Skip to main content

เพื่อให้รักงดงาม

คอลัมน์/ชุมชน

มีคนรักต่างเพศคนหนึ่ง  เคยพูดกับฉันในฐานะที่เป็นคนรักเพศเดียวกันว่า  ความรักของเพศไหนๆ มันก็มีปัญหาเหมือนกันหมดน่ะแหละ  


 


ใช่ค่ะ  บางส่วนอาจจะเหมือน  ในฐานะที่เป็นมนุษย์  เราต่างก็เจอปัญหาอันเนื่องมาจากความรัก  ไม่ว่าจะเป็น  ต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน  อีกคนไปมีกิ๊ก  แต่อีกคนรักสุดใจขาดดิ้น  หรือหลงรักเขาข้างเดียว  เขาไม่เหลียวมองดูเรา ฯลฯ


 


ฉันบอกกับคน ๆ นั้นว่า  ใช่แล้ว  พวกเราก็เจอปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน  แต่เรายังมีของแถมพิเศษ  คือยังต้องเผชิญกับอคติ  ความไม่เข้าใจทั้งหลายของผู้คน  บางครั้งก็หนักขนาดเป็นโฮโมโฟเบีย  และเรายังไม่มีสถาบันต่าง ๆ มาให้การสนับสนุนเหมือนความรักของหญิงชายอีกต่างหาก


 


ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกค่ะ  ที่คนสองคนจะครองรักกันได้ท่ามกลางภาวะเช่นนี้   


 


วันนี้ขอว่าด้วยเรื่องของความรักค่ะ  เพราะเพิ่งไปเปิดเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่แฟนเก่าฉันให้มานานแล้ว  แต่หลังจากเธอจากไปฉันก็เก็บมันเข้ากรุตามไปด้วย  จนเมื่อเร็ว ๆ นี้เองค่ะที่ไปเจอเข้าอีกครั้ง  เลยหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น  แล้วลองอ่านดู  หนังสือเล่มนี้ชื่อ Empowering The Tribe: A Positive Guide to Gay and Lesbian Self-Esteem  ผู้เขียนชื่อ Richard L. Rimental-Habib เป็นนักจิตวิทยาคลินิคชาวอเมริกัน หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการสร้างความเคารพและการรักตัวเอง  รวมถึงการดูแลตนเองทั้งด้านจิตใจและจิตวิญญาณ  มีหลายเรื่องที่อ่านแล้วโดนใจค่ะ  โดยเฉพาะคำแนะนำเกี่ยวกับความรัก


 


คุณริชาร์ดแกบอกว่า  ลองคิดดูสิ   คนรักต่างเพศที่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว และจากสังคม  ยังมีอัตราหย่าร้างมากกว่า 50 % (สถิติของสหรัฐ)  แต่สำหรับชาวเกย์และเลสเบี้ยนแล้ว  คงไม่มีพ่อแม่คนไหนมาบอกลูกเกย์ของตัวว่า  "ดีจังเลยลูก  ที่ลูกเป็นเกย์ มา... พ่อจะสอนให้ลูกรู้จักความรัก!"  หรือไม่ก็  "มาให้แม่ช่วยจัดงานแต่งงานของลูกนะ  เอ  จะเชิญใครมาบ้างดีนะ  แหม  พ่อของลูกต้องดีใจแน่ ๆ เลย" แทนที่จะได้รับการยอมรับเช่นนี้  คนรักเพศเดียวกันกลับต้องเผชิญกับอคติที่ว่า  ความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันมันเป็นไปไม่ได้หรอก  หรือไม่ก็ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง  ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร 


 


คนรักเพศเดียวกันที่เติบโตมาโดยรับความเชื่อเหล่านี้เข้าไป  พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะรู้สึกสับสน  ไม่รู้จะทำยังไงกับความรักของตัวเองดี 


 


แต่โลกนี้มันก็ไม่ได้มีแต่ด้านมืดค่ะ  คุณริชาร์ดบอกว่า  อย่างไรก็ดี เราเป็นเจ้าของชีวิตของเรา  ซึ่งเราสามารถสร้างความรักที่เราต้องการขึ้นมาได้ด้วยตัวของเราเอง  ขอให้ถามตัวเราเองว่า  ความสัมพันธ์เช่นใดที่เราพร้อมจะมีจริง ๆ  และเราต้องการอะไรจากคนรัก  และเราจะสามารถให้อะไรคนรักเราได้บ้าง


 


นี่ไม่ได้หมายความว่าแล้วเราจะได้ในสิ่งที่เราต้องการเสมอไป  ริชาร์ดเห็นว่าคนเรามักจะได้ในสิ่งที่ เรา พร้อมที่จะได้ เขายกตัวอย่างว่า มีเพื่อนเกย์คนหนึ่ง  ที่ใช้เวลาถึงสิบปีในการเปลี่ยนคู่รักไปเรื่อย ๆ  ในด้านหนึ่งเขาก็รู้สึกสนุกกับความสัมพันธ์เช่นนี้  แต่อีกด้านก็รู้สึกสับสนและผิดหวังมาก  เหมือนกับตกอยู่ในวังวนที่ไม่มีที่สิ้นสุด  เขารู้สึกขาดอะไรบางอย่างในชีวิตที่เขาคิดว่าจะหาคนอื่นมาเติมเต็มให้ได้  แต่ในที่สุดสิบปีผ่านไป  เขาก็ยังเป็นเหมือนเดิม


 


และแล้วเขาก็เรียนรู้ที่จะกลับมาย้อนดูตัวเอง  ทำความรู้จักกับตัวเองว่าเขาต้องการอะไรจริง ๆ  และทำงานภายในอย่างจริงจัง  นั่นเองที่ทำให้เขาพร้อมแล้วสำหรับการจะมีความรัก  ณ จุดนั้นเองที่เขาได้พบกับคู่รักตัวจริงของเขา  ริชาร์ด  บอกว่า  นั่นก็หลายปีมาแล้ว  แล้วทั้งสองก็ยังคงครองคู่กันอยู่ 


 


อ๊ะ ๆ  แต่ริชาร์ดไม่ได้หมายความว่าความรักนั้นต้องเป็นแบบมีคู่คนเดียวไปจนตลอดชีวิตเท่านั้นนะคะ  ไม่ว่าจะความรักแบบรักหลายคน หรือคบคนเดียว  เราก็ต้องย้อนกลับมาดูภายในตัวเราทั้งนั้น  ว่าเราต้องการอะไรจริง ๆ


 


คำแนะนำของคุณริชาร์ดที่ให้ย้อนกลับมาดูตัวเองนั้น  น่าจะเหมาะสำหรับคนในยุคบริโภคนิยม  เพราะยุคนี้เดินไปที่ไหน ๆ ก็มีแต่โฆษณาที่คอยบอกเราว่าความสุขนั้นมาจากการมีสิ่งภายนอกมาเติมเต็มให้เรา  ความรักนั้นก็ต้องมีคนมาเติมเต็มให้เราจากภายนอก  แต่ริชาร์ดแนะให้เรากลับมาค้นหาภายใน  เติมเต็มภายในตัวเราก่อน  แล้วนั่นแหละ  เราจึงจะพร้อมสำหรับความรัก


 


สำหรับคนที่ไม่เข้าใจข้อนี้  ริชาร์ดกล่าวว่า  เขาจะรู้สึกว่าข้างในเขามีอะไรกลวง ๆ ที่ต้องวิ่งหาสิ่งภายนอกมาเติมให้เต็มอยู่ตลอด  ไม่ใช่แค่วิ่งหาคนรัก  แต่ทั้งเหล้า  ยาเสพติด  อาหาร หรือพฤติกรรมเสพติดอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ   แล้วถ้าเราพยายามจะให้คนรักมาเติมเต็มให้เรา  ปัญหาที่จะเกิดก็คือ  เราจะกดดันให้เขาเป็นในสิ่งที่เราต้องการ  โดยที่แม้ตัวเราเองก็ยังเป็นไม่ได้  แล้วเมื่อคนรักทำให้เราไม่ได้  เราก็จะรู้สึกผิดหวัง  โกรธ  แล้วความสัมพันธ์ก็จะตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ  จนในที่สุด  ก็ลงเอยที่เลิกรากัน


 


จุดนี้ล่ะค่ะสำคัญ  ถ้าคนรักเพศเดียวกันยังไม่เชื่อในตัวเองลึก ๆ ว่าความรักของเรานั้นสำคัญ  เป็นไปได้อย่างยั่งยืน  และมั่นคงแล้ว  คนรักคนไหนก็คงไม่สามารถมาเติมเต็มให้ตัวเราได้ 


 


และด้วยความที่ประชากรเกย์นั้นมักจะขาดคำแนะนำและการสนับสนุนทางด้านความรักจากครอบครัว  นักจิตวิทยาอย่างริชาร์ดก็เลยถูกถามเป็นประจำว่า  แล้วจะทำยังไงให้ชีวิตคู่ชาย-ชาย  หญิง-หญิงของเรามันเติบโตดีล่ะ  เขาก็เลยรวบรวมคำแนะนำสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้ค่ะ


 


1  พัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร  แม้ว่าคนรักสองคนจะเข้าใจกันดีอยู่แล้วก็ตาม  แต่ก็อย่าเหมาว่าอีกคนจะคิดอย่างที่คุณคิด  การเหมาไปอย่างนั้นจะทำให้เกิดอาการเข้าใจผิดกันได้ง่าย  แล้วก็จะตามมาด้วยการเจ็บหัวใจ  ถ้าเราสงสัยอะไรก็ขอให้ถามอีกฝ่าย  พูดคุยกันให้เข้าใจก่อนจะสายไป  ริชาร์ดบอกว่า  คนที่มาปรึกษาเรื่องความรักกับเขานั้น  ครึ่งหนึ่งแค่ไปพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารก็เพียงพอแล้ว


 


2  มองความต้องการของอีกฝ่ายให้ลึกซึ้ง  บางทีเวลาที่คนรักเราบ่นว่า  "นี่  เธอวางผ้าเช็ดตัวเกะกะอีกแล้วนะ"  จริง ๆ แล้วนั่นอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องผ้าเช็ดตัว  แต่คนรักเราอาจจะต้องการอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น  เช่น ความใส่ใจ  ความเคารพ  เราคงต้องมองผ่านคำบ่นเหล่านั้นลงไปหาว่าเธอต้องการอะไรจริง ๆ


 


3  รู้จักตัวเอง  ความรักที่มั่นคงกับอีกคนนั้น  เริ่มจากการมีความรักที่มั่นคงกับตัวเราเอง  เมื่อเราซื่อสัตย์กับตัวเอง  เมื่อนั้นเราก็จะซื่อสัตย์กับคนอื่นได้  ถ้าเราเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ  ความคิดแล้ว  เมื่อนั้นเราก็จะเรียนรู้ที่จะดูแลคนรักของเราได้อย่างดี  ถ้าเราฝึกปฏิบัติบ่อย ๆ  เราเองนั่นแหละ  จะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับตัวเราเองได้  ไม่ต้องไปดูใครอื่นที่ไหน


 


4  สื่อสารความรู้สึก  บางทีเวลาเราคุยกัน  เราอาจจะคุยแต่เรื่องความคิด  แต่ตัวเรานั้นยังมีความรู้สึก ซึ่งสำคัญเช่นกัน  การสื่อสารความรู้สึกให้อีกฝ่ายรู้  จะทำให้ความสัมพันธ์ของเราลึกซึ้งขึ้น  แล้วเราก็จะรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย  บางทีความคิดอาจจะเถียงกันไปมาได้ไม่รู้จบสิ้น  แต่เวลาเราบอกว่าเรารู้สึกอย่างไร คนรักเราอาจจะรู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน  แล้วเธอก็จะเข้าใจเราได้มากขึ้น


 


5  เถียงอย่างสร้างสรรค์  ไม่มีคู่รักไหนเลยที่ไม่เคยเถียงกัน  ถ้าเถียงกันอย่างไม่สร้างสรรค์  ความสัมพันธ์อาจจะร้าวฉาน  แต่ถ้าเราทำการเถียงให้สร้างสรรค์  ก็จะเป็นวิธีการทำให้เรารู้จักใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นได้  มีข้อแนะนำในการเถียงอย่างสร้างสรรค์ดังนี้ค่ะ


            -  เปลี่ยนจากการเผชิญหน้ากันระหว่างเธอและฉัน  เป็น  เราสองคนหันไปเผชิญหน้ากับปัญหา


            -  เป็นผู้ฟังที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป  ขอให้หยุดสักครู่แล้วดูว่าคุณฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดออกมาอย่างดีแล้วหรือยัง


            -  ใช้คำว่า  "ฉันรู้สึก...."  แทนที่จะพูดว่า "เธอทำให้ฉันรู้สึก...."  พูดอย่างประโยคหลังอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกกล่าวหาได้  ให้กลับมาสัมผัสกับความรู้สึกภายในของเราจริง ๆ จะดีกว่า


            -  อย่าเข้านอนอย่างเย็นชา  แม้จะยังเถียงกันไม่สิ้นสุด  แต่การเข้านอน  ก็อาจจะทำให้คุณได้พักผ่อนและหายสับสน  ดีกว่านั่งเถียงกันจนรุ่งเช้า  ยิ่งเถียงยิ่งเหนื่อย  ยิ่งไปกันใหญ่ อย่างไรก็ตาม  ก่อนเข้านอนก็หอมแก้มกันสักหน่อยจะดีกว่าหันแผ่นหลังอันชาเย็นให้กัน


 


6  หาเพื่อนพึ่งพายามยากที่นอกเหนือจากคนรักคุณไว้บ้าง  จะให้คนรักเป็นทั้งพ่อ แม่  เพื่อน  พี่น้อง  ครู หมอ ....  ก็แน่นอนว่าไปไม่รอดแน่ ๆ  และคนรักคุณก็จะเครียดจนอยากจะวิ่งหนีคุณไป  มีคนอื่น ๆ ไว้บ้าง  เพื่อช่วยเหลือกันและกัน  และไม่ต้องทำให้คนรักของคุณต้องมารับภาระหนักเกินไป


 


7  คุณก็ไม่ได้เปอร์เฟคเหมือนกันนะ  เราแต่ละคนก็ต่างเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบกันทั้งนั้น  เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็เลยมีที่มีทางให้เราได้ช่วยเหลือกันและกัน  ให้ได้ทำผิดและให้อภัยกัน  อย่างนี้แหละความสัมพันธ์มันจึงจะงดงาม  


 


เอาล่ะค่ะ  ก่อนจากไปวันนี้  ขอให้คุณๆ ที่มีคู่ทุกคน มีความสุขกับชีวิตคู่ของคุณยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ  เรียนรู้การรับและการให้จากหัวใจ  สัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ที่งดงามผ่านทางคนรักของคุณ  ถ้าใครยังไม่มีคู่และต้องการจะมี  ก็ขอให้ได้เจอคนที่คุณพร้อมที่จะเป็นคู่ของเขาคนนั้น  


 


แล้วไม่ว่าใครจะว่าอะไรก็ตาม  ขอให้คุณเชื่อเสมอว่า  ความรักของคนเพศเดียวกันสามารถเป็นความรักที่ยั่งยืน  มั่นคง  และงดงามได้ไม่แพ้ความรักของคนต่างเพศเลย


 


ท้ายที่สุดขอขอบคุณ คุณแฟนเก่า ที่อุตส่าห์ซื้อหนังสือเล่มนี้ให้  * คำแนะนำของฉันสำหรับคนที่เพิ่งเลิกกับแฟนก็คือ  อย่าทิ้งของที่เขาให้ไปซะหมด  ของบางอย่างอาจมีประโยชน์สำหรับคุณในอนาคต !*