Skip to main content

"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" กับ "ภาพลวงประวัติศาสตร์ของคนไทย" (2)

คอลัมน์/ชุมชน


 


นอกจากการหลอมรวมคำว่า "สยาม" กับ "ไทย" ให้เป็นหนึ่งเดียวกันในแง่ความหมายของ "รัฐชาติสมัยใหม่" (ซึ่งความจริงเป็นคนละความหมายกันอย่างสิ้นเชิง) แล้ว ภาพยนตร์  "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ภาคแรกยังมีอีกหลายฉากซึ่งสอดแทรกอุดมการณ์ "ชาตินิยม" ไว้อย่างไม่แนบเนียนเท่าใดนัก


 


ฉากหนึ่งซึ่งเราท่านที่ดูภาพยนตร์จำได้ดีคือฉากปล่อย "ไก่" ที่ถูกนิยามเป็น "ไก่เชลย" ทั้งที่ไม่มีพงศาวดารหรือหลักฐานที่เชื่อถือได้ยืนยันว่ามีการชนไก่ หรือปรากฏไก่ตัวนี้ในประวัติศาสตร์ นอกจากคำให้การเชลยศึกคือ"คำให้การขุนหลวงหาวัด" และ "คำให้การชาวกรุงเก่า" ซึ่งบันทึกขึ้นหลังกรุงแตกครั้งที่ 1 นานราว 100 กว่าปี ที่ท่านผู้กำกับเชื่ออย่างเป็นตุเป็นตะแล้วยึดถือเป็นหลักฐานสำคัญ


 


ในภาพยนตร์ ขณะที่พระองค์ดำปล่อยไก่สู่ป่าท่ามกลางแสงอาทิตย์ตกดินยามเย็น ท่านมุ้ยก็ "ปล่อยไก่" ตัวเบ้อเร่อออกมาในบทภาพยนตร์หรือภาษาชาวบ้านก็คือ บทพูดของพระองค์ดำ


"ไปเถิด ต่อจากนี้ไป เจ้าจงรักษาอิสรภาพเอาไว้ให้ดี อย่าตกเป็นเชลยของผู้ใดอีก"


 


บทพูดนี้หลุดมาโดยไม่น่าเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีนักประวัติศาสตร์ระดับ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นที่ปรึกษา ด้วยมันกระตุ้นเร้าอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านไก่โดยที่นักเรียนประวัติศาสตร์ผู้อ่อนด้อยอย่างผมฟังแล้วรู้ทันได้อย่างไม่ยากเย็น


 


วัตถุประสงค์การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเปิดเผยว่าสร้างขึ้นเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมล้าหลังคลั่งชาติเหมือนกับที่ทางการไทยนิยมทำมาทุกยุคทุกสมัยก็คราวนี้เอง


 


การสอนให้รักอิสระ พูดตรงๆ ก็คือเอกราช (โดยที่ท่านผู้กำกับก็เข้าใจความหมายของคำนี้อย่างคลุมเครือ) ในลักษณะแบบนี้จึงอันตรายอย่างยิ่งกับการรับรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทยรุ่นหลัง ด้วยบทพูดนี้ได้ตอกย้ำและแสดงความเชื่อของผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผิดพลาดว่า การสูญเสียเอกราชยุคพระนเรศวรมีความหมายเท่ากับการสูญเสียเอกราชของรัฐชาติไทยสมัยนี้


 


ทั้งที่ความจริง "เอกราช" ยุคนั้นมันคนละความหมายและเป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิงกับ "เอกราช" ยุคนี้ (ท่านผู้ใดงงโปรดกลับไปอ่านตอนแรก)


 


ท่านมุ้ยยังใช้ไก่เหลืองหางขาวเป็นตัวแทนคนไทยยุคปัจจุบัน แล้วอาศัยโอษฐ์กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่เมื่อ 400 ปีก่อน ในยุคที่ไม่มี "รัฐชาติ" (และ "เอกราช" ในความเช้าใจของพระนเรศวรก็เป็นอีกความหมายหนึ่ง) บอกให้คนไทยในยุคปี 2550 ซึ่งมีปัญหาทางการเมือง รักษาสิ่งที่เรียกว่า "เอกราช" และ "สามัคคี" กันเอาไว้ให้ดี


 


เป็นการใช้ตรรกะผิดที่ผิดทาง จับแพะมาชนกับแกะจนมั่วไปหมด


 


คำถามคือ พระองค์ดำซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่เมื่อ 400 ปี ก่อน ท่านจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า "รัฐชาติ" ยุคปัจจุบันหรือไม่


 


จุดพลาดใหญ่ที่สุดอีกจุด ก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ "บิดเบือนประวัติศาสตร์" โดยที่ข้ออ้างว่าสร้างแบบ "ตำนาน" ฟังไม่ขึ้นเพราะไปแตะข้อมูลที่สำคัญที่สุดในแบบที่นักสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ฮอลลีวู้ดยังไม่กล้าทำ ฉากที่ว่าคือฉากพระเจ้าบุเรงนองให้คนเอาพระแสงปืนยาว 9 คืบซึ่งได้จากการตีอยุธยาไปเก็บไว้ที่วัดพระมหาเถรคันฉ่อง ด้วยเหตุที่โหรราชสำนักทำนายว่า "ทรงมีบารมีไม่ถึงที่พระจักรพรรดิราช" จึงต้องเอาปืนนี้ไว้นอกพระราชวัง ทั้งยังทำนายว่าในอนาคตจะมีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งมาใช้มัน


 


แล้วผิดพลาดตรงไหน ?


 


ประเด็นคือ เมื่อไม่นานมานี้ มีงาน ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ชิ้นหนึ่งคือหนังสือชื่อว่า "บุเรงนองกยอดินนอรธา กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย" มีเนื้อหากล่าวถึงการรับรู้เรื่องของพระเจ้าบุเรงนองในหมู่ชนชั้นนำของไทย รวมถึงชาวบ้านตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงช่วงสร้างชาติ ซึ่งจากการศึกษาของอาจารย์สุเนตรได้ผลว่าเรื่องพระเจ้าบุเรงนองถูกมองแตกต่างกันไปตามบริบทและปัจจัยของแต่ละยุคสมัย


 


ต้นกรุงรัตนโกสินทร์คนไทยมองบุเรงนองเป็น  "จักรพรรดิราช" ผู้มีบุญญาบารมี มิได้อยู่ในฐานะ "ข้าศึก" แต่หลังจากนั้น ภาพพจน์บุเรงนองคลี่คลายเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งประเทศถูกคุมคามจากลัทธิล่าอาณานิคม โลกทัศน์คนไทยในการมองพระเจ้าบุเรงนองก็เปลี่ยนไปอีก ด้วยชนชั้นนำไทยต้องการก่อรูป "รัฐ" ที่มีอาณาเขตและดินแดนชัดเจนตามแบบตะวันตก (จะเป็นรัฐของ "พระราชา" หรือ "รัฐของประชาชน" ค่อยว่ากันอีกทีนะครับ)


 


การสร้างรัฐแบบนี้ย่อมต้องการให้คนในรัฐมีอารมณ์ร่วม มีความสามัคคีร่วม จึงต้องการ "ศัตรู" ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทีนี้จะสร้างภาพให้ชาติตะวันตกเป็นศัตรูก็สู้เขาไม่ได้ในความเป็นจริง  มองไปมองมาไม่เห็นใคร เห็นสงครามไทย-พม่าในประวัติศาสตร์ที่จะมารับใช้ตรงนี้ได้ก็เลยเอา "พม่า" เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกที่สิ้นอิทธิฤทธิ์แล้วจากการตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ มาเป็นเป้านิ่งด่าได้เต็มที่ เพราะหมดปากเสียง


 


ประวัติศาสตร์ชาตินิยมจึงก่อตัวขึ้นแล้วถูกบรรจุในแบบเรียนแล้วเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง จนช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไปไม่นาน "ยาขอบ" ได้เขียนนิยาย "ผู้ชนะสิบทิศ" ออกมา ชาวบ้านร้านตลาดที่ได้อ่านนิยายจึงมองเห็นบุเรงนองเป็นนักรบ-นักรัก ผู้ทรงเสน่ห์


 


ดังนั้น อย่าแปลกใจว่า คนไทยยุคปัจจุบันจึงรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดพระเจ้าบุเรงนอง เพราะแง่หนึ่ง เรามองบุเรงนองในฐานะศัตรูเพราะท่านยกทัพมาตีอยุธยาซึ่งเป็นตัวแทนของ "รัฐชาติไทย" เมื่อ 400 ปี ก่อน ขณะเดียวกัน อิทธิพลจากวรรณกรรมและเพลงต่างๆ ก็ทำให้เรามองบุเรงนองเป็นชายผู้ทรงเสน่ห์


 


 


 


สิ่งสำคัญคือ อาจารย์สุเนตรชี้ในงานของท่านว่าพระเจ้าบุเรงนองเป็น "จักรพรรดิราช" โดยแท้จริงพระองค์หนึ่งของภูมิภาค และเมื่อสิ้นบุเรงนองแล้ว ก็เกิดจักรพรรดิราชองค์ใหม่คือสมเด็จพระนเรศวรนั่นเอง


 


แต่ภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ภาคแรก ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนี้ไปโดยสิ้นเชิง โดยใช้พระแสงปืนต้นยาว 9 คืบ (ที่ต่อมากลายเป็นพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงอันโด่งดัง) ดิสเครดิตบุเรงนองในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิราช ทั้งที่เรื่องปืนเองก็เป็นเรื่องแต่ง ไม่มีพงศาวดารฉบับที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ ระบุถึงแม้แต่ฉบับเดียว


 


ดังนั้นนี่คือการใช้เรื่องแต่งทำลายเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานชัดเจน ดุจเดียวกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องอเล็กซานเดอร์มหาราช แล้วบอกว่าอเล็กซานเดอร์ไม่ได้ไปบุกอินเดียนั่นเลย ซึ่งถ้าฝรั่งผู้สร้างทำอย่างนั้นจริงก็คงโดนจะว่าเสียผู้เสียคนเช่นกัน


 


มิใช่เรื่องเสียหาย ในการเติมเรื่องราว เพิ่มตัวละครเข้าไปนอกเหนือจากที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ เพื่อให้ภาพยนตร์สนุก หากแต่การแตะต้องเรื่องที่ได้ข้อสรุปชัดเจน และบิดเบือนมันโดยที่ผู้ชมนับล้านไม่มีทางรู้ (เพราะคงไม่มีใครเสียเวลาอ่านพงศาวดารที่เต็มไปด้วยภาษาโบราณ 3-4 ฉบับ เหมือนอย่างผมหรือนักประวัติศาสตร์อีกหลายท่านให้เสียเวลาทำมาหากินแน่) นั้น เป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะท่านกำลังใส่ความเชื่อชุดหนึ่งให้คนไทยซึ่งปีหนึ่งอ่านหนังสือไม่กี่บรรทัดและไม่มีทางรู้ทันพวกท่านจดจำประวัติศาสตร์ฉบับท่านมุ้ยไปตลอดชีวิตโดยที่ท่านไม่ได้ปูพื้นฐานเรื่องนี้ให้คนดูก่อนเสียด้วยซ้ำ


 


ผมยืนยันได้ว่า คำอธิบายเรื่องจักรพรรดิราชไม่เคยถูกพูดถึงในสื่อที่เข้าถึงผู้ชมจำนวนมากอย่างสารคดีโทรทัศน์ เรื่อง "ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่ออกอากาศช่วงเดือนธันวาคม 2549-มกราคม 2550 เพื่อปูพื้นฐานให้คนดูภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าใจแม้แต่ครั้งเดียว


 


ตลกร้ายอีกเรื่องก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกว่าพระเจ้าบุเรงนองเชื่อโหรหลวงจนไม่กล้าประหารองค์ดำ แถมยอมปล่อยให้หนีกลับอยุธยาจากคำกราบทูลขอของพระสุพรรณกัลยาเสียอีก


 


หงสาวดีพินาศเพราะโหรโดยแท้


 


แง่หนึ่ง อาจสมเหตุผลก็ได้ ด้วยยุคปัจจุบันก็ปรากฏว่าเผด็จการทหารพม่าก็ย้ายเมืองหลวงจาก "ย่างกุ้ง" ไป "เปียงมะนา" เพียงเพราะโหรทำนาย ดุจเดียวกับ คมช. ที่เชื่อโชคลางจนเอางบประมาณไปทำบุญประเทศ แทนที่จะใช้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้


 


มันสะท้อนว่าผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัย "โง่" และเชื่อ "ไสยศาสตร์" มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์


เพียงแต่ผมไม่เชื่อว่า "ผู้ชนะสิบทิศ" อย่างบุเรงนอง ทรงด้อยพระสติปัญญาเช่นนั้น


 


ภาพยนตร์เรื่องนี้ยัง "ดิสเครดิต" บุเรงนองอีกหลายจุด เช่น ฉากพระเจ้าบุเรงนองตรัสกับพระสุพรรณกัลยาซึ่งมาขอชีวิตพระองค์ดำที่วางแผนหนี บทตรัสของพระเจ้าบุเรงนองหลังฟังเรื่องราวที่พระนางบอกว่าจะรักพระองค์หากพระองค์ปล่อยพระองค์ดำไปคือ ทรงบอกพระสุพรรณกัลยาว่า ขอให้รักพระองค์ที่เป็นพระองค์จริงๆ


น้องอย่าบอกว่าพี่หล่อ อย่าบอกว่าพี่รบแก่ง เป็นกษัตริย์ทรงคุณธรรม…แต่พี่ต้องการให้พระน้องรักพี่ รักพี่ในแบบที่พี่เป็นตัวของพี่จริงๆ"


 


จักจี้ดีครับ


 


ผมเห็นภาพ  "บุเรงนอง" ของ "ยาขอบ" ซึ่งเป็นนักรบและนักรักที่ยิ่งใหญ่ เสียแต่คำพูดในภาพยนตร์นั้น "เชย" เหลือคณา ไม่ได้สักกระพีกของบุเรงนองฉบับยาขอบ หมดสภาพนักรักที่ยิ่งใหญ่ไปเลย


 


อนึ่ง การเสด็จไปหงสาวดีและการเสด็จกลับอยุธยาของพระนเรศวร คนดูภาพยนตร์อย่างเราก็ควรทราบด้วยว่า นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานไว้เป็น 3  ประเด็น


 


หนึ่ง เสด็จไปหงสาวดีเมื่อพระชนมายุได้ 9 ขวบ (ปี 2106 คราวพิษณุโลกแตก)


สอง เสด็จไปหงสาวดีปี 2109 หลังศึกระหว่าพิษณุโลกกับล้านช้างอันเกิดจากกรณีแย่งชิงตัวสมเด็จพระเทพกัตรี


สาม สันนิษฐานว่าเสด็จไปปี 2112 ที่กรุงแตก


 


ขณะที่การเสด็จกลับอยุธยาก็แตกออกเป็น 2 ข้อสันนิษฐาน


หนึ่ง  เสด็จกลับปี 2112 (คราวที่สมเด็จพระมหาธรรมราชายกทัพมาช่วยพระเจ้าบุเรงนองตีอยุธยาจนแตก) โดยสับเปลี่ยนกับพระสุพรรณกัลยา ซึ่งข้อนี้พงศาวดารพม่าระบุสนับสนุนข้อสันนิษฐานไว้อย่างชัดเจน


สอง เสด็จกลับในปี 2114 แล้วไปครองเมืองพิษณุโลก โดยเสด็จหนีกลับมา ซึ่งข้อนี้ไปตรงกับจดหมายเหตุของวันวลิต ชาวฮอลันดาที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาหลังสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตเพียง 36 ปี


 


ขณะที่นักประวัติศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีข้างต้น โจทย์การทำภาพยนตร์บีบให้ท่านผู้กำกับตัดสินใจเลือกกรณีหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้การถ่ายทำดำเนินไปได้ ซึ่งท่านก็เลือกให้พระองค์ดำหลบหนี ด้วยมันทำให้ภาพยนตร์มีรสชาติมากกว่าให้พระองค์ดำเสด็จกลับโดยสงบ ทั้งยังอธิบายการอยู่หงสาวดีของพระสุพรรณกัลยาว่า เพราะพระนางยอมเป็นมเหสีพระเจ้าบุเรงนองแลกกับอิสรภาพพระอนุชา


 


หนุนส่งภาพวีรสตรีให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก


 


ประโยคที่น่าสนใจอีกประโยคหนึ่งในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคแรกก็คือ ประโยคที่พระมหาเถรคันฉ่องเอ่ยขณะที่ส่งพระองค์ดำเดินทางกลับอยุธยาว่า "พระนเรศวรแห่งสยามประเทศ"


 


ซึ่งไม่ว่าจะดูอย่างไร มันก็คือการเอาคำว่า "สยาม" มาใช้ในบริบทคำว่า "ไทย" เป็นการตอกย้ำแนวคิดล้าหลังคลั่งชาติของภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งขึ้นไปอีก


 


เพลงประกอบก็เป็นเพลงฝรั่งเสียมาก การเปิดเรื่อง ปิดเรื่องก็คล้ายกับลอร์ด ออฟ เดอะริง อย่างน่าอัศจรรย์


 


โดยสรุป ภาพยนตร์ภาคแรกผมดูแล้วจักจี้ โดยเฉพาะความพยายามปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างโฉ่งฉ่าง และการดิสเครดิตบุเรงนองซึ่งไปขัดกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของนานาชาติที่เขียนว่าพระองค์เป็นจักรพรรดิราช


 


ใครเดินออกจากโรงภาพยนตร์แล้วบอกว่า "รักประเทศไทย" ก็ว่ากันไป


 


แต่ความจริงก็คือ อยุธยาในภาพยนตร์นั้นไม่ใช่ประเทศไทยทุกวันนี้อย่างแน่นอน จะเป็นก็แต่เพียงบรรพบุรุษสายหนึ่งของคนในประเทศไทยยุคปัจจุบันเท่านั้นไม่เชื่อ ลองสืบย้อนหลังไปยังคุณทวดของท่านผู้อ่านดู


 


โปรดติดตามตอนต่อไป เพราะความจักจี้ลักษณะนี้ยังคงมีอยู่ในตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ภาค ๒ ครับ