Skip to main content

ความเคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในระดับโลก : ตัวอย่างของ The Tipping Piont

คอลัมน์/ชุมชน

ในที่นี้ จะกล่าวถึงความเคลื่อนไหวด้านพลังหมุนเวียนในระดับโลกและต่างประเทศเพียง ๓ เรื่อง  แต่ละเรื่องมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน เรื่องแรกเป็นคำพูดของผู้นำระดับประธานาธิบดีที่เกี่ยวกับพลังงานโดยรวม จะถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของชาติก็ได้  เรื่องที่สองเป็นบทบาทของกลุ่มนักวิชาการที่มุ่งมั่นทำงานเชิงลึก  แล้วเชื่อมโยงกับนักการเมืองบางพรรคเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่ระดับประเทศนะครับ     แต่เป็นระดับสหภาพยุโรปเลยทีเดียว   เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับชาวบ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น จนสามารถมีโรงไฟฟ้าที่ใช้สบู่ดำเป็นเชื้อเพลิงได้   เรามาเริ่มเรื่องกันเลยครับ


 


สุนทรพจน์ ประธานาธิบดีอินเดีย  DR. A.P.J. ABDUL KALAM


 


 



DR. A.P.J. ABDUL KALAM   ขณะกล่าวสุนทรพจน์

 


 


ในการประชุมประจำปีของสมาคมพลังงานลมโลก ที่ประเทศอินเดีย[1]  ท่านประธานาธิบดี  DR. A.P.J. ABDUL KALAM   วัย 75 ปี ซึ่งจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์การบิน   ได้กล่าวเปิดการประชุมด้วยประโยคที่มีความสำคัญยิ่งว่า  "Energy  Independence is the lifeline of a nation"  ซึ่งผมขอแปลความว่า "การเป็นอิสระจากพลังงานคือสิ่งที่จะช่วยให้ชาติอยู่รอดได้"


 


สำหรับรายละเอียดที่ว่าจะช่วยให้ชาติรอดพ้นอย่างไรนั้น  ผมมีรายละเอียดที่เป็นบทความของผมเองทีละประเด็นทีละเรื่องในภาคผนวก  ตอนนี้เรามาว่ากันในเรื่องใหญ่ๆ ที่ท่านประธานาธิบดีกล่าวกันต่อครับ


 


"ในขณะที่ทั่วโลกกำลังฉลองกับความสำเร็จที่เพิ่มสูงขึ้นชั่วขณะหนึ่งทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เราก็ตระหนักด้วยว่าโลกกำลังลื่นไถลลงมาในเรื่องของพลังงาน โดยพลังงานฟอสซิลที่เคยค้ำจุนชาวโลกให้ก้าวหน้ามาตลอดนั้นมีจำนวนจำกัด ถ้าชาวโลกยังคงใช้กันอยู่ในอัตรานี้ อีกประมาณ ๑๐๐ ปีก็อาจจะหมดไปจากโลก เมื่อเป็นดังนี้ เราต้องแสวงหาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากทะเล ลม และสิ่งที่ธรรมชาติสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้"


 


ท่านย้ำต่ออีกว่า "สิ่งที่เราต้องทำคือการปฏิรูปนโยบายและกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อที่จะเก็บพลังงานจากแหล่งดังกล่าวอย่างเร่งด่วน" 

 


 


 


ซ้ายมือ เป็นเรื่อง "ผู้ใหญ่" ส่วนขวามือเป็น "เด็กๆ" ที่รับฟังอย่างมีอารมณ์ร่วม



ในสุนทรพจน์ของท่านประกอบไปด้วยข้อมูลที่ทันสมัยมากมาย แม้จะเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะต้องมีทีมงานร่างสุนทรพจน์ให้ท่าน  แต่ก็มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า  "จากการศึกษา "ของข้าพเจ้าเอง"   จากเอกสารของ   Global Wind Energy Outlook-2006" ผมจึงสรุปเอาเองว่า ประธานาธิบดีท่านมีความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง


 


อีกตอนหนึ่งที่ท่านกล่าวเป็นภาพรวมที่น่าสนใจ ว่า  "ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓   ความต้องการไฟฟ้าของประเทศอินเดียจะอยู่ที่    แสนเมกะวัตต์ ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ ๑.๓ แสนเมกะวัตต์ (เฉลี่ยเพิ่มปีละ ๕%)  เพื่อความเป็นอิสระด้านพลังงาน อินเดียจะต้องให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามีส่วนให้ถึง ๒๕% ในขณะที่ทั่วโลกได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ ๑๖%"


 


ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ ท่านได้เสนอแนะในที่ประชุม ๖ ข้อ สำหรับประเทศอินเดีย ซึ่งผมขอสรุปสั้นๆ ดังนี้ คือ


 


๑. อินเดียมีศักยภาพที่จะติดตั้งกังหันลมถึง ๔๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ ควรจะศึกษาไปถึงการติดตั้งนอกชายฝั่ง (off-shore) ด้วย เพราะอินเดียมีชายฝั่งยาวถึง ๗ พันกิโลเมตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง


 


๒. ควรต้องวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตลงมา รวมทั้งการออกแบบด้วย


 


๓. ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ ๒.๕ ถึง ๓.๕ รูปี งานวิจัยที่ต้องการคือการลดต้นทุนลงมาอยู่ที่ ๑.๐ ถึง ๒.๐ รูปี  (หนึ่ง รูปี ประมาณ ๐.๗๕ บาท เมื่อ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)


 


๔. บนเกาะและพื้นที่ห่างไกล ถ้ามีลมศักยภาพพอ ควรจะสร้างกังหันลมให้เสร็จภายใน ๓ ปี


 


๕.ศึกษาความเป็นไปได้ถึงการใช้กังหันลมเพื่อสูบน้ำให้เกษตรกร


 


๖. ควรมีการสอนระดับปริญญาโทเกี่ยวกับพลังงานลมในสถาบันทางวิศวกรรมศาสตร์ของอินเดีย


 


ทั้งหมดนี้เป็นวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีอินเดียเมื่อปลายปี ๒๕๔๙


 



ภาพนี้มาจากเอกสารในคำปราศรัยของประธานาธิบดีเนื่องในโอกาส ๕๙ ปีการได้รับอิสรภาพ (www.presidentofindia.nic.in) เป็นภาพรถไฟใช้เชื้อเพลิงจากพืช ขวามือเป็นสวนและเมล็ดสบู่ดำ ที่ท่านบอกว่าเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแต่อยู่ได้ ๕๐ ปี




เราไม่สามารถทราบได้ว่า มีเหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ผู้นำท่านนี้มีวิสัยทัศน์ที่น่าเคารพ น่ายกย่องถึงเพียงนี้  แต่เมื่อย้อนไปศึกษาเนื้อหาในสาส์นถึงประชาชนอินเดียของท่านเนื่องในโอกาสที่ครบรอบปีที่  ๕๙  (เมื่อปี ๒๕๔๘ ซึ่งท่านได้ตั้งชื่อเรื่องว่า Energy Independence) ของการได้รับอิสรภาพจากประเทศอังกฤษแล้ว ทำให้ทราบว่าท่านมีความเข้าใจต่อเรื่องพลังงานดีมาก ท่านพยายามเน้นไปที่การพึ่งตนเองโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทะเล ลม สบู่ดำ (ซึ่งมีศักยภาพที่จะผลิตได้ถึงประมาณ ๕๐% ของพลังงานในภาคการขนส่งทั้งหมดของประเทศ) ลดการนำเข้า ลดการสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้า (ซึ่งสูงถึง ๓๐-๔๐%) ใช้ของเสียจากเทศบาลผลิตไฟฟ้า ๙๐๐ แห่ง รวม   ,๘๐๐ เมกะวัตต์ เป็นต้น


 


นอกจากนี้ เราสามารถตรวจสอบจากข้อมูลอื่นๆ แล้วพบว่า ประเทศอินเดียมีการติดตั้งพลังงานลมสูงเป็นอันดับสี่ของโลก    ยังมีข้อมูลอื่นที่น่าสนใจอีกมาก[2] บอกว่า อินเดียเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีกระทรวงพลังงานหมุนเวียน  ปัจจุบันประชากรของอินเดียประมาณ ๑, ๑๐๐ คน   ครึ่งหนึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้    รัฐบาลอินเดียจึงมีแผนที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใน  ๒๕,๐๐๐ หมู่บ้านทั่วประเทศ


 


ประเด็นที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวในเบื้องต้น ก็เพราะมีความเชื่อว่า ในการผลักดันและรณรงค์ในประเด็นสาธารณะใด ๆ ก็ตาม เราจำเป็นต้องทำให้ผู้นำเกิดความเข้าใจที่ ถูกต้องในประเด็นนั้นๆ ด้วย แต่ว่าจะทำอย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งมีคำตอบอยู่ในเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ด้วย


 


การทำงานของสโมสรแห่งโรม: รูปแบบที่ควรศึกษา 


          


 


ย้อนหลังไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ขณะที่ชาวโลกกำลังชื่นชมกับผลสำเร็จของ "การพัฒนา" ที่เน้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ได้มีนักวิชาการของโลกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "สโมสรแห่งโรม (The Club of Rome)"   ได้ออกมาเตือนชาวโลกทั้งมวลว่า     ถ้าชาวโลกยังคงพัฒนาไปตามทิศทางที่ผ่านๆมา  ชาวโลกจะต้องประสบกับความหายนะในอนาคตอย่างแน่นอน


 


ถ้าผมจำไม่ผิดสมาชิกของกลุ่มนี้มีเพียงหนึ่งโหลเท่านั้น ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ เริ่มประกาศก่อตั้งครั้งแรกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อ  ๒๕๑๑


 


สโมสรแห่งโรมได้ออกรายงานชิ้นสำคัญที่ว่า "ขีดจำกัดของการเติบโต (Limit to Growth)" เมื่อปี ๒๕๑๕   สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้บอกว่า   "เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่ได้ เพราะทรัพยากรธรรมชาติมีจำนวนจำกัด   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือน้ำมัน"


 


ปรากฏว่าในปีถัดมา คือปี ๒๕๑๖ ทั่วทั้งโลกก็ต้องประสบกับวิกฤติน้ำมันราคาแพงเป็นครั้งแรก  โดยที่ทั่วทั้งโลกยังไม่มีใครตื่นขึ้นมาปฏิบัติการใดๆเลย


 


มาถึงวันนี้  สโมสรแห่งโรมได้ออกมาเรียกร้องความร่วมมือระหว่างประเทศอุตสาหกรรมในยุโรป ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและประเทศกลุ่มแอฟริกาตอนเหนือ ( Middle East and North Africa - MENA region)   เพื่อร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากทะเลทรายซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดจำนวนมหาศาล   โดยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ (solar thermal power plant)


 


ถ้าฟังดูเพียงแค่นี้ก็ไม่น่าจะตื่นเต้นอะไร  แต่จากคำปราศรัยในงาน "การสนทนาเรื่องพลังงานโลก ( World Energy Dialogue)"  ที่เมือง Hannoverประเทศเยอรมนี เมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙  ของประธานสโมสรแห่งโรมแล้วไม่ธรรมดาเลยครับ  


 


"พลังงานแสงอาทิตย์ในบริเวณพื้นที่ MENA เพียงแห่งเดียวมากกว่าที่ชาวโลกใช้อยู่ทั้งหมดถึง ๒ พันเท่า   เทคโนโลยีที่ใช้เก็บพลังงานในบริเวณนี้ให้ได้สักอย่างน้อย ๑๐%  นั้นปัจจุบันชาวโลกมีอยู่แล้ว ทะเลทรายที่มีขนาดเท่ากับกรุงเบอร์ลินและเมืองฮัมบวร์ก[3] ก็เพียงพอแล้วที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชาวเยอรมนีทั้งประเทศ" เจ้าชายแห่งจอร์แดนกล่าว


 


"ความร่วมมือนี้ไม่ใช่ต้องการแต่พลังงาน แต่เป็นการพัฒนาและสร้างสันติภาพของโลกทั้งมวล   ด้วยการเร่งสร้างความต้องการพลังงานของ จีน อินเดีย และบราซิลรวมทั้งที่อื่นๆ ไม่สามารถบรรลุได้เพียงการใช้ก๊าซและน้ำมัน ความเสี่ยงต่อเรื่องภูมิอากาศที่บอบบางต้องมีการเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานฟอสซิลลงมา"


 


"กว่า ๔๐ ปีมาแล้ว ประธานาธิบดีเคเนดี้  เคยมีโครงการอวกาศอพอลโล (US Apollo Space Programme) เพื่อฝันที่จะส่งคนไปอวกาศ  วันนี้เรามีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น  คือฟื้นความสมดุลระหว่างมนุษย์และโลกให้กลับคืนมา"


 


"ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญท่านทั้งหลายให้มองทะเลด้วยสายตาแบบใหม่ คือ เป็นแหล่งพลังงานสะอาดและแหล่งน้ำจืดที่ไม่มีวันหมด  ข้าพเจ้าขอเสนอโครงการ อพอลโลทะเลทราย - EUMENAApolloDesert Programme)"


 


ที่กล่าวมานี้ เป็นการศึกษาและคิดค้นเชิงลึกกลุ่มนักวิชาการ(ปัจจุบันมีสมาชิก ๗๒ คน)  ผ่านการสำเสนอของประธานกลุ่มที่มีศักดิ์ถึงเจ้าชายของประเทศ ถ้าเปรียบกับเรื่อง The Tipping Point  ก็น่าจะเหมือนกับการให้  Saleman ที่มีชื่อเสียงเป็นผู้พูด จึงทำให้เกิดการยอมรับจากสาธารณะมากขึ้น


 


จากเอกสารที่ผมค้นได้ในเว็บไซต์  พบว่าสโมสรแห่งโรมยังได้เคลื่อนไหวกับนักการเมืองเยอรมนี  ๒ พรรค คือ พรรค Social Democrats (SPD) และ  พรรคกรีน  ต่อจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวจนเป็นที่ยอมรับของสหภาพยุโรป ความสำเร็จในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญมากในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ 


 


นี่คือการทำงานของภาคประชาชนที่น่าศึกษาเป็นตัวอย่าง


 


อนึ่ง ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องที่สาม ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า พลังงานสะอาดจากทะเลทรายคืออะไรกันแน่  ผมขอกล่าวเพียงย่อๆ ดังนี้


 


วิธีการก็คือ ใช้จานหรือรางรวมแสงอาทิตย์ (ดูภาพประกอบ) ที่จุดรวมแสงจะมีความร้อนสูง  สูบน้ำทะเลให้ไหลผ่านตามท่อมาที่จุดรวมแสง ส่งน้ำที่ร้อนจัดนี้ไปต้มให้เดือดด้วยก๊าซธรรมชาติ (ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลบ้าง) จากนั้นเอาไอน้ำเดือดไปดันกังหันจนเกิดเป็นไฟฟ้า


 



ซ้ายมือ เป็นแผนผังการรับแสงและท่อน้ำ 
ขวามือเป็นภาพจริงจากสหรัฐอเมริกา (สังเกตขนาดคน รถยนต์กับจานรับแสง)



วิธีการผลิตไฟฟ้าแบบนี้ นอกจากจะได้ไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนน้ำเค็มมาเป็นน้ำจืดซึ่งค่อนข้างขาดแคลนในบริเวณนั้น


 


สำหรับต้นทุนการผลิตไฟฟ้านั้น จากเอกสารบอกว่าอยู่ในช่วง ๑.๙๐ ถึง ๒.๔๐ บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ซึ่งถือว่ามีต้นทุนต่ำที่สุดในยุโรป


 


โรงไฟฟ้าจากสบู่ดำ: มีคำตอบของท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาท้องถิ่น


 


เรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในบทนี้ เป็นการทำงานในกลุ่มชาวบ้านที่ยากจนของประเทศมาลี ในทวีปแอฟริกา ที่ต้องการพึ่งตนเองด้านพลังงาน โดยมีกลุ่มนักพัฒนาเอกชนเข้าไปเป็นตัวประสานงานทั้งระดับชาวบ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น และชาวบ้าน  ตามแผนการแล้ว จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้สบู่ดำเป็นเชื้อเพลิงในต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ นี้


 


เรื่องนี้ผมเคยนำเสนอในประชาไทแล้ว  แต่ที่ยกมากล่าวถึงในที่นี้ก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า  กระบวนการพัฒนาควรจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำ นักวิชาการ นักการเมืองทุกระดับ นักพัฒนาเอกชนและชาวบ้าน


 


ในทัศนะของผมแล้ว ยังมีอีก ๒ ประเด็นที่เป็นปัญหาในเรื่องพลังงานที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในบทนี้ คือ


หนึ่ง คือ การทำให้สาธารณะได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นพลังงานกันอย่างกว้างขวาง และ


 


สอง การผลักดันให้เกิดการบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย หรือในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่ว่า รัฐพึงส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนโดยให้ชาวบ้านสามารถผลิตพลังงานและขายได้สะดวกในระบบไฟฟ้า


 


โดยสรุป สำหรับคนทำงานภาคประชาสังคม ถ้าเราสามารถทำงานด้านพลังงานได้ครบถ้วนตามที่กล่าวมาแล้ว  สังคมไทยคงมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเยอะเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายรายได้และสิ่งแวดล้อม


 






[1] Annual Conference of  the World Wind Energy Association  เมื่อ  6-8 พฤศจิกายน  2549   ที่ กรุง New  Delhi  ประเทศอินเดีย   


[2]จาก  Stefan Gsänger- Secretary General - World Wind Energy Association



[3] พื้นที่รวมกัน  ,๖๔๖  ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ  ๑.๖  เท่าของพื้นน้ำทะเลสาบสงขลา