Skip to main content

คุณค่าของตำนาน

คอลัมน์/ชุมชน

 


ในโลกปัจจุบัน ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารก่อให้เกิดเมฆหมอกแห่งโลกาภิวัตน์ครอบคลุมไปทั่วทุกวัฒนธรรม ไสยศาสตร์ตะวันตกในรูปของเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวัตถุได้ครอบงำโลกศักดิ์สิทธิ์แห่งประสบการณ์ ความหมาย และคุณค่า แทบหมดสิ้น  จะหาระบบวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่ยังหลงเหลือไม่เจือปนไปกับวัฒนธรรมความนำสมัยนั้น แทบจะไม่มี  คำถามของสังคมสมัยใหม่รวมถึงสังคมไทยในตอนนี้ ก็คือ จะทำเช่นไรให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณแห่งมนุษยชาติ เพื่อที่จะสามารถสร้างเป็นรากฐานทางสังคมสมัยใหม่ที่ยั่งยืนได้


 


ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาผลงานทางความคิดของนักปรัชญาศาสนาชาวตะวันตกที่มีความลุ่มลึก หนึ่งในนั้นคือนักประวัติศาสตร์ศาสนาชาวโรมาเนียที่ชื่อ เมอชิเอ เอลิอาเด งานของเขาได้ช่วยทำให้วิธีการมองโลกอย่างดำขาวที่ผู้เขียนได้รับการปลูกฝังจากระบบการศึกษากระแสหลัก เปิดกว้างมากขึ้น


 


 


 


อิทธิพลของเมอชิเอ เอลิอาเด (Mircea Eliade, 1907-1986) ที่มีต่อวงการวิชาการในทางปรัชญาและศาสนาของตะวันตกนั้นมีมากเกินกว่าที่จะกล่าวได้หมด เขาถือเป็นนักปราชญ์ร่วมสมัยของตะวันตกเพียงไม่กี่คน ที่อุทิศชีวิตทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ เพื่อเปิดโลกทางความคิดให้ชาวตะวันตกได้เข้าใจความหมายของคุณค่าชีวิตทางด้านจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง เป็นการเปิดมุมมองในเรื่องศาสนาให้มากไปกว่าการเป็นเพียงความเชื่อ (faith) หรือ หลักถกเถียงทางปรัชญา (Philosophy) ที่สำคัญคือ เขาเป็นนักวิชาการที่แสวงหาคุณค่า และความหมายของการมีชีวิตอยู่  ท่ามกลางความรุนแรงทางความเชื่อและวัฒนธรรมที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของคริสตจักรในซีกโลกตะวันตก


 


เอลิอาเดเรียนจบมาทางด้านปรัชญา ใช้เวลาในวัยหนุ่มเรียนรู้ปรัชญาตะวันตกจนแตกฉานในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในยุโรป จากนั้นเขาได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต และปรัชญาศาสนาตะวันออก ที่ประเทศอินเดีย สี่ปีที่เขาใช้ชีวิตเรียนรู้อยู่ที่อินเดียทำให้แนวคิดทางปรัชญาของเขามีความลึกซึ้งมากกว่าการเป็นแค่หลักการที่ใช้ในการถกเถียงทั่วไป งานของเอลิอาเดแม้จะมีกลิ่นอายของการวิเคราะห์ด้วยหลักการแบบตะวันตก แต่ก็มีแนวทางที่แปลกออกไป นั่นคือเป็นการวิเคราะห์เพื่อการเข้าถึงซึ่งความหมาย และคุณค่า ของประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของปัจเจก 


 


งานชิ้นแรกที่เขาเขียนหลังจากกลับจากอินเดีย มีชื่อว่า "โยคะ ศาสตร์แห่งความเป็นอมตะ และการหลุดพ้น" (Yoga: Immortality and Freedom) ความโดดเด่นทางความคิดของเอลิอาเด ทำให้เขาถูกเชิญไปสอนที่ University of Chicagoซึ่งที่นั่น เขาได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชา ประวัติศาสตร์ศาสนา ซึ่งในยุคนั้น DivinitySchoolหรือ โรงเรียนเทวศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ถือเป็นศูนย์รวมของนักคิด นักวิชาการชาวตะวันตก ผู้แสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิต อย่างมากมาย โดยเฉพาะคุณค่าที่อยู่นอกกรอบอิทธิพลของอำนาจแห่งโบสถ์คริสตจักร


 


เรจินัลด์ เรย์ (Reginald A. Ray) อาจารย์คนสำคัญของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ผู้เป็นลูกศิษย์ของเอลิอาเด สมัยที่เขาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ที่โรงเรียนเทวศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้กล่าวถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาไว้ว่า "เอลิอาเดถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงการวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เขาเปรียบเหมือนผู้เปิดโลกแห่งคุณค่าและความหมาย ให้ชาวตะวันตกได้เห็นว่า ศาสนาหาใช่เป็นเพียงแค่ปรัชญาทางความคิด หรือความเชื่อศรัทธา แต่ศาสนาคือ คุณค่าทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ที่สามารถสัมผัสได้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวัน เอลิอาเดจะเน้นย้ำกับนักเรียนของเขาเสมอว่า หากการเรียนรู้เรื่องปรัชญาและศาสนาที่เรากำลังทำอยู่นี้ ไม่สามารถส่งผลต่อการสร้างรากฐานทางจิตวิญญาณให้กับสังคมตะวันตกได้แล้ว แสดงว่างานที่เราตรากตรำทำมาทั้งหมดล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง"


 


ด้วยแนวคิดก้าวหน้าเช่นนี้นั่นเอง ทำให้งานของเขาถูกใช้เป็นตำราพื้นฐาน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาศาสนาของตะวันออก และด้านมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชนชาติอื่น ซึ่งถือเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ตะวันตกเพิ่งมาให้ความสำคัญจริงๆจังๆได้ไม่นานนัก


 


งานชิ้นสำคัญที่สุดของเอลิอาเด คือ การนำเสนอความคิดในเรื่องของ "ความศักดิ์สิทธิ์ (The Sacred)" เขาได้ทำลายกำแพงที่จำกัดความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงาย หรือก็แค่เป็นภาพของวัตถุบูชาในความเชื่อทางศาสนาที่ล้าหลัง (ซึ่งถือเป็นวิธีที่ชาวตะวันตกมักจะใช้ตัดสินวัฒนธรรมอื่นมาโดยตลอด)  เขาได้นำเสนอความหมายที่กว้างออกไป ครอบคลุมความหมายในเชิงคุณค่า ประสบการณ์ และการเปลี่ยนแปลงด้านใน (inner transformation) เพิ่มนัยทางความหมายให้กับโลก ดวงดาว จักรวาล ฤดูกาล และธรรมชาติสรรพสิ่งรอบตัว โยงใยเป็นวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันซับซ้อนของวัฒนธรรมพื้นเมืองชาติต่างๆ   เขาได้พยายามอธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของประสบการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ในรูปของสัญลักษณ์(symbol) พิธีกรรม (ritual) และตำนานเทพปกรณัม(Myth) ซึ่งถักทอรวมกันเป็นองคาพยพทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อวิถีการมองโลก และการใช้ชีวิตของผู้คนในวัฒนธรรมนั้นๆได้อย่างเป็นองค์รวม  งานของเขาจึงเป็นที่รู้จักและใช้อ้างอิงในหลากหลายสาขาวิชา ไม่เพียงแต่ทางด้านศาสนา แต่รวมไปถึงศาสตร์ทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา และนิเวศวิทยาแนวลึกอีกด้วย


 


การศึกษางานของเอลิอาเด อย่างน้อยก็น่าที่จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้เราเลือกที่จะโยงหัวใจกลับมาสู่คุณค่าดั้งเดิมอย่างไทยเราได้บ้าง  แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะยังคงตามก้นฝรั่งอยู่ต้อยๆ แต่ในความเป็นจริงเราเองก็ยังคงหลงเหลือภูมิปัญญาและรากฐานทางวัฒนธรรมที่ยังสามารถที่จะหันกลับไปเรียนรู้และเห็นคุณค่าในรากเหง้าของเราได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตระหนักรู้คุณค่า และเต็มใจที่จะกลับไปค้นหาความหมายแท้จริงของรากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านั้นหรือไม่ก็เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ตำนาน เรื่องเล่าท้องถิ่น เพลงหรือการละเล่นพื้นบ้าน วัฒนธรรมชนเผ่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมถึงการตามหารากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของชนชาติไทยเอง ที่นับวันจะถูกลบเลือนไปมากเข้าทุกที


 


ในตอนต่อไปผู้เขียนจะขอกล่าวถึงผลงานของเขาชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า "ตำนานกับความเป็นจริง (Myth and Reality)"