Skip to main content

รักเพศเดียวกันบาปจริงหรือ: มองพระคัมภีร์ด้วยแนวคิดใหม่ (3)

คอลัมน์/ชุมชน

นักบุญเปาโลคิดอะไร


 


หลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  ชาวคริสต์สมัยแรก ๆ ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ  เพราะถูกกดขี่อย่างหนัก  แรกเริ่มเดิมทีนักบุญเปาโล (Saint Paul) เป็นหนึ่งในผู้กดขี่ชาวคริสต์  แต่ได้รับประสบการณ์อัศจรรย์ทำให้เขากลับใจมาอยู่ฝ่ายชาวคริสต์  และมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ศาสนา  ในบทจดหมายของนักบุญเปาโลซึ่งปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่  มีอยู่สามจุดที่ดูเหมือนว่าจะกล่าวประณามคนรักเพศเดียวกัน  สามจุดนี้คือ  โรมัน 1: 26-27,  1 โครินธ์ 6: 9-10  และ 1 ทิโมธี 1: 9-10


 


โรมัน 1: 26-27


          26เพราะเหตุนี้  พระเจ้าจึงทรงปล่อยให้เขามีกิเลสตัณหาอันน่าอัปยศ (atimias)  พวกผู้หญิงของเขาก็เปลี่ยนจากการสัมพันธ์ตามธรรมชาติ (physiken)  ให้ผิดธรรมชาติ (para physin)ไป  27ฝ่ายผู้ชายก็เลิกการสัมพันธ์กับผู้หญิงให้ถูกตามธรรมชาติ (physiken)เช่นกัน และเร่าร้อนไปด้วยไฟแห่งราคะตัณหาที่มีต่อกัน ผู้ชายกับผู้ชายด้วยกันประกอบกิจอันชั่วช้าอย่างน่าละอาย (aschemosyne) เขาจึงได้รับผลกรรมอันสมควรแก่ความผิดของเขา


          28และเพราะเขาไม่เห็นสมควรที่จะรู้จักพระเจ้า  พระองค์จึงทรงปล่อยให้เขามีใจชั่วและประพฤติสิ่งที่ไม่เหมาะสม  29พวกเขาเต็มไปด้วย (pepleromenous) สรรพการอธรรม (adikia) ความชั่วร้าย  ความโลภ  ความมุ่งร้าย  ความอิจฉาริษยา  การฆ่าฟัน  การวิวาท  การล่อลวง  การคิดร้าย  พูดนินทา  30ส่อเสียด  เกลียดชังพระเจ้า  เย่อหยิ่ง  จองหอง  อวดตัว  ริทำชั่วแปลกๆ  ไม่เชื่อฟังบิดามารดา  31โง่เขลา  กลับสัตย์  ไม่มีความรักกัน  ไร้ความปรานี  32แม้เขาจะรู้พระบัญญัติของพระเจ้า  ที่ว่าคนทั้งปวงที่ประพฤติเช่นนั้นสมควรจะตาย  เขาก็ไม่เพียงประพฤติเท่านั้น  แต่ยังเห็นดีกับคนอื่นที่ประพฤติเช่นนั้นด้วย


 


แน่นอนว่าถ้าเราอ่านข้อความเหล่านี้แต่เพียงผิวเผิน  เราจะตีความได้ว่านักบุญเปาโลประณามพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน  แต่เมื่อนักพระคัมภีร์ศึกษาลึกลงไปพวกเขาพบความเป็นไปได้อื่นๆ


 


ประเด็นแรกที่เราต้องพิจารณาคือ  คำว่า"ผิดธรรมชาติ" ในภาษากรีกใช้คำว่า "para physin"  physin มาจาก physis ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติ  para  แปลว่า  นอกจาก  มากกว่า  เหนือ  ไปเกินกว่าความหมายของคำว่าธรรมชาติที่นักบุญเปาโลใช้นั้นไม่ใช่ธรรมชาติในแง่ของกฎธรรมชาติตามที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน  ดูได้จากการใช้คำนี้ในที่อื่นๆ  เช่น  ใน 1 โครินธ์ 11:14 นักบุญเปาโลเขียนว่า   "ธรรมชาติไม่ได้สอนท่านหรือว่าถ้าผู้ชายไว้ผมยาวก็เป็นสิ่งที่น่าละอาย"   ในโรม 2:27 นักบุญเปาโลใช้คำนี้พูดถึงผู้ที่เป็นคนต่างชาติโดยธรรมชาติ 


 


ความหมายของคำว่าธรรมชาติที่นักบุญเปาโลใช้ก็คือคุณลักษณะทั่วไป  หรือมาตรฐานทั่วไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถือปฏิบัติกัน  เช่น  เป็นผู้ชายต้องไม่ไว้ผมยาว  หรือเป็นคนต่างชาติก็ไม่ได้เข้าสุหนัต  นี่ไม่ใช่มีความหมายถึงกฎธรรมชาติอย่างแน่นอน


 


เมื่อใส่คำว่า para เข้าไปข้างหน้า  จึงมีความหมายว่า  คนๆนั้นกระทำหรือแสดงออกต่างไปจากคนอื่นๆในกลุ่ม  การกระทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผิดบาปหรือผิดศีลธรรม  ดูได้จาก  โรม 11:24 นักบุญเปาโลใช้คำเดียวกันนี้บอกว่าพระเจ้าทำผิดธรรมชาติ  ซึ่งความหมายก็คือพระองค์ทรงทำต่างไปจากที่เคย


 


ดังนั้นข้อความตอนนี้จึงไม่ได้กล่าวตัดสินว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเป็นบาปหรือผิดศีลธรรม  หากหมายถึงการกระทำที่ต่างไปจากสังคมทั่วไป


 


ประเด็นที่สอง  เกี่ยวกับผู้หญิงที่เปาโลเอ่ยถึงในข้อ 26  "พวกผู้หญิงของเขาก็เปลี่ยนจากการสัมพันธ์ตามธรรมชาติให้ผิดธรรมชาติไป"  ดูเผินๆ อาจคิดว่านักบุญเปาโลหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง  ถ้าดูความหมายของธรรมชาติดังที่กล่าวไว้ในประเด็นที่หนึ่ง  ประกอบกับเหตุผลทางวัฒนธรรม การมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงที่ถือว่าต่างไปจากมาตรฐานทั่วไปของชาวยิวในสมัยนั้น  สามารถหมายถึงสิ่งต่างๆ ได้มากมาย  เช่น  การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงมีประจำเดือน  การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่ไม่ได้เข้าสุหนัต  เพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก  เพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับผู้ชาย


 


อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดว่านักบุญเปาโลหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงก็เพราะข้อ 27 มีคำเชื่อมว่า "เช่นกัน"  ซึ่งหมายถึงผู้หญิงทำเช่นเดียวกับผู้ชาย  แต่คำเชื่อมนี้สามารถหมายความว่า  ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีเพศสัมพันธ์ที่ต่างจากคนทั่วไปในสังคม  ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง


 


หรือถ้าเราคิดว่าข้อ 26 นี้หมายถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง  นักพระคัมภีร์เองยังไม่สามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ได้  เพราะทั้งในพระคัมภีร์เก่าและพระคัมภีร์ใหม่ไม่มีที่ใดอีกเลยที่กล่าวถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง  แล้วเพราะเหตุใดนักบุญเปาโลจึงนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด  แล้วถ้าเป็นเรื่องสำคัญจริงเหตุใดจึงไม่มีการกล่าวถึงอีก


 


เมื่อพิจารณาดูแล้ว  บทจดหมายในตอนนี้นักบุญเปาโลกำลังกล่าวอ้างถึงกฎเรื่องความบริสุทธิ์ของชาวอิสราเอลและการกระทำที่ละเมิดกฎนั้น  ซึ่งกฎเหล่านี้ไม่เคยกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงเลย  ดังนั้นเราสามารถกล่าวได้ว่าไม่มีตอนใดในพระคัมภีร์ที่ประณามหรือแม้แต่จะกล่าวถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง


 


ประเด็นที่สาม  สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือคำสองคำที่ปรากฏอยู่ในข้อ 26 และ 27  คือ "น่าอัปยศ" และ "ชั่วช้าน่าละอาย"


 


คำว่า  น่าอัปยศ ภาษากรีกคือ atimias          


คำว่า  ชั่วช้าน่าละอาย  ภาษากรีกคือ  aschemosyne 


คำว่า atimias ไม่ได้มีความหมายเชิงผิดบาปหรือผิดศีลธรรม  ความหมายที่แท้จริงคือ  ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม  ไม่ได้รับคุณค่า  ไม่เห็นว่ามีเกียรติ  ไม่ได้รับการเคารพ  นักบุญเปาโลใช้คำนี้อธิบายถึงตัวเองใน 2 โครินธ์ 6:8 และ 11:21  ใน 1 โครินธ์ 11:14 นักบุญเปาโลใช้คำนี้เพื่อบอกว่าผู้ชายไว้ผมยาวเป็นสิ่งที่น่าละอาย   และใช้คำนี้ใน 1 โครินธ์ 15:43   เพื่อพูดถึงร่างกายที่ฝังลงในดินว่าเป็นสิ่งที่ไร้เกียรติ  ในโรม 9:21 คำนี้ใช้กล่าวถึงภาชนะที่เป็นเพียงภาชนะ "ใช้สอย"   นักบุญเปาโลใช้คำว่า atimias ทั้งหมดเพียงเท่านี้  ไม่มีที่ใดที่แสดงถึงการตัดสินทางศีลธรรม 


 


เช่นเดียวกับคำว่า  aschemosyne ซึ่งแปลตรงตัวว่า ไม่เป็นตามรูปแบบ


 


1 โครินธ์ 12:23  คำนี้ถูกใช้เพื่อกล่าวถึงอวัยวะที่ "ไม่น่าดู"  1 โครินธ์ 13:5 ใช้เพื่อพูดถึงความรักที่ไม่ "หยาบคาย"  1 โครินธ์ 7 ใช้เพื่อพูดถึงผู้ชายที่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อคู่หมั้น "อย่างสมควรไม่ได้" นักบุญเปาโลใช้ aschemosyne ทั้งหมดเท่านี้  เช่นเดียวกับ atimias  ไม่มีที่ใดเลยที่เป็นการตัดสินทางศีลธรรม


 


ดังนั้น ทั้งในข้อ 26 และ 27 ไม่ใช่การตัดสินทางศีลธรรม  เพียงชี้ให้เห็นว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในสมัยนั้น


 


ในข้อ 29 นักบุญเปาโลใช้คำว่า adikia ซึ่งมีความหมายว่าผิดศีลธรรมหรือเป็นบาป  เพื่อเอ่ยถึงสิ่งทั้งหลายที่เป็นบาป  ในจำนวนสิ่งต่างๆ นั้น  ไม่มีบาปที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์อยู่เลย  เห็นได้ว่า นักบุญเปาโล มีคำศัพท์เพื่อเรียกถึงสิ่งที่เป็นบาปผิดศีลธรรมอยู่แล้วในขณะนั้น  แต่ไม่ใช้ศัพท์เหล่านี้เมื่อกล่าวถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน


 


ประเด็นสุดท้าย  เมื่อประเด็นเรื่องความผิดบาปตกไป  เรามาดูถึงเรื่องการไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคม  เรื่องนี้เราต้องตระหนักว่าสังคมวัฒนธรรมของนักบุญเปาโลและของเรานั้นห่างกันถึงสองพันปีและมีความต่างกันอย่างมากมาย


 


ลองดูความคิดด้านอื่นๆของนักบุญเปาโลเป็นตัวอย่าง


เช่น  ความคิดเรื่องผู้หญิงและผู้ชาย  1 โครินธ์ 14:34-35  นักบุญเปาโลบอกว่าชายเป็นศีรษะของหญิง  ถ้าผู้หญิงที่อธิษฐานหรือเผยพระวจนะไม่มีผ้าคลุมศีรษะก็ทำความอัปยศแก่ศีรษะ  หรือผู้ชายเป็นพระฉายาและพระศิริของพระเจ้า  ส่วนผู้หญิงเป็นเพียงศักดิ์ศรีของผู้ชาย


 


1 โครินธ์ 14:34-35 นักบุญเปาโลแนะนำว่าผู้หญิงไม่ควรได้รับอนุญาตให้พูดในที่ประชุม แต่ให้อยู่ใต้บังคับบัญชา  เพราะการที่ผู้หญิงจะพูดในที่ประชุมเป็นสิ่งที่น่าละอาย  ถ้าผู้หญิงอยากรู้สิ่งใดให้ไปถามสามีที่บ้าน  1 ทิโมธี 2:11-15 กล่าวว่า "ให้ผู้หญิงเรียนอย่างเงียบๆ ด้วยความนบนอบ  ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ผู้หญิงสั่งสอนหรือใช้อำนาจกับผู้ชาย"


 


ความคิดเช่นนี้นั้นในปัจจุบันถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและกดขี่ผู้หญิง  เรื่องทาสก็เช่นกัน  สมัยนี้ถือว่าการใช้ทาสเป็นการกระทำที่ผิดมนุษยธรรม  นักบุญเปาโลแม้จะพูดถึงบาปนานาประการ  แต่ก็ไม่ได้คิดว่าผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ควรปลดปล่อยทาส  เพียงแต่แนะนำว่านายควรปฏิบัติต่อทาสอย่างยุติธรรม  ทาสควรเชื่อฟังนายและไม่ควรแสวงหาอิสรภาพ  (โคโลสี 3:22 – 4:1, เอเฟซัส 6:5-9, 1 ทิโมธี 6:1-2,  ทิตัส 2:9-10 และฟีโลโมน)


 


เมื่อเวลาเปลี่ยนไปคุณค่าในสังคมก็เปลี่ยนตาม  สังคมปัจจุบันมีความเข้าใจความรักระหว่างคนเพศเดียวกันที่ต่างไปจากสังคมผู้เชื่อในพระคริสต์เมื่อสองพันปีก่อน  การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่างชี้ให้เห็นว่า  การมีความรักกับคนเพศเดียวกันเป็นความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์    องค์กรอนามัยโลกประกาศตั้งแต่เมื่อปี 2519 ว่าการรักเพศเดียวกันมิใช่ความผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด  กรมสุขภาพจิตของไทยเราก็ประกาศเช่นเดียวกันเมื่อปี 2545 ที่ผ่านมานี้  องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศต่างสนับสนุนและเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน  พร้อมกับพยายามขจัดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน


 


นักบุญเปาโลมิได้มีความเข้าใจดังเช่นในปัจจุบัน  ฉะนั้นเราจึงไม่สามารถใช้ข้อความใน โรมัน 1:26-27 มาตัดสินคนรักเพศเดียวกันได้


 


1 โครินธ์ 6:9-10 และ 1 ทิโมธี 1:9-10


9ท่านไม่รู้หรือว่าคนอธรรมจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า  อย่าหลงเลย  คนล่วงประเวณี  คนถือรูปเคารพ  คนผิดผัวผิดเมียเขา  ลูกสวาทหรือชายเล่นลูกสวาท (oute malakoi oute arsenokoitai)  10คนขโมย คนโลภ  คนขี้เมา  คนปากร้าย  คนฉ้อโกง  จะไม่ได้รับส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า  (1 โครินธ์ 6:9-10)


 


9คือโดยรู้ว่าธรรมบัญญัตินั้น  มิได้ทรงบัญญัติไว้สำหรับคนอธรรมและคนดื้อด้าน  คนผิดและคนบาป  คนไม่นับถือพระเจ้าและคนหมิ่นประมาท  คนฆ่าพ่อ  คนฆ่าแม่  คนฆ่าคน  10คนล่วงประเวณี  ชายเล่นลูกสวาท (arsenokoitai)  ผู้ร้ายลักคน  คนโกหก  คนทวนสบถ  และอะไรๆที่ขัดกับคำสอน  (1 ทิโมธี 1:9-10)


 


ทั้งคำว่า malakoi และ arsenokoitai ใน 1 โครินธ์นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่านักบุญเปาโลใช้เพื่อหมายถึงอะไร ซึ่งทั้งสองคำที่ใช้ก็ไม่มีคำอธิบายประกอบ


 


ในกรีกสมัยนั้นมีคำทั่วไปที่ใช้เรียกการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักเพศเดียวกัน  พวกเขาอาจเป็นคนรักต่างเพศที่แต่งงานแล้ว  แต่มีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันไปด้วย)  คำเหล่านี้ก็เช่น  paiderastes, palakos, kinaidos, arrenomanes และ paidophthoros ถ้านักบุญเปาโลต้องการหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันน่าจะใช้คำเหล่านี้


 


การแปลคำทั้งสองในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษแต่ละฉบับก็แตกต่างกันไป malakoi เคยถูกแปลว่า เด็กชายที่ใช้ในการร่วมเพศระหว่างผู้ชาย, ลักษณะที่เหมือนผู้หญิง,  หมกมุ่นกับตัวเอง,  ชายที่เหมือนผู้หญิง  จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ศาสนจักรคาทอลิกแปลคำนี้ว่า ผู้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง


 


arsenokotai ถูกแปลว่ารักร่วมเพศ,  โสโดมไมท์,  ชายที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก  วิปริต,  วิปริตทางเพศ,  หรือคนที่มีนิสัยน่ารังเกียจ


 


คำว่า malakos (พหูพจน์คือ malakoi) แปลตรงตัวได้ว่า "อ่อนนุ่ม"  บางครั้งใช้คำนี้เพื่อดูถูกผู้ชายที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิง  นักประวัติศาสตร์ John Boswell แนะนำว่า  เมื่อนำคำนี้มาเชื่อมโยงกับศีลธรรม  แปลได้ว่า  คนที่มีศีลธรรมอ่อนแอ  หละหลวม  โดยไม่มีนัยทางเพศ   นักพระคัมภีร์ Robin Scroggs ให้ความหมายที่ต่างออกไป  เขาชี้ว่าคำนี้หมายถึงเด็กชายที่ขายบริการทางเพศให้กับผู้ชาย  ซึ่งพบได้ทั่วไปในกรีกสมัยนั้น  เด็กเหล่านี้ขายตัวเองเพื่อแลกกับเงินและความตื่นเต้น  สิ่งนี้เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอย่างหนักในสมัยนั้นว่าถูกต้องหรือไม่  นักบุญเปาโลอาจต้องการสื่อกับผู้อ่านในเรื่องนี้ก็เป็นได้


 


ส่วนคำว่า arsenokoitai นั้นมาจากรากศัพท์สองคำคือ arseno แปลว่า ผู้ชาย  koitai แปลว่า เตียง,  ห้องนอน,  การนอน และ  การมีเพศสัมพันธ์   การแปลคำๆ นี้มีปัญหามากเพราะยังไม่พบในข้อเขียนกรีกอื่นใด  เราจึงไม่สามารถเทียบเคียงกับบริบททางวัฒนธรรมได้


 


John Boswell  ให้ความเห็นว่า  คำว่าผู้ชาย หรือ arseno เป็นประธานของคำ  คำนี้จึงแปลว่าชายขายบริการ  ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่ขายบริการให้คนเพศเดียวกันเท่านั้น  ถ้าถือตามนี้  1 โครินธ์ 6 และ 1 ทิโมธี 1  ไม่ได้หมายถึงคนรักเพศเดียวกันเลย


 


อย่างไรก็ตาม Robin Scroggs มีความเห็นที่ต่างออกไป  Scroggs คิดว่าคำๆ นี้ไม่ปรากฏอยู่ที่อื่นใดในข้อเขียนกรีก  เพราะคำนี้แปลมาจากภาษาฮีบรูคำว่า mishkav zakur ซึ่งแปลว่า นอนกับผู้ชาย  ดังนั้นจึงมีแต่ชาวยิวที่พูดภาษากรีกเท่านั้นที่ใช้คำนี้


 


ดังนั้น  ผู้ชายในที่นี้จะเป็นกรรม  ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่ซื้อบริการจากเด็กชาย ดังนั้น malakoi และ arsenokoitai จึงหมายถึงทั้งเด็กขายบริการและชายที่ซื้อบริการ 


 


เมื่อดูบริบททางวัฒนธรรม  จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น  ในกรีกนั้นความรักระหว่างผู้ชายถือว่าเป็นรูปแบบของความรักขั้นสูงสุด  ความสัมพันธ์ระหว่างชายสองคนจะเต็มไปด้วยความรัก  ความห่วงใย  มิตรภาพ  คุณค่าที่คล้ายคลึงกัน  และการอุทิศตัวทำงานบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน  เรื่องเพศไม่ใช่หัวใจของความสัมพันธ์  หากอยู่ที่คุณงามความดี แต่ในจักรวรรดิโรมันในศตวรรษที่ 1 เกิดความเสื่อมถอยทางศีลธรรมมากมาย  ผู้ชายหมกมุ่นในเรื่องเพศและซื้อบริการทางเพศกันมากขึ้น  ผู้ชายบางคนข่มขืนกักกันทาสของตน  เด็กหญิงและเด็กชายที่หน้าตาดีถูกลักพาตัวขายไปเป็นทาสทางเพศ  ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไม  ผู้ร้ายลักคนจึงปรากฏต่อท้ายจาก arsenokoitai ใน 1 ทิโมธี 1:10   ดังนั้นเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย  นักวิจารณ์สังคมในสมัยนั้นจึงเห็นว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เอารัดเอาเปรียบ  ไม่เท่าเทียม  เต็มไปด้วยราคะตัณหาและความรุนแรง  ความสัมพันธ์เช่นนี้เองที่นักบุญเปาโลถือว่าเป็นความผิดบาป


 


พระคัมภีร์นั้นต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายที่อยุติธรรม  เอารัดเอาเปรียบ  ใช้ความรุนแรง  แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพระคัมภีร์ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย  เช่นเดียวกันเมื่อนักบุญเปาโลพูดถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายที่เป็นความอยุติธรรม  เอารัดเอาเปรียบ  ใช้ความรุนแรง  ทารุณโหดร้าย  เราคงไม่สามารถพูดได้ว่านักบุญเปาโลห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย


 


ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศใด  ถ้าความสัมพันธ์เต็มไปด้วยความอยุติธรรม  ความโหดร้ายทารุณ  พระคัมภีร์ถือว่าเป็นบาปด้วยกันทั้งสิ้น


 


ก้าวย่างสู่อนาคต


 


ข้อความเพียงห้าจุดนี้เองที่คนนำมาอ้างแล้วอ้างเล่า  เพื่อทำให้การรักเพศเดียวกันเป็นความผิดบาป  แต่นี่ไม่น่าเป็นสิ่งที่คนเขียนพระคัมภีร์เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่แต่อย่างใด  เพราะเมื่อเทียบดูว่าพระคัมภีร์ทั้งเก่าและใหม่รวมกันนั้นหนาเป็นพัน ๆ หน้า  แต่มีแค่ห้าจุดนี้ที่ดูเหมือนจะพูดถึงการรักเพศเดียวกัน  และตามเหตุผลที่ว่ามาข้างต้น  ทั้งห้าจุดนี้ก็ไม่ได้กล่าวประณามว่าการรักเพศเดียวกันเป็นบาปแต่อย่างใด


 


สำหรับพระเยซูเอง  พระองค์สั่งสอนชาวยิวในสมัยพระองค์ว่า  อย่ายึดถือกฎตามตัวอักษร แล้วนำไปตัดสินผู้อื่น  แต่ให้ปฏิบัติต่อกันด้วยความรักความเมตตา พร้อม ๆ ไปกับการรักษาความยุติธรรมในสังคม


 


นักเทววิทยา Dr. Janet Ruffing, RSM กล่าวไว้ว่า "คนรักเพศเดียวกันนั้นถูกตัดสินตั้งแต่เขาเองยังไม่รู้ว่าตัวเองรักเพศใดกันแน่"  การศึกษาข้างต้นเหล่านี้  น่าจะเป็นดั่งการเปิดป