Skip to main content

แต่งงานสีรุ้ง

คอลัมน์/ชุมชน

ยังไม่หมดเดือนแห่งความรักค่ะ  วันนี้ขอเล่าเรื่องแต่งงานก็แล้วกันจะได้เข้ากับบรรยากาศ  เห็นตอนวันวาเลนไทน์  มีชาย-หญิง หลายคู่จูงมือกันไปจดทะเบียน  บางคู่ก็มีความพยายามมาก  ปีนกันไปจดบนหน้าผา  หรือดำไปจดกันใต้น้ำ  บางคู่อยู่กันมาจนแก่เฒ่าแล้วเพิ่งจะมาจด  ก็น่ารักกันดีนะคะ


 


จริง ๆ ภาพอย่างนี้ก็เห็นมาหลายปีจนชินแล้ว  อาจจะชินไปแล้วด้วยว่าต้องเป็นชาย-หญิงเท่านั้นที่สามารถจูงมือกันไปจดทะเบียนได้  ขืนมีชายหนุ่มกับชายหนุ่ม  หรือหญิงสาวกับหญิงสาวจูงมือกันไปขอจดทะเบียนบ้าง  มีหวังคงได้เป็นข่าวฮา ๆ ใน "เก็บตก" หรือ "สะเก็ดข่าว"


 


แต่ก็ยังดีที่ในโลกเรานี้ยังพอมีที่ ๆ ให้คนเพศเดียวกันได้จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสกันอยู่บ้าง  คุณ ๆ อาจจะเคยได้ยินว่า ประเทศนั้นประเทศนี้  อนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้แล้ว  แต่จริง ๆ ในขณะนี้นั้นมีเพียงห้าประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงาน (Marriage) ของคนเพศเดียวกัน  โดยเทียบเท่ากับการแต่งงานของคนรักต่างเพศ   ส่วนประเทศอื่น ๆ นั้นมีแค่เพียงการจดทะเบียนกันด้วยชื่อเรียกที่ต่างกันไป  เช่น  Domestic Partnership, Civil Union, Civil Partnership  ประเทศเหล่านี้อาจจะให้สิทธิคู่เพศเดียวกันเท่าเทียมกับคู่ชายหญิง  แต่หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าแต่งงาน  สงวนคำ ๆ นี้ไว้สำหรับคู่ชายหญิงเท่านั้น  ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะได้ไม่หัวใจวายตายไปเสียก่อน  หรือกฎหมายเหล่านี้อาจจะไม่ได้ให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันเท่าเทียมกับการแต่งงานของคู่ชายหญิงก็ได้  รายละเอียดนั้นก็ต่างกันไปในแต่ละประเทศ  อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศที่มีกฎหมายแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน  ก็ใช่ว่าจะให้สิทธิเท่าเทียมกับคู่คนต่างเพศเสมอไป  ซึ่งจะให้สิทธิเท่าใดก็แล้วแต่กฎหมายของแต่ละประเทศจะกำหนด


 


ในที่นี้เรามาดูประวัติบางแง่มุมของกฎหมายแต่งงานในห้าประเทศนั้นกัน  ห้าประเทศที่ว่านี้ก็คือ เนเธอร์แลนด์  เบลเยี่ยม สเปน แคนาดา  และแอฟริกาใต้   ข้อมูลส่วนใหญ่เอามาจาก Wikipedia นะคะ  ถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็เข้าไปค้นได้


 


เนเธอร์แลนด์


 


ประเทศเนเธอร์แลนด์  แดนสวรรค์ของเพศที่แตกต่างนั้น  มีประวัติศาสตร์การเรียกร้องให้มีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันมาอย่างยาวนานแล้ว  ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 80 กลุ่มเคลื่อนไหวชาวเกย์  เรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้  จน ปี 1995 รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อตรวจสอบดูถึงความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายแต่งงานของคนเพศเดียวกัน  คณะกรรมาธิการพิเศษนี้สิ้นสุดการทำงานในปี 1997 และสรุปว่าควรเปิดโอกาสให้มีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน


 


ในระหว่างที่รอพิจารณาการออกกฎหมายแต่งงาน  มีการออกกฎหมาย Registered Partnerships ในวันที่ 1 มกราคม 1998  เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับคู่รักเพศเดียวกันในการจดทะเบียนใช้ชีวิตคู่  คู่รักต่างเพศก็สามารถจดทะเบียนภายใต้กฎหมายนี้ได้เช่นกัน 


 


หลังการเลือกตั้งในปี 1998 รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการออกกฎหมายแต่งงานให้กับคนรักเพศเดียวกัน  เดือนกันยายน ปี 2000 ร่างกฎหมายได้รับการพิจารณาในสภา  และผ่านการอนุมัติของสภาในวันที่ 19 ธันวาคม 2000  ในช่วงนั้นพรรคการเมืองฝ่ายคริสต์ผู้คัดค้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเสมอมา  ไม่ได้เป็นรัฐบาล  กฎหมายก็เลยออกมาได้  แต่พรรคเหล่านี้ในฐานะที่เป็นพรรคฝ่ายค้านก็ออกเสียงคัดค้านกันเต็มที่  แต่เสียงน้อยกว่าก็เลยพ่ายฝ่ายรัฐบาลไป


 


กฎหมายแต่งงานนี้ให้สิทธิกับคู่เพศเดียวกันเท่าเทียมกับคู่ต่างเพศทุกประการ  ยกเว้นในกรณีเดียวคือ  การรับบุตรบุญธรรม  คือในกรณีผู้หญิงสองคนแต่งงานกัน  ถ้ามีผู้หญิงคนหนึ่งมีลูก  ภรรยาของเธอจะยังไม่ถือว่าเป็นแม่หรือพ่อของลูก  คือจะเป็นแค่แม่เลี้ยงตามกฎหมาย  จนกว่าเธอจะทำการรับลูกคนนั้นมาเป็นลูกบุญธรรมเสียก่อน  แล้วกฎหมายก็จะนับว่าเธอเป็นแม่คนที่สอง


 


ตามสถิติ  ตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ออกมาจนถึงเดือนมีนาคม 2006  มีคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนแต่งงานไปแล้วมากกว่า 6,000 คู่ 


 


เอ แล้วคนไทยจะไปแต่งงานที่เนเธอร์แลนด์ได้หรือเปล่าเนี่ย ?


 


ตามกฎหมายแล้วอย่างน้อยต้องมีคนหนึ่งในคู่แต่งงานมีสัญชาติดัทช์หรือเป็นชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์  เพราะฉะนั้นคนไทยสองคนอยู่ ๆ จะบินไปแต่งงานที่นั่นเลยไม่ได้นะคะ  และแม้ว่าแต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมายดัทช์แล้วก็ตาม  ก็ไม่รับรองนะคะว่าประเทศอื่น ๆ เขาจะรับรองการแต่งงานนี้ด้วยหรือเปล่า  อย่างถ้าสาวไทยไปจดทะเบียนสมรสกับสาวดัทช์  เสร็จแล้วจะกลับมาอยู่เมืองไทย  สาวดัทช์นั้นก็ไม่สามารถเข้าเมืองในฐานะภรรยาของสาวไทยได้  เพราะกฎหมายไทยเราไม่รับรอง


 


เบลเยี่ยม


 


ต่อมาเป็นประเทศที่สอง  ประเทศเบลเยี่ยมค่ะ  ประเทศนี้มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมาตั้งแต่ วันที่ 30 มกราคม 2003  เช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์  เบลเยี่ยมก็ออกกฎหมายแต่งงานได้ตอนที่พรรคการเมืองฝ่ายคริสต์ไม่ได้เป็นรัฐบาลเช่นกัน  ในตอนแรกนั้นกฎหมายแต่งงานของเบลเยี่ยมอนุญาตให้คู่ชาวต่างชาติมาแต่งงานที่เบลเยี่ยมได้ถ้าประเทศต้นสังกัดของทั้งสองอนุญาตให้มีการจดทะเบียนระหว่างคนเพศเดียวกัน  คนก็เลยจดทะเบียนกันน้อยนิด ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ปี 2003 ถึงเดือนเมษายนปี 2004 มีเพียง 300 คู่เท่านั้น  นับเป็น 1.2 เปอร์เซนต์ของ คู่แต่งงานทั้งหมดในเบลเยี่ยม


 


จนเดือนตุลาคม ปี 2004 มีการแก้กฎหมาย อนุญาตให้ใครก็ได้มาแต่งงาน  มีข้อแม้คือ ต้องมีคนหนึ่งอยู่ในเบลเยี่ยมมาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน  คราวนี้ก็เลยมีคนมาแต่งงานกันมากขึ้นค่ะ  จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2005 มีคู่แต่งงานเพศเดียวกันทั้งหมดในเบลเยี่ยม 2,442 คู่ 


 


ในตอนแรกกฎหมายแต่งงานนี้ก็ยังไม่อนุญาตให้คู่พ่อ-พ่อ แม่-แม่ รับบุตรบุญธรรม  แต่ในที่สุดก็มีการแก้กฎหมายอนุญาตให้คู่เพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ เมื่อเดือนเมษายน 2006


 


สเปน


 


รัฐบาลสังคมนิยมของสเปนเป็นรัฐบาลที่สามในโลกที่ผ่านกฎหมายแต่งงานของคนเพศเดียวกัน  ปี 2004 เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ  ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Jose Luis Rodriguez Zapatero ก็เริ่มเดินหน้าออกกฎหมาย  มีการถกเถียงกันอย่างมากมาย  เพราะเหตุว่าประเทศสเปนเป็นประเทศคาทอลิก  ฝ่ายศาสนจักรก็คัดค้านอย่างเต็มที่  พระสันตะปะปาองค์ที่แล้ว คือ จอห์นปอลที่สอง ทรงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้  เพราะกลัวว่าจะเป็นการทำให้คุณค่าของสถาบันครอบครัวอ่อนแอลง  พระสันตะปะปาองค์ปัจจุบันก็ทรงคัดค้านเช่นกัน


 


แต่จนแล้วจนรอด  กฎหมายนี้ได้คลอดออกจากสภาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2005  ส่วนฝ่ายคัดค้านก็ยังคงคัดค้านกันต่อไป  มีการเดินขบวนคัดค้านกันใหญ่โต  ส่วนฝ่ายสนับสนุน  ก็มาร่วมเดินงานไพรด์กันอย่างใหญ่โตพอกัน


 


กฎหมายแต่งงานของสเปนรับรองการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักเพศเดียวกัน  และอนุญาตให้ชาวสเปนแต่งงานกับชาวต่างชาติได้  และให้ชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในสเปนแต่งงานกันได้เช่นกัน  ที่พิเศษกว่านั้นคือ  กงสุลสเปนในประเทศหรือเมืองที่ยอมรับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันก็สามารถทำการแต่งงานระหว่างคนสเปนและคนของประเทศนั้นหรือเมืองนั้นได้  คือว่าคนหนึ่งในคู่นั้นต้องถือสัญชาติสเปน  ปัจจุบันประเทศหรือเมืองที่ว่านี้คือ บอสตัน  บรัสเซลส์ อัมสเตอร์ดัม โตรอนโต มอนทรีออล ออตตาวา และเคปทาวน์     ประมาณว่าในปีแรกหลังการออกกฎหมาย  มีคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานแล้ว 4,500 คู่


 


แคนาดา


 


วันที่ 20 กรกฎาคม 2005 แคนาดากลายเป็นประเทศที่สี่ที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน  ในกรณีของแคนาดานับว่าน่าสนใจเพราะในปี 2004  ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลกลางเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบเปลี่ยนคำนิยามของการแต่งงานให้ครอบคลุมถึงคนเพศเดียวกัน   


 


กรณีนี้คล้าย ๆ กับการที่รัฐแมสซาชูเซ็ตของสหรัฐต้องอนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน  ก็เพราะศาลออกมาชี้ขาดเช่นกัน  แต่อยู่ดี ๆ ศาลท่านก็คงไม่ออกมาตัดสินอะไรเช่นนี้หรอกนะคะ  เป็นคนรักเพศเดียวกันนั่นเอง  ที่ไปฟ้องศาลว่าตนถูกลิดรอนสิทธิในการแต่งงาน  แล้วให้ศาลพิจารณาตัดสิน  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายต่อไป


 


กลับมาที่แคนาดา  ก่อนหน้าที่ทุกรัฐของแคนาดาจะรับรองการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน  ศาลของบางรัฐได้มีคำสั่งให้รัฐออกกฎหมายแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน  เพราะถือว่าการปฏิเสธสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ  จนเมื่อกฎหมายที่เรียกว่า  Civil Marriage Act ออกมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2005  ก็ทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายในทุกรัฐ    


 


กฎหมายของแคนาดาอนุญาตให้ผู้ถือสัญชาติแคนาดาหรือผู้ที่พำนักอาศัยเป็นการถาวรในแคนาดา  แต่งงานกับชาวต่างชาติและชาวต่างชาตินั้นสามารถขอสัญชาติแคนาดาได้  ปัจจุบันการแต่งงานของคนเพศเดียวกันจากประเทศอื่น  ยังไม่ได้รับการยอมรับในแคนาดา  วันที่ 12 ธันวาคม 2006 มีการเสนอในรัฐสภาให้รับรองคู่สมรสเพศเดียวกันจากประเทศอื่น  ดังเช่นที่ยอมรับคู่สมรสต่างเพศจากประเทศอื่น


 


เสียงคัดค้านการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันส่วนใหญ่ก็มาจากฝ่ายศาสนาคริสต์เช่นเดียวกันประเทศอื่น ๆ ที่ว่ามาแล้ว  ศาสนจักรคาทอลิกเป็นผู้นำการคัดค้าน  นิกายนี้มีผู้นับถือประมาณ  43 % ของประชากรทั้งหมด  ก็นับว่าใหญ่ทีเดียว  แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะคัดค้านหมดนะคะ  ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าฝ่ายศาสนจักรไม่ควรเข้าไปยุ่งกับเรื่องการเมืองเช่นนี้ด้วยซ้ำไป 


 


ส่วนฝ่ายโปรแตสเตนท์  โดยเฉพาะนิกายที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดาคือ The United Church of Canada ให้การสนับสนุนและยังเปิดโบสถ์ในคู่รักเพศเดียวกันทำพิธีแต่งงานอีกด้วย  ยังมีนิกายอื่น ๆ ที่ให้การสนับสนุน เช่น  ผู้นำแนวทางสันติวิธีอย่าง Quakers, ฝ่ายคริสต์หัวก้าวหน้าอย่าง Unitarian Universalist, หรือ นิกายที่ตั้งขึ้นมาโดยคนรักเพศเดียวกันอย่าง Metropolitan Community Church, และบางส่วนของ Anglican Church


 


แอฟริกาใต้


 


แอฟริกาใต้เป็นประเทศน้องใหม่ล่าสุด  ที่ประกาศรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน  และถือว่าเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่มีกฎหมายเช่นนี้ 


 


จะว่ากันไปแล้วแอฟริกาใต้ไม่ใช่เป็นประเทศน้องใหม่ในเรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกันแต่อย่างใด  ก่อนหน้าที่แอฟริกาใต้จะยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิว  เกย์ เลสเบี้ยนได้เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อยุติการแบ่งแยกสีผิวเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนรักต่างเพศเสมอมา  จนทำให้สิทธิของคนรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับในขบวนการยุติการแบ่งแยกสีผิว ในสมัยนั้น Thabo Mbeki (ผู้เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) ได้กล่าวว่า พรรค African National Congress (ANC) ยึดมั่นที่จะลบล้างการเลือกปฏิบัติและการกดขี่ทุกรูปแบบ และแน่นอนว่าคำมั่นนี้จะรวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิของคนรักเพศเดียวกันด้วย   


 


เมื่อนโยบายแบ่งแยกสีผิวถูกล้มล้างไปแล้ว  เนลสัน แมนเดล่าได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี  เขากล่าวในวันเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 1994 ว่า คนรักเพศเดียวกันจะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันด้วย  เมื่อแอฟริกาใต้มีรัฐธรรมนูญใหม่  รัฐธรรมนูญจึงระบุชัดเจนว่า  ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอันเนื่องมาจากวิถีทางเพศ (Sexual Orientation) ของบุคคลนั้น  นับว่าแอฟริกาใต้เป็นประเทศแรกในโลกที่มีรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองอย่างชัดเจนต่อคนรักเพศเดียวกัน


 


กลับมาที่เรื่องแต่งงานนะคะ  ขอย้อนกลับไปเพื่อดูประวัติความเป็นมา  ปี 1999  ศาลรัฐธรรมนูญรับรอง Civil Unions ระหว่างคนเพศเดียวกัน  ปี 2002 มีการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมได้  และในปีนี้  ศาลสูงของแอฟริกาใต้ใน Bloemfonteinตัดสินว่า  การปฏิเสธการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเป็นการเลือกปฏิบัติและขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ   ปี 2003 มีการรับรองเด็กที่เกิดจากคู่รักเพศเดียวกันโดยวิธีผสมเทียม 


 


วันที่ 30 พฤศจิกายน 2004 ศาลฎีกาของแอฟริกาตัดสินว่า  คำว่าแต่งงานในกฎหมายจะต้องเปลี่ยนให้รวมถึงคนรักเพศเดียวกันด้วย  เพื่อให้สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ  เช่นเดียวกันค่ะ  อยู่ ๆ ศาลท่านคงไม่ออกมาประกาศเช่นนี้  กรณีนี้เป็นผลมาจากการฟ้องร้องของหญิงรักหญิงคู่หนึ่ง  ที่ต้องการสิทธิในการแต่งงาน


 


วันที่ 1 ธันวาคม 2005 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า การกีดกันการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้น  เป็นการทำให้คู่รักเพศเดียวกันเป็นคนอื่น  และว่ากฎหมายแต่งงานที่มีอยู่ในขณะนั้น  ให้การรับรองและความคุ้มครองความรักในฐานะมนุษย์ของคนเพศเดียวกันด้อยกว่าคู่คนรักต่างเพศ  ศาลให้เวลารัฐบาลหนึ่งปีในการแก้ไขนิยามของการแต่งงาน


 


แน่นอนค่ะว่าขณะที่ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนกฎหมายการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน  ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้สิทธิของคนในประเทศได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น  อีกฝ่ายก็ออกมาคัดค้าน  ทางพรรคการเมืองฝ่ายคริสต์ถึงกับเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและนิยามว่าการแต่งงานนั้นเป็นไประหว่างหญิงและชายเท่านั้น  แต่ข้อเสนอนี้ก็ตกไป   ฝ่ายมุสลิมก็คัดค้านเพราะถือว่า  การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันไม่ใช่วัฒนธรรมของแอฟริกา  แต่เป็นของนำเข้าจากตะวันตก     


 


อย่างไรก็ดี  กฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านออกมาจนได้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2006  ทันเวลาพอดีก่อนจะครบกำหนดของศาล 


 


กลับมาที่บ้านเราบ้าง  หวังว่าสักวันคู่รักเพศเดียวกันคงจะมีโอกาสจูงมือกันไปจดทะเบียนกับเขาบ้าง  แต่ก็อย่างที่ประเทศอื่น ๆ มีประสบการณ์  อยู่ ๆ คงไม่มีใครลุกขึ้นมามอบสิทธิการแต่งงานใส่พานมาให้พวกเรา  สภานิติบัญญัติที่ยังงง ๆ แม้แต่เรื่องสิทธิสตรีคงอีกนานกว่าจะเข้าใจสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ  ศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงไม่ลุกขึ้นมาเปิดประเด็นว่า  การปฏิเสธการแต่งงานให้คนเพศเดียวกันเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ


 


ก็คงต้องเป็นคนรักเพศเดียวกันนี่เองที่ต้องมาคุยกันว่าจะเอากฎหมายแต่งงานไหม  หรือจะเอากฎหมายคู่ชีวิตแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้คำว่าแต่งงาน  แล้วจะให้กฎหมายนั้นคุ้มครองสิทธิอะไรบ้าง  แล้วก็ค่อย ๆ ให้ความรู้ความเข้าใจกับคนที่ยังงง ๆ


 


ถึงรัฐธรรมนูญเราจะเป็นอนิจจัง  แต่จะว่าไปเรามีข้อได้เปรียบประเทศคริสต์ที่เขามีฝ่ายคัดค้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  บ้านเรานั้นถึงคนจะไม่เห็นด้วย  แต่ก็ไม่ได้รวมตัวกันต่อต้านอย่างตรงไปตรงมา  ในด้านวัฒนธรรมแล้วการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันยังพอมีที่ทางอยู่   มีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อย  โดยเป็นการจัดพิธีกันตามประเพณี  มีทั้งการสู่ขอ  แห่ขันหมากเรียบร้อย  เพียงแค่ไม่ได้ให้กฎหมายรับรองอะไร  ยังไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาต่อต้านหรือเดินขบวนขับไล่  อย่างมากก็เห็นเป็นเรื่องแปลกแต่จริง  ซึ่งน่าจะชี้ได้ว่าคนบ้านเราส่วนใหญ่  ไม่ได้คิดว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักศาสนา  อย่างที่ในประเทศคริสต์เขาคิดกัน 


 


ด้วยข้อได้เปรียบเช่นนี้  ก็น่าจะคาดเดาได้ว่า  การดำเนินการออกกฎหมายแต่งงานหรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม  น่าจะถูกคัดค้านน้อยกว่าในต่างประเทศ 


 


คราวนี้ก็อยู่ที่ว่า  จะมีใครลุกขึ้นมาดำเนินการหรือเปล่า