Skip to main content

‘ทับแก้ว’ กุมภาพันธ์ 2550

คอลัมน์/ชุมชน

วันหนึ่งในหน้าร้อนของปี 2537 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ผมกำลังอยู่ในภาวะว้าวุ่น กลัดกลุ้ม ลุ้นระทึก เพราะเพื่อนเกือบทุกคนรู้ผลเอนทรานซ์กันไปแล้ว บ้างทางจดหมาย บ้างทางโทรศัพท์ ผมเป็นคนสุดท้ายที่รู้จากการสอบถามทางโทรศัพท์ ปรากฎว่าผมสอบติดคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์


 


แน่ละครับ ก็ดีใจสุดๆ เช่นเดียวกับคนที่สอบติดกันทุกคน แถมเป็นคณะที่เลือกเป็นอันดับ 1 เสียด้วย เพื่อนฝูงก็มาร่วมยินดีกันยกใหญ่ แล้วเพื่อนคนหนึ่งก็ถามขึ้นว่า  "เฮ้ย - วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นี่อยู่ที่ไหนวะ?"  "เออ-นั่นสิ ตอนเลือกก็ไม่รู้เหมือนกัน"  "อ้าว...?"


 


มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "ทับแก้ว" ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ติดถนนมาลัยแมนที่จะไปสุพรรณบุรีนั่นละครับ ใครเคยชมละครหรือเคยอ่านนิยายเรื่อง "น้ำใสใจจริง" ก็คงจะร้องอ๋อ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ทับแก้วเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ มีอยู่เพียง 5 คณะ คือ อักษรศาสตร์, ศึกษาศาสตร์, วิทยาศาสตร์, เภสัชศาสตร์ และล่าสุดคือเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นอกจากนี้ก็มี ภาควิชาประติมากรรมของคณะจิตรกรรม กับภาควิชาเซรามิกของคณะมัณฑณศิลป์ มาอยู่ร่วมด้วย


 


แต่ไหนแต่ไรมา ทับแก้วเป็นมหาวิทยาลัยที่เล็ก สงบ เป็นมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังแบบมหาวิทยาลัย กทม. นักศึกษาที่นี่จะค่อนข้างรวมกลุ่มและเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับสังคมภายนอก อาจเพราะเกือบทุกคนพักอยู่ "หอใน" คือหอพักของมหาวิทยาลัย ชีวิตประจำวันจึงอยู่กับเพื่อนฝูง และอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ข้อดีก็คือ ด้วยจำนวนนักศึกษาแค่สองพันคน เราจึงคุ้นหน้าคุ้นตากัน แม้ไม่รู้จักชื่อก็บอกได้ว่าอยู่คณะอะไร เรารู้จัก คุ้นเคย และสนิทสนมกันข้ามคณะ ข้ามรุ่น แบบที่หาได้ยากจากมหาวิทยาลัยอื่น


 


ผมเข้าไปเรียนเป็นรุ่นที่ 3 ของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ก็ตามประสาเด็กสายวิทย์นั่นละครับ แข่งกันเรียนเป็นเรื่องปกติ ผมเองก็แข่งกับเขาอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบ อยู่ๆ วันหนึ่งเกิดเบื่อขึ้นมาซะงั้น วิชาที่ต้องเลคเชอร์ ก็ไม่เข้า ไปทำแลบ (Lab) อย่างเดียว เวลาว่างก็เข้าหอสมุด ไม่ได้อ่านหนังสือเรียนนะครับ ไปอยู่ตามตู้นิตยสาร วรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล  อ่านเยอะเสียจนคนอื่นเขานึกว่าเป็นเด็กคณะอักษรฯ (ฮา) แถมยังเป็นเด็กกิจกรรม ทำมันสารพัด ทั้งงานรุ่น งานคณะ เข้าชมรม ไปออกค่าย ไปเที่ยวต่างจังหวัด ตกปลา ดื่มสุรา เล่นไพ่ เล่นละคร ฯลฯ ทำทุกอย่างยกเว้นเรียน(ฮา) ตอนเกรดออกก็ปรากฎชะตากรรมว่าหนีไม่พ้นจะต้องโดนรีไทร์แน่ ผมเลยต้องชิงลาออกไปเอนทรานซ์อีกครั้ง


 


ประสบการณ์ทั้งหมดของผมที่มีต่อทับแก้วจึงมีเพียงแค่ 1 ปีในตอนเรียนปี 1 เท่านั้น แต่เป็น 1 ปีที่มีผลต่อชีวิตของผมมาโดยตลอด รุ่นพี่ เพื่อน หรือ รุ่นน้อง ที่ยังคบหากันอยู่จนถึงปัจจุบัน ก็รู้จักกันที่ทับแก้วแทบทั้งหมด การที่ผมได้มีโอกาสมาทำงานข่าว หรือได้รู้จักคนในแวดวงวรรณกรรมก็มาจากรุ่นพี่และเพื่อนพ้องที่ทับแก้ว แม้แต่งานที่สร้างรายได้หลักในการดำรงชีพทุกวันนี้ก็มาจากการชักชวนจากเพื่อนที่ทับแก้ว


 


ถ้าพูดถึงความทรงจำและความผูกพันที่ผมมีต่อทับแก้ว เป็นเรื่องอธิบายยากพอดู เพราะผมอยู่แค่ปีเดียว แต่เป็นปีเดียวที่ส่งผลยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน จะบอกว่า "ทับแก้ว" คือสถานที่สำคัญที่บ่มเพาะตัวตนของผมก็ว่าได้


 


ครั้งล่าสุดที่ผมไปทับแก้ว ก็คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผมไปพักกับ "พี่ไบ้ท์" วิฑูรย์ แซ่โง้ว นักวิจัยประจำคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งสนิทสนมกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ตอนผมเข้าปี 1 แกอยู่ปี 5 แกแก่กว่าผมตั้ง 4 ปี แต่เรามีความสนใจเหมือนๆ กัน คุยกันได้แทบทุกเรื่อง มาคราวนี้ โชคดีจัง ไม่ได้เจอแต่พี่ไบ้ท์ แต่ได้เจอกับ "พี่หนุ่ม" สรพจน์ เสวนคุณากร กับ "พี่หนึ่ง" วรพจน์ พันธ์พงศ์ ด้วย


 


พี่หนุ่มนั้น เป็นรุ่นพี่ของพี่ไบ้ท์ ช่วงเรียนปีหนึ่ง ผมได้เจอพี่หนุ่มซึ่งมาเรียนต่อปริญญาโทหลายครั้ง ทั้งเคยไปเที่ยวบ้านแก เลยคุ้นเคยกันพอสมควร จนกระทั่งแกไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็ไม่ได้เจอกันเลย พี่หนุ่มยังคงเกี่ยวข้องกับแวดวงศิลปะ ขีดๆ เขียนๆ เพราะแกสอนทั้งเรื่องวรรณกรรม และการละคร


 


ส่วน พี่หนึ่ง วรพจน์ พันธ์พงศ์ นั้น คิดว่า นักอ่านหลายท่านน่าจะรู้จักดี เพราะเขาเป็นคนที่ได้รับฉายาว่า "นักสัมภาษณ์มือหนึ่งของเมืองไทย" จริงเท็จประการใด ไม่ทราบ แต่ก็มีผลงานปรากฎอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายเล่ม อย่างเล่ม "เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง" นั้นก็พิมพ์ไปถึง 8 ครั้งแล้ว พี่หนึ่งเรียนคณะอักษรศาสตร์ รุ่นเดียวกับพี่หนุ่ม พี่หนึ่งสนิทกับพี่ไบ้ท์ เลยทำให้ผมพลอยรู้จักพี่หนึ่งไปด้วย ช่วงที่ทำงานข่าวในเมืองกรุง ผมมีโอกาสเจอพี่หนึ่งประปรายตามงานต่างๆ ได้คุยกันบ้าง แต่ไม่เคยได้คุยนาน ทั้งไม่สนิทถึงขั้นจะใช้คำว่าคุ้นเคย ผมจึงรู้จักพี่หนึ่งผ่านตัวหนังสือมากกว่า


 



 


วันที่ผมได้เจอพี่ทั้งสองนั้น เป็นโอกาสอันดีที่หาได้ยากยิ่งในรอบหลายปี เพราะทั้งสองเป็นรุ่นพี่ที่ผมนับถือ แถมยังทำงานเกี่ยวข้องกับแวดวงศิลปะและวรรณกรรม ผมเลยได้ฟังเรื่องที่เป็นประโยชน์มากมายในเย็นวันนั้น


 


ริมสระแก้ว ขณะที่ดวงตะวันใกล้ลับขอบฟ้า ช่วงเวลาสั้นๆ ที่สวยงามในวันที่ร้อนอบอ้าว กับเบียร์กระป๋องในมือ เราคุยกันมากมายหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องในแวดวงวรรณกรรม ศิลปะ เรื่อยไปจนถึงหนัง ละคร


 


พี่หนึ่ง เพิ่งจะมีผลงานบทสัมภาษณ์ "เป็นเอก รัตนเรือง" ผู้กำกับผู้ชอบสวมเสื้อยืดลายขวาง และมีผลงานโดดเด่นในระดับสากล พี่หนึ่งเล่าเรื่องของ เป็นเอก ให้ฟังหลายต่อหลายเรื่อง ฟังไปฟังมา ไม่แคล้วว่าผมคงต้องซื้อเล่มนี้อ่านเป็นแน่ เพราะ ความคิด ชีวิต และการทำงานของเป็นเอก "มัน" เอาเรื่องทีเดียว


 


พี่หนุ่มนั้น หลังจากจบปริญญาโท ก็ไปสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอุบลฯ เกือบจะ 10 ปีแล้ว สอนหลายวิชา และเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมาเรียนปริญญาโทอีกหนึ่งใบ "เขาไล่ให้มาเรียนว่ะ" แกบอกขำๆ


 


ทับแก้วทุกวันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก ทุกวันนี้ นักศึกษามีร่วมหมื่นคน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ก็เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม "เด็กเทคโนฯ" ไม่มีแล้ว มีแต่ "เด็กวิศวะฯ" รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์วิ่งกันเต็มมหาวิทยาลัย ตึกใหม่ๆ ผุดขึ้น ต้นไม้ใหญ่หายไป รอบๆ มหาวิทยาลัยกลายเป็น ชุมชนนักศึกษา เต็มไปด้วยหอพัก ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเหล้า เมื่อถึงตอนเย็น นักศึกษาก็มานั่งกันเต็มสะพาน เมื่อผมมองไปรอบๆ ภาพเก่าๆ ก็ปรากฎขึ้นในความทรงจำ วงเหล้ายามเย็นริมน้ำ,เหล่านักศึกษาผู้นิยมกีฬาทำบาป (ตกปลา), มือกีตาร์สมัครเล่นครวญเพลงยอดฮิต และ คู่รักที่นั่งกุมมือกันอยู่บนม้าหิน


 


ขณะที่เรากลับมาเจอกันอีกครั้ง วันเวลาที่ผ่านไป ก็คล้ายจะหยุดอยู่กับที่ หยุดอยู่ตรงที่ๆ เป็นความทรงจำของเราแต่ละคน เพราะเราแต่ละคนก็มีความทรงจำต่อสถานที่แห่งนี้แตกต่างกันออกไป อาจจะร่วมกันหรือไม่ก็ตาม แต่ในวัยเยาว์นั้น ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความไร้เดียงสา ด้อยวุฒิภาวะ อยากทดลอง คึกคะนอง หรือ บริสุทธิ์ใจ ก็ล้วนแต่เป็นภาพที่ทรงคุณค่า และดูเหมือนว่า คุณค่าของมันจะเพิ่มขึ้น ตามเวลาที่ผ่านไปด้วย


 


ผมนั่งจิบเบียร์ฟังพี่ทั้งสามคุยกัน สอดแทรกบ้าง ตามแต่จังหวะจะทะลึ่งได้ เวลาได้มาเจอกับรุ่นพี่ที่นับถือ มันทำให้ผมรู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่ายังมีผู้ใหญ่ที่จะคอยตักเตือน สั่งสอน แต่เวลาแห่งการเสวนาที่ชุ่มชื่นหัวใจก็มักจะผ่านไปเร็วเสมอ เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เราอำลาจากกันด้วยดีกรีและเสียงหัวเราะที่พอสมควรแก่วาระ


 


ค่ำวันนั้นขณะที่ผมนั่งรับลมเย็นที่ลานจอดรถคณะวิทยาศาสตร์ ผมคิดถึงคำพูดเก่าๆ ที่ว่า "...สถานที่ที่เรากลับไปแล้วมีความสุข ที่นั่นคือบ้าน..." ทับแก้วเป็นเหมือนบ้านอีกแห่งหนึ่งของผม แม้ว่าผมจะเป็นลูกไม่รักดี หนีออกไปอยู่ที่อื่นเสียก่อน แต่ช่วงเวลาที่ผมได้เคยอยู่ที่นี่ คือช่วงเวลาที่ผมได้เป็นตัวของตัวเองยิ่งกว่าช่วงเวลาใด เวลาแค่หนึ่งปีนั้นคือช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดในชีวิตของผม ผมอาจรักมันมากที่สุด เพราะเคยปรารถนา อยากย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงนั้นเหลือเกิน ช่วงเวลาที่ผมค้นพบหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ไม่อาจพบได้ในห้องเรียน


 


ทับแก้ว กุมภาพันธ์ 2550 อากาศร้อน แต่ลมเย็นโชยฉ่ำ ผมสูดหายใจเต็มปอด ก้าวเดินไปบนทางที่ "ทับแก้ว" ได้บ่มเพาะผมไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน