Skip to main content

ไข้หวัดนกกับความฉลาดของคนไทย

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่นานมานี้เอง องค์การอนามัยโลกได้กล่าวชมเชยประเทศไทยที่สามารถควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกได้เป็นผลสำเร็จ หลายฝ่ายดูเหมือนจะเข้าใจว่าความสำเร็จนี้เกิดจากความเอาจริงเอาจังและความสามารถในการทำงานของคณะรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ " มิสเตอร์ไข้หวัดนก" ของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกอบด้วยอาสาสมัครในระดับหมู่บ้านจำนวนถึง 800 , 000 คนที่มีอยู่ทั่วทั้งประเทศ เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังการหวนกลับมาของไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งไม่พบผู้ป่วยรายใหม่อีกเลยตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

ทว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่อาสาสมัครอนามัยจำนวนหนึ่ง พวกเขากลับบอกว่า ที่ผ่านมา พวกเขาไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากทางการ พวกเขาไม่ได้รับทั้งการฝึกอบรม ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคไข้หวัดนกแต่ประการใด


หากย้อนกลับไปลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การเริ่มต้นระบาดของไข้หวัดนกในไทยเมื่อปลายปี 2546 เป็นต้นมา ก็จะพบว่า ทางการไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการเตือนภัยสังคมไทยเท่านั้น แต่ทว่ากลับมีแต่การให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงกับสาธารณะอีกด้วย อาทิ การล้มตายของไก่จำนวนมากเกิดจากอหิวาห์และโรคทางเดินหายใจไม่ใช่ไข้หวัดนก เป็นต้น ทั้งที่ นพ.วิโรจน์ ศสิปรียจันทร์แห่งคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯได้ยืนยันว่า ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในไก่ที่จังหวัดนครสวรรค์ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และได้แจ้งให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ทราบแล้ว


แท้ที่จริง ความสำเร็จในการควบคุมไข้หวัดนกนั้น เกิดจากความชาญฉลาดของประชาชนไทยทั้ง 60 กว่าล้านคนต่างหาก พวกเขาสามารถตัดตอนห่วงโซ่อันสำคัญของเชื้อไวรัสจากไก่มาสู่คนได้ทันท่วงที เหตุเพราะพวกเขาตัดสินใจที่จะไม่บริโภคไก่จากข้อมูลที่พวกเขามี แทนที่จะเชื่อข้อมูลจากรัฐและสื่อกระแสหลักที่ถูกรัฐควบคุม จำนวนผู้ติดเชื้อจึงมีเพียง 17 คนและเสียชีวิต 12 คน และหากว่าพวกเขาหลงเชื่อแล้ว จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจะต้องมีมากมายกว่านี้อีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน


เป็นไปได้อย่างไร ที่ผู้คนจำนวนกว่า 60 ล้านคนซึ่งแทบทั้งหมดไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวไวรัสไข้หวัดนก อีกทั้งไม่ได้มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการในระดับซีอีโอ เหตุใดพวกเขาจึงสามารถจัดการกับวิกฤตไข้หวัดนกระบาดได้เองอย่างชาญฉลาด


หลายหัวดีกว่าหัวเดียว


ความเชื่อที่ว่าการตัดสินใจโดยคนจำนวนมากย่อมดีกว่าการมอบหมายให้คนคนเดียวตัดสินใจแทน แม้คนผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวแม้จะมีมาช้านาน แต่เพิ่งมาได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลกในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง


ความเชื่อนี้เองคือพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ผู้คนส่วนใหญ่ของโลกยอมรับว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด ไม่เพียงเท่านี้ ความเชื่อดังกล่าวได้ให้กำเนิดแก่แนวทางการบริหารจัดการสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่ล้วนเน้นการกระจายอำนาจ การทำงานเป็นทีม และการเรียนรู้ร่วมกันอีกด้วย ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีมานี้ เทคนิคการจัดการเหล่านี้ก็ได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริงโดยผู้คนต่าง ๆ มากมายทั่วโลก และครั้งแล้วครั้งเล่าก็ได้ให้ผลลัพธ์ที่พิสูจน์ว่าแนวคิดนี้เป็นจริง


ในขณะเดียวกันเอง เรายังพบการกระทำมากมายที่บ่งบอกว่า ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่ออยู่ดีว่าผู้นำหรือผู้ชำนาญที่มากด้วยความรู้ความสามารถตัดสินใจแทนส่วนรวมได้ดีกว่า


ภายใต้การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ผู้คนมากมายลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครที่ตนเองเชื่อว่ามีความรู้ความสามารถมากที่สุด เช่น เลือกบุชเพราะบุชเก่งกว่าแครี่ หรือเลือกทักษิณเพราะทักษิณเก่งกว่าชวน เป็นต้น


ในภาคธุรกิจก็เช่นกัน แม้จะมีการนำทฤษฎีการบริหารจัดการแบบใหม่มาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ทว่าในความเป็นจริง อำนาจการตัดสินใจในองค์กรส่วนใหญ่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่กับผู้บริหารเพียงไม่กี่คน และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ ซีอีโอเหล่านี้ก็ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนส่วนใหญ่ทั้งในและนอกองค์กร ทั้งนี้โดยดูได้จากชื่อเสียงและผลตอบแทนของพวกเขาที่แตกต่างจากพนักงานทั่วไปอย่างสิ้นเชิง


ทั้งนี้และทั้งนั้น กล่าวได้ว่า เรายังคงให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้ที่มากด้วยคุณวุฒิคุณสมบัติมาจัดการแทนเรา แทนที่จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการปัญหาร่วมกันด้วยตัวเอง ซึ่งก็เป็นที่น่าประหลาดใจ เพราะหากเชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่สามารถร่วมกันจัดการได้ดีกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ทรงคุณวุฒิไม่กี่คน ในทางตรงกันข้าม หากเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไร้ความสามารถ ถ้าเช่นนั้น พวกเขาจะคัดเลือกคนดีคนเก่งกันได้อย่างไร


ยิ่งในโลกที่มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังเช่นปัจจุบัน เป็นการยากยิ่งที่จะชี้ชัดว่า " ผู้นำกำหนดสถานการณ์" หรือว่า" สถานการณ์กำหนดตัวผู้นำ" หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำเก่งหรือเฮงกันแน่ และต่อให้ได้ผู้นำที่ปรีชาสามารถจริง ก็มิได้หมายความว่าความสำเร็จของเขาในอดีตจะการันตีความสำเร็จในอนาคตได้



ท้าพิสูจน์หลายหัวกับหัวเดียว


แท้ที่จริงแล้ว ความเป็นไปได้ที่สังคมจะสามารถร่วมกันจัดการกับปัญหาได้ดีกว่าให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการแทนนั้น มีสูงกว่าการค้นพบคนเก่งตัวจริงที่สามารถจัดการได้ดีกว่า


รายการเกมเศรษฐีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในไทยนี้ เป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากรายการโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า " ใครอยากเป็นเศรษฐีเงินล้าน" ในเกมนี้ เพื่อรางวัลมูลค่า 40 ล้านบาท ผู้เข้าแข่งขันจะต้องตอบคำถามโดยเลือกคำตอบที่ถูกต้องจากคำตอบทั้งหมดสี่ข้อ


หากไม่ทราบคำตอบผู้แข่งขันมีสิทธิที่จะเลือกทำได้ 3 อย่าง คือ 1.ตัดคำตอบที่ผิดออกไป 2 ข้อ ทำให้โอกาสตอบถูกเพิ่มขึ้น เป็น 50/50 2. ถามผู้รู้ที่ผู้แข่งขันเป็นคนคัดสรรมาเอง 3. ขอดูสถิติของผู้ชมในห้องส่งส่วนใหญ่ว่าเลือกข้อไหน


คนส่วนใหญ่มักคิดว่าทางเลือกที่สองหรือพึ่งผู้รู้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะโดยสถิติแล้ว ผู้รู้สามารถทายถูกเพียง 65% แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ในห้องส่งตอบถูกถึง 91%



ความสำเร็จของกูเกิล : หลายหัวดีกว่าหัวเดียว


บริษัทกูเกิลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 ในขณะนั้น บริษัทยาฮูคือผู้ที่ครองตลาดเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีกูเกิลก็กลายเป็นเว็บค้นหาที่มีคนนิยมใช้มากที่สุดของโลก เนื่องจากประสิทธิภาพในการค้นหาข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้องตามความต้องการของผู้ใช้ที่สูงกว่าเว็บคู่แข่งทั้งหมด


เบื้องหลังความเก่งกาจของกูเกิลก็คือ สูตรการคำนวณชื่อ " เพจลิงค์" ที่ผู้ก่อตั้งกูเกิลคิดขึ้น ตัวแทนของกูเกิลอธิบายว่า " เพจลิงค์อาศัยเอกลักษณ์ของความประชาธิปไตยในเว็บไซต์" กล่าวคือ เพจลิงค์ถือว่าการคลิกจากหน้าหนึ่ง (เว็บเพจ) ไปยังอีกหน้าหนึ่งของผู้ใช้หนึ่งครั้งเปรียบเสมือนกับการลงคะแนนเสียงหนึ่งเสียง หน้าใดที่ได้รับคะแนนเสียงสูงก็จะถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญกว่าหน้าที่ได้คะแนนต่ำ หน้าที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดก็จะถูกจัดอยู่ในรายชื่ออันดับต้นของกูเกิล หรืออีกนัยหนึ่ง ประสิทธิภาพของกูเกิลเกิดจากความฉลาดของผู้คนส่วนใหญ่ไม่ใช่จากผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คน


หลายหัวฉลาดกว่าหัวเดียวเสมอ ?


แน่นอนไม่ใช่ทุกกรณีที่คนจำนวนมากจะเก่งกล้าสามารถกว่าคนที่เก่งที่สุด เช่น ไม่มีทางที่คนธรรมดา ๆ ร้อยคนจะสามารถผ่าตัดหัวใจได้เก่งกว่าแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคหัวใจ ในกรณีที่มีคำตอบอยู่แล้ว ผู้รู้คำตอบย่อมจัดการได้ดีกว่าผู้ไม่รู้


ทว่าในกรณีซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ยากที่ใครคนใดคนหนึ่งทราบคำตอบ หรือมีคำตอบมากมายเกินกว่าคนหยิบมือเดียวจะรู้คำตอบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ทีมไหนจะได้ครองถ้วยบอลยูโรเปียนคัพ ยอดขายครึ่งปีหลังนี้จะเป็นอย่างไร จะป้องกันการระบาดของไวรัสไข้หวัดนกครั้งหน้าที่อาจสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างไร วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่รอบหน้าจะเกิดเมื่อใด จะรับมืออย่างไร ฯลฯ ปัญหาที่ยากต่อการค้นหาคำตอบเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่คนจำนวนมากสามารถแก้ไขได้ดีกว่าซีอีโอกับผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้น


ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ความคิดเห็นของบรรดาท่านผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายไม่มีค่าควรรับฟัง ทว่าการตัดสินใจอันชาญฉลาดโดยผู้คนส่วนใหญ่จำต้องประกอบไปด้วยข้อมูลและวิจารณญาณส่วนตัวของแต่ละสมาชิกเสมอ


หลายหัวมีสิทธิ์โง่ได้ไหม ?


ได้ และเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย ทุกวันนี้สังคมแทบทุกระดับตั้งแต่ระดับกลุ่ม องค์กร ประเทศจนไปถึงระดับโลก ล้วนเต็มไปด้วยสารพัดการประชุมระดมสมองต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเดิม ๆ ที่ยังแก้ไม่ได้ บวกกับปัญหาใหม่ ๆ ที่พอกพูนขึ้นทุกขณะ ในแต่ละเวที วาระครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องการติดตามผลงานที่ไม่เคยเป็นไปตามแผนและเป้าที่เคยตั้งไว้ อีกครึ่งหนึ่งเป็นการกำหนดแผนงานและเป้าหมายใหม่ที่ไม่มีทางบรรลุเป็นจริง


ความชาญฉลาดของคนจำนวนมากจะเกิดขึ้นอยู่กับความหลากหลายเหตุปัจจัย แต่สิ่งสำคัญที่ขาดมิได้คือ 1.ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนและข้อมูล 2. ความเป็นอิสระของแต่ละสมาชิกในการตัดสินใจ 3.การกระจายอำนาจและข้อมูลให้กับสมาชิก


ในแทบทุกเวทีการประชุมที่มีอยู่ดาษดื่นเกินความจำเป็นเหล่านี้ ไม่ขาดคุณสมบัติที่กล่าวถึงข้อใดข้อหนึ่งก็ขาดเสียทุกข้อ


ความแตกต่างหลากหลายนั้นทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์จากข้อมูลและมุมมองของปัญหาที่ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม รวมทั้งทำให้สมาชิกกล้าออกความเห็น อิสระของสมาชิกในการตัดสินใจทำให้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาร่วมกันได้อย่างมีเหตุผล ป้องกันพฤติกรรมประเภทว่าไงว่าตามกัน และการกระจายอำนาจและข้อมูลนั้น ส่งผลให้สมาชิกสามารถใช้ข้อมูลที่มีทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการประสานงานกันเองได้โดยตรง ผู้ที่อยู่ใกล้ปัญหาที่สุดก็สามารถแก้ไขได้ตรงจุดและฉับไว



ทำอย่างไรเมื่อความสมานฉันท์กลายเป็น " สมานกับฉัน" ?


แน่นอนความเป็นเอกภาพสมานฉันท์เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนใหญ่ แต่หากมีมากเกินไป ก็จะมีแต่การประนีประนอมกันจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กระทั่งกลายเป็นการไม่ยอมรับการคิดต่างทำต่างของสมาชิก มีแต่การเชื่อฟังและทำตามกระแสตามผู้นำเท่านั้น เมื่อสภาพเช่นนี้เกิดขึ้น สังคมนั้นก็จะตกอยู่ในอันตรายจากพฤติกรรมสุดขั้ว หากสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นจะแก้ไขได้อย่างไร


นักจิตวิทยาเรียกสภาวะสมานฉันท์สุดโต่งนี้ว่า " การคิดแบบรวมหมู่ (GROUPTHINK)" ในการทดลองของนาย โซโลมอน แอช เมื่อ50 ปีที่แล้ว เขาได้ฉายภาพสไลด์จำนวน 12 ภาพให้แก่อาสาสมัคร 8 คนดู ทุกภาพเป็นภาพเส้นตรงแนวดิ่ง 4 เส้น หลังจากที่อาสาสมัครได้ดูรูปภาพพร้อมกันแล้ว พวกเขาจะต้องเปรียบเทียบเส้นตรงด้านซ้ายสุดของภาพกับเส้นตรงทางขวาอีก 3 เส้น และขานคำตอบทีละคนว่าเส้นตรงเส้นใดมีความยาวใกล้เคียวกับเส้นตรงด้านซ้ายมือมากที่สุด.


แท้ ที่จริงอาสาสมัคร 7 ใน 8 คนนั้นเป็นผู้ช่วยในการทดลอง มีแต่อาสาสมัครคนเดียวที่ต้องขานคำตอบเป็นคนสุดท้ายที่เป็นหนูทดลองตัวจริง อาสาสมัคร 7 คนนี้ถูกสั่งให้ขานคำตอบที่ผิดคำตอบเดียวกัน ในที่นี้คือให้ตอบว่าเส้นที่ยาวใกล้เคียงกับเส้นตรงฝั่งซ้ายมือเป็นอันดับสองเป็นเส้นที่ยาวใกล้เคียงที่สุด หนึ่งในสามของผู้ถูกทดลองตอบผิดตามเสียงส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นคำตอบที่ผิด การทดลองนี้พิสูจน์ว่า การตัดสินใจของผู้อื่นมีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์อย่างยิ่ง


ในอีกการทดลองหนึ่ง นายแอชได้เปลี่ยนแปลงการทดลองเพียงเล็กน้อย กล่าวคือให้อาสาสมัครเพียง 6 คนขานคำตอบที่ผิด แล้วให้คนหนึ่งขานคำตอบที่ถูกต้อง ผลการทดลองก็เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ สัดส่วนจำนวนผู้ตอบผิดตามเสียงส่วนใหญ่ลดฮวบลงอย่างชัดเจน.


การทดลองชิ้นหลังนี้ชี้ว่า หนทางหนึ่งที่จะแก้ไขสภาพสังคมสมานฉันท์สุดโต่งนี้ได้ก็คือการเพิ่มปริมาณข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างหลากหลายให้กับสังคม



สรุป


ไม่นานนี้ ได้ปรากฏข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคระบาดไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในเว็บไซต์หลายแห่งทั่วโลก ข้อมูลนี้อ้างอิงมาจากหนังสือพิมพ์ชื่อโปซุน (Boxun) หนังสือพิมพ์เอกชนรายหนึ่งของจีน ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคมศกนี้ ที่ระบุว่า ในมณฑลชิงไห่มีผู้เสียชีวิตแล้วจากไวรัสไข้หวัดนกถึง 121 ราย ทั้งนี้ ทางการจีนยังคงยืนยันว่าไม่มีรายงานการระบาดของไวรัสไข้หวัดนกสู่คนในพื้นที่ดังกล่าว มีแต่การพบเชื้อไวรัสนี้ในห่านป่าเท่านั้น


หากรายงานการเสียชีวิตของผู้คนในมณฑลชิงไห่นี้เป็นจริง ก็เท่ากับว่าคงเหลือเวลาอีกไม่นานนักที่โลกจะต้องประสบภัยพิบัติโรคระบาดครั้งรุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และหมายความว่า มหันตภัยไข้หวัดนกรอบสามกำลังคืบคลานมาสู่สังคมไทย บทเรียนที่ได้จากการต่อสู้กับไวรัสไข้หวัดนกครั้งก่อนสอนเราว่า เราควรพึ่งพาความชาญฉลาดของพวกเรากันเองดีกว่า



*** ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่


*** ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nokkrob.org