Skip to main content

เราทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภค

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อ หรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม  ทั้งนี้  คำว่าผู้ประกอบธุรกิจ ก็มีความหมายว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าในราชอาณาจักรไทยเพื่อขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบการโฆษณา ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่น (อ้างจากข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค  ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน และคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ)


 


ความหมายคือรวมผู้ค้าขายผู้ผลิตผู้ให้บริการทั้งเอกชนและรัฐ ทั้งรัฐวิสาหกิจ รัฐส่วนกลาง รัฐส่วนท้องถิ่น ดังนั้น ผู้บริโภคคือเราทุกคน เพราะไม่มีใครไม่ได้ซื้อหรือใช้บริการสิ่งใดสิ่งหนึ่งดังกล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะในปัจจุบันเราต่างได้รับผลจากการโฆษณาสินค้าและบริการจำนวนมาก ล่าสุดจากเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) ก็เห็นเรื่องร้องเรียนได้รับความไม่เป็นธรรมจากการสมัครเป็นสมาชิกบริการฟิตเนส ที่มักจะให้พนักงานขายตรงกับลูกค้า โน้มน้าวต่างๆ ให้จ่ายค่าสมาชิกโดยบอกว่าสามารถเลิกสัญญาได้เมื่อยังอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด แต่เมื่อลูกค้าต้องการบอกเลิกจริงๆ ก็จะถ่วงเวลา อ้างโน่นอ้างนี่ จนทำให้ลูกค้าสูญเสียเวลาและสูญเสียเงิน หรือกรณีการใช้บริการโทรศัพท์ ตอนโฆษณาให้ติดตั้งก็จะบอกว่ายกเว้นค่าธรรมเนียม บางอย่าง พอไปติดต่อจริงๆ ก็บังคับให้ต้องซื้อบริการเสริม เช่น แถมเครื่องโทรศัพท์ที่โชว์หมายเลข และให้ทำสัญญาซื้อบริการโชว์หมายเลขอย่างน้อยหนึ่งปี  ตอนต้องการบอกเลิกก็มักจะเกี่ยงให้เข้าไปติดต่อที่สำนักงาน ทำให้ต้องเสียเวลา ทั้งที่ควรเอื้อให้ดำเนินการทางโทรศัพท์หรือโทรสารได้


 


ดังนั้น หากคนไม่มีเวลาไปดำเนินการ หากเลยเวลาก็จะถูกให้ใช้บริการเสริมนั้นๆต่อโดยอัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่หากเกิดขึ้นกับหลายคนเป็นพันเป็นหมื่น ก็ถือว่าเป็นรายได้จำนวนมหาศาลเช่นกัน  ดังนั้น เรื่องเกี่ยวกับผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องเป็นเรื่องสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของคนและกลุ่มคนที่ต้องซื้อหรือใช้บริการต่างๆ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบทั้งด้านราคา คุณภาพสินค้า คุณภาพบริการ


 


แต่สิทธิในฐานะผู้บริโภคยังไม่ได้หมายถึงสิทธิเฉพาะบุคคล ยังสามารถเป็นสิทธิรวมหมู่ได้ เช่น กรณีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริโภคแต่ละรายฟ้องร้องกับบริษัท แต่สามารถฟ้องเป็นกลุ่มได้ หรือควรมีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ฟ้องร้องแทนได้ การสร้างให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิและมีความเข้มแข็งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง เป็นวิธีการที่ดีมากประการหนึ่งในการสร้างสำนึกให้กับผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ที่จะไม่เอาเปรียบประชาชน  สำหรับการโฆษณา การชักชวน การจูงใจเพื่อให้ใช้บริการต่างๆ การให้โทรฟรีบางช่วงเวลา การส่งเสริมรายการทีวีให้มีการร่วมส่งเอสเอ็มเอส  เป็นการหลอกล่อให้ใช้บริการโทรศัพท์มากขึ้น เหล่านี้บางครั้งเกินสมควร จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่จะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ หรือพิจารณาให้ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะอนุญาตให้มีการโฆษณา หรือมีมาตรการที่จะควบคุมไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งควรมีองค์กรอิสระที่จะดำเนินการให้เกิดกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างครบวงจร 


 


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่เรื่องจริงในบ้านเรา เพราะยังไม่มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นได้ แม้จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ในมาตรา 57 เพราะการหวงแหนอำนาจของหน่วยงานเดิม ที่ไม่อยากให้มีการตั้งองค์การอิสระขึ้นมาใหม่ แต่ต้องการปรับกฎหมาย กฎระเบียบบางอย่างให้หน่วยงานที่เป็นราชการทำหน้าที่แทน ซึ่งสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภคไม่ค่อยเห็นด้วย มีความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค มายาวนานตลอด 9 ปีของรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่มีใครมีความสามารถที่จะผลักดันให้เกิดได้  ร่าง พ.ร.บ.ขององค์กรผู้บริโภค ประชาชน จึงยังไม่สามารถฝ่าด่านเข้าสู่รัฐสภาได้  และในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลหนึ่งปีนี้ ก็ยิ่งไม่แน่ว่าจะมีโอกาสเพียงใด  รวมถึงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะมีการกล่าวถึงผู้บริโภคไว้บ้างหรือไม่ หรือจะทำให้สามารถดำเนินการได้จริงเลยเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ปี พ.ศ.2550 นี้หรือไม่ หากยังไม่มีความคืบหน้าเราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคคงต้องช่วยกันเรียกร้องสิทธิผู้บริโภค จะด้วยวิธีการอย่างไรก็ต้องมาคิดและเอาจริงเอาจังร่วมกันสักทีนะคะ