Skip to main content

หัวอกครู

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้ (11 มีนาคม 2550) เป็นวันปิดคอร์สของเทอมสอง ว่าไปแล้วก็ครบสองภาคการศึกษาที่ได้มาสอนในเมืองไทย เวลาผ่านไปเร็วมากแผล็บเดียวครบสิบเดือนแล้ว (พ.ค.-มี.ค.) แต่รู้สึกเหมือนว่าไม่นานมานี้เอง อาจเป็นเพราะงานแยะ ทำให้นึกถึงตอนที่ไปสอนปีแรกที่มินเนโซต้า แป๊บเดียวสองภาคการศึกษาเช่นกัน ปีแรกนั้นต้องเตรียมสอนชนิดหลังชนฝาเลยทีเดียว ตอนนั้นอายุ 37 รู้สึกไม่เหนื่อยเท่าตอนนี้ ที่อายุ 43 วันนี้การเตรียมสอนทำให้เหนื่อยกว่าที่เคยเป็น


 


ในภาคการศึกษานี้มีอยู่สามห้องที่ต้องมีการนำเสนอรายงานง่ายๆ เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ มีเรื่องจะว่าตลกก็ตลก แต่น่าหนักใจก็หนักใจ เพราะภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของหลักสูตรนี้ แต่เด็กก็มีข้อผิดพลาดให้ได้ขำตลอด เอาเป็นว่ามาแบ่งปันกันว่าเกิดอะไรขึ้นและอย่างไร


 


เรื่องแรกคือเรื่องการออกเสียงคำ เช่น "such as" แปลว่า "อย่างเช่น" นักศึกษาท่านหนึ่งออกเสียงเป็น  "suck ass" เพราะเข้าใจผิดไปว่า เสียง ch ออกเสียงเป็น "" ได้เหมือนในคำว่า school อันนี้ผู้เขียนเจอเป็นครั้งที่สองในชีวิต ครั้งแรกเจอตอนที่สอนที่ ม. กรุงเทพ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นขำกลิ้งเพราะเป็นเด็ก ป.ตรี  มาคราวนี้เจอเด็ก ป.โททำเอง ไม่ขำแต่จุก ต้องรีบแก้ให้ทันที เจ้าตัวยังงงว่าผิดยังไง จนต้องอธิบายให้เข้าใจ เป็นความผิดที่มหันต์พอสมควร


 


การออกเสียงผิดในภาษาอังกฤษของคนไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกนักเพราะผู้เขียนก็ผิดเป็นประจำ สมัยเรียนเอก ผู้เขียนชอบออกเสียงเรียกผักกาดแก้ว (lettuce) ว่า "เล็ททูส" ซึ่งจริงๆ ควรเป็น "เล็ททัส" เป็นที่ขำกันมากมาย พอไปสอนฝรั่งก็ออกเสียงผิดเสียงถูก แต่ส่วนมากเป็นคำที่ไม่ใช้บ่อย อย่างไรก็ตามหลายหน ที่ต้องแก้ให้ฝรั่งออกเสียงภาษาของเขาให้ถูกต้องเช่นกัน อันนี้เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกัน มีบางครั้งที่เด็กอเมริกันทำใจไม่ได้ตั้งแง่กับผู้เขียน แต่พอชี้ให้ดูว่าหลักการออกเสียงต้องออกเสียงแบบนี้ ฝรั่งก็เงียบไปเช่นกัน เช่น often ฝรั่งหลายคนออกว่า  "อ๊อฟเท่น" ก็บอกเค้า ก็ผิดเป็นประจำได้เช่นกัน อันนี้ก็มีอะไรสนุกๆ ให้ขำกัน อันนี้เครียดไม่ได้ ต้องถือว่าคนทักคือครูเรา หวังดีกับเรา


 


ที่ผู้เขียนทนไม่ได้คือ คำว่า "examine" สองวันที่ผ่านมา นักศึกษาออกเป็น "อิ๊กแซมมายน์" ทั้งที่ต้องเป็น "มิน" หลายคนที่คุยกับผู้เขียนก่อนที่จะมีรายงาน ดูเป็นคนที่คล่องแคล่วว่องไว ฉะฉาน แต่พอเป็นเรื่องวิชาการแล้ว หายไปเลยทั้งที่น่าจะทำได้ มีข้อสังเกตว่าหลายคนไม่คิดพยายามหาการออกเสียงคำที่ไม่คุ้น หรือไม่มีการฝึกซ้อมก่อนออกมานำเสนอรายงาน ผู้เขียนไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นจึงค่อนข้างประหลาดใจอย่างที่นึกไม่ถึง


 


ประเด็นที่สองคือเรื่องของตัวภาษาที่เป็นประโยคๆ ย่อหน้าๆ อันนี้หลุดลุ่ยกระจุยกระจาย เป็นเพราะผู้เขียนบังคับว่าอย่าให้เป็นการ "ลอกและยกมา" จากต้นฉบับบทความภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้นศ. ถึงกับตึงเครียด เพราะลำพังจะอ่านบทความก็ยังเดือดร้อน อ่านไม่เข้าใจของใหม่ทั้งนั้น นี่อ่านแล้วยังต้องมานำเสนอในภาษาของตนเองอีก ถือเป็นเรื่องสาหัส แต่เพราะว่าเป็นการหัดเอาไว้ทำสาระนิพนธ์ในอนาคตจึงไม่มีใครกล้าเถียงและขอไม่ทำ


 


ประเด็นที่ชัดในจุดนี้คือเรื่อง การใช้ passive voice แบบไม่จำเป็นหรือผิดๆ เช่น The book is been with me. (ที่ถูกคือ The book is with me.) หรือใช้สกรรมกิริยาแบบผิดๆ เช่น I am interesting in your work. (ที่ถูกคือ  I am interested in your work.) หรือ แม้กระทั่ง I am impressive of your work. ( I am impressed by/with your work.) อันนี้อาจารย์บางคนเองก็ผิด ก็เป็นเรื่องขำๆ ให้เม้าท์กันได้ระหว่างเพื่อนร่วมงานกันเอง


 


นอกจากนี้ ที่ดุเดือดกว่านั้นคือ การนำเอาเนื้อเรื่องมาปะติดปะต่อกันโดยไม่เนียน เช่นพูดถึงเรื่อง ก. แล้วตัดวู้บมาเป็น ข. แล้วกลับไปเป็น ก. ใหม่ ไม่มีการต่อเนื่องที่เรียบและเนียน  เมื่อถามลึกๆ จึงสารภาพมาว่าอ่านต้นฉบับไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือหาแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเพื่อให้เกิดความเข้าใจ หลายคนชินกับการถูกป้อนจนไม่คิดช่วยตนเอง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้สอนอย่างผู้เขียนต้องให้ความสนใจมากกว่านี้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับผู้เรียนด้วยว่าจะใฝ่ดีแค่ไหนที่จะวิ่งมาถามมาคุย เพราะผู้เขียนเองก็มีเวลาให้นักศึกษาพบ หลายครั้งผู้เขียนก็นั่งเก้อคอยนศ. ด้วยซ้ำ


 


ผู้เขียนขอบอกว่า กว่านศ. เหล่านี้จะมาถึงผู้เขียนต้องผ่านปริญญาตรีมาก่อน การเรียนปริญญาโทเป็นแค่ปลายเหตุ ดังนั้นเมื่อโปรแกรมเปิดก็ต้องมีการรับนักศึกษา และตามระบบนั้นเราต้องให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา น่าเสียดายเมื่อเด็กมาจนถึง ป.โท ครูผู้สอนตรงนี้ต้องปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง ปูพื้นฐานใหม่ เรียกว่ารื้อแล้วปรับใหม่หมดปูใหม่  ว่ากันตามจริงแล้ว นักศึกษาต้องพร้อมที่จะเรียนมากกว่านี้เพราะผ่านระดับป.ตรี มา  และการคัดเลือกเข้า ป.โทคือการดูความพร้อมทั่วไปที่จะเป็นนักศึกษาป. โท โดยผู้ดำเนินการปริญญาโททั่วไปจะให้เครดิตว่าจบตรีมาแล้วน่าจะได้เรื่อง และพร้อมที่จะเรียนต่อไปได้


 


ดังนั้น ผู้สอนระดับป.ตรีน่าจะต้องทุ่มเทมากกว่านี้ในการสอนให้มีคุณภาพ ไม่ว่าศิษย์จะเป็นอย่างไรก็ต้องปั้นให้เป็นคนมีคุณภาพให้ได้ เพราะมิเช่นนั้นก็จะได้คนที่จบออกมาไม่มีคุณภาพ และต้องแจ้งให้ศิษย์รู้ศักยภาพของตนเองด้วย และหากมองลงให้ลึกลงไปก็คือ ครูระดับอนุบาล ประถม และมัธยมนี้แหละที่ต้องทำงานให้หนักขึ้นด้วยเช่นกัน ว่าไปแล้วน่าเห็นใจที่นิด้านี้ไม่สามารถสร้างนักศึกษาตั้งแต่ต้นได้เพราะไม่มีป. ตรี แต่มีภาระสร้างคนต่อเนื่อง (ตาม พ.ร.บ.ที่กำหนดไว้)


 


ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือที่จะถอดรหัสความรู้ที่เราเอามาจากฝรั่งและที่อื่นๆ ที่มากกว่านั้นไม่ใช่เรื่องของภาษา แต่เป็นเรื่องความวิริยะในการเล่าเรียน และความมุ่งมั่นที่จะให้ได้ความรู้ นศ. ควรต้องมีทั้งสองเรื่องนี้เป็นตัวตั้งพร้อมทั้งมีความซื่อตรงและจริยธรรมในการที่จะไม่ทุจริตในเรื่องต่างๆ และคนที่เป็นผู้สอนเองก็ต้องมีเมตตาต่อศิษย์และสอนอย่างเต็มที่ให้เหมาะสมกับความเคารพนับถือที่ศิษย์ได้มอบให้ ไม่คิดหวังในลาภสักการะในรูปแบบใดๆทั้งหลายทั้งสิ้น


 


วันนี้ผู้เขียนต้องขอบคุณที่ทำงานในสหรัฐฯ ที่สอนผู้เขียนให้มีความเป็นครูมืออาชีพ ต้องขอบคุณผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงนิด้าที่รับผู้เขียนกลับเข้ามาทำงานเพื่อช่วยกันสร้างพลเมืองรุ่นต่อๆไปให้มีคุณภาพ ได้แต่หวังว่าอนาคตคงจะดีกว่าวันนี้ ได้แต่หวังว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ท้อต่อความยากลำบากในการเล่าเรียนศึกษา


 


คงไม่หวังมากเกินไปหรอกกระมัง