skip to main content

เรื่องของ "แกะ" ที่ถูกตัดหางปล่อยวัด

คอลัมน์/ชุมชน

เดือนสามฟ้าสีครามสวยระบายไปทั่วฟ้า  ลมทุ่งไกวต้นข้าวไหวเอนดูอ่อนโยนกว่าเดือนฤดูอื่น   ที่ปักษ์ใต้ยังพอได้ยินเสียงปี่ซังข้าวอยู่บ้างในหมู่บ้านชนบทห่างไกล   


 


สองอาทิตย์ก่อนผมกลับบ้านด้วยความเปลี่ยวร้างหัวใจสู่หมู่บ้านชนบทในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง  ภาพปรากฏเบื้องหน้างดงามเหลือเกิน  เป็นเช้าที่ทุ่งข้าวระบายด้วยสีทองสวยระยับไปทั้งทุ่ง  วันนั้นเป็นวันเก็บข้าวของชาวนา 


 



นาข้าวยับแบบภาคใต้


 


โชคดีเหลือเกินที่พบเจอบรรยากาศแบบปักษ์ใต้แท้ๆ แทบไม่น่าเชื่อที่ยังมี "แกะ" (เครื่องมือเกี่ยวข้าวทีละรวงแบบใต้) อยู่ในมือชาวนาที่บ้านผมอยู่บ้าง  เพราะแท้จริงแล้วทุกวันนี้ชาวนาอาจไม่เห็นความสำคัญของ "แกะ"  เครื่องมือเก็บข้าวแบบปักษ์ใต้แล้วก็เป็นได้


 



แกะ


 


คงไม่มีชาวใต้คนไหนที่ไม่รู้จัก ของ "แกะ"   "แกะ" เครื่องมือเก็บข้าวของชาวนาภาคใต้  บางท้องถิ่นเช่นที่ ชุมพร  สุราษฎร์ ฯ เรียกว่า "มัน"  ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เรียกว่า "แกระ" แต่ที่แน่นอนในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้  พ.ศ.๒๕๒๕ พูดถึง ของ "แกะ"  ว่า เครื่องมือสำหรับเก็บข้าว


 


พูดถึงเรื่องความเป็นมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่  แต่ที่แน่ๆ คือสืบทอดกันมาจนเป็นมรดกวัฒนธรรมถึงปัจจุบัน  บางหลักฐานพบว่าชาวนาในอาณาจักรฟูนันโบราณก็มีเครื่องมือเกี่ยวข้าวที่ซ่อนคมไว้ ในมือเช่นเดียวกันนี้เหมือนกัน  ทั้งนี้เพราะชาวฟูนันโบราณมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าที่สถิตอยู่ในผืนนาว่า หากเทพเจ้าที่สถิตอยู่ที่ผืนนาเห็นคมของเครื่องมือเกี่ยวข้าวชนิดนั้นก็จะตกใจ  แล้วจะไม่อยู่คอยปกป้องผืนนาอีก  กล่าวคือ  เครื่องมือเกี่ยวข้าวของชาวนาในอาณาจักรฟูนันโบราณนั้นอาจมีลักษณะคล้าย "แกะ"  ของชาวนาภาคใต้ก็เป็นได้


 



วิธีเก็บข้าวโดยใช้แกะ


 


หลายคนคงสงสัยว่าทำไมชาวนาภาคใต้ถึงต้องเกี่ยวข้าวทีละรวงด้วย (ผมขอใช้คำว่า " เก็บข้าว"  ดีกว่า  เพราะจริง ๆ แล้ว "เก็บข้าว" อธิบายการเก็บทีละรวงได้ดีกว่าทั้งยังเป็นภาษาถิ่นที่ผมถนัดมากกว่าด้วย)


 


คำตอบนั้นอธิบายได้หลายความหมายและมุมมองครับ  ที่สำคัญมากๆ เป็นเรื่องของความเชื่อว่าเพื่อแสดงความเคารพต่อแม่โพสพ (เช่นเดียวกับชาวนาโบราณของอาณาจักรฟูนันดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว)  ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าสำคัญมากทีเดียว  ทั้งยังอธิบายได้จากบริบทของยุคสมัยซึ่งครั้งอดีตเป็นสังคมพึ่งพา  พอเพียง  ผลผลิตเก็บเกี่ยวจึงทำเพื่อการบริโภคเท่านั้น  อีกยังเป็นเรื่องของลักษณะพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่เป็นข้าว  "นาลึก"  (ข้าวท้องถิ่นภาคใต้เป็นข้าวพันธุ์ต้นสูงเพราะพื้นที่นาเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก)  เวลาสุกต้นจะ  "ยับ"  (ล้มราบกับพื้น)  และมักสุกไม่พร้อมกันทั้ง  "บิ้ง"  (หมายถึงแปลงนา)  การเก็บทีละรวงโดยใช้  "แกะ"  จึงเป็นวิธีที่สะดวก  อีกอย่างคือสะดวกแก่การเก็บรักษา ดูแลหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว  เป็นต้น


 



เก็บจนเต็มกำมือเพื่อมัดเป็นเลียง


 



มัดเป็นเลียงด้วยฟางควั่น


 


เป็นที่น่าเสียดายที่นับวันนี้  "แกะ"  เหมือนจะหายไปจากชีวิตของชาวนาภาคใต้เสียแล้ว  (อีกอย่างอาจเหมือนที่ชาวนาก็กำลังจะหายไปจากประเทศที่พูดกันว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมที่คนกินข้าวเป็นอาหารหลักเสียด้วยซ้ำ) 


 


ก็เป็นเรื่องธรรมดา  เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คนเปลี่ยน วิถีจึงเปลี่ยน  เมื่อชาวนาที่เหลืออยู่ของประเทศและภาคใต้)  ปลูกข้าวเพื่อขายในยุคเร่งด่วน  การเก็บทีละรวงจึงเป็นเหตุให้ไม่ทันเวลาซึ่งแรงคนจะหยัดสู้แรงของเครื่องจักรกลได้อย่างไรนั่นอาจเป็นคำตอบเรื่องการหายไปของ  "แกะ"  ก็เป็นได้


 



เด็กสาวในวันเก็บข้าว


 


อาจเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงเรื่องความเชื่อในคืนวันที่ความเชื่อคลอนแคลนลงทุกที  เช่นวันนี้ที่รถจักรขนาดใหญ่แล่นอยู่ทั่ว   "บิ้งนา"   ของชาวใต้และของประเทศไปเสียแล้ว


 


ในวันแห่งความรักบนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ


๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐