Skip to main content

เมื่อเมืองเชียงใหม่เหมือนคนใกล้ตาย

คอลัมน์/ชุมชน


ภาพจาก พลเมืองเหนือรายสัปดาห์


 


 


"...เขียนมาจากเมืองที่รถติดบ้าคลั่ง และควันพิษเติมความโหดร้ายก้าวร้าว


ซึมซาบลงไปในสายเลือดของผู้คนเมืองที่จำนวนรถมากกว่าผู้คน


 มีตึกรามบ้านช่องมากกว่าต้นไม้ทุกต้นรวมกัน


ยิ่งนานวัน ตึกเหล่านั้นก็ยิ่งสูงเสียดฟ้า


ความสูงของมันเป็นดรรชนีแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมของเมือง


เขียนมาจากเมืองที่บ้าคลั่ง


ใครว่าผู้อาศัยที่นี่ มีสิทธิ์ที่จะเลือกชีวิตที่ดีกว่า


แต่แท้จริง เราทุกคนมีสิทธิ์เลือกสิ่งเลวเกินกว่าที่เราจะคาดคิด"


 


พจนา จันทรสันติ


จาก "ห้วงลึก"


 


ผมหยิบ "จากห้วงลึก" หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของ พจนา จันทรสันติ นักเขียนนักคิดผู้ลุ่มลึกลงภายในจิตวิญญาณที่ผมชื่นชอบอีกท่านหนึ่งออกมาอ่านอีกครั้ง...


 


ปิดประตูหน้าต่าง หลบอยู่ในห้องอันทึบ


ในย่านไม่ไกลนักกับศูนย์ราชการ ที่ถูกประกาศว่าเป็นเขตอันตราย


 


ในวันที่เชียงใหม่- -เมืองทั้งเมืองนั้นเหมือนคนกำลังใกล้ตาย เหมือนกับว่าจู่ ๆ ชีวิตตื่นจากฝันแล้วพบว่าตัวเองนั้นกำลังอยู่ในนรกอันหม่นมัวปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษลอยคละคลุ้งไปทั่ว...


 


หรือว่าเรากำลังอยู่ในนรกบนดิน !!


 


มองไปทางไหน พบแต่ฟ้าหลัว อากาศนิ่ง แดดหม่น ต้นไม้ใบหญ้าซึมเซา ตะวันหมองเศร้าและผู้คนนั้นเล่าก็ดูเหมือนว่ามีชีวิตเหมือนไร้ชีวิตชีวา หายใจเข้าแต่ละครั้ง ก็ไม่กล้าสูดลมหายใจเข้าไปเต็มปอด ระบบภายในร่างกายดูอึดอัดขัดข้อง เพ่งมองไปข้างหน้าก็แสบตา ปวดแสบปวดร้อนจมูกริมฝีปาก  จนต้องหาหน้ากาก ผ้าปิดปากจมูกมาคาดผูกเอาไว้ ในยามที่ต้องเดินทาง ออกมาที่โล่งแจ้ง ไปตามท้องถนน...


 


"ทำไมเมืองอันเคยสงบงดงามต้องกลายสภาพเปลี่ยนเป็นเมืองแห่งควันพิษอย่างนี้ !?" เชื่อว่าหลายคนคงตั้งคำถามกันแบบนี้


 


และสาเหตุของมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นเล่ามันมาจากไหน !?...จากควันไฟ จากการเผาเศษขยะ เผาเศษหญ้าในที่โล่ง จากการเผาป่า จากควันเผาฟางข้าวในทุ่งนา จากการปล่อยอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม  จากควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จาก...ฯลฯ


 


หรือว่ามาจากความโลภของมนุษย์ ที่พยายามกอบโกยและเอาชนะธรรมชาติ ทว่าในที่สุดธรรมชาติก็ทนไม่ไหวเข้ามาจัดการกับมน


 


"ตึกสูงก็มีส่วนทำให้เกิดมลพิษเหมือนกันเน้อ" เสียงนักอนุรักษ์สาวคนหนึ่งชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่ง


 


เธออธิบายว่า ตึกสูงผุดเหมือนดอกเห็ด ผุดขึ้นบนเนื้อที่น้อยนิด แต่แออัดยัดเยียดผู้คนอยู่กันจนล้น แน่นอน นอกจากพวกเขาพากันแย่งชิงน้ำ แย่งชิงอากาศแล้ว  คนในกล่องแท่งคอนกรีตทั้งหลายยังช่วยกันก่อมลภาวะขยะและความหมักหมมมลพิษให้กับชุมชนเมืองอีกด้วย


 


"การสร้างทาง สร้างถนนที่ไม่มีวันเสร็จก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย ลองขับรถไปดูรอบนอกสิ รถวิ่งสวนทาง ฝุ่นละอองลอยคลุ้งจนแสบหน้าแสบตา อย่างถนนสายแม่ริม-แม่แตง-เชียงดาว นี่เห็นชัดเลยว่าแย่มาก ๆ ต้องทนกับฝุ่นละอองเป็นระยะทางกว่ายี่สิบกิโล" นักเดินทางคนหนึ่งโอดครวญ


 


"ไอ้พวกชอบเผาป่านี่แหละตัวดี นอกจากทำให้อากาศเสีย อากาศเป็นพิษแล้ว ยังต้องมาเปลืองงบประมาณในการดับไฟป่า ต้องเสียงบโดยใช่เหตุอีก" นักวิชาการป่าไม้คนหนึ่งฟันธงออกมาทันใด


 


"ไอ้พวกชาวเขานั่นแหละตัวดีหละ ชอบเผาป่าเผาไร่จนโล้นโล่งเตียน" เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เป็นปรปักษ์กับชาวเขามาตั้งแต่ต้น  ออกมากล่าวด้วยน้ำเสียงกร้าวก่อนพ่นลมหายใจโยนความผิดให้กับชาวบ้านบนดอยสูง


 


เดือดร้อนไปถึงพ่อเฒ่าชนเผ่าคนหนึ่ง จนต้องลุกขึ้นมาเถียง...


 


"อะหยัง ๆ ก็มาโทษหมู่เฮาว่าเป็นตัวทำลาย หื้อเป๋นคนร้ายตลอด เจ้าหน้าที่ก็ตั๋วดี ชอบจุดไฟเผาป่าเหมือนกั๋น วันก่อนเฮาก็หันลักจุดไฟเผาป่า จนเขาเล่ากันในวงเหล้าว่า ถ้าเจ้าหน้าที่บ่จุด ก็บ่มีงานทำ และก็บ่ได้งบมาดับไฟ" พ่อเฒ่าเคี้ยวหมากหยุบหยับ หยุบหยับ ก่อนปล่อยหมัดสวนกลับจนคนฟังทั้งฮาและอึ้งไปตาม ๆ กัน


 


ซึ่งเรื่องนี้เท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องไปสืบค้นกันดูอีกทีหนึ่ง


 


"มันแก้ไขไม่ได้หรอก ไอ้การไปวิ่งไล่ดับไฟ มันแก้ปลายเหตุ วันก่อนขึ้นเราไปแถวโป่งแยง-สะเมิง เห็นชัดเลยตั้งแต่บริเวณหน้าน้ำตกแม่สาขึ้นไปจนถึงใกล้ๆ สำนักงานดับไฟป่า ยังเห็น ไฟไหม้ป่าทั้งสองข้างทางจนป่าดำเป็นกำมะหยี่ ไม่เห็นช่วยได้เลย" เสียงคนผ่านบอกเล่าให้ฟัง


 


เมื่อพูดถึงชนเผ่า ในความเห็นของผม ไม่อยากให้เราเหมารวมว่าชาวเขานั้นคือผู้ผิด เหมือนเรามองแต่เหรียญด้านเดียว  แต่อยากให้แยกแยะและเข้าใจ เข้าถึงชีวิตจิตใจของมนุษย์ ของคนทั่ว ๆ ไป ว่ามีทั้งดี-เลว มีทั้งดีงามและเน่าเหม็นเหมือน ๆ กันหมดนั่นแหละ


 


"จริง ๆ แล้ว ปัญหานี้มันแก้ได้วิธีเดียวเท่านั้นแหละ" ปราชญ์ภูเขาคนหนึ่งเอ่ยออกมา ก่อนเพ่งมองออกไปเบื้องหน้า


 


"แก้ยังไงหรือลุง..."ผมเอ่ยถาม


 


"มันต้องแก้ที่จิตสำนึก รู้จักมั้ย จิตสำนึก หนะ..." เขาบอกย้ำให้ฟัง ให้ครุ่นคิด...


 


จิตสำนึก...คงใช่ ปัญหานี้คงต้องเริ่มจากการปลุกฝัง ปลุกจิตสำนึกให้กับคนทุกคนตั้งแต่เล็ก ๆ กระทั่งเติบใหญ่  จนกลายเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน รู้สึก รับรู้ กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของจารีตความเชื่อ วิถีชีวิต ว่าเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันดูแลร่วมกัน


 


มาถึงตรงนี้ พลอยทำให้ผมหวนนึกไปถึงชุมชนหนึ่งในหุบเขาหลังดอยหลวงเชียงดาว


 


"บ้านแม่คองซ้าย" ชุมชนปวาเก่อญอเล็ก ๆ ชุมชนหนึ่ง มีเพียงยี่สิบกว่าหลังคาเรือน ร้อยกว่าชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าดงลึก อย่างสงบสันโดษมาเนิ่นนาน แต่เป็นที่น่าสนใจแก่ผู้คนที่ไปเยี่ยมเยือน ว่าชุมชนแห่งนี้ไม่ธรรมดา รักษาป่า ดูแลสายน้ำจนอุดมสมบูรณ์อยู่มาจนทุกวันนี้


 


รางวัลลูกโลกสีเขียว ที่มอบให้กับชุมชนแห่งนี้ คือสิ่งที่ย้ำและยืนยันเป็นอย่างดี


 


และที่น่าสนใจของคนในหมู่บ้านนี้ ก็คือ จิตสำนึก ที่มีต่อชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง พวกเขาจะช่วยกันทำแนวกันไฟรอบ ๆ  ไม่ให้ไฟไหม้ป่าผืนนั้นเลย


 


"เชื่อมั้ยว่า ป่าผืนนี้ไฟไม่ไหม้มาหลายปีแล้ว เพราะหมู่เฮาช่วยกันทำแนวกันไฟในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี  และยังช่วยกันปัดกวาดแนวกันไฟอาทิตย์ละครั้ง"พะตีศรีบอกเล่าให้ผมฟังในวันนั้น


 


และที่น่าทึ่งก็คือ พวกเขาดูแลกันอย่างจริงจัง ถึงขั้นจัดเวรยามดูแลไม่ให้ไฟลามไหม้ป่าผืนนี้ กระทั่งมีครั้งหนึ่งเวลาตีหนึ่งตีสอง ไฟไหม้ลามมาจากป่าข้างนอกที่ติดกับถนนสายเมืองคอง ผู้นำหมู่บ้านจะลุกขึ้นมาตีเกราะไม้ไผ่ดังโป๊ก ๆ ๆ ปลุกเรียกชาวบ้านทุกคนไม่ว่าเด็ก คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ ผู้ชาย ผู้หญิง ต่างพากันขนน้ำ ไปช่วยกันดับไฟกันโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


 


นั่นอาจทำให้ใครหลายคนแอบตั้งคำถามในใจ- -ทำไมพวกเขาถึงร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันขนาดนี้ !?


 


"จิตสำนึกไง รู้จักมั้ย จิตสำนึก" เหมือนเสียงของปราชญ์ภูเขาท่านหนึ่งดังแว่วมาจากที่ใดที่หนึ่ง.