Skip to main content

มาฆบูชา : มองธรรมะกับการเมือง

คอลัมน์/ชุมชน

วันมาฆบูชาปีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานวันมาฆบูชา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายประสานงานหลัก ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ถึง ๓ มีนาคม ๒๕๕๐ มีตักบาตรตอนเช้า การปาฐกถาธรรม อภิปรายธรรม เจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ ๙๙๙ รูป เวียนเทียน ลานปฏิบัติธรรม ฯลฯ ขอเชิญพุทธศาสนิกชน และศาสนิกชนทั้งหลายไปร่วมฝึกจิต เจริญปัญญา เพื่อสร้างโลกแห่งธรรมะกันโดยถ้วนหน้า


 


ท่าน ว.วชิระเมธีแห่งวัดเบญจมบพิตร ได้เมตตามอบหนังสือ "ธรรมะกับการเมือง" ของท่านพุทธทาสภิกขุให้ดิฉันตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙ ดิฉันเห็นว่า สัปดาห์มาฆบูชาเป็นโอกาสมงคลที่จะเชิญชวนชาวไทยหันมามองการเมืองกันให้ถูกต้อง เพื่อนำตน นำสังคม ไปให้พ้นจากวิกฤติ ขอให้ท่านที่สนใจหาหนังสือ[1] ฉบับนี้มาอ่านฉบับเต็ม


 



 


คำชี้แจงของหนังสือเริ่มต้นว่า "มันไม่เป็นการง่ายที่จะทำให้บุคคลทั้งหลายมองเห็น จนยอมรับว่า การเมืองที่บริสุทธิ์และถูกต้องนั้น แท้จริงคือธรรม" ในความหมายที่เป็น "หน้าที่" ที่มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้จะต้องรู้และยอมรับ เพื่อปฏิบัติตนให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ อันเป็นระบบปกครองของธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ใครปฏิบัติถูกต้องตามกฎ ก็จะได้รับรางวัล และรอดตัว ใครปฏิบัติผิด จะได้รับโทษอย่างสาสม โดยไม่มีการยกเว้น ฉะนั้นทางรอดจึงมีทางเดียว คือการรู้จักและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาตินั้น โดยไม่ต้องอ้อนวอนหรือร้องขอให้ใครช่วย กฎนั้นมีชื่อ อิทิปปัจจยตา เป็นกฎที่เฉียบขาดดุจดังเป็นพระเจ้า


 


ถ้าท่านมองเห็นได้ตามความจริงว่า ธรรมะกับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ แยกกันเมื่อไรก็กลายเป็นเรื่องอุปัททวะจัญไร ทำลายโลกขื้นมาทันที แล้วเห็นเป็นการจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นการเมืองที่แท้จริงของมนุษย์ โดยตั้งอยู่บนรากฐานของทุกศาสนาที่มีอยู่ว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด – แก่ – เจ็บ – ตาย – ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว" นักการเมืองที่มีธรรมสัจจะข้อนี้อยู่ในใจเขาก็จะเป็นนักการเมืองโพธิสัตว์ การเคลื่อนไหวของเขาทุกระเบียดนิ้ว มีแต่บุญกุศล จนกระทั่งกลายเป็นปูชนียบุคคลไป ผลที่ได้รับคือ สันติภาพถาวรของโลก ซึ่งกำลังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบันนี้


 



 


บทแรกของหนังสือเล่มนี้ คือเรื่อง "การเมืองกับธรรมะ" ท่านพุทธทาสชี้ว่า "บางคนอาจสงสัยว่าการเมืองจะเป็นธรรมะได้อย่างไร" ข้อนี้ต้องทำความเข้าใจกันให้ถึงที่สุด ในคำว่า "การเมือง" เสียก่อน โลกในปัจจุบันนี้ไม่มีความสงบสุข เพราะเหตุที่สิ่งที่เรียกว่า "การเมือง" ไม่เป็นไปอย่างถูกต้องในโลกนี้ เป็นข้อใหญ่ที่สุด


 


ความหมายของการเมือง คือ การจัด การทำ ให้คนที่อยู่กันมาก ๆ นั้น อยู่กันด้วยสันติสุข ด้วยความสงบสุขอย่างแท้จริง นี่คือความหมายของการเมืองที่ถูกต้องบริสุทธิ์


 


แต่ถ้าความหมายของการเมืองไม่ถูกต้อง ไม่บริสุทธิ์ มันก็กลายเป็นเรื่องคดโกง เรื่องเอาเปรียบกันระหว่างคนหมู่มากนั่นเอง


 


เรื่องของมนุษย์ เรื่องของโลก หรือว่าเรื่องของประเทศ เรื่องของสังคม แม้แต่ว่าหมู่บ้าน กระทั่งในวัด ในเรือนของท่านแต่ละคนนั้น มันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ ไม่รับผิดชอบ  ฉะนั้นถ้าพูดอย่างพุทธบริษัทก็ต้องพูดได้ว่า โลกนี้มันมีประโยชน์แก่เรา เพราะเราได้เกิดมาในโลกนี้ ต้องกตัญญูกับมัน ต้องช่วยให้มันดีขึ้น พุทธบริษัทมีเหตุผลกว้าง ๆ อย่างนี้ ที่ทำให้ต้องสนใจในสิ่งที่เรียกว่า "การเมือง"


 



 


มาดูถึงพุทธภาษิต เราเป็นพุทธบริษัท อิงอาศัยพุทธภาษิตอยู่เสมอ


๑.      พุทธภาษิตที่เกี่ยวกับพระองค์เอง "ตถาคตเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมหาชน ของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์" ทั้งเทวดาและมนุษย์ยังมีปัญหา ยังต้องการธรรมะอยู่ พุทธบริษัทจึงสนใจต่อทั้งเทวดาและมนุษย์ในฐานะที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหา


๒.      บุรุษอาชาไนยเกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ไม่ใช่เพื่อตนเอง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากเรื่องการเมืองแต่ต้องเป็นการเมืองที่บริสุทธิ์ ประสบอยู่ด้วยธรรมะ ไม่ใช่การเมืองที่เพิ่งมาเปลี่ยนรูปเป็นอุบายสำหรับคดโกง เอาเปรียบผู้อื่น


๓.      พุทธภาษิตที่ตรัสถึงประโยชน์ เมื่อเห็นประโยชน์ตนก็ทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เมื่อเห็นประโยชน์ผู้อื่นก็ทำประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เมื่อเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือทั้งตนและผู้อื่น ก็พึงทำประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท นี้ก็คือ ให้นึกถึงผู้อื่นด้วยเสมอไป คือนึกถึงทุกคน นั่นก็คือเรื่องปัญหาทางการเมือง คือปัญหาร่วมกันของสังคมนั่นเอง จะต้องช่วยปลดเปลื้อง


 


ธรรมะนี้ตรัสเพื่อให้ช่วยกันรักษาเข้าไว้ เพื่อประโยชน์ความสุขเกื้อกูล ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ เช่นเรื่องโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้น เพื่อประโยชน์ว่าจะช่วยกันรักษาไว้ให้ตั้งอยู่เป็นหลักพระศาสนา หรือเป็นพรหมจรรย์อย่างมั่นคง เพื่อประโยชน์แก่ทั้งเทวดาและมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อตัวใครคนใดคนหนึ่งหรือเพื่อตัวผู้ปฏิบัติธรรมคนนั้นคนเดียว


           


ขอให้ช่วยจำไว้ด้วยว่า     ธรรมะหรือพระศาสนานี้


            ไม่ใช่เพื่อตัวใครตัวมัน     ให้ถือเอาประโยชน์ของโลกทั้งโลก


            ทุกคนต้องหวังดีต่อโลก   ต้องช่วยแก้ปัญหาในโลก


นั้นคือการเมือง คือการจัดโลกให้มันถูกต้อง ให้มันสงบสุข หรือจัดความเป็นไปในประเทศ  ให้มันถูกต้องและมีความสงบสุข เล็กเข้ามาจะเป็นเรื่องหมู่บ้าน หรือบ้านหลังคาเดียว  มันก็เรื่องการเมืองนั่นแหละ


 


ขอข้ามมาถึงบทสุดท้าย ท่านพุทธทาสพูดไว้ว่า ปัญหาเฉพาะหน้าของมนุษย์ปัจจุบันที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง คือพลโลกเพิ่มขึ้นโดยเร็วทำให้ขาดศีลธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในหมู่สงฆ์นี้เมื่อยังมีจำนวนน้อย ก็ยังไม่เป็นไร พระภิกษุสงฆ์หนาแน่นขึ้นมา คือ มีจำนวนมากนี่ สิ่งที่เป็นอุบาทว์ สิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดกิเลส อาสวะ มันก็แสดงออกมากขึ้น เพราะความที่มันมากจนคุมไม่ไหว


 


ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับคนล้นโลก


๑.      ยิ่งคนแน่นโลก ยิ่งต้องมีศีลธรรมให้จริงจังยิ่งขึ้น


๒.      ระบบการเมืองที่ดีที่สุด เหมาะที่สุดกับมนุษย์คือ ระบบประชาธิปไตย แบบธัมมิกสังคมนิยม อย่างเผด็จการ คือ เผด็จการโดยธรรม โดยความเมตตากรุณา มีธรรมะเป็นหลัก ทำให้ทุกคนเหมือนกันหมดได้ เสมอกัน ความคิดเห็นเสมอกัน การปฏิบัติเสมอกัน ก็อยู่กันสบาย สังคมนิยมคือเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น ต้องรับใช้สังคมเหมือนกับรับใช้พระเจ้า


๓.      ยิ่งพลโลกมากขึ้นเท่าไร ยิ่งต้องสร้างเมตตาธรรมมากขึ้นเท่านั้น จนหายใจเป็นเมตตา มหาเมตตา บรมเมตตา ให้จบลงด้วยประโยคที่สำคัญที่สุด ทำให้เป็นรากฐาน ของศีลธรรมในพระพุทธศาสนาว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น"


๔.     การคุมกำเนิดมี ๒ อย่าง คือ คุมกำเนิดทางกายและควบคุมทางจิต มีกำลังจิตเพียงพอที่จะควบคุมตนเอง ควบคุมทางศีลธรรม ได้ผลดีทั้งทางกาย ทางจิตและวิญญาณ ร่างกายก็ไม่ทรุดโทรม จิตก็เข้มแข็งเป็นปรกติ สติปัญญา ความคิดเห็นก็ดีกว่าคนที่เป็นทาสกามารมณ์


ความเจริญที่เรียกว่า Civilization ของโลกปัจจุบันนี้ ไม่มีอะไรเลย นอกจากส่งเสริมเหตุปัจจัยของกามารมณ์ คนก็เกิดมาก ต้องคุมด้วยวิธีที่โง่เขลา เพิ่มบาปอีกด้านหนึ่ง รู้จักคุมกำเนิดทางศีลธรรมก็ดี ทำให้โลกคงมีศีลธรรมอยู่ได้


๕.     ช่วยกันคิดค้น ระบบกิน ระบบใช้ ระบบเป็นอยู่ ที่ไม่ส่งเสริมกามารมณ์ ช่วยให้ศีลธรรมดี ให้มีการกินอยู่อย่างถูกต้อง ตามธรรมชาติและประหยัด


๖.      อยู่อย่างเป็นธรรมชาติให้มากขึ้น เราพัฒนาผิดทาง ทำให้เสียทรัพยากรในโลกมากเกินไป ได้ผลน้อย ทำให้คนไกลธรรมชาติ เครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง เป็นโทษอย่างยิ่ง มันมากเกินไป  มันเร็วเกินไป ทำให้คนไม่มีงานทำ ทำให้เกิดนายทุน


อยู่กันอย่างโบราณเถอะ อย่าอยู่กันอย่างสมัยใหม่เลย ความเจริญมันทำร้ายตัวเองร่ำไป ไม่มีความสงบสุข ตามใจกิเลสเสียมากกว่า


๗.     การศึกษา จะช่วยให้มนุษย์กลัวบาป รักบุญ แล้วก็มีศีลธรรม การศึกษาที่มุ่งให้โลกมีความสงบได้ ต้องมุ่งการศึกษาเช่นนั้นแหละ


๘.     เรามีวิทยาการก้าวหน้าในทางทำลายทรัพยากรของโลกมากเกินไป อะไรๆที่มันมีค่าอยู่ในแผ่นดิน ในโลก ถูกเอาขึ้นมาทำลายมาก และเร็วเกินไป ตามความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมกิเลส ทำให้โลกมันยุ่ง เอามาทำอาวุธประหัตประหารกัน ที่เป็นไปเพื่อความถูกต้องหรือจำเป็น มีน้อย ที่ไม่จำเป็นเพื่อส่งเสริมกามารมณ์ สนุกสนาน เป็นส่วนใหญ่


 


ขอให้พลเมืองไทยและนักการเมืองทุกระดับชวนกันอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อเปิดดวงตา และปัญญาให้สว่างไสวทั่วกัน        






[1] จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ บริษัทตถาตาพับลิเคชั่น จำกัด  จัดจำหน่ายโดย สายส่งสุขภาพใจ บริษัทบุคส์ไทม์ จำกัด 


โทร ๐-๒ ๔๑๕-๒๖๒๑  , ๐-๒๔๑๕-๖๕๐๗  โทรสาร ๐-๒๔๑๖-๗๗๔๔