Skip to main content

Nude (โป๊) กับสังคมอินโด

หลัง 8 ปี เผด็จการซูฮาร์โต สื่อมวลชนอินโดนีเซียทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อท้องถิ่นต่างตื่นตัวกับเสรีภาพอย่างมาก แต่มีเรื่องหนึ่งที่สื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์พึงระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยังคงมีกฎหมายที่ตราไว้ตั้งแต่ยุคดัทช์ ครอบครองดินแดน ซึ่งมีข้อจำกัดเสรีภาพสื่อมากมาย แต่หนึ่งในหลายๆ ข้อนั้น กำหนดโทษของการเผยแพร่ข่าว ภาพเกี่ยวกับที่ยั่วยวนทางเพศ ซึ่งบรรณาธิการและนักข่าวสามารถติดคุกนานถึง 5-12 ปี หากมีการตัดสินว่า เผยแพร่ภาพลามก อนาจาร   


 


แต่ยังไม่มีนักข่าวคนใดถูกพิจารณาคดีเรื่องเผยแพร่ภาพลามก อนาจาร เป็นการยากที่หนังสือพิมพ์รายวัน หรือนิตยสารในอินโดนีเซียจะนำเสนอภาพว่อบว๊อบ แวมแวมที่ส่อไปทางโชว์เรือนร่างได้เหมือนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่รายวันของไทยที่ทำได้ทุกสัปดาห์ หากเป็นที่อินโดนีเซีย โรงพิมพ์ใดทำเช่นนี้มีสิทธิถูกปิดล้อมสำนักงาน


 


อินโดนีเซียหลังยุคเผด็จการ สังคมอินโดรื่นเริงกับเสรีภาพมากทั้งการคิด เขียน และการกระทำ ซึ่งคิดและเขียนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอื่นๆ พบมากในสื่อ ส่วนเรื่องการกระทำที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นเกือบทุกวัน เช่น การเดินขบวนประท้วงตามกฎกติกาประชาธิปไตย ผู้เขียนอยู่อินโดนีเซียหกเดือน เห็นการแสดงออกทางด้านการเมืองแบบนี้เกือบทุกวันในจากาตาร์และจังหวัดอื่นๆ


 


 



Miss indonesia2005 Artika Sari Devi


 


ภาพนุ่งน้อยห่มน้อยเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับสังคมมุสลิม ที่ผู้หญิงมุสลิมไม่สามารถเปิดเผยเรือนร่างต่อสาธารณชนได้ ต้องปกปิดด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์อย่างมิดชิด อนุญาตเห็นได้แค่มือและใบหน้าเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประกวดมิสยูนิเวิร์ส มีนางงามอินโดนีเซีย นางสาวอาติกา สาริ เดวี ร่วมประกวดด้วย ซึ่งเธอเป็นคนแรกที่เข้าร่วมประกวดหลังจากอินโดนีเซียงดส่งนางงามเข้าประกวดเป็นเวลาเกือบสิบปี ตั้งแต่ พ.ศ.2539  


 


ปรากฎการณ์ต่อต้าน "นู้ด" ของชาวอินโดนีเซียที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามจึงเกิดขึ้น เพราะอาติกาสวมชุดว่ายน้ำแม้ว่าจะเป็นวันพีชก็ตาม ซึ่งพิจารณาตามหลักศาสนาแล้วผิดหลักศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เคร่งครัดจารีตประเพณีอย่างเช่น Indonesian Ulemas Council (MUI) ออกมาประท้วงการใส่ชุดว่ายน้ำวันพีชของเธอตลอดการประกวด ผู้นำองค์กรให้สัมภาษณ์ทางสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ได้ตัดสินและประณามการกระทำของเธอว่า ผิดกฎหมาย และผิดหลักศาสนาอิสลามอย่างมหันต์ เธอได้ทำลายมาตรฐานศีลธรรมของประเทศอย่างสิ้นเชิง


 


 



ผู้หญิงอินโดนีเซียประท้วงการประกวดมิสยูนิเวิร์สเมื่อปี 2548
ซึ่งมีคนทุกวัยทั้งเด็ก เด็กสาว คนชราร่วมประท้วงด้วย (ภาพจาก
Jakatar Post)


 


ในการประท้วงครั้งนั้นมีเพียงเอ็มยูไอเพียงองค์กรเดียวที่ต่อต้านอย่างแข็งขัน เพราะเป็นองค์กรศาสนาที่หัวอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ในขณะที่อินโดนีเซียมีองค์กรศาสนาอิสลามหลายองค์กรและแตกต่างในเรื่องแนวคิด กลุ่มที่ถือว่าเป็นมุสลิมที่ทันสมัยมากที่สุดในอินโดนีเซียคือ กลุ่ม Muhammadiyah แต่ผู้นำองค์กรนี้ไม่เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นหลากหลายต่อกรณีอาติกา ในหมู่ปัญญาชนมุสลิมอินโดนีเซีย  หลายคนออกมาเห็นอกเห็นใจ บางคนเข้าข้างอาติกาว่าเธอไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะสถานการณ์ที่เธอเข้าร่วมนั้นเหมาะสมที่จะใส่ชุดเช่นนั้น และบางคนยอมรับการใส่ชุดว่ายน้ำไม่ว่าจะเป็นวันพีช หรือบิกินี่ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับสังคมปัจจุบัน ฉะนั้นกรณีอาติกาจึงเป็นปรากฏการณ์ที่คนอินโดนีเซีย มีเวทีปะทะแนวคิดอย่างเสรี เรื่องเรือนร่างของสตรีกับการปกปิดเรือนร่างได้พักหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้แสดงความคิดเห็นยอมรับและเปิดใจรับพฤติกรรมของอาติกากับชุดว่ายน้ำกลับเป็นนักวิชาการชายมากกว่านักวิชาการหญิง ซึ่งอย่างน้อยก็ลดทอนข้อกล่าวของกลุ่มที่เคร่งครัดในหลักการศาสนาที่นำประเด็นการเผยเรือนร่างของเธอมาเป็นบ่อนทำลายมาตรฐานศีลธรรมของประเทศ


 


แสดงให้เห็นว่า การไม่ปกปิดเรือนร่างของสตรีเลวร้ายกว่าการคอรัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการที่ฝังรากลึกกับสังคมอินโดนีเซีย ที่ยังไม่มีองค์กรศาสนาอิสลามใดในอินโดนีเซียไม่ว่าจะเป็น Muhammadiyah, Indonesian Ulemas Council (MUI) หรือ Nahdatul Ulama (NU) ออกมาปกป้องประเทศด้วยการต่อต้านคอรัปชั่นเลยสักองค์กรเดียว


 


ความจริงแล้วหนังสือประเภทปลุกใจเสือป่ามีให้เห็นพอสมควรในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะแผงหนังสือแบกะดิน แต่ไม่หวือหวาเท่ากับที่ฟิลิปปินส์ ที่นอกจากจะไม่ปราบปรามแล้วยังวางขายอย่างเปิดเผย รวมไปถึงซีดีโป๊ซึ่งวางขายเกลื่อนกลาดตามตลาดนัด แต่อินโดนีเซียได้ชื่อว่าเป็นนักก้อปปี้ระดับคุณภาพ ภาพยนตร์ฮอลีวู้ดดัง หนังทางเลือก หนังใต้ดินคุณภาพดี รวมทั้งหนังโป๊หาซื้อได้ตามแหล่งซีดีเถื่อนทั่วจากาตาร์ และราคาถูกมากทีเดียว และลูกค้าทั้งชายหญิงมากพอๆ กัน