Skip to main content

ทีวีเสรี ทีวีเพื่อเด็ก

คอลัมน์/ชุมชน

การ (จะ) จากไปของไอทีวีได้สร้างความเศร้าโศกแก่ประชาชนหลายคนที่ติดตามไอทีวีเป็นอย่างมาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่ผมได้ติดตามข่าวสารของไอทีวี รวมทั้งเฝ้าดูการทำข่าว ต้องบอกว่าสื่อมวลชนอย่างทีมงานไอทีวีได้สร้างโฉมหน้าใหม่ให้กับวงการหน้าจอโทรทัศน์อย่างมาก


 


"ทีวีเสรี" หรือ independent television เพียงชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นช่องโทรทัศน์ที่มีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่เที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ลำเอียง และยังมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการต่อสู้เมื่อพฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา


 


หากจะว่าไปแล้ว ในช่วงเริ่มต้นของไอทีวี อะไรหลายๆ อย่างก็ถือว่าดีมาก ไม่ว่าจะเป็นทีมงานและเนื้อหาที่นำเสนอผ่านหน้าจอ แต่ผมก็ขอยอมรับว่า เมื่อก่อนตอนที่ยังอายุน้อยไม่ค่อยสนใจข่าวสารที่เป็นสาระ ก็จะดูโทรทัศน์ช่องอื่นๆ มากกว่า เพราะช่องไอทีวี เป็นช่องที่มีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะหนักไปหน่อย เลยไม่ค่อยอยากดู


 


แต่พอโตขึ้นมาอีกนิด ก็พบว่า ไอทีวีเป็นช่องที่ให้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่เคยดูโทรทัศน์ของไทยมา ทำให้ผมได้สาระต่างๆ มากมาย ข่าวที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ เนื้อหาที่แปลก แตกต่าง กล้าที่จะวิพากษ์ วิจารณ์รัฐ นับว่าไอทีวีได้ดำเนินการไปตามเจตนารมณ์ที่ได้ก่อตั้งไว้โดยแท้


 


แต่หลังจากที่มีกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่เข้ามาบริหาร นั่นคือ กลุ่มชินคอร์ป ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจมหาชนที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้นจำได้ว่า ไอทีวีเปลี่ยนไป คือ เริ่มมีการแทรกแซง เริ่มที่จะไม่กล้าตรวจสอบรัฐบาล จนทำเกิดเหตุการณ์ "กบฏไอทีวี" ขึ้นในเวลาต่อมา


 


ยังไงเสียหากไม่พูดถึงเรื่องกลุ่มทุนที่มาเทคโอเวอร์แล้ว และมาพิจารณาที่คุณภาพ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน หรือความเป็น "ทีวีเพื่อเด็ก" ก็จะเห็นได้จากหลายๆ รายการที่ได้รังสรรค์ขึ้น


 


เช่น รายการ "ข่าวเที่ยงวัยทีน" ที่นำเสนอเรื่องราวของเด็กและเยาวชน นักศึกษา โดยให้นักศึกษาตามสถาบันการศึกษาต่างๆ มาดำเนินรายการและนำเสนอกิจกรรมดีๆ ที่คนหนุ่มสาวได้สร้างสรรค์ขึ้นมา หรือจะเป็นโครงการพิเศษในกรอบรมผู้ประกาศข่าวรุ่นเยาว์ ที่ได้มีการฝึกอบรมเสริมทักษะให้กับเยาวชนหลายๆ คนในการเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์


 


นอกจากนี้หลายรายการของไอทีวี ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างมาก เช่น รายการ "ร่วมมือร่วมใจ" ที่ได้ดำเนินรายการพร้อมกับช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตามหาพ่อ ตามหาลูก เรื่องร้องเรียนทางการแพทย์ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดจากการถูกโกง ถูกเอารัดเอาเปรียบ


 


หรืออย่างรายการ "ถอดรหัส" ที่เป็นรายการเสาะสืบแสวงหาเรื่องราวต่างๆ ที่คนไม่ค่อยได้รับรู้มานำเสนอ ตีแผ่กับสังคม ทั้งเรื่องเด็ก เรื่องพระ เรื่องลึกลับต่างๆ ฯลฯ – รายการดีๆ ยังมีอีกมากมาย ที่หาดูได้ยากจากโทรทัศน์สมัยนี้


 


ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลได้มีมติที่จะหยุดถ่ายทอดสัญญาณ และยึดคืนไอทีวีจากกรณีที่ไม่มีเงินจำนวนกว่าแสนล้านมาจ่ายค่าปรับสัมปทานได้  


 


ภาพน้ำตาและความโศกเศร้า ที่ฉายผ่านใบหน้าของพนักงานไอทีวีหลายร้อยคนถูกนำเสนอ ถ่ายทอดตลอดเวลาหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติออกมา – ประชาชนหลายพันคน ไม่ว่าจะอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ได้ออกมาให้กำลังใจ ซึ่งเป็นทั้งคนที่เคยติดตามไอทีวี คนที่ได้รับความช่วยเหลือและมีส่วนในการทำงานร่วมกับไอทีวีมาในอดีต


 


บอกตามตรงว่าค่อนข้างตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับไอทีวี แต่ก็ได้เห็นถึงความศรัทธาและความเข้มแข็งของพี่ๆ "คนข่าว" ไอทีวี ที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และจริงจัง ต่อบทบาทหน้าที่ของตนที่ได้รับ เพื่อนๆ เยาวชนหลายคนที่ได้มีโอกาสคุยกันต่างทึ่งและชื่นชมในความยืนหยัดที่จะต่อสู้ของคนข่าวทีวีเสรีนี้


 


ทั้งนี้ หากเอ่ยถึง "ทีวีเพื่อเด็ก" แล้ว มีข้อมูลจากคณะทำงานเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กที่ระบุว่า "เป็นที่ตระหนักกันดีอยู่แล้วว่า สื่อเป็นเครื่องมือที่มีพลังต่อการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับมนุษย์ในสังคม สื่อสามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างและขยายสุขภาวะให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันสื่อก็สามารถเครื่องมือในการสร้าง ขยายและทำซ้ำทุกภาวะ ให้กับสังคม ได้เช่นเดียวกัน"


 


และพบว่าสื่อที่มีเนื้อหาของความรุนแรง สื่อที่มีเนื้อหาเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม สื่อที่ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม มีจำนวนมากขึ้น และอิทธิพลของสื่อเหล่านั้นได้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งในเรื่องของค่านิยม บริโภคนิยม การใช้ความรุนแรง รวมไปถึง การแสดงออกพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ในทางตรงกันข้าม สื่อที่มีเนื้อหาเพื่อการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว กลับมีจำนวนลดลง


 


"แนวคิดในการพัฒนาให้เกิดการสร้างสรรค์สื่อที่เอื้อต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น มีเนื้อหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ประกอบกับ มีช่องทางของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ที่มากขึ้น นับเป็นการลงทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีคุณภาพที่ดีอันเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศต่อไป"


 


แนวคิดในการทำงานเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ข้างต้น นอกจากจะปรับแนวคิดในการวัดระดับคุณภาพของเนื้อหาจากระดับความนิยมเชิงปริมาณไปสู่การวัดระดับคุณภาพของเนื้อหาในเชิงการเรียนรู้แล้ว การสร้างแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในรูปแบบต่างๆ นับเป็นกลไกที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างแท้จริง


 


การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อฯ ที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การสนับสนุนในรูปแบบของเงินทุน หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่ง "กองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว" เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ใน 4  มิติที่สำคัญ คือ การสนับสนุนให้เกิดช่องทางของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ การสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ การสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งในเรื่องของการผลิตสื่อ และการเฝ้าระวังสื่อ


 


นอกจากนี้ เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยและสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานครได้ร่วมจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากเครือข่ายเด็กและเยาวชน ใน 7 ภูมิภาค จำนวนกว่า  2,000 ชุด เพื่อสำรวจความคิดเห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ โดยผลจากการสำรวจพบว่า เครือข่ายเด็ก เยาวชน จำนวนร้อยละ 96 เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ในจำนวนนี้ เครือข่ายเด็ก เยาวชน ร้อยละ 85 เห็นว่า รัฐควรเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนงบประมาณ 


 


โดยมีข้อเสนอต่อรัฐชัดๆ คือ  1.) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาช่องทางของสื่อสร้างสรรค์ เพื่อที่จะให้สื่อที่ดีมีช่องทางออกอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่แล้วสถานีโทรทัศน์ใหม่ หรือช่องทางสื่ออื่นๆที่เหมาะสมก็ตาม


 


2.) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดผลิตสื่อประเภทต่างๆ โดยกลุ่มคนต่างๆโดยเฉพาะเน้นให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวมีส่วนร่วมในการผลิต


 


3.) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยการผลิต เพื่อที่จะนำเอาความรู้ บทเรียนต่างๆ มาพัฒนากระบวนการในการผลิตสื่อให้ดีขึ้น 


 


4.) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการฝึกอบรมการผลิต ทั้งผู้ผลิตให้ผลิตสื่อดีและผู้รับสื่อให้เท่าทันสื่อ


 


ข้อเสนอต่างๆ ของเยาวชน คนทำงานที่มีต่อรัฐ ควรจะได้รับการพิจารณา และนำไปปรับให้เข้ากับสื่อ "ทีวีเสรี" ที่กำลังจะมีการปรับโฉมหน้าใหม่ แม้จะเป็นคนข่าวชุดเดิม หรือชุดใหม่ ผมคิดว่าสื่อเสรีที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรมจริงๆ ควรตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนด้วยนะครับ