Skip to main content

การเมืองวิกฤติกับจริตนักวิชาการ

คอลัมน์/ชุมชน

การเมืองไทยสมัยทักษิณ  ชินวัตร (2) เป็นนายกรัฐมนตรีกระทั่งถึงปัจจุบันนั้นมีปัญหาและวิกฤติการณ์หลายเรื่องหลายราวด้วยกัน ซึ่งข้อดีของวิกฤติในครั้งนี้คือก่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางความคิดของฝักฝ่ายต่าง ๆ  อย่างกว้างขวางและเข้มข้นมาก การแลกเปลี่ยนทางความคิดที่เกิดขึ้นนั้นช่วยเผยให้เห็นว่าแต่ละกลุ่ม แต่ละคน มีความคิดเห็น จริตและจุดยืนทางการเมืองอย่างไร


 


ในหมู่ของนักวิชาการ หลายคนได้แสดงจริตและจุดยืนทางการเมืองออกมาผ่านการเคลื่อนไหวขึ้นเวทีปราศรัย การให้สัมภาษณ์ เขียนลงคอลัมน์ประจำ การปฏิเสธการเลือกตั้ง ตลอดจนการตัดสินใจเลือกข้างทำงานให้นักการเมืองฝ่ายที่ตนเองชอบ และรวมทั้งการฉวยโอกาสทางการเมืองหาตำแหน่งให้ตนเอง  ฯลฯ


 


ดูเหมือนว่าจะมีนักวิชาการน้อยคนนักที่จะชื่นชม สนับสนุน เลือกยืนข้างอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร  ทั้งที่บางนโยบายของรัฐบาลทักษิณ เป็นสิ่งที่ดี แต่นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้  ทักษิณกำลังถูกรุมกินโต๊ะจากพวกกระฎุมพี


 


ตรงกันข้ามทีเดียว วิกฤติการเมืองสมัยทักษิณ ผลักให้นักวิชาการจากหลายสถาบันต้องออกมาเต้นแร้งเต้นกา วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรอย่างเมามันจนกลายเป็นปรากฏการณ์ นักวิชาการที่แทบจะไม่สนใจการเมืองเลยก็ออกมาเคลื่อนไหว ร่วมด้วยช่วยกันในครั้งนี้ แม้แต่องคมนตรีบางท่านที่เก็บเนื้อเก็บตัวก็ยังออกมาออกมาโจมตีทักษิโณมิคส์กับเขาด้วย


 


ก่อนหน้านี้ จริตและจุดยืนทางการเมืองของนักวิชาการบางท่านอาจไม่ชัดนักหรือไม่มีโอกาสได้พูดหรือแสดงออกมา แต่เมื่อการเมืองมีปัญหา นักวิชาการจึงมีโอกาสได้คิด เขียน กระทั่งลงมือกระทำ อันเป็นการบอกถึงจริตและจุดยืนทางการเมือง


 


นักวิชาการบางท่านแสดงจริตและจุดยืนทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ด้วยการสร้างแฟชั่นฉีกบัตรเลือกตั้ง บางท่านเดินสายสัมมนา บางท่านเข้าร่วมกลุ่มกับพันธมิตร บางท่านล่ารายชื่อคนที่ไม่เอาทักษิณ   ฯลฯ  


 


การต่อต้านรัฐบาลทักษิณโดยนักวิชาการนั้นส่งผลสะเทือนต่อสังคม และมีพลังกดดันรัฐบาลอย่างมากซึ่งเมื่อบวกรวมกับเงื่อนไขอื่น ๆ ท้ายสุดนำไปสู่การรัฐประหารอัปยศ 19 กันยา อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ 


 


ปัญหาที่ผมสงสัยต่อการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตรของบรรดานักวิชาการทั้งขาประจำและขาจรนั้น นักวิชาการจากค่ายต่าง ๆ ต่อต้านรัฐบาลทักษิณจากจุดยืนอะไร และจากจุดยืนแบบไหน?


 


หากบอกว่าต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากจุดยืนของคนที่รักในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย นั่นก็หมายความว่าการเมืองการปกครองในสมัยทักษิณไม่เป็นประชาธิปไตย นี่เป็นสมมติฐานที่เถียงกันได้ว่าการเมืองในสมัยทักษิณ มีความเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน อย่างไร


 


สมมุตินักวิชาการเชื่อว่าการเมืองสมัยทักษิณไม่มีความเป็นประชาธิปไตย จึงได้ออกมาต่อต้าน คำถามมีต่อไปว่าทำไมนักวิชาการบางท่าน (คงไม่จำเป็นต้องบอกว่าธีรยุทธ บุญมี เป็นหนึ่งในนี้) จึงเห็นดีเห็นงามกับนายกฯ พระราชทาน มากไปกว่านั้นทำไมจึงเห็นดีเห็นงามหรือทำเฉย ๆ กับการรัฐประหารโดยทหาร


 


การเมืองการปกครอง ภายใต้การเผด็จการเบ็ดเสร็จของ คมช. นั้นแน่นอนชัดเจนโดยไม่ต้องเถียงกันว่าเป็น หรือไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมนักวิชาการจึงพากันเงียบ? นักวิชาการไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลทักษิณจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย?


 


อันที่จริงผมเชื่อมานานแล้วว่านักวิชาการที่ออกมาเย้ว ๆ ร่วมด้วยช่วยกันขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรอย่างขาดสตินั้นไม่ได้ศรัทธาในประชาธิปไตย นักวิชาการเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกระฎุมพีหรือปรารถนาที่จะเป็นกระฎุมพี นักวิชาการเหล่านี้ไม่ได้ศรัทธาในหลักเสรีภาพ หลักความเท่าเทียม และเชื่อว่าเสียงของตนเองมีความหมายความสำคัญกว่าเสียงของคนระดับล่าง-นี่ต่างหากคือจริตและจุดยืนของนักวิชาการ


 


นักวิชาการท่านหนึ่งเคยพูดในวงสัมมนาว่ารัฐบาลทักษิณ แทรกแซงสื่อ อย่างโน้นอย่างนี้ แต่ไม่พูดสักแอะเดียวเมื่อ คมช.แทรกแซงสื่อ แทรกแซงหนักกว่ารัฐบาลหลายเท่า มากไปกว่านั้นนักวิชาการท่านนี้ก็กลับไปทำงานให้รัฐบาล คมช.หน้าตาเฉย


 


นักวิชาการที่ร่วมด้วยช่วยกันล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากบ้างน้อยบ้างตามราคา บางคนได้โอกาสเข้าไปทำรายการที่ช่อง 9 และ11 บางคนเข้าไปนั่งเป็นสนช. บางคนเป็นสสร. ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย


 


หากมองหาแง่ดีของวิกฤติการณ์ทางการเมืองตั้งแต่สมัยทักษิณ 2 ผ่านรัฐประหารอัปยศ 19 กันยา กระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากจะทำให้เกิดการถกเถียงทางการเมืองอย่างเข้มข้นแล้ว ยังเผยให้เห็นถึงจริตและจุดยืนทางการเมืองของนักวิชาการ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นพวกกระฎุมพีที่หน้าไหว้หลังหลอกเท่านั้นเอง.