Skip to main content

สายตาที่มองผ่านประชาไท

คอลัมน์/ชุมชน

เกือบทุกวันที่ผมต้องใช้เวลาเปิดเข้าอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท


 


อยู่มาวันหนึ่ง ผมก็มีโอกาสได้อ่านเรื่องราวที่ "ภู เชียงดาว" เขียนเกียวกับเรื่อง "บ้าประชาไท"  ทว่าพูดอย่างนี้เหมือนกับว่าทำให้คนอ่านคิดไปต่างๆ นานา เพราะคำว่า "บ้า" เราสามารถแปลได้หลายอย่าง,


แต่ในที่นี้ผมขออนุญาตแปลว่า : ติดอกติดใจเสียมากกว่า


 


เพราะคำว่า "บ้า" มีความหมายในทางลบและทางบวก...แต่คำว่า "บ้า" ในที่นี้เป็นการกระตุกเส้นประสาทของคนอ่านและเขียนให้ตระหนักถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง...


 


สำหรับผมแล้วก็มีความ"บ้า" อีกอย่างหนิ่งที่แอบแฝงอยู่...ทว่าผมไม่มีความ "บ้า" ที่ฝังอยู่ในตัวแล้ว แน่นอนว่า ผมต้องใช้เวลาไปทำอย่างอื่นก็อาจได้ประโยชน์อะไรมากพอสมควร แล้วความ "บ้า" ของผมคืออะไร?


 


ผม "บ้า" ชอบอ่านความคิดเห็นของผู้อ่านที่เข้ามาอ่านประชาไท ทำไมผมต้อง "บ้า" อ่านคำคิดเห็นนั้นด้วย?  เพราะผมคิดว่า คนอ่านที่กำลังอ่านอยู่ในขณะนี้ ก็มีความ "บ้า" เหมือนกับผม เพราะอ่านแล้วรู้สึกอย่างใดก็อยากบอกให้คนอื่นรู้ด้วยว่า เรากำลังคิดอย่างไรบ้าง


 


ในเวลาเดียวกัน, คนที่เข้ามาอ่านคอลัมน์ เมื่ออ่านบทความเสร็จแล้วก็อ่านข้อความที่ให้ (ความคิดเห็น) ในบั้นท้าย  เมื่ออ่านคำคิดเห็นเสร็จ ก็นึกไปว่า เอ้...เขาคนนี้ลงความเห็นไม่ถูกตามอารมณ์ ที่เรามีอยู่ แล้วก็นึกอยากลงความเห็นบ้าง



 


บางคนก็บอกว่าบทความนี้เยี่ยมครับง่ายและงามจะรออ่านชิ้นต่อไป  หวังว่าคงได้อ่านเรื่อยๆ เป็นกำลังใจให้ครับ


 


เป็นคำเห็นชวนให้ คนเขียนมีกำลังใจขึ้นเป็นกองเลยทีเดียวแหละ


 


บางความเห็นว่า อ่านแล้วมองเห็นภาพเจ้าปวาเก่อญอตัวน้อยจับปลาตัวเบ้อเร่อ ยิ้มหราด้วยความดีใจแล้ว ชวนให้นึกถึงเด็กๆ ในเมือง ในวัยเดียวกัน...ไม่รู้ว่าเด็กในเมืองจะจับปลาแบบนี้ได้มั้ย...หรือไม่แค่ถามว่า...ปลามาจากไหน? อาจมีบางคนบอกว่า...ปลามาจากตลาดสด...ขอต้อนรับนักเขียนหนุ่มครับ....เป็นการให้คำเห็นในแง่มุมการคิด ในเวลาเดียวกันก็ อาจมีความเป็นเอกภาพกับผู้เขียนด้วย


 


เมื่อมองดูคอลัมน์ที่ผมเขียนเกี่ยวกับลาวก็มีความเห็นจากคนอ่านว่า "อืมม...น่าคิด เข้าใจความรู้สึกของคนลาว" "น่าสนใจจังขอบคุณที่ได้รับรู้" บางคนก็ลงคำเห็นตรงๆ ไปว่า "เข้ามาอ่านแล้ว เยี่ยมยอดเช่นเคย ในที่สุดเฮาก็ข้ามน้ำของมาปะกันจนได้ เอาไว้มีโอกาสจะเข้าไปเยี่ยมเด้ออ้ายเด้อ" มันดูเหมือนว่า เราๆ มีความหวังอยู่อย่างหนึ่งคือการเป็นมิตรและความมุ่งหวังให้กันและกัน


 


"สบายดีครับคุณแสงพูไช  ขอบคุณครับที่เขียนบทความมาให้อ่านกัน ทำให้พี่น้องเราเข้าใจกันมากขึ้น พวกเราไม่ได้โกรธเกลียดกันหรอกครับ นักประวัติศาสตร์มากกว่าที่เขียนกันไปตามอารมณ์และความนึกคิดของแต่ละคน โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ควรทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันจะดีกว่า" บอกให้รู้ว่า ความเป็นมนุษน์นี้ไม่ได้แตกต่างกัน, ความเข้าใจกันเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ที่เราต้องยอมรับเอาแล้วฝังลงกลางใจ  


 


บางคนก็บอกมาว่า "คนลาวคิดหยุมหยิมจริงๆ" จริง ๆ แล้วคนจะคิดกันได้อย่างใดอย่างหนิ่งขึ้นมานั้นเพราะมีคนทำให้คิด ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็คิดกันขึ้นมา  บางคนก็มองปัญหาอย่างมีศีลธรรม ทำให้คนอื่นมองเห็นว่าในดินแดนนี้ยังคงมีคนดีอยู่


 


"คุณ ... ลองคิดจากแง่มุมของคนลาวบ้างซีคะ คุณ ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ จะมีเจตนาจริงๆ อย่างไร เราก็ไม่อาจทราบได้ ถ้าได้อ่านหนังสือทั้งเล่ม ก็คงพอจะบอกได้บ้างแต่หากเจตนานั้นไม่ใช่อย่างที่คุณ แสงพูไช อินทะวีคำ ละก็.....เรื่องนี้ก็เป็นกรณีที่สามารถนำมาเตือนใจว่า เราควรระมัดระวังในการเลือกสรรคำพูด ให้มากขึ้นอีกสักนิด ก็คงจะดีนะคะ"


 


สำหรับผมแล้ว, เมื่ออ่านความเห็นทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้ผมนึกถึงที่มาของคนอ่านที่ลงความเห็น, ในเวลาเดียวกันก็คิดถึงความเป็นไปในบทเขียนต่างๆ ที่ลงในคอลัมน์ประชาไทว่า "ประชาไท" เป็นสื่ออย่างใด.


 


เมื่อมองผ่านจุดนี้ ทำให้ผมคิดถึงสถานการณ์ในที่อื่นๆ ด้วยว่า ความหลากหลายทางความคิดนี้เป็นอย่างไรกัน การลงความเห็นต่างๆ นี้ ผมคิดว่ามีความเป็นประชาธิปไตยกันอย่างมากเลย


 


"ในทางกลับกัน ทำไมคุณไม่เข้าใจเด็กสมัยใหม่บ้างในเมื่อเกิดมาในยุคโลกาภิวัตน์ ได้เห็นโลกภายนอก
ก็ต้องการจะทำตัวตามเป็นเรื่องธรรมดาถ้าเราจะเสียน้ำตา ก็คงไม่ใช่วัยรุ่นแต่งตัวตามตะวันตก
แต่จะร้องไห้ให้กับความยึดติดกับอดีตของคนรุ่นหนึ่งที่คาดหวังและบังคับกลายๆ จนทำให้คนรุ่นหลังไม่อาจทำตามความต้องการของตัวเองได้มากกว่า"
อ่านดูแล้วเหมือนกับว่า ไม่จำเป็นต้องทำอะไร ปล่อยให้มันเป็นไปตามชะตากรรมนั้นเถอะ, ใครอยากจะทำอะไรก็ทำไปเลยไม่จำเป็นต้องคิดถึงคนอื่นที่เขาทำสิ่งดีๆ ไว้


 


"คห1 อ่านดูแล้วเขาก็ไม่ได้บังคับนี้ เขาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลง แล้วก็รู้สึกเสียดาย"


 


"งั้น คมช.ก็พัวพันกับรัฐบาลสุรยุทธิ์ ใช่มั้ย...ฮา...ป๋าด้วย..."


 


"อืมม์....ตามแบบของคนไทยมาติด ๆ เลยนะ ทำไงได้ล่ะเมื่อคนมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็คงต้องอยากลองสิ่งใหม่ ๆ ตามธรรมดา เหมือนคนที่ได้เคยท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ  แต่ก็ยังไม่อยากหยุดที่จะอยากไปที่ใหม่กว่าอยู่เรื่อย ๆ จริงไหม?"


 


"Welldone job! อ่านแล้ว อยากกลับไปเป็นเด็กนอก (อันหมายถึงเด็กบ้านนอก อะ ค่ะ) อีกสักครั้งจังเลย อ้ายภู เมื่อก่อนชีวิตของน้องดาว (ดาวซินโดรม) ก็ต้องการเฉกเช่นกับเด็กบนดอย สนุกสนานไปวัน ๆ คืน ๆ รอพ่อแม่ กลับมาจาก ไร่ นา...


ถามว่าเด็ก ในเมืองตอนนี้ต้องการอะไร เหรอ คิดว่า (บางกลุ่ม) เค้าก้าวไกลเกินกว่า ที่เราจะคิด วันก่อน แวะเข้าร้านเน็ตแห่งหนึ่งในมหานคร เพราะต้องการส่งเมล์บอกเพื่อนที่อยู่แดนไกล คนละฟากฟ้า เด็กไทย  อายุไม่เกินสิบขวบ เล่นเกม ในร้านเน็ต พูดจา (กับเพื่อน) อย่างแรง มาก ศัพท์หยาบคาย ที่ชาน่าไม่ได้ยินมาแสนนานก็ได้ยินเอาซะงั้นหละเล่นเกม กันอย่างเมามัน ดึกดื่น หาได้สนใจไม่
ถ้าโตหน่อย ก็ตะบี้ตะบันแชท แชท แชท และ หาแคม...เล่นแคมฟ๊อก โอ้ มายยยยยยย ก๊อดดดด..
ห่วงสังคมไทย จังเลย ชาน่า Live in Bangkok."


 


"อย่าเขียนอีกเลย เพราะว่าคงไม่มีใครอยากอ่าน..."


 


หลายๆ ความเห็น ชวนให้คนเขียนมีความมุ่งมั่นสู่งานเขียนเพี่มขื้นอีกตั้งเป็นหลายเท่าตัว...แต่มีบางความเห็นก็ทำให้คนเขียนน้อยใจไม่อยากเขียนอีก  การมีความเห็นและบทเขียนที่คนเขียนหนังสือเขียนกันนี้ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความคิดของคนเขียน ไม่ว่าจะเป็นการลงความเห็นให้กับคอลัมน์ ก็คือบทความที่อ่านอยู่ในขณะนี้


 


ภาษาลาวพูดกันว่า "ภาษาบอกถึงชาติ...มารยาทบอกตระกูล" งานเขียนทุกชิ้นล้วนบอกให้เราเห็นได้ว่า คนโน้นคนนี้เขาคิดกันอย่างไรบ้าง. ความคิดที่หลากหลายไม่ใช่ว่าไม่ดี...แต่ความคิดที่หลากหลายบางครั้งทำให้วุ่นวายกันไปหมด ท่าน ๆ คิดว่าอย่างไรบ้าง?


 


การมีประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ดีจริง ๆ...แต่การกระทำบางอย่างกลับทำให้คนอื่นเจ็บปวดปางตายนั้น ควรเก็บไว้หรือเปล่าล่ะ?...ฉะนั้น ประชาธิปไตยก็ต้องมองที่ว่า ทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นได้รับความเจ็บปวด แล้วในเวลาเดียวกันก็ทำให้เรา ๆ มีความสุขกัน


 


สำหรับผมแล้ว, ผมไม่ต้องการเห็นคนอื่นเจ็บปวด เมื่อไรก็ตามที ที่ผมได้เจอกับคนที่มีความเจ็บปวดไม่ว่าด้านใดก็ตาม หลายครั้งทำให้ผมน้ำตาไหล...ไม่อยากร้องไห้...แต่น้ำตามันไม่ยอมหยุดไหล...เหมือนกับเวลาใดที่ผมฟังลำลาวหลงทีไรก็ต้องสะอื้นทุกครั้ง


 


ท่าน ๆ รู้คำตอบหรือยังว่า ผม "บ้า" อย่างไร?