Skip to main content

เยือนเมืองพะเยา ยลชีวิตที่มีหวังของชาวม้งกับไทลื้อ

คอลัมน์/ชุมชน

 


ผู้หญิงม้งนั่งกันเป็นกลุ่มที่หน้าบ้าน ง่วนอยู่กับการปักผ้านานาชนิด เป็นกระโปรงพลีท เป็นผ้าห่อตัวลูกไว้กับหลังแม่ เป็นกางเกงผู้ชายล้วนสีสันจัดจ้าน เจิดจรัส เพื่อส่งไปขายให้ชาวม้งที่เป็นเครือญาติที่อยู่ในอเมริกา นี่คือรายได้หลักของชาวม้งที่บ้านร่องส้าน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ที่ทำให้เลี้ยงครอบครัวอยู่ได้


 



 


คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมาย และสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับจดหมายแจ้งปัญหาการไร้สถานะทางกฎหมายของชาวไทลื้อ และปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวม้ง จากคุณสุริยาวุธ สร้อยสวิง ผู้คร่ำหวอดทำงานกับชาวดอยที่เชียงใหม่และพะเยามาเกือบสามสิบปี ขอให้กรรมาธิการฯ ลงไปพื้นที่ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข


 


ดิฉันในฐานะประธานกรรมาธิการฯ จึงชวนคุณกฤษฎา ยาสมุทร ผู้เป็นเลขานุการของอนุกรรมาธิการสนับสนุนเครือข่ายแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลกับทีมงานของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เข้าไปดูพื้นที่เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๐


 


จากเชียงรายเราเดินทางไปอำเภอเทิง ซึ่งติดกับอำเภอเชียงคำ เป็นระยะทางรวม ๑๑๕ กิโลเมตร คุณสุริยาวุธ มารอรับแล้วพาไปบ้านม้งร่องส้าน ซึ่งมีชาวม้งร่องส้านและชาวไทลื้อจากหมู่บ้านต่างๆ มารอพบอยู่ประมาณ ๒๐๐ คน


 


ปัญหาหลักที่ชาวบ้านเสนอ คือ ชาวไทลื้อได้รับบัตรชาวไทลื้อสีส้ม มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ กลุ่มที่ได้สถานะมีสัญชาติไทยไปแล้วมีจำนวนหนึ่ง แต่กลุ่มที่ยังไม่ได้พัฒนาสถานะ ยังมีกระจายอยู่ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอเชียงคำ กิ่งอำเภอภูซาง อำเภอเชียงม่วน อำเภอปง อำเภอจุน อำเภอดอกคำใต้ เป็นต้น ซึ่งถูกจำกัดสิทธิหลายอย่าง เช่น เดินทางออกไปทำงานนอกเขตอำเภอต้นทางที่ทำทะเบียนสำรวจไม่ได้ นักเรียนขอกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไม่ได้ ทั้งๆ ที่การประกอบอาชีพในหมู่บ้านมีข้อจำกัด ที่ดินทำกินไม่พอ


 


ชาวม้งร่องส้านนั้นได้สัญชาติไทยเกือบหมดแล้ว เหลือที่ตกหล่นอยู่แค่ ๑๐ กว่าคน แต่มีปัญหาคือ ที่ตั้งหมู่บ้านถูกทางการแจ้งว่าเป็นที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่ได้รวบรวมเงินกันซื้อ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ จากคนเมือง ซึ่งที่ดินอำเภอเชียงคำออกโฉนดให้อย่างถูกต้อง จำนวน ๒๓ ไร่ ชาวบ้านจึงปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อย่างสบายใจ (โดยที่ทำกินต้องไปเช่าจากคนหมู่บ้านใกล้ ๆ เพื่อปลูกข้าว ปลูกขิง และพืชอื่น ๆ) แต่อีก ๕ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๕๔๓) กลับได้รับแจ้งว่า เนื้อที่ที่ออกโฉนดถูกต้องนั้นแค่ ๖ ไร่ อีก ๑๗ ไร่เป็นที่สาธารณะต้องถูกยึดคืน


 


นายอำเภอเชียงคำเปลี่ยนมาหลายคน ทุกคนล้วนพยายามหาทางช่วยโดยมีทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ คือ ให้ชาวบ้านทำสัญญาขอใช้พื้นที่สาธารณะเป็นรายปี ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านร่องส้านอยู่ได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งหวังว่านายอำเภอเชียงคำคนปัจจุบัน คือ   นายเดชา  สัตถาผล  จะเมตตาหาทางยกภูเขาออกจากอกของชาวม้งร่องส้านโดยเร็ว


 


ผู้ใหญ่บ้านร่องส้านเป็นชาวอีสาน ชื่อ กรกฎ เสนาเลิศ เข้าใจปัญหาของชาวม้งร่องส้าน เป็นอย่างดี พยายามประสานกับหน่วยงานทุกฝ่ายให้ช่วยชาวม้ง ชาวอีสานที่ร่องส้านอยู่ร่วมกับชาวม้งอย่างเป็นญาติมิตร เป็นแบบอย่างของคนต่างวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ


 


อากาศยามใกล้เที่ยงร้อนจนแสบหน้า แสบผิว บริเวณที่ประชุมเป็นทุ่งที่ไม่มีต้นไม้ ชาวบ้านกางเต็นท์ผ้าใบ ๔ เต็นท์ ใช้เป็นที่นั่ง ผ้าใบยางยิ่งอุ้มความร้อนให้ระอุ ดิฉันบอกชาวไทลื้อว่าช่วงบ่ายจะไปเยี่ยมถึงหมู่บ้านเพื่อดูสภาพความเป็นอยู่และคุยกลุ่มย่อยขอปิดประชุมภาคเช้า เพื่อมิให้ชาวบ้านต้องอบอยู่กับอากาศร้อนนานเกินไป


 


ผู้นำชาวม้งพาเยี่ยมหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่สร้างด้วยปูน ที่เป็นบ้านไม้ไผ่มุงหญ้าคามีไม่กี่หลัง แต่การจัดพื้นที่ในบ้านยังคงรักษาแบบวัฒนธรรมเดิม คือ เป็นบ้านชั้นเดียวติดดิน จากประตูบ้านเข้าไปที่ฝาผนังกลางบ้านจะเป็นหิ้งบูชา ๒ หิ้ง คือ หิ้งบูชาเทพเจ้าของชาวม้ง อยู่คู่กับหิ้งบูชาบรรพบุรุษ มีโต๊ะขนาดใหญ่ไว้ให้นั่งกินข้าวและรับแขก มุมซ้ายด้านในมีเตาดินขนาดใหญ่เอาไว้ทำอาหารเวลามีพิธีกรรม ส่วนมุมขวาใกล้ประตูบ้านเป็นเตาหุงอาหารประจำวัน


 


ชาวบ้านจะปักธูปไหว้จุดที่สำคัญในบ้าน คือ ที่ประตูหน้าบ้าน ที่เตาไฟ ๒ แห่ง กับที่หิ้งบูชาเทพและบรรพบุรุษ ทุกหมู่บ้านที่นับถือศาสนาดั้งเดิมจะมีหมอผีเป็นผู้นำพิธีกรรม ๓ – ๔ คนขึ้นไป


 


บ้านแต่ละหลังอยู่กันหลายครอบครัว ลูกชายที่แต่งงานแล้วจะนำสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้าน เป็นครอบครัวขยาย บางหลังอยู่กัน ๒๐ - ๓๐ คนก็มี


 


ช่วงอากาศร้อนอย่างนี้ ชาวม้งมักทำน้ำเต้าหู้กิน น้ำใสๆ ลอยอยู่ด้านบนส่วนเนื้อเต้าหู้อ่อนมีอยู่ก้นหม้อกินหนึ่งแก้วช่วยให้เย็นชุ่มคอ โดยไม่ต้องเติมน้ำตาลหรือน้ำขิง อย่างที่พวกเราชินกับการกินเต้าฮวยร้อนใส่ปาท่องโก๋กันตามร้านน้ำเต้าหู้


 


ผู้นำเล่าว่าผู้ชายบ้านร่องส้านตั้งกลุ่มทำแคนส่งไปขายให้ม้งที่อเมริกา ราคาดี อันละหมื่นกว่าบาท โดยต้องใช้ลำไผ่ชนิดพิเศษที่ต้องปลูกไว้(สั่งซื้อจากหมู่บ้านอื่นมา) ประธานกลุ่มมีรายได้ถึงเดือนละ ๒ – ๓ หมื่นบาท มีสมาชิกกลุ่ม ๓๐ กว่าคน โดยได้ฝึกเด็กผู้ชายให้เป่าแคนเป็นด้วย เพื่อภูมิปัญญานี้ดำรงอยู่ ไม่สูญหายไปท่ามกลางสมัยใหม่ของวัตถุนิยม


 



 


ศิลปะการทำเครื่องเงิน คือ ความภูมิใจอีกอย่างหนึ่งของชาวม้งชายบ้านร่องส้านมีหลากหลายแบบทั้งกำไลข้อมือ แหวน สร้อยคอ ตุ้มหู แต่กลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินประสบปัญหา ต้องหยุดงานมา ๔ เดือนแล้ว เพราะใช้เนื้อเงินบริสุทธิ์ ๙๙ % ซึ่งราคาแพงขึ้น แต่ค่าเงินไทยที่แข็งอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนลดลง จากที่เคยได้ถึง ๕๔ บาท ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียงสามสิบกว่าบาท จึงขายของได้เงินน้อยลง ไม่คุ้มกับการลงทุน


 



 


รายได้หลักของครอบครัวในขณะนี้ คือ การขายผ้าปักของผู้หญิง ซึ่งทุกคนได้ถ่ายทอดให้ลูกสาวตั้งแต่เริ่มรู้ความ


 


การปลูกขิงเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องเสี่ยงกับราคาขึ้นลง พันธุ์ขิง ๑ กิโล ๒๕ บาท ปลูกได้ ๑๐ กิโล ถ้าราคาดีขายได้กิโลกรัมละ ๑๕ – ๒๐ บาท ก็ได้กำไร    


 


ถ้าราคาตกเหลือกิโลกรัมละ ๒ – ๓ บาท ก็ขาดทุน ชีวิตเกษตรกรต้องเสี่ยงกับทุกปัจจัย ทั้งฝนฟ้า ศัตรูพืช และราคา เพราะขาดการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อย รวมพลังกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ขาดข้อมูลที่จะประกอบการตัดสินใจว่าฤดูใดควรปลูกพืชอะไรจึงจะได้ผลคุ้มค่า ขาดเทคโนโลยีที่จะแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ขาดระบบการตลาดที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ฯลฯ


 



 


ป่าไม้ของเมืองไทยที่ควรจะรักษาไว้เพื่อการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ เป็นฉนวนกันความร้อนของโลก เป็นแหล่งสุนทรียภาพทางจิตใจ ฯลฯ จึงถูกทำลายเพื่อแลกกับการเป็นพื้นที่ปลูกพืชอายุสั้นราคาถูก เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง มันฝรั่ง เพราะขาดนโยบายส่งเสริมเกษตรกรที่ถูกทาง ขาดการกำหนดขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่ชัดเจน ปล่อยให้รุกป่ากันโดยไม่เคารพกฎหมาย และขาดความรู้ ขาดสำนึกของคนในสังคมที่จะรักษาธรรมชาติให้อยู่ในภาวะสมดุล เพื่อเป็นมรดกของลูกหลานในอนาคต


 


ช่วงบ่ายเป็นการเยือนบ้านไทลื้อ ซึ่งได้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมไทลื้ออำเภอเชียงคำ ชมรมไทลื้อกิ่งอำเภอภูซาง เสียดายที่บ้านแบบไทลื้อแท้ ๆ หาได้ยาก กลายเป็นบ้านปูนแบบสมัยใหม่ แต่ก็ยังอนุรักษ์ประเพณีเอาไว้ โดยมีการทอผ้าแบบไทลื้อ ที่บ้านทุ่งมอกใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า ดิฉันได้ซื้อมา ๓ ผืน ซิ่นแบบดั้งเดิม ลายเรียบง่าย ราคาเพียงถุงละ ๒๐๐ ซิ่นลายวิจิตร มีทั้งผ้าสีพื้นสำหรับตัดเสื้อ คู่กับซิ่น เพียง ๖๐๐ บาท ซึ่งไม่แพงเลย


 


หมู่บ้านร่มรื่น ปลูกผักสวนครัว ไม้ผลเอาไว้กินกันทุกบ้าน ต้นลำไยกำลังออกดอกสีขาวนวล มะปรางกำลังออกลูกอ่อน ฟักทองทอดยอด น่าเก็บเอาไปต้มกิน


 


เครื่องดื่มที่นำมาเลี้ยงกัน คือ น้ำมะตูม ที่เก็บมาจากต้น เอามาหั่นบาง ๆ ตากแห้ง ต้มน้ำกินเย็นชื่นใจ เติมน้ำตาลหวานปะแล่ม ๆ ดิฉันจึงแสดงความชื่นชมกลุ่มแม่บ้านที่ใช้หลักชีวิตพอเพียง พึ่งตนเอง ลดรายจ่าย ไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำอัดลมมาเลี้ยงแขกดังที่มักเห็นทั่วไป


 


ที่หมู่บ้านข่วงแก้วผู้ใหญ่บ้านส่งเสริมให้ปลูกผักสวนหน้าบ้าน เนื้อที่แค่นิดเดียว ปลูกผักได้หลายอย่าง ทั้งกะหล่ำปลี ผักกาด พริก ผักชี หอม ฟักทอง ดูแล้วน่าประทับใจจริงๆ


 



 


วัดของชาวไทลื้อเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคน ดิฉันได้ไปวัดแสนเมืองมา ซึ่งกำลังมีเทศน์มหาชาติ เห็นเครื่องไทยทานที่ชาวบ้านนำมาถวายพระวางอยู่เต็มโบสถ์   แสดงถึงศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่เต็มเปี่ยม น่าภูมิใจที่วัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร เป็นวัดที่อนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของพระศาสนาสืบไป


 


หนึ่งวันที่เชียงคำ และกิ่งอำเภอภูซาง ดิฉันได้ยิน ได้ยล ความหวัง ความงามของชีวิต แม้มีปัญหาก็ต้องใช้ปัญญาและเมตตาในการหาทางออก ชีวิตและสังคมจึงจะดำรงอยู่ได้ ด้วยศรัทธาในความดี ความงามและความจริง ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย  อึ้งภากรณ์ คุณครูผู้อยู่ในดวงใจของดิฉันได้สอนไว้เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน


 


ขอให้ชาวไทยทุกคนเป็นความหวัง เป็นกำลังใจ ให้กันและกัน วิกฤติใดๆ ก็จะฝ่าฟันให้รอดพ้นได้ เพื่อพ่อของแผ่นดิน เจ้าพ่อหลวงของชาวไทยทุกคน


 


ภาพประกอบโดย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา