Skip to main content

ใต้เงื้อมเงาเขาพระสุเมรุ (3)

คอลัมน์/ชุมชน


 


เรากำลังนับถอยหลังสู่ความวิบัติ ในเมื่อความยุติธรรมไม่เคยมีอยู่จริงในโลกนี้


 


ความแห้งแล้งมาถึงเราอย่างรวดเร็วราวกับพายุร้ายจู่โจม แม้มองเห็นไม่ได้เหมือนสายน้ำที่ถั่งโถม แม้ไม่รู้สึกถึงสายลมที่กระชากกระชั้นฉีกทึ้งทุกสิ่งให้ฉีกขาด แต่เช้าตรู่ของวันนี้ เรารู้สึกได้ถึงความแห้งแล้งรอบๆกาย และไอชื้นจากพื้นดินที่เคยสัมผัสได้บ้างแทบไม่เหลือเลย ต้นไม้ใบไม้เหี่ยวเฉาหรุบหรู่เหมือนคนชราหมดเรี่ยวแรง ซบซุกอยู่ในมุมมืดอย่างหมองหม่นเงียบงัน  แม้แต่เสียงนกเล็กๆ ร้องเพรียกหากันยังฟังดูโหยหวนเหมือนจะขาดใจ


 


เถาฟักแม้วข้างบ้าน ที่เพิ่งทดลองปลูกก็เหี่ยวเฉา ต้องคอยหยอดน้ำให้เช้าเย็น กับอาโวคาโดสี่ห้าต้นที่กำลังเติบโตในกระถาง สองอย่างนี้ได้มาจากเมืองเหนือ ต้องประคบประหงมเป็นพิเศษ


แล้วนั่น ข้างๆกัน ต้นฟูราซัมหรือเงาะมาเลเซีย เริ่มชะงักการเติบโต มันยังอยู่ในกระถางเพาะชำเล็กๆ ต้องรอให้ฤดูฝนผ่านมาก่อนจึงจะลงดิน


 


อยากรู้เหมือนกันว่า ในที่ดินแถวนี้ระหว่างไม้เมืองเหนือจากดงดอยสูง กับไม้ทางใต้แดนไกลเมืองยะโฮร์  มาเลเซีย อย่างไหนจะเติบใหญ่ให้ผลผลิตที่เอร็ดอร่อยกว่ากัน หรือบางที...อาจจะไม่เลยสักอย่างเดียว ไม่เป็นไร มันเป็นเพียงกิจกรรมทดลอง ที่ทำแล้วมีความสุข สุขซะให้สาสมกับที่ได้เลือกมาเป็นเกษตรกร แม้ครึ่งหนึ่งจะจำยอมเพราะเป็นมรดกตกทอด และเป็นภาระในการดูแลมากกว่าจะสร้างรายได้ แต่ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างน้อยก็ปลูกต้นไม้ให้กับนกหนูแมลงได้อาศัยเกาะกิน


 


"เราน่าจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อชะลอความหายนะที่จะเกิดขึ้น" ในที่สุด การเป็นชาวสวนจำเป็น ทำให้เราต้องสรุปกันอย่างนี้ ในนามเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มีบ้านอยู่รายรอบภูเขา ซึ่งนับจำนวนได้ไม่ครบสิบ


 


กิจกรรมจึงเริ่มขึ้น เราสร้างแปลงเพาะชำเพื่อแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้ อย่างน้อยการพยายามรักษาความหลากหลายของพืชพันธุ์และปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อมน่าจะช่วยได้บ้าง ดีกว่ามีแค่พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน หรือสวนผลไม้ที่ไม่ผสมผสานหลายชนิด


 


ขั้นตอนต่อมา มีการพยายามลดการใช้สารเคมีในแปลงเพาะปลูกของตนเอง ใครบางคนฝันไกลไปถึงการทำป่ายาง แทนการทำสวนยาง เพราะเขาเชื่อว่าถ้ามีระบบการจัดการอย่างเข้าใจ การกรีดยางพาราสามารถทำได้แม้มันจะมีอายุแก่จนถึง 100 ปี ไม่จำเป็นต้องตัดโค่นตามที่นักวิชาการบอกไว้ว่า อายุไม่เกิน 25 ปี ต้องโค่นปลูกใหม่


 


ท้าทายพอสมควร...แต่ที่น่าสนใจ คือการทำสวนให้เป็นป่า แม้ว่าจะเชื่องช้าและคนทดลองอาจตายก่อน แต่ดีกว่าไม่มีอะไรให้ทำ ให้คาดหวังเอาเสียเลย แต่เพราะเรายังมีทางเลือกอื่นในงานอาชีพ การคิดและทำแบบนี้ จึงได้รับสิ่งเย้ยหยันลอยลมมาว่า "คิดว่าจะเก่งสักแค่ไหนกันเชียว" นั่นน่ะสิ...เราจะเก่งสักแค่ไหนกันเชียว


 


จึงรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นปลาช่อนที่ดิ้นรนหนีให้พ้นจากบึงน้ำแห้ง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าบ่อน้ำข้างหน้าอยู่ตรงไหน แต่ดีกว่ายอมตายโดยไม่พยายามทำอะไรสักอย่าง ภาพปลาช่อนเกล็ดแห้งแข็งเลอะคราบโคลน ตายสนิทอยู่บนพื้นดินที่แตกระแหง ห่างออกมาจากหนองน้ำไกลโข คงอนาถน่าดูสำหรับผู้พบเห็น เพราะรู้ว่า มันมาผิดทาง


 


ร้อนแล้งแห้งผาก ลำธารแห้งขอด ทั้งที่บนภูเขานั่นเป็นแหล่งต้นน้ำ ป่วยการจะกล่าวโทษว่าใครผิด ในเมื่อเงินทองมันล่อตาล่อใจ โดยเฉพาะปีนี้ ราคายางสูงลิ่ว พื้นที่ป่าธรรมชาติยิ่งแหว่งหาย วิธีการแยบยลจนคนข้างนอกมองไม่เห็น รู้ไม่ได้ เพราะคนทำค่อยๆ ปลูกต้นยางที่โตมากๆ ลงไปใต้ต้นไม้ใหญ่ จากนั้นค่อยๆ กำจัดไม้ยืนต้นดั้งเดิมให้ล้มตายลงด้วยการเจาะรูที่ต้นแล้วฉีดยาฆ่าตอไม้เข้าไปข้างใน ไม่นานมันก็ยืนต้นตาย คนที่มองจากข้างล่างมารู้อีกทีว่าต้นไม้ที่เห็นเขียวๆ นั่น ไม่ใช่ไม้ป่าก็ต่อเมื่อฤดูแล้งมาถึง ต้นยางผลัดใบเห็นแต่เรียวก้านสีน้ำตาล กว่าจะรู้ทันเล่ห์กลไม้ป่าก็หมดไปแล้ว รู้เห็นออกอย่างนี้ ใช่ว่าจะกล้าวิ่งไปคัดค้าน เพราะกลัวสวนทางวิถีกระสุนปืน ได้แต่ถอนหายใจ มองหาหนทางใหม่เท่าที่จะทำได้


 


ไม่อยากตำหนิเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฝ่ายเดียว ว่าไม่แข็งขันในการทำงาน เพราะถ้าชาวบ้านไม่ทำผิดกฎหมาย ป่าคงไม่หมดไป และพื้นที่บริเวณนี้ ไม่ใช่พื้นที่เล็กๆ ประกอบกันเป็นหลายหมู่บ้าน นับพันหลังคาเรือน ประชากรหลายพันคน เราจึงเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่เฝ้ามองภูเขาอย่างใจหายใจคว่ำ ยิ่งข่าวคราวแผ่นดินถล่มที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ไม่ขาดระยะ ป้ายเตือนภัยดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงยิ่งเขย่าหัวใจให้สั่นคลอน


 


เมื่อวันอาทิตย์ พอมีเวลาว่างเราจึงชวนกันไปเดินเล่นบนภูเขา พบว่ามีถนนหนทางลาดซีเมนต์เพิ่มขึ้น สะดวกสบายแก่การสัญจรขนส่งน้ำยางหรือยางแผ่นจากภูเขา นั่นยังพอเข้าใจได้ แต่ที่เราพบหลักเขตที่ดิน ที่เป็น นส.3 วางเรียงไว้ตลอดทางเตรียมฝังหมุด ทั้งที่บนนั้นเป็นภูเขา พื้นที่ไม่ใช่น้อยๆ กะคร่าวๆหลายร้อยไร่ทีเดียว ทั้งหมดที่เห็น คือต้นยางพาราเพียงอย่างเดียว


 


จึงชวนกันขับรถมอเตอร์ไซค์ล่วงไปถึงอีกฟากหนึ่งของภูเขา ตั้งใจไปเยี่ยมลุงดำ ที่เป็นหมอยาพื้นบ้าน และเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งที่ยังคงเป็นป่า เต็มไปด้วยไม่ใหญ่ๆ มีต้นสมุนไพรประเภทไม้จวง ไม้จันทน์ สมุนละแว้ง และที่ปลูกเพิ่มลงไปบ้างมีเพียงต้นสะตอ มังคุด ทุเรียน พืชพวกนี้มีอายุยืนยาวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ชั่วรุ่นหลานเหลน ดูไกลๆจะเห็นเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ แต่ชาวบ้านละแวกนั้นจะรู้กันว่า ที่ตรงนี้มีเจ้าของจับจองดูแล และลุงดำแกจ่ายค่าภาษีบำรุงท้องที่ทุกปี


 


หากว่า การใช้ประโยชน์จากผืนดิน กระทำอย่างทะนุถนอมเข้าใจในความเป็นไปของธรรมชาติ รู้รักษาทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านอย่างนี้ น่าจะได้รับการส่งเสริมให้ทำสวนป่ากันมากๆ แม้จะเป็นพื้นที่ลาดชันหรือเป็นที่ราบอยู่บนภูเขา เช่นที่ดินของลุงดำ นี่ก็ตาม


 


แต่เมื่อขากลับ เราเดินลงมาอีกทางหนึ่ง สะดุดเข้ากับหลักหมุด หน้าตาพิเศษ มันเขียนว่า "เขตป่าสงวนแห่งชาติ" ตรงทางขึ้นไปยังสวนลุงดำพอดี ถามลุงดำว่ามันมาอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่ แกบอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน...ไม่เคยเห็น มาก่อน


 


"แปลกดี...คนรักษาป่า ไม่มีสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน แต่คนตัดไม้ทำลายป่า กลับได้เอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน


ความยุติธรรมไม่มีอยู่จริงๆ บนโลกใบนี้" เราบ่นพึม


"ช่างมันเถอะ อย่างน้อยชั่วชีวิตลุง ต้นไม้พวกนี้ยังมีชีวิตรอด และตราบเท่าที่นายไม่มาไล่ลุงออกไปจากป่านี้"


นั่นสิ...มันรอดชีวิตจากยาฆ่าตอ เพราะคนแบบลุงดำนี่เอง


แต่แกอายุ 80 กว่าปีแล้ว !!