Skip to main content

"แม่น้ำยม: ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ"

คอลัมน์/ชุมชน

ดวงอาทิตย์ยามเช้ากลมโตกว่าผลแตงโมทอแสงรับวันใหม่ หมุดหมายการเริ่มต้นของทุกๆ ชีวิตเป็นเหมือนที่เคยเป็นมา ชาวบ้านตื่นขึ้นมาทำภารกิจของตนตามวิถีที่เป็นมา บางคนออกไปต้มเหล้า ซึ่งโรงเหล้ากระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน บางคนออกไปให้ข้าวหมู ดูเหมือนว่าหมูและเหล้าจะมีมากขึ้นเป็นลำดับในหลายหมู่บ้าน...


 


หากมีใครสักคนกล่าวถึงจังหวัดแพร่  วูบแรกของความคิด เรานึกถึงอะไร สำหรับฉันแล้ว การนึกถึงไม้สักคงเป็นอันดับแรก อันดับต่อมาคือเสื้อม่อฮ่อมอันเป็นเอกลักษ์เฉพาะของจังหวัดแพร่ แต่ถ้าแคบหดสั้นลงมากว่านั้น หากพูดถึงตำบลสะเอียบแล้ว เราคิดถึงอะไร สำหรับฉันวูบแรกของความคิดคือป่าสักทอง ต่อมาคือเหล้าต้มกลั่นอันเป็นภูมปัญญาของคนที่นี้ ว่ากันว่าเหล้าต้มกลั่นจากสะเอียบรสชาติเยี่ยมและเด็ดขาดบาดคอ


 


ย้อนหลังไปหลายปีก่อนยุคสมัยที่ยังทำกิจกรรมนักศึกษา ฉันเคยมาที่นี้ครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นฉันจำได้คลุมเครือว่าตัวเองเมาหลับไร้สติตั้งแต่บ่ายถึงเย็นย่ำ และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฉันได้เดินทางมาที่นี่อีกครั้ง แม้ว่าการเดินทางมาที่นี่ครั้งล่าสุดจะห่างจากครั้งแรกหลายปี แต่ความรู้สึกบางอย่างของฉันไม่เคยเปลี่ยน


 


ที่สะเอียบ ฉันมีมิตรร่วมรบหลายคน บางคนเป็นเพื่อนร่วมงาน บางคนเป็นเพื่อนร่วมสู้ บางคนเป็นคนที่ฉันนับถือ ฉันเองก็งุนงงสงสัยเสียเต็มประดาเมื่อมาถึงที่นี้ครั้งแรก เพราะป้ายผ้ารณรงค์คัดค้านแก่งเสือเต้นติดอยู่ตามบ้านหลายหลัง ในความคิดของฉันข้อความในป้ายผ้าเหมือนเป็นการประกาศจุดยืนบางอย่างที่ชัดเจน จุดยืนที่ว่านั้นคือ ‘คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น’ โครงการอันจะนำมาซึ่งการทำลายผืนป่า และวิถีชีวิตของชุมชนอย่างมหาศาล  


 


ทำไมฉันกล้าที่จะกล่าวเช่นนั้น เพราะว่าแม่น้ำยมมีต้นกำเนิดจากบริเวณดอยขุนยวม เทือกเขาผีปันน้ำ ในเขตอำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ไหลผ่านหุบเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าที่มีความลาดชัน มีพื้นที่ราบริมแม่น้ำเป็นบางตอน ไหลผ่านจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ รวมความยาว ๗๓๕ กิโลเมตร ลุ่มน้ำยมครอบคลุมพื้นที่รับน้ำ ๒๓,๖๑๖ ตร.กม หรือประมาณ ๑๔,๗๖๐,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมถึง ๒๘๔,๒๑๘ ไร่ ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า และที่สำคัญป่าสองฝั่งแม่น้ำยมเป็นป่าสักทองผืนใหญ่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ประเทศไทย 


 



 


แม่น้ำยมมีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนไม่ต่างอะไรจากแม่น้ำสายอื่น ชาวบ้านได้ใช้ชื่อท้องถิ่นเรียกพื้นที่ต่างๆในแม่น้ำยมเป็นภาษาท้องถิ่น แบ่งออกได้เป็น ๖ อย่าง คือ


 


วัง เป็นแหล่งน้ำลึกและนิ่ง ช่วงน้ำลดจะมีความลึกประมาณ ๕–๘ เมตร โดยความลึกจะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละวัง วังแต่ละแห่งทอดตัวยาวไปตามลำน้ำไม่น้อยกว่า ๕๐๐ เมตร วังบางแห่งมีความยาวถึง ๓-๔ กิโลเมตร เช่น วังผาอิง (วังยาว) วังหลวง และวังหวาย เป็นต้น


 


ใต้ท้องน้ำบริเวณวังเป็นดินปนทราย บางวังมีหินและผาขนาดใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของปลาเช่น ปลากัง (ปลาคัง) ปลากด  แม่น้ำยมเริ่มตั้งแต่บริเวณแก่งขามไปจนถึงแก่งเสือเต้นมีวังน้ำลึกทั้งหมด ๔๑ แห่ง


 


หาด เป็นช่วงที่ลำน้ำจะแคบ กระแสน้ำไหลเชี่ยวและรุนแรงทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ก้อนหินทั้งขนาดเล็กและใหญ่จำนวนมาก เป็นที่อาศัยของ ปลา กุ้ง หอย และปู ช่วงน้ำนองหรือน้ำหลาก น้ำบริเวณหาดจะมีความลึกประมาณ ๒ เมตร ส่วนช่วงน้ำลดน้ำจะลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แม่น้ำยมเริ่มตั้งแต่บริเวณแก่งขามไปจนถึงแก่งเสือเต้น พบหาดทั้งหมด ๔๒ แห่ง


 


แก่ง ระบบนิเวศแบบแก่งมีเพียง ๒ แห่ง คือ แก่งเสือเต้น และแก่งขาม เป็นช่วงที่ร่องน้ำแคบ มีหินผาก้อนขนาดใหญ่อยู่ติดกันกลางแม่น้ำเป็นกลุ่ม ท้องน้ำส่วนใหญ่จะเป็นหินผา น้ำไหลผ่านตามซอกผามีกระแสน้ำจะไหลเชี่ยวรุนแรงตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ช่วงฤดูแล้งน้ำจะไหลตามซอกผาแยกเป็นร่องน้ำหลายสาย ต่อจากท้ายแก่งลงไปจะเป็นวังน้ำขนาดใหญ่ น้ำจะลึกและไหลช้า ซึ่งแก่งจะโผล่พ้นน้ำให้เห็นในช่วงฤดูแล้ง


 


แก่งเสือเต้น ในความหมายนั้นคือ ผาหินที่ปรากฏร้อยเท้าเสือที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างลำน้ำ สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงยามแล้งที่ระดับลดลง เผยโฉมหินผาที่งดงามอวดสองดวงตา ร่องน้ำร่องเล็กๆ ที่สามารถโดดจากฝั่งหนึ่งถึงอีกฝั่งหนึ่งได้ ใครที่ได้กระโดดข้ามเสมือนหนึ่งข้ามแม่น้ำยม ด้วยความง่ายดาย ไม่มีที่แห่งใดเสมอเหมือนได้ ข้ามแม่น้ำจากอีกฝั่งถึงอีกฝั่งด้วยการก้าวข้าม เสมือนเสือที่โดดข้ามแม่น้ำแล้วฝากรอยเท้าเอาไว้ เหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อแก่ง ณ.ที่แห่งนี้ "แก่งเสือเต้น" 


 


หลง มีลักษณะคล้ายกับอ่าวขนาดเล็ก เกิดจากการที่กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินในช่วงน้ำนองหรือน้ำหลาก เมื่อน้ำลดระดับลงทำให้กลายเป็นแอ่งน้ำนิ่งที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ หลงมีความลึกประมาณ ๒-๓ เมตร หลงส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างวังกับหาด หลงในแม่น้ำยมมีจำนวนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำหลากในช่วงฤดูฝนของแต่ละปีเมื่อน้ำเปลี่ยนทางเดินหลายพื้นที่ก็จะทำให้เกิดหลงเพิ่มขึ้น 


 


หลงเป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลาหลายชนิด เช่น ปลาก้วน ปลาก่อ ปลาตอง ปลาปีก เป็นต้น บริเวณริมหลงยังมีพืชผักที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติให้ชาวบ้านได้เก็บกิน เช่น ผักแส่ว ผักสลิด ผักกูด ผักหนอก และผักขี้ก๋วง เป็นต้น


 


ลั้ง มีลักษณะคล้ายหาด แต่กระแสน้ำไหลช้ากว่าและเชี่ยวน้อยกว่า ลั้งคือบริเวณที่อยู่ระหว่างหาดและวัง ท้องน้ำเป็นหินผาและก้อนหินขนาดกลาง ความลึกประมาณ ๑ เมตร เป็นช่วงที่แม่น้ำมีความกว้างประมาณ ๘-๑๐ เมตร ลั้งมีความยาวประมาณ ๕๐๐ เมตรขึ้นไป เป็นที่อาศัยของปลา เช่น ปลากังแดง ปลาปีก ปลาบอก เป็นต้น การศึกษาพบลั้งในแม่น้ำยมในพื้นที่ป่าแม่ยม ๖ แห่ง ได้แก่ ลั้งห้วยผักเสี้ยว ลั้งหาดก๋าว ลั้งวังจ้างต๋าย ลั้งห้วยจืน ลั้งเก้าแหน และลั้งห้วยก่าง


 


ลำห้วยสาขา ลำห้วยมีความกว้างประมาณ ๑๕-๒๐ เมตร ช่วงน้ำหลากมีความลึกประมาณ ๓ เมตร ท้องน้ำของลำห้วยเป็นหินปนทรายหรือดินปนทราย ในเขตป่าแม่ยมมีลำห้วยขนาดใหญ่ เช่น ห้วยแม่พร้าว ห้วยแม่ปั๋ง ห้วยแม่สะกึ๋น ห้วยแม่ปุง ซึ่งจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ส่วนลำห้วยสาขาขนาดเล็กในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง มีน้ำขังบ้างบางแห่ง ซึ่งจาวบ้านเรียกว่า บวก หรือจำ พอที่จะสามารถให้คนและสัตว์ป่าได้ใช้ดื่มกินในช่วงดูแล้ง ในช่วงฤดูฝนเมื่อน้ำนองหรือน้ำหลาก ปลาในแม่น้ำยมอพยพขึ้นไปวางไข่ตามลำห้วยสาขา แล้วกลับลงสู่แม่น้ำยมในช่วงน้ำลด


 


นอกจากคนในตำบลสะเอียบจะได้พึ่งพาแม่น้ำแล้ว ส่วนหนึ่งยังได้พึ่งพาป่า อันมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าน้ำ การพึ่งพาอาศัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี รู้จักใช้ และรู้จักรักษา  ผืนป่าสักทองขนาดใหญ่จึงยังคงอยู่คู่กับแม่น้ำยมมาจนถึงปัจจุบัน


 


ชีวิตของคนเราก็เหมือนกับสายน้ำ--สายน้ำเคยเป็นอย่างไรมันก็เป็นเหมือนอย่างที่เป็นมาในวันก่อน และชีวิตของผู้คนแห่งตำบลสะเอียบก็เป็นดุจเดียวกัน -และแน่นอนว่า มันเนิ่นนานมาแล้วที่คนหลายรุ่นแห่งตำบลสะเอียบได้ปกป้องรักษาแม่น้ำและผืนป่าที่พวกเขารัก เพื่อคนรุ่นต่อๆ มาและต่อไป


 


เหมือนกับสายน้ำที่ได้หล่อเลี้ยงผู้คนมาหลายรุ่น หลายพื้นที่ หลายยุคหลายสมัย...