Skip to main content

เรื่องที่ควรใส่ใจเมื่อการทดลองไมโครบิไซด์ล้มเหลว

คอลัมน์/ชุมชน


 


ปลายเดือนมกราคมปี 2550 มีแถลงการณ์ออกมาจากองค์กรชื่อ คอนราด ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศยุติการดำเนินงานวิจัยระยะที่สามเพื่อพัฒนาสารไมโครบิไซด์ ที่พัฒนามาจากเซลลูโลส ซัลเฟต สำหรับใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในช่องคลอดผู้หญิง การตัดสินใจยุติดังกล่าวเป็นผลมาจากการค้นพบจากข้อมูลเบื้องต้นว่าเซลลูโลส ซัลเฟตอาจนำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีในผู้หญิงที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ 


 


งานวิจัยดังกล่าวดำเนินการทดลองในประเทศแอฟริกาใต้ เบนนิน อูกันดา และอินเดีย


 


ผลจากการยุติการทดลองของคอนราด มีผลทำให้องค์การ Family Health International – FHI ซึ่งกำลังดำเนินงานวิจัยในระยะที่สองที่เป็นขั้นของการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เซลลูโลส ซัลเฟตในประเทศในจีเรียต้องยุติเช่นเดียวกัน


 


ตอนท้ายของแถลงการณ์นี้ได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า จะยังคงยืนยันความมุ่งมั่นในการพัฒนาการทดลองศึกษาวิจัยเครื่องมือป้องกันต่างๆ ต่อไป เพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีกว่า 17.7 ล้านคนทั่วโลก และจำนวนผู้หญิงจำนวนกว่าพันคนที่ยังคงได้รับเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นทุกวัน สามารถใช้มันในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเอชไอวี


 


เรารับรู้ประสบการณ์ความล้มเหลวของการทดลองวิจัยจากประเทศอื่น แต่มีคนจำนวนไม่มากที่จะรู้ว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่ทดลองวิจัยเพื่อพัฒนาสารไมโครบิไซด์ ซึ่งได้ดำเนินการทดลองไปแล้วที่จังหวัดเชียงรายเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน ล่าสุดมีบริษัท สตาร์ฟาร์มา ประเทศออสเตรเลีย กำลังประสานงานผ่านสภากาชาดไทยและอยู่ระหว่างการขั้นตอนการขอคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านชุมชน ในการร่างโครงการศึกษาวิจัยไมโครบิไซด์ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ วีว่าเจล  ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2007 นี้


 


จากกรณีการยุติการดำเนินการทดลองวิจัยดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตกันในกลุ่มคนทำงานเอดส์แบบคนที่ชอบคิดฟุ้งกระจาย สืบเนื่องจากเนื้อหาบางตอนในคำแถลงที่อธิบายถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้น เหมือนกับพยายามสะท้อนให้เรา (ผู้อ่าน) รู้สึกราวกับว่าความยากลำบากในการศึกษาวิจัยการผลิตยาแต่ละครั้ง (ที่อาจมีหรือไม่มีเป้าหมายทางการค้าและผลกำไรแอบแฝง) มักถูกผู้ลงทุน นักวิจัย และแพทย์ หยิบยกเอาความยากลำบากในการวิจัยและการลงทุนมหาศาล มาเป็นข้ออ้างในการกำหนดราคายาและต้องการผูกขาดผ่านระบบสิทธิบัตร ซึ่งบริษัทผู้ผลิตยาส่วนใหญ่ล้วนมีสัญชาติมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาแทบทั้งสิ้น


 


แต่อีกด้านหนึ่งของล้มเหลว ทำให้เราหันมาฉุกคิดกันว่าการเฝ้ารอคอยผลสำเร็จของการทดลองประสิทธิภาพในการป้องกันของสารไมโครบิไซด์เพียงอย่างเดียว (และมีแนวโน้มว่าอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้) นั้น ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อของผู้หญิงในแต่ละวันให้ลดจำนวนลง หน่วยงานหรือกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมด้านการรณรงค์ป้องกันเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการศึกษาวิจัยสารไมโครบิไซด์ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ น่าจะใช้จังหวะนี้หันกลับมาทบทวนและคำนึงถึงการทำความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศ โดยเฉพาะการให้อำนาจการต่อรองเรื่องทางเพศแก่ผู้หญิง เพื่อให้พวกเธอเป็นผู้ตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายและมีทางเลือกในการดูแลชีวิตทางเพศของตัวเองได้


 


บางทีมันอาจสำคัญมากไปกว่าการมีหรือไม่มีสารไมโครบิไซด์เสียอีก เพราะหากวันใดวันหนึ่งโลกประสบผลสำเร็จในการทดลองสารไมโครบิไซด์ขึ้นมาจริงๆ แต่เมื่อสิทธิในการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ยังขึ้นอยู่กับผู้ชายหรือคู่ของผู้หญิงแทนที่จะมาจากผู้หญิงผู้เป็นเจ้าของร่างกาย แล้วเทคโนโลยีราคาแพงที่คิดค้นเพิ่มขึ้นมาจะมีประโยชน์อะไร หากผู้หญิงที่เลือกจะหยิบมันขึ้นมาจากชั้นวางในร้านสะดวกซื้อหรือตามร้านขายยา แล้วนำไปบีบหรือป้ายในช่องคลอดตัวเองมีเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นเอง


 


มันคงจะยิ่งแย่ไปอีกหากมันถูกนำไปวางสงบนิ่งอยู่ใกล้กับถุงอนามัยผู้หญิงหรือถุงยางอนามัยผู้ชายที่ยังไม่มีซองไหนได้ถูกฉีกเสียด้วยซ้ำ