Skip to main content

อากาศวิกฤติ

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อตอนเช้าวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม ผมรู้สึกประหลาดใจกับท้องฟ้าสีมัวๆ แดงๆ เหมือนคลุมด้วยควันไฟ คิดเพียงว่า คงเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนเท่านั้น มาได้ฟังข่าวในวันนั้นจึงได้รู้ว่า นี่คือมลภาวะชนิดฉับพลัน ที่เกิดขึ้นกับหลายจังหวัดในภาคเหนือ ไล่ตั้งแต่ลำปาง เชียงใหม่ ไปจนถึงเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงใหม่ และอำเภอรอบนอก น่าจะอาการหนักกว่าที่อื่น


 


ตามข่าวบอกว่า สาเหตุหลักเกิดจาก ไฟป่า การเผาขยะ และควันท่อไอเสีย ประกอบกับลักษณะของพื้นที่ที่เป็นแอ่งกะทะ เมื่อมีมวลอากาศแผ่มาปกคลุม ควันก็ลอยไปไหนไม่ได้ ต้องรอให้ฝนมาชะล้างออกไป แต่ครั้นจะทำฝนเทียมก็ยังต้องรอสภาพอากาศที่เหมาะสม


 


สภาพดังกล่าวเริ่มเป็นมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมแล้ว คนที่สัมผัสความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้เร็วที่สุดไม่ใช่ประชาชนคนไทยหรอกครับแต่เป็น นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะเหตุผลหลักประการหนึ่งที่เขามาเที่ยว หรือย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ก็ด้วยสภาพอากาศและบรรยากาศที่ดี  พออากาศเริ่มแย่ลงกระทันหัน จู่ๆ ฝุ่นควันก็คลุ้มเต็มเมือง ไปไหนมาไหนก็รู้สึกแน่นหน้าอก แสบตา หายใจไม่สะดวก เขาก็ย่อมสำเหนียกถึงความไม่ปกติได้ทันที ฝรั่งเขาไวกับเรื่องพิษภัยทำนองนี้อยู่แล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา คือนักท่องเที่ยวหลบลี้หนีหายไปเกือบจะหมดเมือง ส่วนชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่อยู่เชียงใหม่เป็นการถาวร ก็ต้องเป็นฝ่ายออกมาถามว่า ภาครัฐจะแก้ปัญหาหรือรับผิดชอบกับเรื่องนี้อย่างไร พวกเขาย้ายออกจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ที่นี่แล้ว ไม่ทราบอยากจะให้ย้ายกลับหรือเปล่า


 


ผู้บริหารบ้านเมืองที่ไม่ค่อยจะฟังชาวบ้านที่เป็นคนไทย จะสนใจฟังชาวบ้านที่เป็นคนต่างชาติเหล่านี้บ้างหรือไม่ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมเสียที


 


ว่ากันถึงสาเหตุนั้น "พลเมืองเหนือ" นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของเชียงใหม่ รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มี "ไฟป่า" เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือเป็นจำนวนครั้ง ที่มากกว่าปีที่แล้วถึงสองเท่า กินพื้นที่เกือบ 2,500 ไร่ ความแห้งแล้งที่มาเยือนตั้งแต่ต้นปี เป็นเสมือนลางบอกเหตุว่า ปีนี้ไม่ได้วิกฤติแค่น้ำเท่านั้น อากาศก็พลอยวิกฤติไปด้วย ถามว่าเรื่องนี้ป้องกันแก้ไขได้แค่ไหน ก็คงต้องบอกว่า ยาก เพราะไฟป่ามักจะมาพร้อมความร้อนแล้ง สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้าง


 


สาเหตุที่เกิดจากธรรมชาตินั้นยากจะจัดการ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สาเหตุที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์อย่าง การเผา การใช้เครื่องจักรต่างๆ นั้น ถึงแม้ดูเหมือนน่าจะควบคุมจัดการได้ แต่ผมว่า อาจจะยากกว่าจัดการไฟป่าด้วยซ้ำไป


 


ผมเองมีชีวิตประจำวันอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ห่างเขตเทศบาลแค่ไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งอันที่จริงก็เชื่อมต่อด้วยถนนเดียวกัน แต่ก็ถูกกั้นด้วยป้าย "ห้ามนำขยะนอกเขตเทศบาลมาทิ้งในเขตเทศบาล" ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงต้องจัดการขยะด้วยการเผา หรือไม่ก็ฝัง แต่เป็นที่รู้กันว่า วิธีแรกเป็นที่นิยมกว่าวิธีหลัง เนื่องจากง่ายกว่า สะดวกกว่า บ้านไหนๆ ก็ตามที่อยู่นอกเขตเทศบาล การจัดการกับขยะด้วยการเผา เป็นเรื่องปกติธรรมดา หลายบ้านที่อยู่ติดถนน ไม่มีที่พอจะฝัง เขาเผาขยะที่หน้าบ้านด้วยซ้ำไป จะห้ามไม่ให้เผา ก็ไม่ทราบจะให้จัดการอย่างไร


 


ผมเองก็เคยจัดการด้วยการเผาอยู่พักหนึ่ง แต่เปลี่ยนเป็นฝังมาหลายเดือนแล้ว เพราะไม่อยากสะสมสารพิษให้ตัวเอง


 


ครัวเรือนรอบเชียงใหม่- ลำพูน ที่อยู่นอกเขตเทศบาล มีจำนวนเท่าไรละครับ เผากันวันละกี่กอง กี่กิโลกรัม จะให้เขาเหล่านั้นทำอย่างไร หรือ มีวิธีที่ดีในการจัดการขยะก็ช่วยชี้แจงมาที ขอความร่วมมือกันง่ายๆ ว่า "ให้งดเผาขยะ" น่ะ ทำไม่ได้ง่ายๆ นะครับ


 


ส่วนเรื่องของควันไอเสียจากเครื่องจักรนั้น ถ้าพยายามมองในแง่ดีคือ ตอนนี้นักท่องเที่ยวหนีหายไปเยอะแล้ว ควันรถก็เลยน้อยลงไปด้วย เหลือแต่ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมแถวนิคมลำพูนที่ก็คงให้ปล่อยลอยละล่องต่อไป ไม่รู้จะมีใครเข้าไปจัดการอะไรบ้างหรือเปล่า


 


ความจริงของเรื่องนี้ก็คือ มีการเตือนภัยจากคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาหลายปีแล้วว่า การเพิ่มจำนวนของยานพาหนะส่วนตัว จะเป็นตัวเร่งให้ให้วิกฤติด้านสภาพอากาศในเมืองเชียงใหม่มาถึงเร็วยิ่งขึ้น เพราะสภาพภูมิประเทศแบบแอ่งกะทะของเมืองเชียงใหม่นั้น หากมีควันหรือไอเสียถึงจุดหนึ่ง และมีสภาพอากาศที่ไม่สามารถถ่ายเทได้แล้ว เมืองใหญ่เชิงดอยสุเทพริมแม่น้ำปิงแห่งนี้ ไม่แคล้วต้องเผชิญอากาศเป็นพิษแน่ๆ


 


ทางเมืองเชียงใหม่ เขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรอกครับ ได้ดำเนินการทดลองระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็คงไม่ทันกับปริมาณยานพาหนะส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นมากมาย นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา งานพืชสวนโลก เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้านๆ คนให้มาเชียงใหม่ ปริมาณของขยะ ของเสีย สารพิษ มันต้องเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณอย่างเลี่ยงไม่พ้น ช่วงหนาวมันอาจจะไม่ส่งผล แต่พอเริ่มร้อน ไอ้ของเสียเหล่านั้นมันก็เริ่มแสดงพิษสงของมันออกมา


 


หลังงานพืชสวนโลกผ่านพ้นไป แม้จะไม่มีตัวเลข หรือการตรวจวัดว่า ปริมาณขยะหรือของเสีย หรือควันจากท่อไอเสีย เพิ่มขึ้นในเชียงใหม่สักกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ชาวเชียงใหม่และคนที่ต้องเข้า-ออกเชียงใหม่ ก็คงได้ตรวจสอบด้วยตัวเองแล้ว ล่าสุด ในวันที่ผมเขียนคอลัมน์ตอนนี้ (8 มี.ค.50) ทราบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ตอนนี้ในเชียงใหม่มีค่าอยู่ที่ 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากสูงกว่า 300 ไมโครกรัมต่อเนื่องกันเมื่อไร อาจต้องเสนอให้กรมควบคุมมลพิษออกประกาศภาวะฉุกเฉิน


 


โทษใครไม่ได้หรอกครับ เราทุกคนมีส่วนร่วมสร้างทั้งนั้น เหมือนเพลงของวงทีโบนนั่นไง


"ด้า ด้า ดัม เราทำ ทั้งหมด น้ำใส น้ำดำ เราทำ ทั้งหมด" ก็ได้แต่หวังว่า เหตุการณ์จะคืนสู่ปกติในเร็ววัน เพราะผมเองก็ต้องเข้าเชียงใหม่เป็นประจำ ล่าสุดที่ไป แม้จะสวมหมวกกันน็อค สวมแว่นกันแดดแล้ว ก็ยังรู้สึกเคืองตา แน่นหน้าอก มองซ้ายมองขวา รถมอเตอร์ไซค์เหมือนกันหรือแม้แต่คนที่ปั่นจักรยาน คนที่เดินถนน เขาก็ยังต้องสวมแว่น ต้องสวมที่ปิดจมูก ที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ข้างทาง เช็ดน้ำตากันป้อยๆ ก็มีให้เห็น


 


จะไปโทษธรรมชาติลงโทษไม่ได้หรอกครับ เราทุกคนมีส่วนที่ทำให้เกิดมลภาวะด้วยกันทั้งนั้น ช่วยกันสร้างก็ต้องช่วยกันรับไป