Skip to main content

ว่าวพื้นบ้านภาคใต้

คอลัมน์/ชุมชน

ถ้าถามถึงเรื่องว่าวแล้วนั้น  คงไม่มีใครตอบว่าไม่รู้จักแน่นอน  โดยเฉพาะในสังคมท้องถิ่นที่นิยมเล่นว่าวกันอย่างกว้างขวางมาหลายชั่วอายุคน  และแน่นอนที่สุดว่าว่าวเป็นของเล่นที่นิยมเล่นกันทั่วโลกตั้งแต่เด็กๆ   ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่กันเลยทีเดียว แม้ว่าโดยแท้แล้วมันเป็นของเล่น  แต่ครั้งหนึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งในการวัดอุณหภูมิของอากาศบนท้องฟ้าของวงการวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ  ด้วย  หรือแม้แต่มีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ด้วยอีกเช่นกัน  แต่ในปัจจุบันโลกนิยมเล่นว่าวกันเพียงเพื่อความสนุกสนานและการแข่งขันเท่านั้น


           


ว่ากันเรื่องการเล่นว่าวพื้นบ้านภาคใต้


 


ชาวใต้นิยมเล่นว่าวกันเพื่อความสนุกสนานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว  กล่าวคือช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน  ว่าวที่นิยมเล่นกันในท้องถิ่นก็เป็นพวกว่าววงเดือน  ว่าวควาย  ว่าวนก  ว่าวปักเป้า  ว่าวอีลุ้ม  ว่าวปลา  ว่าวหลา (ว่าวจุฬา) ว่าวกระบอก เป็นต้น  ส่วนว่าวอื่นก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ว่าวจรเข้  ว่าวคน  และว่าวงู  แต่ถ้าเป็นว่าวที่นิยมเล่นกันมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นว่าวนกกับว่าววงเดือนเป็นแน่


 


อีกอย่าง  "นักเลงว่าว"  ชาวใต้นิยมเล่นว่าวแบบมีแอก  (ธนูว่าว)  ประกอบว่าวเพื่อประชันเสียงด้วยว่าว่าวตัวไหนมีเสียงแอกดังและไพเราะมากกว่ากัน  ผู้เล่นมักชักว่าวขึ้นในตอนบ่ายแล้วเก็บว่าวลงในรุ่งเช้าของวันถัดมา  ถือว่าว่าวตัวใดชักขึ้นไว้ค้างคืนได้นับว่าว่าวตัวนั้นเป็นว่าวที่ดี


 


กล่าวถึงการเล่นว่าวพื้นบ้านภาคใต้แล้ว  คนรุ่นก่อนจะนิยมเล่นว่าวขนาดใหญ่ที่มีความยาวของปีกประมาณ  3 – 4 เมตร ว่าวตัวใหญ่จึงต้องใช้คนส่งว่าวถึง  2 – 3  คน  และก็ใช้คนชักประมาณ 3 – 4 คน  เมื่อว่าวขึ้นสูงได้ตามต้องการแล้วก็มัดไว้กับต้นไม้ใหญ่  การเล่นว่าวพื้นบ้านภาคใต้ก็เป็นเช่นนี้


           


มารู้จักว่าวพื้นบ้านภาคใต้กันเถอะ


 


ว่าวบอก  (ว่าวกระบอก)  หรือว่าวรางหมูเป็นรูปแบบว่าวของเด็กๆ  ที่ทำได้ง่ายโดยใช้กระดาษ


สี่เหลี่ยมผืนผ้าพับเข้าหากันให้เป็นรูปทรงกล่องที่เปิดด้านที่ 4 ไว้  พับว่าวให้มีสัดส่วนเป็น 4 ส่วน  คือส่วนหลังกว้าง  2  ส่วน  และส่วนข้างด้านละ 1 ส่วน  ใช้เชือกผูกส่วนข้างทั้ง 2 ข้างไว้เป็น (สายพานทรง)บริเวณส่วนบน  ว่าวชนิดนี้ทำได้ง่ายเพราะไม่ต้องมีโครงว่าว  เหมาะอย่างยิ่งกับพวกเด็ก 


 


ว่าวนก  ว่าวชนิดนี้ได้รับความนิยมน้อยกว่าว่าววงเดือน  นิยมเล่นกันมากในจังหวัดพัทลุง  ลักษณะคล้ายนกกางปีกร่อนอยู่บนฟ้า  ส่วนหัวอาจทำเป็นรูปหางนกแผ่บานสวยงาม


           


ว่าววงเดือน  ว่าวชนิดนี้บ้างเรียกว่าวเดือน  หรือว่าวควาย  บางพื้นที่เรียก วาบูแล  (ภาษายาวี) ทั้งนี้เพราะมีรูปดวงจันทร์เป็นส่วนประกอบบริเวณลำตัวและหางเหมือนเขาควาย


 


ว่าวหัวควาย  ว่าวชนิดนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างว่าวหลา  (จุฬา)  กับว่าววงเดือน  แต่ได้เปลี่ยนส่วนที่เป็นรูปดวงจันทร์ให้เป็นรูปหัวควายแทน  และจะติดปีกไว้เหนือปีก  เพื่อให้เสียงดังเหมือนเสียงควายร้อง


 


ว่าวเป้า  (ปักเป้า)  ว่าวชนิดนี้แบบไม่มีหาง เรียกว่าวอีลุ้ม  มีลักษณะเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม้ไผ่ 2  ชิ้น  ผูกกันเป็นโครงว่าว  โดยปกติแล้วจะต่อหางเป็นแถบยาว  เด็กๆ  ชอบเล่น เพราะเล่นง่าย


 


การแข่งว่าวที่ภาคใต้ 


 


ว่าวที่ชาวใต้นิยมนำมาแข่งขันกันคือ ว่าววงเดือน (แบบไม่มีแอก) ใช้แข่งเพื่อดูว่าว่าวตัวไหนขึ้นสูงกว่ากันโดยการปล่อยว่าวด้วยเชือกที่มีความยาวเท่ากัน แล้วเอาไปผูกกับไม้ฉากที่ปักไว้บนพื้นดิน จากนั้นจึงดูว่าเชือกของว่าวตัวไหนทำองศากับไม้ฉากได้มากกว่ากันก็จะเป็นฝ่ายชนะ



การเล่นว่าวในภาคใต้ยังเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง สังเกตได้จากการจัดประเพณีการแข่งว่าวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมซึ่งมีอยู่ในเกือบทุกจังหวัดของภาคใต้



อย่างไรก็ตาม การเล่นว่าวพื้นบ้านภาคใต้ยังคงเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนานและผ่อนคลายจากการทำงานหลังฤดูเก็บเกี่ยวอยู่ดังเดิม


 



 


 



เครื่องมือวัดความสูงของว่าวแข่ง


 


 


 


วันแข่งว่าวที่แหลมสมิหลา สงขลา


 


 


ว่าวนก


 



ว่าวบอก (กระบอก)


 



ว่าวเป้า (ปักเป้า)


 



ว่าววงเดือน


 



ว่าวหัวควาย


 



รูปแบบของแอกว่าว (ธนูว่าว)


 

ต้นมีนา 50 – เกาะยอ-สงขลา