Skip to main content

จากเอมี่ถึงโสกราตีส

วันหนึ่ง


คุณบังเอิญโชคร้ายได้พบปะและจำเป็นต้องนั่งสนทนากับคนคนหนึ่ง ซึ่งหลังจากพูดคุยกันได้สักพัก คุณก็ค่อย ๆ พบว่าคู่สนทนาของคุณเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา ช่างซักถาม อะไรต่อมิอะไรจากคุณอยู่ตลอดเวลา พูดง่าย ๆว่าทุกขณะที่คุณสนทนากับเขาหรือเธอ คู่สนทนาของคุณมีแต่คำถามและคำถามให้คุณต้องตอบอยู่ตลอดเวลา


 


ผมคิดว่า…ถ้าคุณยังเป็นปกติคนอยู่ ผมไม่จำเป็นต้องถามคุณ ผมก็สามารถตอบแทนคุณได้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร กับคนที่มีแต่คำถามและคำถามให้คุณต้องตอบ หงุดหงิด รำคาญ อึดอัด เบื่อและเซ็ง เซ็ง เซ็ง..ใช่หรือมิใช่ เพราะเรารู้สึกต่อมาอีกว่า เรากำลังถูกคุกคาม ไม่ต่างจากคนที่ทำความผิดอะไรสักอย่าง และกำลังตกเป็นจำเลยของสังคมให้ใครหน้าไหนก็ได้ มาตั้งคำถามและซักไซร้ไล่เรียง


 


ยิ่งถ้าเขาประเมินคุณค่าความเป็นคนของคุณ เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่าเขา และแลดูไม่มีอำนาจทางสังคมใด ๆ ให้คนยำเกรงบางที…คนประเภทนี้อาจจะตั้งคำถามเอากับคุณ ราวกับว่าคุณไม่ใช่คนที่มีเลือดเนื้อชีวิตจิตใจ แต่เป็นวัตถุสิ่งของอะไรสักอย่าง


 



"เอมี่ โชติรส ภาพจาก www.manager.co.th"


 


ดังเช่นกรณีทางสังคมเมื่อไม่นานมานี้


เมื่อเอมี่—โชติรส สุริยะวงศ์ ดาราสาววัยรุ่น ถูกสื่อมวลชนและเหล่าผู้พิทักษ์วัฒนธรรมของสังคมไทย กล่าวหาและโจมตีว่าเธอ เปิดเปลือยร่างกายเกินขอบเขตวัฒนธรรมอันดีงามของสังคม ผมจึงรู้สึกสงสารเธอเป็นยิ่งนัก ตอนที่เห็นเธอถูกเชิญมาสัมภาษณ์ออกทีวีอะไรสักช่องหนึ่ง แล้วถูกพิธีกรของรายการ ตั้งคำถามเอากับเธอ ราวกับว่าการทำความผิดทางวัฒนธรรมของกุลสตรีไทยของเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมการขายความงามของรูปร่างหน้าตาจากสังคมทุนนิยมบริโภคสมัยใหม่ ที่เปิดเปลือยเรือนร่างอันงดงามราวกับประติมากรรมวีนัสของเธอ ผิดที่ผิดทาง –ผิดกาละเทศะ เป็นความผิดของฆาตกรฆ่าล้างโคตร แทนที่จะตั้งคำถามในเชิงปกป้องและเมตตา เด็กสาวผู้ผิดพลาดต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่จงใจ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ แต่กลับวางท่าทีไปตั้งคำถามในเชิงรุกเอากับเด็ก ราวกับว่าตัวเองเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลกที่ไม่เคยทำความผิดบาปใดๆ


 


แต่ผมก็นึกเห็นใจและเข้าใจได้ว่า เงื่อนไขเวลาในการแข่งขันกันทำข่าวให้รวดเร็วฉับไวในวงการสื่อมวลชน โดยเฉพาะข่าวที่เป็นประเด็นร้อนทางสังคม คงจะทำให้พิธีกรท่านไม่มีเวลาคิด…ในการวางท่าทีที่ควรปฏิบัติกับเอมี่ ดังนั้น พิธีกรของรายการเองก็เลยต้องตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมการแข่งขันเร่งรีบ ชิงดีชิงเด่น ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมการขายสายเดียวกัน จากโครงสร้างทางสังคมแบบเดียวกัน อีกกรณีหนึ่ง ต่างกันก็เพียงแค่ตัวสินค้าเท่านั้นเอง


 


ในขณะที่เอมี่แลดูน่าสงสาร


พิธีกรที่ผมเคยชื่นชมและหลงรัก


กลับแลดูตกต่ำและน่ากลัวเหมือนนางยักษ์ใจร้าย


 


เรื่องนี้ทำให้ผมอดแอบคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากครอบครัวของเอมี่ เป็นครอบครัวของคนที่อยู่ในชนชั้นระดับผู้นำในสังคม  มีผู้ปกครองมีตำแหน่งหน้าที่การงาน อำนาจ บารมี เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์และบริวาร ถึงขั้นสามารถประกาศิตความเป็นความตายให้กับชีวิตคนได้อย่างลึกลับ ในสังคมแบบมือถือสากปากถือศีล จะมีคนกล้ามารุมทึ้งเธอถึงเพียงนี้หรือเปล่าหนอ…


 


เพราะเงื่อนไขทางสังคมที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้คนคนหนึ่งที่ชีวิตผิดพลาดต้องตกเป็นจำเลยของสังคม จะได้รับการปกป้องหรือเหยียบย่ำซ้ำเติม มันขึ้นอยู่กับสถานะทางชนชั้นและอำนาจทางสังคมของจำเลยเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ว่าจะถูกถีบลงนรกแล้วปิดฝาครอบมิให้ได้ผุดได้เกิด หรือถูกโอบอุ้มเอาไว้มิให้ใครหน้าไหนเข้ามาแตะต้อง


           


แน่ละ


เราไม่ชอบคนที่มีแต่คำถามและคำถามให้เราต้องตอบ เหมือนอย่างว่าเราเป็นจำเลยต้องโทษ เพราะคนเราทุกคนถ้าไม่โกหกตัวเอง เรามักจะมีเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของชีวิตที่ทำให้เราหวาดระแวง ไม่อยากให้ใครมาถามอย่างน้อยที่สุดก็ 3 เรื่อง


 


นั่นคือ – เรื่องที่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวที่เราหวงแหนไม่อยากให้ใครหน้าไหนมาแตะต้อง ราวกับสิ่งของสาธารณะ และเรื่องที่เราไม่รู้ ถึงแม้ความไม่รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งของเรา ไม่ใช่ความผิดของเราที่เราไม่รู้ แต่ก็ไม่มีใครมารับประกันได้ว่า ความไม่รู้ของเรา จะถูกคนที่ถามเรามองเราเป็นคนโง่ เปิ่น เชย ล้าสมัยและดูถูกเราหรือเปล่า


 


และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องที่เรารู้สึกว่า มันเป็นปมด้อยที่น่าอับอายในชีวิตของเรา เช่น สมัยที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม ผมกับน้องชายและน้องสาวทุกคน ต่างก็รู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยที่น่าอับอาย เพราะมีพ่อเป็นชาวบ้านที่มีอาชีพเป็นนักเลงการพนัน ซึ่งเป็นอาชีพที่สังคมข้าราชการที่รับเอาวัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย สืบต่อมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชจนถึงปัจจุบัน เขามองว่าเป็นลูกของคนที่ต่ำต้อย เช่นเดียวกับลูกของชาวไร่ชาวนาและกรรมกร


 


แต่กรณีของผมและน้อง ๆ ที่น่าสงสาร นอกจากจะถูกมองเป็นเด็กที่มาจากชนชั้นที่ต่ำต้อยแล้ว วัฒนธรรมที่เป็นทางการนี้ยังตั้งข้อรังเกียจอาชีพของพ่อ ถึงขนาดมิอาจยินยอมพวกเราให้กรอกชื่ออาชีพที่แท้จริงของพ่อลงในใบสมัครเรียนและสมุดพก แต่ได้รับการผ่อนผันในเชิงบังคับให้โกหกเขียนชื่ออาชีพของพ่อว่าค้าขาย


 


พวกเราบางคนจึงรู้สึกขมขื่นและอับอายมาก ๆ เวลาครูบาอาจารย์บางท่านที่มองความเป็นคนของเรา ด้วยสายตาแบบเจ้าขุนมูลนาย มองดูเราเป็นเพียงแค่ลูกตาสีตาสาที่ไม่มีคุณค่าอะไร แกล้งถามในชั้นเรียนท่ามกลางเสียงหัวเราะคิกคักและสายตาของเพื่อน ๆ ที่มองดูเราเหมือนสัตว์ประหลาดในสวนสัตว์ว่า


 


"นี่เธอ ถามจริง ๆ เถอะ  พ่อของเธอทำมาหากินด้วยอาชีพอะไรกันแน่ ค้าขายกันจริง ๆ หรือเปล่า"


 


ถ้าจำได้ไม่ผิดน้องสาวผมคนหนึ่งถึงกับร้องไห้โฮ กลับบ้านมาประกาศกับครอบครัวว่า ถ้าพ่อไม่เลิกอาชีพนี้ จะไม่ขอเรียนต่อสถาบันใดๆ ในประเทศนี้อีก


           


ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจ


คนที่มีแต่คำถามและคำถามจะล้มเหลวในการมีความสัมพันธ์กับผู้คน ครั้งหนึ่ง เมื่อผมได้รับเชิญไปเล่นดนตรีในสังคมราตรีที่ค่อนข้างหรูหราแห่งหนึ่ง ขณะนั่งจิบน้ำส้มคั้น รอคิวขึ้นไปเล่นกีตาร์และร้องเพลง ผมจะได้ยินเสียงขุ่นเขียวของผู้หญิงคนหนึ่ง พูดกับผู้ชายที่เพิ่งนั่งโต๊ะกับเธอ และเอาแต่ถามและถามเธอว่า คุณเป็นใครมาจากไหน ชื่ออะไร ทำงานอะไร อายุเท่าไหร่ ยังเป็นโสดหรือว่ามีครอบครัว ฯลฯ ด้วยประโยคสั้น ๆ ว่า


 


"นี่คุณทำงานสำรวจทะเบียนบ้านหรือเปล่าคะ?"


ก่อนจะผลุนผลันลุกขึ้นเดินปึงปังออกจากโต๊ะนั้นไป


           


ถ้าคุณเคยอ่านหนังสือ "โลกของโซฟี"


ของ โยสไตน์ กอเดอร์ที่เขียนถึงประวัติของปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน ในรูปของนวนิยายระหว่างเด็กสาวอายุ 14 ปีชื่อ โซฟี ผู้เรียนปรัชญาทางจดหมายกับครูที่ลึกลับที่มีนามว่า อัลแบรโต้ ในบทที่พูดถึง โสกราตีส นักปรัชญาสายสกุลเหตุผลนิยมยุคแรกจากกรุงเอเธนส์ ผู้มีชีวิตอยู่ในยุคก่อนสมัยคริสตกาลประมาณ 400 ปี


 


คุณจะไม่รู้สึกแปลกใจเลย ว่าทำไมคนแบบเรา ๆ ท่าน ๆ จึงไม่ค่อยชอบคนที่มีแต่คำถามและคำถาม เพราะโสกราตีสคือตัวอย่างที่เจ็บแสบที่สุดในโลกของคนที่ชอบตั้งคำถามกวนตีนมนุษย์และสังคม โดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใด ๆ ทั้งสิ้น จนต้องถูกบังคับให้ดื่มยาพิษ เพราะคำถามของโสกราตีส มักจะทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวตลกและงี่เง่า ทำให้คนต้องจนมุมและอับอายขายหน้า ว่ากันว่า แรก ๆ ผู้คนต่างก็ชื่นชมในการเป็นนักปรัชญาของเขา แต่พอนานวันเข้า ผู้คนต่างก็พากันจงเกลียดจงชังเขา โดยเฉพาะคนชั้นสูง


           


ทำไมและทำไม


โสกราตีสนักปรัชญาผู้ชอบใช้ชีวิตพูดคุยกับผู้คนในย่านชุมชนและตลาดในกรุงเอเธนส์ จึงเป็นคนชอบตั้งคำถามก่อกวนมนุษย์และสังคม เรื่องนี้เขาชี้แจงตัวเองด้วยเหตุผลที่คมคายสมศักดิ์ศรีของนักปรัชญาเหตุผลนิยมเอาไว้สั้น ๆ ว่า


"เพราะต้นไม้ในชนบทไม่สามารถให้ความรู้ข้าได้"


 


และที่สำคัญที่สุดเขาเป็นนักปรัชญาที่ประกาศตัวเอง เป็นวาทะที่เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ว่า


"สิ่งเดียวที่ข้ารู้นั่นคือข้าไม่รู้อะไรเลย"


 


และเป็นเพราะความรู้ที่ตระหนักว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลยนี่เอง ที่ทำให้เขาเป็นนักตั้งคำถามเกี่ยวกับมนุษย์และสังคมไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้น เมื่อเขาลามปามไปตั้งคำถามกับอำนาจรัฐ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ความยุติธรรมและความฉ้อฉลทุกรูปแบบในสังคม ปี 399 ก่อนคริสตกาล เขาจึงถูกกล่าวหาว่า "แนะนำพระเจ้าองค์ใหม่ และมอมเมาเยาวชน" และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกตัดสิน และถูกบังคับให้ดื่มยาพิษจากพืชที่ชื่อว่า เฮมล็อค


 


ผมอ่านเรื่องของโสกราตีสจบแล้ว ผมไม่นึกแปลกใจเลยที่อันแบรโต้ ครูผู้สอนปรัชญาทางจดหมายให้กับสาวน้อยโซฟีที่น่ารัก จะย้ำบอกกับโซฟีว่า


"คนที่น่ากลัวที่สุดคือคนที่ชอบตั้งคำถาม การตอบยังไม่น่ากลัวเท่า เพราะคำถามข้อเดียวอาจส่งผลสะเทือนกว่าคำตอบ 1,000 คำตอบ "


 


ใช่หรือมิใช่


กี่ร้อยกี่พันปีมาแล้ว


ตั้งแต่ยุคโสกราตีสมาจนถึงยุคปัจจุบัน


เราต่างก็ยังกลัวคนแบบโสกราตีส


โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล.


 


กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่