Skip to main content

ปีใหม่ที่บนดอย โรคใหม่ที่บนดอย ที่ต้องเร่งแก้ไข

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้นำพิธีกรรมชาวลาหู่ (มูเซอ) บ้านจะแล อำเภอเมืองเชียงราย ร่างค่อนข้างท้วม บอกว่า ดวงตา ๒ ข้างมองไม่เห็นได้หลายเดือนแล้ว โดยตาค่อยๆ มัวจนมืดสนิท เพื่อนบ้านผู้ร่วมวงอาหารฉลองวันกินวอ (ปีใหม่ของชาวมูเซอ) บอกว่า "เขาเป็นโรคเบาหวานกับเป็นความดัน"


 


อาหารบนโตกประกอบด้วยข้าวที่ขัดสีขาวจนเหลือแต่แกนใน ดิฉันเคี้ยวกินแล้วรู้สึกว่าแข็งไม่มีรสชาติ ต่างจากข้าวของชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่เพิ่งไปมาเมื่อวันก่อน (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐) ที่เป็นข้าวดอยตำครกกระเดื่อง ห่อด้วยใบตองกินอร่อย หอมกลิ่นข้าวที่มีวิตามิน คุณค่าอาหารครบครัน


 


กับข้าวที่เป็นแบบชาวลาหู่แท้ๆ คือ น้ำพริก หมูเค็มทอด มันฝรั่งต้มใส่มะเขือเทศ กับผัดผักกาดขาว (ซื้อผักมาจากในเมือง) เมื่อข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักไม่อร่อยเสียแล้ว กินกับอาหารอะไรก็ไม่อร่อย ยังดีที่ต้มมันฝรั่งกับมะเขือเทศ มีรสเปรี้ยวปะแล่มๆ ทำให้กลืนข้าวลงคอได้บ้าง


 


โรคใหม่ของชาวดอยมากับชีวิตสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ลูกศิษย์ที่ย้ายมาจากบ้านปางสาชื่อ จะคือ เคยเรียนกับดิฉันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๗ ได้เป็นพี่เลี้ยงของหนูไผ่ตอนที่ยังเด็กด้วย มารอสวัสดีปีใหม่ที่ลานปีใหม่ของหมู่บ้าน จะคือพาดิฉันไปเยี่ยมบ้านเขา ซึ่งเป็นบ้านแบบลาหู่แท้ๆ ทำด้วยไม้ไผ่มุงหญ้าคา จะคือ เล่าว่า ชาวลาหู่บ้านจะแลเอาข้าวเปลือกใส่มอเตอร์ไซด์ไปสีที่บ้านคนพื้นราบ ซึ่งอยู่ไกลออกไปอีกหลายกิโล ทั้งหมู่บ้านไม่มีครกกระเดื่องที่ใช้ตำข้าวด้วยแรงคนอีกแล้ว ต้องพึ่งโรงสีอย่างเดียว


 


เดี๋ยวนี้ชาวดอยพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากขึ้น ใช้ศักยภาพของตนเองน้อยลง ออกกำลังน้อยลง เวลาไปทำไร่ก็ไปด้วยมอเตอร์ไซค์ ไม่เดินเท้าเหมือนอดีต การกำจัดวัชพืชก็ใช้ยาฆ่าหญ้าที่โฆษณากันทุกที่ทุกทาง ซื้อง่ายเหมือนซื้อขนม โดยไม่ต้องมีความรู้เรื่องการใช้อย่างปลอดภัย เห็นคนอื่นเขาใช้กันก็ทำตามๆกันไป จึงเกิดผลคือ ทั้งคนใช้ยา คนขาย (ซึ่งสูดดมสารเคมีในร้านเป็นประจำ) และผู้บริโภคพืชผัก ต่างก็ป่วยกันเต็มประเทศ


 


คุณภาพอาหารของชาวดอยแย่กว่าสมัยก่อน ซึ่งทุกบ้านปลูกพืชผักไว้กินตลอดทั้งปี เป็นสวนผสมผสาน ผักชนิดต่างๆปลูกถั่ว พริก แตง เผือก มัน ฟักทอง ฟักเขียว ผสมไว้ในไร่ข้าวกับข้าวโพด ฤดูแล้งที่ปลูกผักไม่ได้เพราะไม่มีน้ำฝน ก็ยังมีผักดอง ผักตากแห้ง ฟักทอง ฟักเขียว เผือก ทยอยกินไปจนถึงฤดูฝน


 


อาหารจากป่าช่วงฤดูแล้งคือปลีกล้วย หยวกกล้วย ยอดชะอม กับพืชผักที่ขึ้นอยู่ริมห้วย เช่น ยอดผักกูด ยอดผักหวาน ยอดผักกุ่ม ใบบัวบกที่ขึ้นอยู่ในนา เป็นต้น


 


ทั้งชาวดอยและชาวชนบท มีต้นทุนชีวิตที่ธรรมชาติให้มา คืออาหารจากธรรมชาติที่หลากหลายตามฤดูกาล ซึ่งงานวิจัยทางโภชนาการ และหลักธรรมชาติบำบัดล้วนยืนยันว่าการกินพืชผักในท้องถิ่นตามฤดูกาลคือการสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายและจิตใจ สร้างความเคารพ ความกตัญญู ความผูกพันกับธรรมชาติ และความเข้าถึงกฎแห่งธรรมชาติ ที่ช่วยลดความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวกู ของกู" กับผลประโยชน์ของ ตัวกู พวกกู อันเป็นกิเลศที่เพิ่มพูนขึ้นของคนในยุคทุนนิยม โลกาภิวัตน์


 



 



 


เสียงเพลงจาก แคน กลอง ฉาบ ของชาวลาหู่ บ้านจะแล ชวนให้ใจเบิกบานอย่างบริสุทธิเช่นเดียวกับเสียงเพลงของจากซึงของชาวลีซูบ้านปางสา ซึ่งแต่ก่อนทำจากหนังตะกวด ที่ให้เสียงเพลงไพเราะ ดังสะท้อนได้ทั้งวงเต้นรำ แต่เดี๋ยวนี้ป่าหมด ตะกวดไม่มีที่อยู่จึงหาได้ยาก ต้องใช้พลาสติกหนาขึงแทนหนังตะกวด เห็นแล้วสะท้อนใจ คิดถึงอดีตที่ธรรมชาติยังสมบูรณ์ งดงาม


 


วงเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่ที่บ้านจะแล ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง กับชาวลีซูที่บ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ขาดเด็กรุ่นใหม่ที่จะช่วยสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพราะลูกหลานพากันไปเรียนที่ในเมือง เพื่อให้อยู่ร่วมกับยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่รู้ว่าในอีก ๕ – ๑๐ ปีข้างหน้า อัตลักษณ์ของชาวลาหู่ ลีซู และชนชาติพันธุ์จะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่


 



 

 


หากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตพอเพียง ที่เจ้าพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยทรงชี้ทางไว้ตั้งแต่ ๔๐-๕๐ ปี ได้นำไปปฏิบัติอย่างทั่วถึง โรคทางใจ โรคทางกายที่ถาโถมมาสู่ชาวดอย ชาวชนบทและชาวกรุง คงได้รับการเยียวยาอย่างทันเหตุการณ์


 


โครงการมหกรรมวัฒนธรรมลีซู เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ ครบ ๘๐ พรรษา จึงเกิดขึ้นเพื่อระดมพลังใจ พลังกาย พลังปัญญาของชาวลีซูทั่วประเทศไทย แก้ปัญหาโรคสมัยใหม่ ในระหว่างวันที่ ๒๓–๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ที่หมู่บ้านปางสา หมู่ที่ ๑๗ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย "เพื่อพี่น้องชาวลีซูในประเทศไทย  ซึ่งได้อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่านรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ฯ จึงได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมชาวลีซู เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ขึ้น  เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที  ความจงรักภักดีและเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ฯ พร้อมทั้งได้แสดงความตั้งใจและปฏิบัติตนที่จะดำเนินรอยตามพระยุคลบาท เรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง  การอนุรักษ์ดิน  น้ำ  ป่า และการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้มีความกลมกลืนและยั่งยืน ในการดำเนินชีวิตต่อไป"


 


ภาพประกอบโดย  มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา