Skip to main content

อยู่อย่างล้านนา อยู่อย่างพอเพียง

คอลัมน์/ชุมชน

- 1 -


 


วันหนึ่งต้นสัปดาห์เดือนมีนาคมปี 2550


แสงแดดเริ่มส่องเข้ามาเต็มพื้นที่บริเวณสถานที่พูดคุยของเรา หมอกควันที่เคยมัวมืดกลับกลายเป็นแสงสว่างจ้าเข้ามาทดแทนไม่ให้มีควันที่เคยทำให้ผิวกายต้องระคายเคืองและแสบในตา เหมือนอาทิตย์กลายที่เลยผ่าน วันนี้, วันหยุดต้นสัปดาห์เป็นวันดีที่มีผู้สนใจมากมายหลายสิบคนมาร่วมพูดคุย เล่าเรื่องของคนสองวัย ทั้งคนเยาว์วัย และคนสูงวัย


 


พื้นที่โล่งแจ้งของศูนย์เพื่อน้องหญิง คือสถานที่นั่งพูดคุยกันของพวกเราในวันนี้ เรื่องธรรมดาที่ฟังดูคราแรกคนรุ่นใหม่อาจส่ายหน้าหนี เพราะเรื่อง "ภูมิปัญญา" นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้มีการพูดคุยมากนักในสังคมชนบทในปัจจุบัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาคนที่สนใจในเรื่องดังกล่าวนี้มาพูดคุยสนทนาปราศรัยในเรื่องที่สำคัญต่อการดำรงตนในวิถีแห่งคนเมืองล้านนา


 


"ถะก่อนมันเป็นหยั่งใดเจ้า" น้องออ อาสาสมัครหญิงร่างเล็กถามขึ้นมาก่อนที่ประโยคต่างๆ จะสลับสับเปลี่ยนเป็นการถาม ตอบ สนทนา แลกเปลี่ยนในเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิถีของคนที่อยู่ในชุมชนล้านนาในตำบลแม่อ้อในอดีต


 


"ละอ่อนสมัยนี้ ต้องถือว่าเป๋นยุคของเขา เพราะเฮามันเป็นคนแก่ บ่ตันยุค เดี่ยวนี้เยี๊ยะอะหยั่งสบายไปกู่อย่าง จะเดินตางไปตางใดก็มีรถมีราฮื้อได้ไจ้ บ่เหมือนถะก่อนตี่ต้องย่างตีนบ่ดาย กาว่าไจ้ล้อเกวียน สมัยมันเปลี่ยนไป เฮาต้องเข้าใจล่ะอ่อนบ่เดี่ยว ยุคไผ ยุคมัน" คำบอกเล่าของพ่อหลวงคำ อดีตผู้ใหญ่บ้านเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ออกอาการเห็นอกเห็นใจในการใช้ชีวิตของวัยรุ่นในปัจจุบัน แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนก็ต้องใช้ชีวิตให้พ้นไป เหมือนที่ผู้ใหญ่ผ่านมาได้แต่คราอดีต


 



ผู้เข้าร่วมบางส่วนที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง



บรรยากาศ วงคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนสองวัย นั่นคือ "คนเยาว์วัย" คือเด็กๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียนและเป็นอาสาสมัครของศูนย์เพื่อน้องหญิง และอีกวัยคือ "คนสูงวัย" คือผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้สูงอายุ ในชุมชนที่เป็นผู้มีอาวุโสในชุมชนตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นจากความสนอกสนใจของเด็กและเยาวชนที่ทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนในละแวกชุมชนนี้


 


จึงมีการชวนผู้ใหญ่มาพูดคุย มาเล่าเรื่องเก่าก่อนให้ฟัง ทั้งนี้ในตำบลแม่อ้อ ถือเป็นตำบลที่มีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ คือเป็น "ชมรมผู้สูงอายุ" ประจำตำบล โดยแบ่งเขตการทำงานเป็นสองเขต ๆ ละ 10 หมู่บ้าน และกิจกรรมแต่ละครั้งที่ชมรมนี้จัดคือ เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ชราภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อการใช้จ่ายในด้านต่างๆ เป็นต้น


 


ผู้สูงอายุ หลายท่าน อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นหลัก "คนที่มีอายุมากกว่า 60ปี ก็เป๋นคนเฒ่า จะฮื้อป้อไปตางใดก็ไปบ่ได้ ลูกหลานก็ไปอยู่กรุงเทพกรุงไท เมินๆ จะปิ๊กมาเตื้อ ป้ออยู่ตี่บ้านก็เลี้ยงลูกน้อยฮื้อมันเขา" พ่ออุ้ยลา เล่าถึงสภาพชุมชนในปัจจุบันที่ลูกหลานของท่านไปทำงานต่างจังหวัดแล้วก็เอาลูกมาให้ท่านเลี้ยงดูแล


 


สิ่งที่น่าสนใจที่มีการถกกันมากคือ "ความเป็นอยู่" ของคนเมืองล้านนาในอดีต เพราะข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อก่อนประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา สภาพบ้านเมือง ชุมชน หมู่บ้านต่างๆ จะอยู่กันเป็นหย่อมๆ คนละที่กระจัดกระจาย เวลาจะเดินทางสัญจรไปไหนจะใช้เท้าเดินเปล่า หรืออย่างมากก็ใช้ล้อเกวียนเป็นพาหนะการเดินทาง


 


ไฟฟ้าไม่มี, ใช้แต่ขี้ค่างหรือย้า เป็นวัสดุจุดให้แสงสว่าง ส่วนการอยู่การกิน จะมีหมอบ้านเป็นคนดูแล หากใครไม่สบายก็จะมีพ่อหมอมาทำพิธีเรียกขวัญ หากใครเกิดลูกก็จะมีหมอตำแยมาทำคลอด หรือไม่สบายมากๆ ก็ต้องเอาใส่ล้อเกวียนไปในตัวอำเภอ ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลประมาณ 20 กิโลเมตร การเดินทางก็ต้องใช้เวลาประมาณ ครึ่งวัน


 


"สมัยถะก่อน บ่เหมือนปะเดี๋ยว ถ้าไผอยู่ว่างๆ จะโดนด่า ทุกคนต้องเยี๊ยะก๋านเยี๊ยะงาน ป้อจายถ้าบ่ได้เฮียนก็ต้องไปเลี้ยงงัวเลี้ยงควาย กาว่าปลูกข้าวในโต่งในนา ถ้าเป็นแม่ยิงก็จะอยู่บ้านเลี้ยงน้อง จ่วยแม่เยี๊ยะกับข้าวฮื้อป้อกาว่าอ้ายจายกิน" พ่ออุ้ยแก้ว บรรยายให้เห็นภาพการอยู่กินของคนเมือง ที่ชายกับหญิงจะมีภาระความรับผิดชอบที่ต่างๆ กัน ก่อนจะหันไปทางพ่อหลวงคำให้พูด


 


ส่วนพ่อหลวงคำก็เสริมทันทีว่า "ก๋านกินก็เก็บจากไฮ่จากสวนมาเยี๊ยะกิ๋น บ่ต้องซื้อ บางเตื่อปี่น้องก็เอามาฮื้อ มาแบ่งกันกิ๋น บ้านไหนเยี๊ยะกินถ้าแล้ว ก็เอามาสู่กั๋นก็มี บ่ต้องซื้อ บ่เหมือนบ่เดี่ยวนี้ จะเยี๊ยะ จะกิน อะหยั่งก็ต้องซื้อ บ่เดี๋ยวต้องซื้อข้าวกิน นาก็ต้องซื้อปุ๋ย ต้องจ่ายก่าโทรศัพท์แหมนักเลย บ่เหมือนถะก่อน"


 


ก็อย่างที่พ่อหลวงคำบอก คือ เดี่ยวนี้จะกิน จะทำอะไรก็ต้องจ่าย อย่างน้อยก็ต้องได้ควักเงิน ไม่เหมือนอดีตที่มีการพึ่งพาอาศัยกัน อยู่กันอย่างพี่น้อง แต่หลายครั้งเราจะเห็นว่าพี่น้องกันเองก็แก่งแย่งชิงดี ชิงเงิน ที่นาที่ไร่สมบัติต่างๆ ไม่ได้พึ่งพากันเหมือนอดีต – เกิดอะไรขึ้นกับชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกันไปเสียแล้ว?


 


เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า นับตั้งแต่โลกมีความเจริญต่างๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรืออวัตถุ ต่างๆ ที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ได้สร้างให้กระความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนไป


 


เริ่มจาก การประดิษฐ์ไฟฟ้า, การสร้างรถจักร, การสร้างเครื่องรับส่งวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ จากเมื่อหลายสิบปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน บ้านไหนไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีรถราใช้ หรือแม้แต่ใครไม่มีโทรศัพท์มือถือ ถือว่าไม่พัฒนา ไม่ทันสมัย – ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังบอกอะไรกับเรา กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้ระบบคุณค่าของคนเมืองล้านนาเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ? แล้วเราจะทำอย่างไรให้ดำรงไว้ซึ่งคุณค่าและความหมายของการอยู่อย่างพึ่งพาอาศัย อยู่อย่างพอมีพอกิน หรืออย่างพอเพียง แบบเดิมได้อีกละ?


 


 


- 2 -


 




ศาลาหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย


วันหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา, ปี 2540


ใต้ต้นฉำฉาและแมกไม้หลายหลากชนิดในพื้นที่ของหอศิลป์ฯ มอชอ ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการจัดงาน "สืบสานล้านนา" ครั้งแรก วันนั้นมีเยาวชน คนหนุ่มสาว พ่อครู แม่ครูภูมิปัญญาและประชาชนหลายร้อยคน ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของคนเมืองล้านนา มีกิจกรรมพบปะ แลกเปลี่ยน สอนและเรียนรู้ในภูมิปัญญาหลายๆ แบบ


 


นับจากนั้นเรื่อยมาจนถึงกาลปัจจุบัน การจัดงาน "สืบสานล้านนา" พัฒนาขบวนการ เติบโต เติบใหญ่มาได้หลายปีดีดัก แม้ว่าช่วงแรกๆ ของการจัดกิจกรรมจะพบเจอปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ครั้งหนึ่งจัดงานแล้วไม่มีเยาวชนมาเรียน หรือจัดแล้วไม่มีคนสนใจมาร่วมงานมากมายเท่าใดนัก


 


จนครั้งหนึ่งงาน "สืบสานล้านนา" จึงได้จัดให้เยาวชนที่สนใจในเรื่องราวภูมิปัญญาต่างๆ ของคนเมืองล้านนามาเจอกับพ่อครูแม่ครูอย่างล้นหลาม จนถือได้ว่าการจัดงานดังกล่าวประสบความสำเร็จ สร้างให้คนหลายคนที่ไม่รู้จักจารีตคนล้านนามากก่อน เริ่มสนใจการเข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ของคนล้านนา


 


ครั้นเมื่อพระเดชพระคุณเจ้าหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ (พระธรรมดิลก) วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ได้ให้แนวคิดว่า "การจะสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนาให้เกิดผลนั้น การจัดงานสืบสานล้านนาเพียงปีละครั้งๆ ละ 4 วัน ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริง ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าทุกลมหายใจเลย จึงจะเป็นจริง"


 


คณะกรรมการจัดงานสืบสานล้านนาได้นำมาปรึกษาหารือแล้วก็ได้มีความเห็นร่วมกันว่า  จะต้องทำโครงการที่จะให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาอย่างต่อเนื่องที่มิใช่เป็นแค่เพียงการจัดงานในช่วงเวลาสั้นๆ ปีละ 1ครั้ง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง "โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา"


 


ในปี 2543 คือหลังจากการจัดงานสืบสานล้านนา ครั้งที่ 4 โฮงเฮียนสืบสานฯ จึงเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้ภูมิปัญญาล้านนา และนำเสนอกระบวนการสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาล้านนาในด้านต่างๆ


 


ดูแล้ว  "โฮงเฮียน" ที่ไม่เหมือนโรงเรียนทั่วไป ได้เป็นเสมือนพื้นที่กลางในการพบปะผู้สนใจเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆของล้านนา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนต่างๆ, ภาษา อักขระล้านนา, การสาน, การจัดทำพิธีกรรมทางล้านนา ฯลฯ ได้เกิดขึ้นทุกๆ กลางปี


 


นับแต่วันที่ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ได้เกิดความตื่นตัวของคนเมืองในยุคใหม่ มาเรียนรู้แง่มุมเรื่องราวต่างๆ ของคนเมืองล้านนาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย


 


"ผมจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ฟ้อนนกกิงกะลาได้" เอก คนหนุ่มวัย 20กว่าๆ เคยพูดถึงปณิธานของเขากับผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนในหลายที่หลายเวลา - เป็นไปได้เสมอว่าไม่ว่าเรา, คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จะเท่าทันเทคโนโลยี ทันสมัย เรียนเก่ง ก้าวหน้าสักเพียงใด ก็ยังสามารถเรียนรู้วิถีภูมิปัญญาแต่เดิมได้ ดั่งคำกล่าวที่ว่า  "ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ" คือยุคใหม่ ของสมัยใหม่เราก็เป็น ก็เอา แต่เราไม่ทิ้งของดั้งเดิมที่มีมาด้วย


 


มีจารีตอีกหลายอย่างของคนเมืองล้านนาที่เยาวชนคนหนุ่มสาวยังไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าใจได้ คำถามสารพัดว่าทำไมต้องทำแบบนั้น? ทำไมต้องทำแบบนี้? เมื่อก่อนทำอย่างไร? ฟ้อนนกเป็นยังไง? ตบมะผาบคืออะไร? ทำไมต้องอู้กำเมือง? และอื่นๆ อีกมาย เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับคนที่ไม่รู้หรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาที่มีอยู่


 


อยากให้จารีตภูมิปัญญาดำรงอยู่ก็ต้องช่วยกันสืบสาน!?  - ผู้เฒ่า ผู้แก่ พ่อครู แม่ครู ย้ำอยู่เสมอครับ


 


- 3 -


 




"กาดหมั้ว" ภาพจากการจัดงานสืบสานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา –  ภาพจาก www.lannawisdom.org


ต้นสัปดาห์ในเดือนเมษายน, ปี2550


ทีมงานสืบสานล้านนา ขะมักเขม้นกับการตระเตรียมงานสถานที่จัดงานที่ใกล้เข้ามาถึงในอีกไม่กี่วัน แม้จะร้อนแต่แสงแดดก็ไม่อาจส่องแสงที่ร้อนอบอ้าวผ่านต้นฉำฉาใหญ่สูงที่ปกคลุมไปทั่วพื้นที่บริเวณโฮงเฮียนสืบสานฯ ได้ ทีมงานค่อยๆ จัดเวทีจนเริ่มตั้งตระหง่าน พื้นที่ด้านหน้าที่เริ่มไถ ขยายบริเวณให้มีที่กว้างกว่าปกติ บางคนกวาดเศาไม้ บางคนเก็บขยะ ….


 


"มีอะหยั่งฮื้อจ่วยก่อครับ" ผมตะโกนถามลุงคนหนึ่งที่กำลังถากหญ้าบริเวณโฮงเฮียนฯ


 


"บ่เป๋นหยั่ง ไว้วันงานมาจ่วยกั๋น ต๋อนนี้จ่วยประชาสัมพันธ์ฮื้อคนมาแอ่วนักเน้อ" คุณลุงยิ้มกลับและขยับจอบถางหญ้าทั่วบริเวณ


 


"ครับ" ผมพยักหน้าโดยไม่ได้เข้าไปช่วยถากหญ้าสักนิด แต่ก็บอกกับตัวเองว่าคงต้องช่วยกระจายข่าวสารเสียหน่อยแล้ว เพราะสำนักงานของเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนก็อยู่ในร่มชายคาของโฮงเฮียนสืบสานฯ เช่นกัน - "ถ้ามีอะหยั่งหื้อจ่วยเดี่ยวจะไปฮ้อง" คุณลุงปาดเหงื่อ ตะโกนย้ำกับผมอีกครั้ง


 


งานใหญ่ที่กำลังใกล้เข้ามาถึง ระบุหัวข้อว่า "อยู่อย่างล้านนา อยู่อย่างพอเพียง" – หลายคนอาจฉงนสงสัยว่าเป็นอย่างไร จะอยู่อย่างไรให้พอเพียงแบบคนล้านนา (กระแสพอเพียงพึ่งเริ่มมีคนสนใจมากมายหลายคนเมื่อยุคพ.ศ.นี้ ทว่าคนล้านนาอาจมีวิถีพอเพียงมาก่อนแล้วก็ได้เมื่อครั้งอดีต) น่าสนใจมากๆ สำหรับใครที่สงสัยหรืออยากเรียนรู้เรื่องเก่าแก่แต่ก่อน หรือสนใจที่จะเริ่มต้นหาโอกาสและเวลามาเรียนรู้ จารีต ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนเมืองล้านนา


 


เพราะ ในปี 2550 นี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปี ในการ "สืบสานล้านนา" จึงได้มีการหมายกาลจัดกิจกรรมเพื่อทบทวนและนำเสนอเรื่องราว ประสบการณ์ บทเรียน ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ได้มีการสืบสานจารีตเดิมของล้านนามาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ภายในงานก็จะมีทั้งการแสดงบนเวทีกิจกรรม มีกาดหมั้ว กาดม่วน กิจกรรมของเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา กลุ่มต่างๆ พบปะพูดคุยกับพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญา ฟังจ้อย ซอ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย


 


ขอบอกกล่าวและเชิญชวนทุกท่านที่สนใจ มาแอ่ว มากอย, เข้าร่วมงาน ครบรอบ 10 ปี สืบสานล้านนา ตั้งแต่วันที่ 5 – 8 เมษายน 2550 ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ถนนรัตนโกสินทร์ หลังโรงเรียนปริ้นซ์รอยัลฯ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อสอบถามได้ที่ 053-244231 หรือ http://www.lannawisdoms.com/  นะครับ


 


มาหาคำตอบร่วมกัน ว่าอยู่อย่างล้านนา อยู่อย่างพอเพียง เป็นอย่างไร?