Skip to main content

ทุ่งแห่งตะวัน

คอลัมน์/ชุมชน

ด้านซ้ายคือทิศตะวันตก ชาวบ้านเรียกว่า ทุ่งตะวันตก


ด้านขวาคือทิศตะวันออก ชาวบ้านเรียกว่า ทุ่งตะวันออก


 


ถนนคอนกรีตสายนี้ตัดผ่านกลางทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าจะเป็นฤดูร้อนแล้งเช่นนี้  น้ำเหมืองข้างทางยังไหลใสเย็น


 


เมืองไทยยังมีดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำ  ดิน และฟ้า เช่นที่นี่  อำเภอพร้าว หรือเวียงพร้าว เมืองที่พญามังรายสร้างขึ้นก่อนที่จะขยับมาสร้างเมืองเชียงใหม่  เห็นพื้นที่ราบในหุบเขาทางภาคเหนือแล้วก็นึกถึงคนที่เลือกทำเลสำหรับสร้างเมือง ว่าเขาก็ช่างเลือกดีจริง  พื้นที่ราบ มีน้ำไหลผ่าน ปลูกข้าวได้ มีปลาให้หากินเป็นอาหาร การเดินทางสะดวก สร้างบ้านแปงเฮือนได้ง่ายกว่าบนภูเขาสูงชัน  และใช้ภูเขาเป็นกำแพงล้อมเมืองไว้ยามข้าศึกมา


 


พร้าวก็เช่นกัน เป็นเมืองเล็ก ๆ ในหุบเขา ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยว หากมีตะวันดวงเดียวกัน มาพร้าวเที่ยวนี้มางานแต่งงานน้องสาวของเพื่อน ความที่มีเพื่อนของเพื่อนตามมาด้วย ทำให้ต้องไปนอนที่รีสอร์ทอันเป็นที่พักแห่งเดียวในพร้าว  เพื่อนที่มาด้วยพูดถึงปาย ซึ่งเธอไม่เคยไป ฉันบอกว่าเหมือนที่พร้าว ฉันหมายถึงปายสมัยแรกเริ่ม ก่อนที่คนกรุงจะนิยมมาปาย พร้าวต่างจากปายตรงไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน ทำให้มาแล้วไม่มีที่สำหรับดึงนักท่องเที่ยว ไม่มีร้านอาหารริมแม่น้ำ หรือริมหน้าผา  เพราะภูเขาที่นี่ก็ไม่สูงชัน  เหลียวมองไปทางไหนเห็นแต่ทุ่งกว้าง ถนนหนทางก็ลัดเลาะไปตามทุ่งนา  ออกจากทุ่งนาก็ขึ้นภูเขา  บางคนถึงกับหลงทางอยู่กลางข้าวเขียว จนคิดว่าถ้าน้ำมันหมดก็คงแย่ เพราะคลื่นโทรศัพท์ดีบ้างไม่ดีบ้าง


 


มาถึงพร้าวก็บ่ายแก่ แดดฟาดจนทำเราหมดแรง ตกเย็นก็ออกไปหาของกินในตลาด ซึ่งมีอาหารการกินอยู่ไม่กี่อย่าง และเป็นอาหารตามฤดูกาล  ช่วงนี้ข้าวหลามเต็มตลาดเลยแฮะ  เย็นนี้ซื้ออาหารเข้าไปกินกับครอบครัวของเพื่อน  มีลาบขม และลาบควาย เนื้อนึ่ง หมูแดดเดียว ส่วนผักนั้นเด็ดที่ริมรั้ว ผักสด ๆ กินกับลาบนั้น ขมก็ยังเจือหวาน ยิ่งเจอเนื้อควายนุ่ม ๆ ใส่ดีขม ๆ ด้วยแล้ว...ไม่อยากจะบอกเลยว่า ลองลิ้มรสลาบควายดิบสักครั้ง แล้วจะรู้ว่า อ่อนหยุ่นพิชิตแข็งกร้าวนั้นเป็นอย่างไร


 


เส้นทางออกมาจากบ้านเพื่อนนั้น ต้องผ่านทุ่งทั้งสอง ภาพที่เห็นนั้น ทำให้หมดข้อสงสัยว่าทำไมชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า ทุ่งตะวันตก และทุ่งตะวันออก มาพร้าวคราวนี้มาอาบแสงตะวันค่ะ


 


ดูภาพดีกว่า