Skip to main content

อยากอยู่อย่างคนสูงอายุแบบมีคุณภาพ

คอลัมน์/ชุมชน

นักประชากรศาสตร์เตือนสังคมไทยมาหลายปีแล้วว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมาตอกย้ำในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ซึ่งคือฉบับที่ 10 (2550-2554) ว่าสังคมไทยกำลังมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้คนหนุ่มสาววัยทำงานต้องแบกภาระทางเศรษฐกิจเพื่อทำให้สังคมมีรายได้มากพอจะดูแลผู้สูงอายุได้ จึงต้องเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจให้คนมีงานทำมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ซึ่งหากยังเป็นระบบการผลิตแบบปัจจุบันคืออาศัยแรงงานราคาถูกเป็นตัวแข่งขันก็จะสู้ไม่ได้และจะทำให้สังคมไทยยิ่งย่ำแย่มากขึ้น เพราะรายได้ไม่พอเลี้ยงดูแม้แต่ตัวแรงงานเองให้มีคุณภาพ มิพึงต้องพูดถึงการดูแลผู้สูงอายุ


 


กลับมามองว่าปัจจุบันผู้สูงอายุไทยได้รับการดูแลอะไรบ้าง เห็นมีบ้านพักคนชราที่ดำเนินการโดยรัฐอยู่ไม่กี่แห่ง ในภาคเหนือเห็นมีที่เดียวที่เชียงใหม่ ดิฉันยังไม่มีโอกาสไปดูภาคอื่น หากเป็นในกรุงเทพฯ ก็พูดถึงกันแต่บ้านบางแค แสดงว่าไม่มีที่อื่นในกรุงเทพฯ นอกนั้นก็มีเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุเป็นรายเดือนๆ ละ 300 บาททราบว่าปีงบประมาณ 2550 นี้เพิ่มเป็น 500 บาท มีลดค่าเดินทางให้กรณีไปรถไฟ เครื่องบิน รถเมล์ สำหรับรถเมล์ไม่แน่ใจว่าลดให้กี่บาท หรือรถประจำทางระหว่างจังหวัด ระหว่างอำเภอลดให้ไหม ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ ลดไหม แต่หากคนสูงอายุบ้านเราดำรงชีวิตด้วยเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาทคงไม่มีปัญญาจะเดินทางไปท่องเที่ยวสันทนาการสร้างคุณภาพชีวิตในบั้นปลายได้หรอก บางคนยังต้องจมจ่อมอยู่กับการเลี้ยงหลานๆ ที่บรรดาลูกๆ ไปทำมาหากินในเมือง ไม่มีเวลาเลี้ยงดู ไม่มีสวัสดิการสถานรับเลี้ยงดูเด็กให้อยู่ใกล้ที่ทำงานพ่อแม่ ทำให้คนสูงอายุบ้านเราไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดที่จะมีชีวิตอย่างสุขสบาย สงบ สันติ แสวงหาความสุขจากแหล่งความรู้ แหล่งธรรมชาติต่างๆ ได้


 


ดิฉันเองเกรงว่าตนเองก็คงไม่มีชีวิตสูงอายุที่มีคุณภาพได้ หากสถานที่ต่างๆ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินเท้าที่ราบเรียบ ไม่มีกระถางต้นไม้ ไม่ปลูกต้นไม้ขวางทาง มีทางลาดให้เดินสะดวก มีทางม้าลายให้ข้ามอย่างสะดวก และคนขับรถมีสำนึกว่าสักวันหนึ่งตนเองก็ต้องใช้ทางม้าลายข้ามถนนบ้าง เพราะสะพานลอยฟ้าข้ามถนนไม่เอื้อต่อคนสูงอายุ คนพิการ เด็กและผู้หญิงท้องเลย คนขับรถเมืองไทยไม่เคยสนใจทางม้าลาย ตำรวจจราจรก็ไม่ค่อยสนใจจะดัดนิสัยคนขับที่ไม่ยอมจอดให้คนเดินข้ามถนนเลย ได้แต่ไล่ปรับคนที่ไม่เดินข้ามบนสะพานลอยฟ้า


 


สังคมไทยยังไม่เอื้ออาทรกับคนที่ยากลำบากกว่าจริงๆ  และหากดิฉันพอจะมีเงินเก็บอยู่บ้างก็คงไม่กล้าเอาออกมาเดินทางท่องเที่ยวสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้ตนเอง เพราะหากเขาจะลดค่าเดินทางให้ก็คงตั้งแง่ว่าลดให้เฉพาะรถโดยสารธรรมดานะ จะมาแย่งที่รถปรับอากาศ วีไอพี ไม่ได้ หรืออยากไปรถไฟตู้นอน  http://:www.railway.co.th/ticket/Knowticket.asp  เขาลดราคาตั๋วให้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ลดค่าธรรมเนียม ซึ่งมันเป็นภาระเหมือนกัน


 


มีข้อเสนอและงานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่กำลังทำการศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้คนออมเพื่อยามชราภาพ เพื่อเป็นบำเหน็จบำนาญให้กับตนเอง มีประชาชนส่วนน้อยที่มีระบบการสะสมจากส่วนหนึ่งของเงินเดือนแต่ละเดือนที่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้เป็นลูกจ้างกับนายจ้างที่จะสมทบเงินเพื่อการออมนี้ พูดง่ายๆ คือลูกจ้างยินยอมหักเงินเพื่อสะสม โดยมีนายจ้างร่วมสมทบเท่ากับลูกจ้างแต่นี่เป็นลูกจ้างที่มีรายได้ประจำ  ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่อยู่ในสถานะที่ออมได้ เพราะรายได้ที่มีอยู่ก็ไม่พอใช้พอจ่ายอยู่แล้วแถมมีหนี้สินอีกด้วย ดังนั้น มีความพยายามสนับสนุนให้มีการจัดทำกองทุนสวัสดิการในชุมชน ในชื่อแตกต่างกันไปเช่น กองทุนวันละบาท  เป็นต้น


http://www.hppthai.org/autopage/show_page.php?h=39&s_id=12&d_id=11 กองทุนนี้จะสามารถจัดสวัสดิการให้คนในชุมชนได้ รวมถึงสวัสดิการเมื่อชราภาพ แต่จากการศึกษาพบว่าคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังร่วมออมได้


 


จึงเป็นคำถามว่ารัฐต้องเป็นเจ้าภาพหลักที่จะดำเนินการให้มีการจัดสวัสดิการยามชราภาพให้ทุกคน โดยคำนึงถึงความทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม คือไม่ให้มีความแตกต่างกันมากนัก และเป็นสวัสดิการสำหรับคนชราทุกคน ส่วนคนที่มีเงินออม เงินสะสม ส่วนตัวอยู่แล้วและได้รับเป็นบำเหน็จ บำนาญ ก็ถือว่ามีโอกาสได้รับมากกว่าคนโดยทั่วๆ ไป อย่างน้อยควรมีเงินยังชีพแต่ละเดือนที่เหมาะสม มีสถานพักฟื้น สถานที่พักสำหรับคนชราที่ต้องการที่อยู่อาศัยและคนดูแล การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่สาธารณะ ในอาคารสถานที่  ในพื้นที่ท่องเที่ยว การลดค่าตั๋วเข้าชมต่างๆ หรือยกเว้นค่าเข้าชมในบางกรณี  เพื่อให้ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ ไม่มีการเผยแพร่ภาพผู้สูงอายุที่ต้องทรมานเพราะไม่มีที่อยู่ เจ็บป่วยเรื้อรัง แถมยังต้องเลี้ยงดูหลานอีกด้วย หวังว่าภาพต่างๆ เหล่านี้จะลดน้อยลงจนหมดไปจากสังคมไทย 


 


ดิฉันคิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง รู้จริงว่ามีผู้สูงอายุที่ทุกข์ยากลำบากในพื้นที่ดูแลของตน แต่ทำไมไม่มีการดำเนินการที่จะสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับคนเหล่านี้มากขึ้น เพราะนี่ต้องถือว่าเป็นการวางรากฐานให้ชุมชนเตรียมตัวเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุได้อย่างเป็นจริงที่สุด