Skip to main content

บนแผ่นดินที่ไกลออกไป

คอลัมน์/ชุมชน

ระหว่างการเดินทางอันยาวไกลของชีวิต  บางจังหวะบางเวลาเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก้าวไปสู่ดินแดนหรืออารยธรรมที่ต่างออกไป  เรื่องราวที่ไม่คุ้นเคย  ผืนดิน  อากาศ  วัฒนธรรม  ผู้คน  ภาษา  หลายหนในฐานะคนแปลกหน้าที่เราอาจทำได้แต่เพียงเฝ้าดู และรอ  ดูเหมือนจะทำอะไรก็ขัดเขิน  อะไรๆ ก็ไม่คล่องตัวเอาซะเลย  ในด้านความรู้สึกก็ออกจะเกรงอกเกรงใจเจ้าบ้าน  หรือหลายครั้งก็กลายเป็นความกลัวว่าจะทำอะไรผิดๆ พลาดๆ อันอาจส่งผลต่อผืนแผ่นดินนั้น  ผู้คนของแผ่นดินนั้น รวมถึงอารยธรรมของแผ่นดินนั้น


 


มีเรื่องเล่าว่า...  ชายคนหนึ่งทำกุญแจหล่นหาย จวบจนรู้ตัวว่าทำกุญแจหายนั่นเองเขาจึงต้องหากุญแจ บังเอิญอีกว่าช่วงเวลานั้นเป็นยามราตรี  เขาก็เพียรหากุญแจตรงที่มีแสงไฟสว่าง  หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ  มีคนผ่านมา จึงถามเขาว่า หาอะไรอยู่หรือ  ซึ่งเขาก็บอกไปว่าหากุญแจ  ผู้ผ่านมาก็ถามอีกว่า มันหล่นอยู่ตรงนั้นหรือ  เขาบอกว่า ไม่รู้สิ  ผู้ผ่านมาก็ถามอีกว่า แล้วทำไมถึงหาอยู่เฉพาะตรงนั้น  เขาก็บอกไปว่า  ก็ตรงนี้มันสว่างนี่นา...   ดูเหมือนชีวิตคงจะง่ายมาก  ถ้าหากตลอดเวลาของชีวิต  เราได้ดำรงอยู่แต่ในแผ่นดินที่เราคุ้นเคย  กับผู้คนและวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคย  ไม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้  แต่นั่นก็หมายถึงว่า  โลกของเราก็จะมีพื้นที่แคบๆ เพียงเท่านั้น  และเพราะโลกที่เราคุ้นเคยนั้นมันไม่ใช่โลกทั้งหมด


 


ความจริงอันหนึ่งของโลกก็คือ...  โลกมีความงามอยู่ในทุกหนทุกแห่ง  มันดำรงอยู่เองในธรรมชาติ  มันดำรงอยู่ในวิถีที่มนุษย์เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา  ทั้งหมดนั้นมันมากมีหลากหลาย  และทรงค่ามหาศาล  แต่ความหมายของความงามนั้นจะเป็นเช่นไร  ต้องรอให้คนมองเห็นก่อนหรือไม่มันถึงจะงาม  แล้วหากไม่มีใครมองเห็นเล่า สิ่งที่มีอยู่นั้นมันจะเป็นอยู่อย่างไร  มันจะเป็นความงามหรือไม่  หรือว่าแท้จริงแล้วความงามมิได้ดำรงอยุ่ภายนอก  หากแต่มันงดงามอยุ่ในหัวใจผู้คน  เพราะหลายครั้งที่เราพบว่า คนผู้หนึ่งไม่เห็นความงาม  แต่คนผู้หนึ่งกลับเห็นความงาม เมื่อเขาทั้งสองกำลังมองสิ่งเดียวกันนั้น


 


นิทานเซนเรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า....  ที่วัดแห่งหนึ่งมีพระสองรูปเป็นพี่น้องกัน  ผู้พี่เป็นผู้ปฏิบัติเซน  และเป็นเจ้าอาวาส  ส่วนผู้น้องคล้ายว่าจะออกบวชตามพี่ชาย แต่ไม่ได้แตกฉานในเซนนัก  แล้วท่านก็เป็นคนตาบอดข้างหนึ่ง  ตามธรรมเนียมปฏิบัติของเซนนิกายนี้ท่านว่า  พระอาคันตุกะผู้มาเยือนจะต้องทดสอบเซน  คือการสนทนาธรรมกัน  เพื่อแลกกับที่พักและอาหาร  วันหนึ่งเมื่อพระพี่ชายผู้เจ้าอาวาสไม่อยู่วัด ก็มีพระอาคันตุกาเดินทางผ่านมา พบพระตาบอดข้างหนึ่งกวาดลานวัดอยู่  ก็เข้าไปทดสอบเซนทันที  ท่านชูนิ้วขึ้นหนึ่งนิ้ว  พระตาบอดข้างหนึ่งชูนิ้วตอบมาสองนิ้ว  ท่านก็ชูกลับไปสามนิ้ว แล้วพระตาบอดก็กำหมัดชูขึ้นมา  พระอาคันตุกะเห็นเช่นนั้นก็เดินจากไป 


 


พอดีระหว่างทางก็สวนกับเจ้าอาวาส ท่านก็ถามว่า  เอ้า ไปวัดผมมาหรือ เป็นอย่างไรบ้าง ไม่อยู่ค้างแรมก่อนหรือ  พระอาคันตุกะก็บอกว่า เซนสู้พระที่วัดท่านไม่ได้  เจ้าอาวาสท่านก็สงสัยก็เลยขอให้พระเล่ารายละเอียดให้ฟัง  ท่านก็เล่าว่า  มาถึงท่านชูหนึ่งนิ้วอันหมายถึง พุทธ  พระที่วัดก็ชูสองนิ้วอันหมายถึง มีพุทธ ต้องมีธรรม  ท่านก็ชูกลับไปสามนิ้วหมายความว่า ถ้าเช่นนั้นให้ครบต้องมี พุทธ ธรรม สังฆะ  พระที่วัดก็ชูหมัดขึ้น  อันหมายถึงทุกสิ่งต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว  แล้วท่านก็จากไป  สวนท่านเจ้าอาวาสกลับมาถึงวัดเจอพระน้องชายกำลังโกรธหน้าตาถมึงทึง ท่านก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น  พระน้องชายก็เล่าให้ฟังว่า  มีพระที่ไหนไม่รู้มาหาเรื่อง  อยู่ๆ พอมาถึงมันก็ชูหนึ่งนิ้ว หาว่าผมมีตาเดียว  ผมก็อุตส่าห์สุภาพ ชูกลับไปสองนิ้วบอกว่า ท่านโชคดีที่มีสองตา  มันยังเย้ยผมด้วยการชูสามนิ้วบอกว่า เราสองคนรวมกันมีสามตา  ผมก็เลยกำหมัดจะต่อยมัน  มันก็เลยเดินหนีไปเลย


 


ส่วนสำคัญที่สุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เราอยู่ในแผ่นดินไหน  หากแต่สิ่งที่สำคัญก็คือ  เราลงไปให้ถึง  เข้าไปให้ถึงแผ่นดินนั้นอย่างจริงแท้  และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือยัง...เท่านั้นเอง