Skip to main content

ข้างหลังภาพ-ภาพข้างหลัง

คอลัมน์/ชุมชน

ศิลปิน : โบ สุนิตา ลีติกุล


อัลบั้ม : เพลงประกอบภาพยนตร์ "ข้างหลังภาพ"


เพลง : กีรติ


 


และก็เหลือเรา นั่งอยู่เพียงผู้เดียว อยู่กับหัวใจสิ้นหวังและเลือนลาง


เหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน ต้องอยู่บนหนทาง ที่ตัวฉันเองไม่เคยได้เลือกเลย


 


แค่อยากจะเป็นเหมือนคนทั่วไป มีรักได้ดั่งใจต้องการ


 


* นี่ตัวฉันผิดหรือไร ฉันต้องใช้หนี้กรรมให้ใคร เจ็บที่มันต้องเป็นอย่างนี้


มีชีวิตไม่เหมือนใคร ฉันไม่อาจเลือกทางได้เอง จะมีใครบ้างไหมที่จะมาเห็นใจ


 


สิ่งที่ฉันมี ไม่เคยไขว่คว้ามัน แต่ที่ต้องการไม่เคยได้สมใจ


อยากให้เรื่องจริง เป็นเพียงแค่ฝันไป อยากจะรักใครที่เขารักฉันจริง


 


เข้าใจว่าความรักนั้นงดงาม แต่ฉันไม่มีวันจะได้เจอ


 


(ซ้ำ *)


 


เจ็บที่มันต้องเป็นอย่างนี้


มีชีวิตไม่เหมือนใคร ฉันไม่อาจเลือกทางได้เอง จะมีใครบ้างไหมที่จะมาเห็นใจ


 


(เนื้อร้องและฟังเพลงที่ http://www.wherearepop.com/index.php?topic=1756.0;prev_next=next)


           


เป็นช่วงเวลาที่เกินวาเลนไทนส์มาแล้วหลายอาทิตย์ แต่เชื่อว่าบรรยากาศของความรักในสังคมไทยยังไม่มีลบเลือน ไม่ว่ารักแบบคู่รักหรือแย่งกันรักชาติจนน้ำลายหก  ผู้เขียนจำได้ว่าเคยนั่งร้องไห้เป็น "ดราม่าควีน" คนหนึ่ง ตอนที่ได้ดูวิดีโอเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ในช่วงนี้ ปี 2001 ที่มินนิอาโปลิส คราวนั้นแผ่นวีซีดีหนังไทยยังไม่กระจายไปถึงสหรัฐฯ จึงได้มีแต่วิดีโอธรรมดาดู (ตอนนี้วิดีโอเทปในเมืองไทยตายสนิทไปเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับเทปคาสเส็ทที่หาได้ยาก)


 


เมื่อหวนระลึกถึงเพลงนี้ก็ทำให้เกิดภาพในใจที่ผ่านมา เพลงนี้ในหนังและเนื้อเรื่องในหนัง "โดนใจ" ผู้เขียนในขณะนั้น ยิ่งตอนนั้นเป็นช่วงขาลงของผู้เขียนอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน เรียกได้ว่าเสียศูนย์เลย ความมั่นใจในตนเองหายเกลี้ยง การใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย มองไม่เห็นทางในอนาคตตอนนั้นทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และโดยเฉพาะเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนที่ไม่มีโอกาส ด้อยโอกาส หรือคอยโอกาส รู้ว่าชีวิตไม่ง่ายและการที่ไม่มีเงินก็คือการที่หมดแล้วทุกอย่างในโลกใบนี้ การดูหนังจึงเป็นทางออกในช่วงนั้น เพราะไม่รู้จะทำอะไรดี หนทางมันตันไปเสียทั้งหมด


 


หนังแบบ "ข้างหลังภาพ" เป็นหนังที่ไม่ได้ต่างจากเรื่องรักปกติทั่วไป แต่มีแง่มุมเล็กน้อยที่จะบอกว่าผู้หญิงเสียเปรียบและโลกนี้ไม่แฟร์สำหรับผู้หญิง น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเข้าใจและพยายามแก้ไข กลับยิ่งยอมรับข้อเสียเปรียบดังกล่าวมากขึ้น กลับมองออกไปว่ารักของหญิงกีรติคือรักแท้ เพราะผู้หญิงไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ต่อสังคมว่าความรู้สึกของตนเองเป็นอย่างไร และการมีรักนอกสมรสเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ทั้งที่การสมรสนั้นไม่ได้เรียกว่ารักตามแบบฉบับวิคตอเรี่ยนแต่อย่างใด นอกจากนี้ "รักต่างวัย" ระหว่างผู้หญิงที่อายุมากและชายอายุน้อย (กีรติกับนพพร) เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ส่วนชายอายุมากหญิงอายุน้อย (กีรติกับเจ้าคุณ) เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกลียดนัก ถ้ามีความยินยอมจากผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายที่ต้องการให้เกิดความมั่นคงต่อผู้หญิงในเชิงเศรษฐกิจ  แถมตอนท้ายสรุปอีกว่ารักแบบทุเรศๆ ที่ผู้ชายตอแหลกับฝ่ายหญิงเป็นเรื่องรับได้ เพราะผู้หญิงเสือกโง่เองที่ไม่ยอมทำอะไร ไม่ลุกขึ้นมาประท้วง และไม่แปลกที่ผู้ชายจะเปลี่ยนใจ โดยบอกว่าผู้ชายก็แบบนี้แหละ  เหมือน Boys will be boys ในภาษาอังกฤษ


 


ผู้เขียนดูไปก็ "อิน"  ไปหน่อย ตอนนั้นโง่อยู่ แม้จะเรียนเรื่องแบบนี้มาบ้าง แต่เพราะว่า "จิตตก" เลยไหลไปตามหนัง หารู้ไม่ว่าโง่สุดๆ ที่เป็นแบบนั้น ตอนหลังจึงมาคิดได้ว่าเออสินะ สังคมใดๆ ก็ตามที่ชนชั้นปกครองไม่ค่อยอยากเห็นการเจริญเติบโตทางปัญญาของปวงชนก็ชอบสร้างหนัง สร้างละคอน และสนับสนุนความคิดที่เวียนว่ายตายเกิดกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ขำๆ บ้าๆ บอๆ เพราะทำให้คนไม่ต้องมาคิดปลดแอกตนเองจากความอยุติธรรมในสังคม


 


เมื่อเร็วๆ นี้ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของหลวงแม่ ภิกษุณีธัมมนันทา หรือ อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์  ที่เว็บแห่งหนึ่ง[1] บอกถึงสภาพสังคมไทยและผู้หญิง ประเด็นหลักก็คือ 1. สังคมไทยไม่รู้จักคิด และถ้าคิดก็คิดตื้นๆ คิดไม่เป็นระบบ 2. ผู้หญิงไทยก็ไหลไปกับระบบ และไม่คิดให้เป็น ไม่คิดต่อต้าน รายละเอียดต้องไปอ่านเองตามลิ้งค์ที่ให้ไว้


 


ผู้เขียนเป็นลูกศิษย์ของหลวงแม่สมัยปี 2525 วิชา มนุษย์กับศาสนา ทียู 114 ถ้าจำไม่ผิด เรียนตอนบ่าย หลายหนผู้เขียนฟังอะไรไม่รู้เรื่องเพราะเด็กมาก (18 ปี) และขี้เกียจเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์หลวงแม่สอนดี มีความอดทนมากที่ทนเด็กๆอย่างพวกเรา ที่จำได้เด็ดๆคือ เรื่อง ปฏิจจสมุปปาท จำได้จนวันนี้ อาจารย์สอนว่าให้มองเรื่อง "มะม่วง" ที่เริ่มตั้งเป็นดอกจนเน่าหล่นลงมา แล้วก็เรื่อง "กาย" ที่จับไปตรงนั้นก็ไม่มีอะไรแน่แท้ เรียกชื่อได้ต่างๆ นานา เป็นเรื่องที่ไปกับ "ไตรลักษณ์"  นอกจากนี้มีอาจารย์ ดร. เสรี พงศ์พิศ อีกท่านสอนด้วย  ได้เรียนรู้อะไรมากจากวิชานี้ อยากกลับไปเรียนอีก ถ้าย้อนเวลากลับได้ ทุกวันนี้บอกได้เลยว่าที่ทำมาหากินได้ทุกวันนี้นี่ เป็นวิชาพื้นฐานทางมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ทั้งสิ้น ถ้าถามว่าได้อะไรจากธรรมศาสตร์ บอกตรงๆ ว่าได้ไอ้พวกนี้ แล้วไปเสริมอีกทีที่สหรัฐฯ  (ส่วนเอกอังกฤษนั้นไว้สอนเอบีซีให้กับคนอยากเรียน ปรากฏว่าคนอยากเรียนมากกว่ามนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ เพราะเอาไปทำมาหากินได้แบบอาชีวะนิยม แต่ไม่ชอบอ่านอะไรยากๆ)


 


เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์หลวงแม่ อยากเพิ่มอีกว่าจริงๆ แล้วมันมีเรื่องของอำนาจมาเป็นตัวบงการทุกเรื่องในเรื่องโครงสร้างแบบนี้ ที่มาก็คือกลุ่มคนที่นิยมความเป็นผู้ชาย กลุ่มคนที่เป็นชนชั้นปกครองที่ไม่ต้องการให้คนฉลาด ปิดปาก และพยายามหาหนทางที่สร้างคตินิยมหลายๆชุดมาตอกย้ำอำนาจตนเอง แล้วในที่สุดก็ทำให้สังคมไทยก็จะไม่เหลือแม้แต่ซากและปั่นป่วน สังคมไทยที่ไม่ประสีประสาก็เลยเหมือนละครลิงโรงใหญ่ที่มีลิงใส่ชุดแบบคน แต่งหน้าทาปาก ดูแล้วน่าสังเวช


 


ทั้งนี้ เรื่องของการกดขี่ก็ยังลามปามไปถึงบุคคลชายขอบทุกประเภทที่โดนกดขี่ ยกเว้นประเภทนั้นจะมีสมาชิกของกลุ่มชนชั้นปกครองมาร่วมด้วย ก็จะมีการเรี่ยไร การระดมทุนเพื่อยกระดับ ไม่เช่นนั้นก็พยายามปิดข่าวเพราะจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่อำนาจ ว่าไปแล้วก็คือการใจแคบและหวงอำนาจทั้งสิ้น ส่วนลิ่วล้อก็จะทำหน้าสนองตอบชนชั้นปกครองเป็นตัวกำจัดคนบาดสายตาบาดใจต่อชนชั้นปกครอง ตรงกับ "การแบ่งแยกแล้วปกครอง" อย่างชัดเจน


 


ผู้เขียนอยากให้สังคมไทยฟังหลวงแม่ และแนวคิดทำนองนี้มากขึ้น ทำให้เหมือนการชักธงชาติขึ้นลงวันละสองเวลา จะได้ไม่ต้องมานั่งเป็นบ้ากับความไม่ได้เรื่องของละคอน ของความบันเทิงที่ไร้คุณค่า และสามารถตระหนักรู้ได้ว่า ควรจะรู้จักตนเองและสังคมต่อไปอย่างไร