Skip to main content

จากต้นน้ำสู่แผ่นดินอันร้อนแล้ง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


--คนกินข้าวไม่เคยเห็นต้นข้าว! คนกินน้ำไม่เคยเห็นต้นน้ำ--*


 


ถ้อยคำธา-บทกวี-บทเพลงของชนเผ่าในท่วงทำนองของดนตรีอันแสนเศร้าที่คนหนุ่มผู้เดินทางลงมาจากขุนเขาบรรเลงอย่างแผ่วเบาผ่านเครื่องดนตรีแห่งเผ่าพันธุ์ที่ชื่อ ‘เตหน่า’  ถ้อยคำนั้นฉุดดึงห้วงแห่งความรู้สึกบางอย่างจนทำให้ข้าพเจ้าต้องหวนคิดถึงเรื่องราวบางเรื่องราวอีกครั้ง


 


ใช่! เรื่องราวที่ข้าพเจ้ากำลังคิดถึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมล็ดข้าว-ต้นข้าว-ต้นน้ำ ที่ข้าพเจ้าและใครๆ -เราต่างกิน-รับประทานกันอยู่ทุกวัน 


 


ข้าพเจ้าหวนนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้ได้ก็เพราะบทเพลงของคนหนุ่มแห่งขุนดอยคนนั้น


 


คนกินข้าวไม่เคยเห็นต้นข้าว-คนกินน้ำไม่เคยเห็นต้นน้ำ มันนานใดแล้วที่ข้าพเจ้าผู้เคยเห็นต้นข้าว ไม่ได้เห็นต้นข้าว มันนานเท่าใดแล้วที่ข้าพเจ้าคนกินน้ำไม่เคยเห็นต้นน้ำ นั่นสินะ มันน่าหัวเราะหรือร้องไห้กันเล่า เมื่อข้าพเจ้าต้องเจอคำถามที่ทิ่มแทงก้นบึ้งแห่งหัวใจให้เจ็บร้าวได้มากมายเพียงนี้


 


ในวัยเยาว์ของข้าพเจ้า นอกจากข้าพเจ้าจะได้วิ่งเล่นไปบนพื้นนาอันกว้างใหญ่ และได้เป่าปี่ซังข้าวแล้ว ข้าพเจ้ายังเคยได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของเมล็ดข้าว ที่พ่อเฒ่าแห่งหมู่บ้านเคยเล่าให้ฟังท่ามกลางแสงเดือน และแสงดาวในคืนเดือนแจ้ง และเดือนมืดอยู่เสมอ


 


พ่อเฒ่าเล่าว่า มันนานมาแล้วที่พ่อเฒ่ารุ่นเก่าก่อนแห่งหมู่บ้านบอกว่าในอดีตนั้น เมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดมีขนาดเท่ากับผลมะพร้าว


 


เพราะความที่อยู่ในวัยเยาว์ ข้าพเจ้าไม่เคยรู้หรอกว่าถ้าเมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดเท่ากับมะพร้าวหนึ่งผล ต้นของมันจะยิ่งใหญ่เท่าใด แต่เมื่อยามที่ข้าพเจ้าเติบโตขึ้นมา ต้นข้าวต้นนั้นและนั้นแหละ-ต้นข้าวที่ข้าพเจ้าอยากจะเห็นและอยากเก็บรักษามันเอาไว้ มันคงเป็นเรื่องพิลึกน่าดูที่ข้าพเจ้าจะมีเมล็ดข้าวขนาดลูกมะพร้าวเก็บไว้ และข้าพเจ้าคงโด่งดังไม่แพ้คนอื่นๆ ที่สร้างความไม่เหมือนใคร-มีความไม่เหมือนใครอยู่ในมือ เพราะสังคมปัจจุบันกำลังชอบเรื่องราวอย่างนี้อยู่ไม่ใช่หรือ ?


 


พ่อเฒ่าเล่าให้ฟังอีกว่า มันนานมาแล้ว มีหญิงม่ายคนหนึ่งทำนาอยู่กับท้องนาที่กว้างใหญ่  นางต้องทนทำงานในนาอย่างหนักเพียงลำพัง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินผลผลิตของข้าวที่ออกมา จึงเป็นเมล็ดข้าวที่ใหญ่จนเกินความต้องการของนาง ลำพังผู้หญิงเพียงคนเดียวจะทำอะไรกับข้าวเมล็ดใหญ่เท่ากับลูกมะพร้าวได้ เพราะกว่าจะตำข้าวเสร็จในแต่ละวันเหงื่อของนางก็ชุ่มโชกไปทั้งตัว และถ้าปั้นเหงื่อใส่ลงไปในตุ่มแทนน้ำได้ มันคงได้หลายตุ่ม ด้วยความเหนื่อยอ่อนของนางจากการตำข้าวเมล็ดใหญ่ ความโมโหร้ายจึงเกิดขึ้น ขณะที่นางอยู่ในอารมณ์ของความโมโห นางจึงใช้ไม้คานฟาดไปยังเมล็ดข้าวที่วางอยู่ข้างหน้า เมล็ดข้าวเมล็ดนั้นจึงแตกกระจายไปตามแรงของไม้คาน


 


เมื่อเมล็ดข้าวแตกกระจัดกระจายไป มันจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ทั้งๆ ที่มันเคยเป็นที่พึ่งพาของมนุษย์ แต่มนุษย์กลับเห็นคุณค่าของมันน้อยลง และเห็นความยิ่งใหญ่ของมันว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองลำบาก ตั้งแต่นั้นมาเมล็ดข้าวจึงอธิษฐานว่า แม้นถ้ามันไปเกิดยังที่ใดก็ตาม ขอให้มันเกิดเป็นเมล็ดข้าวที่เป็นเมล็ดเล็กๆ


 


ในที่สุดเมล็ดข้าวเท่าลูกมะพร้าวที่เราเคยเห็นในอดีตจึงเป็นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน


 


แล้วข้าพเจ้าก็บอกกับใครต่อใครว่า นี่คือการเดินทางของเมล็ดข้าวบทที่ ๑ ที่เดินทางผ่านมาให้ข้าพเจ้าได้สัมผัสในห้วงแห่งจินตนาการโบราณกาลของข้าพเจ้า


 


ในวัยหนุ่มของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้ายังได้ยินเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการเดินทางของเมล็ดข้าวซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบากกว่าจะฝ่าฟันท้องทุ่งนาอันแตกระแหง และแห้งแล้งในนามทุ่งปู่ป่าหลาน-ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ท้องทุ่งแห่งนี้ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้นั้น ก็เพราะสมัยก่อนมีชาวกุลาเดินทางมาค้าขายแล้วพลัดหลงกันอยู่บนท้องทุ่งแห่งความกันดารแห่งนี้ ทุกคนต่างดิ้นรนที่จะเดินทางออกจากท้องทุ่ง แต่ยิ่งดิ้นรนก็เหมือนยิ่งมืดมน ในที่สุดชาวกุลาที่เดินทางมาค้าขายจึงล้มตายลงเป็นจำนวนมากเหลือเพียงกุลาหนุ่มคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ กุลาหนุ่มทั้งร้องไห้-ทั้งเดินทางเพื่อออกจากท้องทุ่งแห่งนี้ ในที่สุดกุลาหนุ่มก็เดินทางออกจากท้องทุ่งแห่งนี้ได้ ด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง กุลาหนุ่มจึงเป็นลมล้มลงที่ชายหมู่บ้านริมชายทุ่ง เมื่อกุลาหนุ่มตื่นขึ้นมาก็ร้องไห้และเล่าเรื่องราวของการพลัดพรากที่เกิดขึ้นบนท้องทุ่งแห่งนั้นให้กับคนในหมู่บ้านได้ฟัง-นั้นแหละจึงเป็นที่มาของทุ่งกุลาร้องไห้


 


นอกจากเรื่องราวของกุลาหนุ่มแล้ว  ท้องทุ่งแห่งนี้ยังเป็นท้องทุ่งที่ผลิตข้าวเพื่อเจริญเติบโตเป็นเมล็ดข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพมากที่สุดในโลก และที่นี้เองคือต้นธารที่ก่อกำเนิดเมล็ดข้าวพื้นบ้าน-เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสาน


 


เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของเมล็ดข้าวที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้จากความทรงจำครั้งใหม่นั้น ก่อเกิดขึ้นมาเมื่อข้าพเจ้าเดินทางไปสู่ดินแดนแห่งภูข้าพเจ้า ในสายลมหนาวที่โชยแผ่วผ่าน ขุนข้าพเจ้าสะท้านเยือกเย็น ข้าพเจ้าเห็นสีทองคำประดับประดาแซมขึ้นตามไหล่ดอย-นั้นแหละคือที่มาของการทำไร่หมุนเวียน-การทำนาบนยอดดอย ที่ข้าพเจ้าได้สัมผัส


 


เมื่อสีทองทาบทับลงไปบนผืนป่าไหล่ดอย นิมิตรหมายแห่งฤดูกาลการตั้งท้องของแม่โพสพก็กำลังเริ่มต้นขึ้น


 


แน่ละเราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า กว่าข้าวจะงามต้องอาศัยน้ำมากมายเพียงใด ข้าวและน้ำจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ดุจเดียวกับคนเรา-เราก็ไม่อาจขาดข้าวและน้ำได้เช่นกัน  


 


ในวันที่ข้าพเจ้าเดินทางสู่หุบเขาแห่งป่าต้นน้ำ ใช่ว่าท้องทุ่งสีทองเพียงอย่างเดียวที่ข้าพเจ้าสัมผัส ข้าพเจ้ายังได้สัมผัสเรื่องเล่าแห่งชนเผ่าบนดอยสูง ที่กล่าวถึงการเดินทางของเมล็ดข้าวเอาไว้อย่างเนิ่นนาน และเป็นเรื่องเล่าขานที่ลูกหลานแห่งเผ่าพันธุ์จดจำและกล่าวขานถึงตลอดมา


 


สำหรับคนปลูกข้าว-การปลูกข้าวมันคือการทำงานศิลปะที่ต้องใช้ทั้งสมอง-เรี่ยวแรงอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อให้ภาพแห่งศิลปะที่ข้าพเจ้าทำขึ้นออกมาดีที่สุด ภาพแห่งศิลปะที่จะเกิดขึ้นบนไหล่ดอยนั้น มันไม่ได้หมายถึงความมีชื่อเสียงของผู้กระทำ แต่หากว่าเป้าหมายของศิลปะที่ผู้ปลูกข้าวกระทำขึ้นมา มันหมายถึงปากท้องของผู้กระทำ


 


คนทำนาบนไหล่ดอยเริ่มทำงานของข้าพเจ้า เมื่อความแล้งของฤดูหนาวมาเยือน การเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว ก็เหมือนการเตรียมผืนเฟรมผ้าใบผืนใหญ่ลงไปบนพื้นดิน เมื่อผืนเฟรมตึงแน่น การนำพาเมล็ดข้าวไปสู่การเดินทางบนพื้นดินก็เกิดขึ้น เมื่อสายฝนห่าใหญ่โหมกระหน่ำลงไปบนผืนเฟรม ซึ่งสายฝนนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับสีชั้นดีที่ถูกวาดทาบทับลงไปบนผืนเฟรม เมื่อสีชั้นดีถูกผสมผสานลงไปยังผืนเฟรมเรียบร้อย ภาพศิลปะแห่งไหล่ดอยก็งอกงามขึ้น จากสีเขียวก็เปลี่ยนเป็นท้องทุ่งสีทองตามลำดับ


 


เมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาถึง ศิลปะที่คนทำนา ผู้นำพาเมล็ดข้าวเดินทางไปบนผืนดิน ก็เสร็จสิ้นลง การแสดงศิลปะแบบจัดวางของคนทำนาก็ผ่านพ้นไปอีกหนึ่งฤดูกาล


 


ในวันที่ข้าพเจ้าไต่ไปตามผืนเฟรมของคนทำนาบนไหล่ดอยนั้น มื้อก้า - ป้าได้เล่าเรื่องราวบางเรื่องราวให้ข้าพเจ้าฟัง


 


มื้อก้าเล่าว่า "พืชมากมายที่อยู่ในไร่ มิใช่เป็นเพียงอาหาร ดอกไม้มิใช่เบ่งบานเพียงเพื่อความสวยงาม แต่ยังเป็นเพื่อนกับข้าว ให้ข้าวอยู่ในไร่และให้ผลผลิตงาม ข้าวที่ปลูกทุกอยู่ตรงนี้มีบื้ออะกะลา-ขวัญข้าว อยู่กับไร่ ปลูกข้าวต้องปลูกพ้อ-ดอกไม้ ปลูกเผือก-ปลูกมันอื่นๆ ด้วย เพื่อให้พวกข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันเป็นเพื่อนกัน"


 


ดังมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงความผูกพันของเหล่าพืชพันธุ์ที่อยู่ในผืนเฟรมแห่งศิลปะของคนทำนาผืนเดียวกัน


 


นานมาแล้วมีไร่ที่ไม่ได้ปลูกดอกไม้ไว้ ข้าวก็ไม่มีขวัญข้าว เมื่อไม่มีขวัญข้าว-ข้าวก็ไม่อยากอยู่ไร่แล้ว อยากไปอยู่ที่อื่น ขณะที่ข้าวกำลังเตรียมการที่จะหนีไปจากไร่ เค้อ-หัวมันใหญ่ก็บอกข้าวว่า อย่าไปเลย เพราะตัวเราเป็นหัวมันใหญ่ด้วย อ้วนด้วย เดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก เราคงไปกับข้าวด้วยไม่ได้ หลังจากหัวมันใหญ่พูดจบ ขื่อ-หัวเผือกก็บอกว่า อย่าไป เรามีลูกเยอะ จะตามเพื่อนข้าวไปก็คงหอบลูกหอบหลานไปด้วยความลำบาก เมื่อข้าวหนีไปแล้ว พวกเราจะอยู่กับใคร ให้ข้าวอยู่ด้วยกันในไร่นี่แหละ เมื่อทนเสียงรบเร้าและอ้อนวอนของเพื่อนๆ ในไร่ไม่ไหว ข้าวก็เลยอยู่ในไร่ต่อไปกับเพื่อนๆ และออกเมล็ดเต็มรวงให้คนได้กินสืบมาจนถึงปัจจุบัน


 


ข้าวหนึ่งเมล็ดเดินทางผ่านความเหนื่อยล้าของใครกันเล่า ถ้าไม่ใช่ของชาวนาผู้ที่แสดงศิลปะของข้าพเจ้าลงบนผืนดิน ชาวนาผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ


 


ใครกันเล่าขนานนามให้กับชาวนาอย่างนี้?


 


ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ชาวนาเป็นผู้ผลิตข้าวเลี้ยงประเทศชาติ และข้าวก็เป็นสินค้าที่ส่งออกนำเงินมาพัฒนาประเทศเป็นอันดับต้นๆ ของสินค้าส่งออกที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย แต่ไฉนเล่า ชาวนายังยากจนอยู่ โดยเฉพาะพ่อและแม่ของข้าพเจ้าหรือว่ามีคนคอยหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงบนหลังพ่อกับแม่ของข้าพเจ้ามากจนเกินไป


 


ในยามวัยเยาว์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นต้นข้าวสีเขียวสดชูช่อใบไสว เอนลู่ไปตามแรงลม เมื่อสายลมพัดพลิ้ว ข้าพเจ้าจำได้ว่าอีกไม่นาน เมื่อต้นข้าวเปลี่ยนสีจากสีเขียว เป็นสีเหลือง พวกเด็กๆ แห่งหมู่บ้านก็จะได้ปิดเทอมเพื่อเกี่ยวข้าวกันแล้ว


 


ในยามที่ฤดูเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์แห่งพื้นดินสีเหลืองอร่ามดั่งทองคำเสร็จสิ้นลง ข้าพเจ้าจะเห็นเมล็ดข้าวเหล่านั้นค่อยๆ เดินทางไปกับผู้คน และข้าพเจ้าก็เห็นมันหล่นร่วงลงกองบนพื้นดินที่เรียกว่า  ลานนวดข้าว ด้วยแรงกระหน่ำตีของคนหลายคน ยามนี้ข้าพเจ้าจะเห็นใบหน้าของพ่อและแม่มีรอยยิ้ม เพราะจะได้ขายข้าวเอาเงินมาใช้หนี้ค่าปุ๋ย


 


หลายขวบปีแห่งชีวิตที่ข้าพเจ้าเดินย่ำอยู่บนโลกใบนี้ ข้าพเจ้ายังได้รับรู้อยู่เสมอในยามที่หวนกลับบ้านเกิดว่า พ่อแม่ของข้าพเจ้ายังคงทำงานศิลปะของพวกข้าพเจ้าอยู่ พวกข้าพเจ้ายังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดีให้มันได้เดินทางลงสู่พื้นดิน พ่อกับแม่ของข้าพเจ้ายังโชคดีที่ยังมีแผ่นเฟรมพอให้ได้ทำงานศิลปะแห่งการหว่านเมล็ดพันธุ์อันเป็นที่รักลงสู่พื้นดินบ้าง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร? แต่ชาวนาที่ไม่มีแผ่นเฟรมในการทำงานศิลปะของพวกข้าพเจ้าเล่า พวกข้าพเจ้าควรทำอย่างไร? ในเมื่อข้าพเจ้ายังอยากจะเป็นศิลปิน และยังอยากจะเห็นการเดินทางของเมล็ดข้าว เมล็ดเล็กๆ ที่เดินทางไปบนผืนเฟรมคือผืนนายามหน้าฝน


 


ในวันที่ภารกิจของการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลง ข้าพเจ้าจะได้เห็นเมล็ดข้าวสีทองคำเดินทางมายังฉางข้าวที่ฉาบทาไว้ด้วยดินผสมกับขี้ควายสีแดงซีดๆ ในฉางข้าวนั้นเอง ฝูงหนูตัวเล็กๆ จำนวนไม่น้อยก็จะเดินทางมาฉลองข้าวใหม่กันเสียเต็มคราบ เสร็จจากการเฉลิมฉลองข้าวใหม่ มันก็จะสร้างรวงรังเพื่อออกลูกออกหลานต่อไปในฉางข้าวนั่นเอง


 


"ทุ่งนาแดนนี้ไม่มีความหมาย เหลือเพียงกลิ่นโคลนสาปควาย เห็นซากคันไถแล้วเศร้า เห็นนาที่ร้างนั้นมีแต่ฟางแทนรวงข้าว เห็นเคียวที่เกี่ยวเหน็บติดเสา เล่นเอาใจเราสะท้อน..."


 


มันเป็นบทเพลงบทหนึ่งที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยในวัยเด็กจนล่วงเลยมาถึงวัยหนุ่ม ใช่! เราคนกินข้าวเราต้องรู้ด้วยว่า ข้าวแต่ละเมล็ดนั้นมันเดินทางมาจากไหน แต่ในขณะที่เราอยากจะรู้ว่าข้าวแต่ละเมล็ดมันเดินทางไปที่ไหนบ้าง? หลังจากเดินทางออกจากแผ่นเฟรมของคนทำนาแล้ว


 


ยิ่งข้าพเจ้าอยากรู้เรื่องราวเหล่านี้เท่าใด แต่ดูเหมือนว่า ข้าพเจ้ายิ่งไปไกลห่างท้องนาออกไปทุกที


 


ถ้าถามข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้ารู้หรือไม่ว่าข้าวเดินทางมาจากไหน? คำตอบของข้าพเจ้าคือข้าพเจ้าก็ไม่รู้หรอกว่า ข้าวแต่ละเมล็ดเดินทางมาจากไหน แต่ที่ข้าพเจ้ารู้คือเมล็ดข้าวแต่ละเมล็ดล้วนมีที่มาของมัน และมันก็มีเรื่องราวชีวิตของมันที่เล่าผ่านสองมือและเรี่ยวแรงของพ่อกับแม่ของข้าพเจ้า ซึ่งทั้งสองเป็นผู้เล่าเรื่องเกี่ยวกับเมล็ดข้าวออกมาด้วยหยาดเหงื่อและแรงงาน เหมือนกับผู้เล่าเรื่องเมล็ดข้าวคนอื่น


 


บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าถูกเพื่อนหลายคนประณามเพียงเพราะกินข้าวไม่หมดจาน ข้าพเจ้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมคนเหล่านั้นต้องประณามข้าพเจ้าทั้งๆ ที่ข้าวที่ข้าพเจ้ากิน ข้าพเจ้าก็ซื้อเอง ข้าพเจ้าย่อมีสิทธิที่จะทำอะไรกับมันก็ได้ เมื่อกินไม่หมดข้าพเจ้าก็ย่อมมีสิทธิที่จะเททิ้งเหมือนของที่กินเหลือกินทุกอย่างได้เช่นกัน


 


แล้วคุณรู้ไหมละว่า ข้าวและน้ำเดินทางผ่านอะไรมาบ้าง? กว่าที่จะเดินทางมาเป็นข้าวที่ขาวผ่องเป็นยองใยอยู่บนจานในร้านอาหารหรูหราหรือร้านอาหารริมทางเท้า และกว่าที่จะมาเป็นน้ำประปาขาวใสจากก๊อกน้ำ


 


ข้าพเจ้าจำได้ว่ามันเป็นคำถามที่ข้าพเจ้าถามกลับไปยังเพื่อนของข้าพเจ้าคนนั้นแทนคำตอบที่ข้าพเจ้าต้องตอบ…


 


* บทเพลงของ ชิ สุวิชาน