Skip to main content

ควันหลง Final Score: เมื่อผมกลายเป็นหนอนบ่อนไส้

คอลัมน์/ชุมชน

เด็กใหม่ในเมือง


 


ในช่วงเดือน-สองเดือนที่ผ่านมา ถ้าไม่นับ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" แล้ว หนังไทยที่เป็นเฉดสีที่น่ามองอีกเรื่องหนึ่ง ก็คงหลีกไม่พ้น "Final Score – 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอนท์" ไปได้ ซึ่งกว่าที่บทความชิ้นนี้จะถูกเอามาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน หนังเรื่องนี้ก็คงออกจากโรงภาพยนตร์ไปแล้ว


 


แต่ถึงกระนั้นหนังเรื่องนี้ก็มีเรื่องมากมายที่น่าพูดถึงกันต่อ


 


ซึ่งภายหลังที่หนังออกฉาย ก็มีคอมเมนต์มากมายเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่เสียงชื่นชม ไปจนถึงเสียงที่ตั้งข้อสงสัยว่าเราจะเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็น "สารคดี" หรือไม่ (รวมถึงคอมเมนต์แบบ "แหม...แต่ว่าพอน้องๆในหนังไว้ผมยาวปั๊บ ทำไมดูน่าเจี๊ยะขึ้นมาทันทีทันใดละเนี่ย" ซึ่งผู้ที่แสดงทัศนะนี้ไว้พร้อมกับเลียริมฝีปากแผลบๆก็คือชบาแก้ว – คนข้างกายร่างกลมของผมนั่นเอง -___-")


 


แต่สำหรับตัวผมเอง การนั่งดู Final Score เหมือนกับการนั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปยังสมัยที่ตัวเองกำลังเตรียมตัวเอนทรานส์อีกครั้ง


 


หลายๆ ภาพที่เราได้เห็นในตอนนั้น แม้ในรายละเอียดมันจะแตกต่างออกไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่ในภาพหลักๆ เองนั้นก็เหมือนกับจะเป็นภาพสะท้อนของช่วงเวลาเตรียมตัวสอบของเราๆ ท่านๆ ในช่วงเวลาของเราๆ ทั้งภาพของการอ่านหนังสืออย่างคร่ำเคร่ง การกวดวิชา ไปจนถึงการบนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ


 


ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าภาพที่อยู่ในความทรงจำของเด็กมัธยมเกือบทุกคนอยู่ในหนังเรื่องนี้แล้ว


 


แต่เรื่องที่ทำให้ผมอยากเขียนบทความชิ้นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่คุณได้อ่านมาในหลายๆ ย่อหน้าที่ผ่านมาหรอกครับ...ผมกำลังจะเล่าให้คุณฟังอยู่นี่แหละ


 


เรื่องมันเกิดขึ้นตรงที่ว่าบังเอิญว่าผมได้รางวัลเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมของหนังเรื่องนี้จากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเขากำหนดว่าสามารถพาเพื่อนไปเข้าร่วมกิจกรรมได้หลายคน


 


และด้วยความที่หนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับความทรงจำสมัยมัธยม ผมจึงคิดที่จะชวนเพื่อนสมัยมัธยมไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ว่านั่น


 


แต่เมื่อผมชวนเพื่อนผมไป ผมกลับได้รับคำตอบจากเพื่อนว่า "มึงแม่งเป็นหนอนบ่อนไส้นี่หว่า ไปสนับสนุนหนังโรงเรียนพวกแม่งทำไมวะ"


 


@#@#@#@#@


 


โรงเรียนมัธยมที่ผมเคยเรียนอยู่ กับโรงเรียนที่ปรากฏอยู่ในหนัง Final Score นั้นถือเป็น "คู่ปรับ" กันมาตั้งแต่ชาติปางไหนก็ไม่รู้ ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรพบุรุษรุ่นพี่ของพวกเราทั้งสองโรงเรียนไปสรรหาเรื่องให้กัดกันได้อย่างไร


 


หลายคนเดากันว่า ที่ความรู้สึกเกลียดชังนั้นเกิดขึ้นมาเพราะว่าทั้งสองโรงเรียนดันเป็นโรงเรียนชายล้วนที่เกิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน แถมทั้งสองโรงเรียนต่างมีชื่อเรื่องฟุตบอลเหมือนๆ กัน จึงทำให้ทั้งสองโรงเรียนแข่งกันทั้งในเรื่องการเรียนและฟุตบอล ไปๆ มาๆ เลยรู้สึกเหม็นขี้หน้ากันซะงั้น


 


ผมเองก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้สึกเกลียดโรงเรียนตรงข้ามนั่นเหมือนกัน ยิ่งพอเราได้เห็นอีกฝ่ายแสดงความรู้สึกเกลียดโรงเรียนของเราเท่าไหร่ (ซึ่งทางฝั่งกระโน้นก็คงได้รับความรู้สึกแบบที่เรารับเหมือนกัน) ความเกลียดชังที่มีก็ยิ่งเพิ่มขึ้นไปกันใหญ่


 


ยิ่งมีบางครั้งที่เพื่อนของเราโดนหาเรื่องเสียเอง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง


 


แต่เมื่อเข้ามาเรียนในระดับมหา’ลัย ผมก็ได้รู้จักเพื่อนมากมาย รวมถึงเพื่อนดีๆ อีกหลายคนที่พอมารู้ภายหลังก็พบว่าพวกเขาจบมาจากโรงเรียนที่เคยเป็นอริกับผมนะแหละ


 


ผมพบว่าหากตัดเรื่องสถาบันเก่าของเราออก เขาก็เป็นเพียงแค่คนธรรมดาๆ เหมือนกับที่เราเป็น ซึ่งเราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้ (ส่วนเวลาทั้งสองโรงเรียนแข่งบอลกันนั้น ก็มีอารมณ์แบบเดียวกับฟุตบอลลิเวอร์พูล-แมนฯยูแหละครับ...พอเจอหน้ากันก็ถากถางผลการแข่งขันกันบ้างเล็กน้อยพอหนุกหนานกันไป J)


 


บางเวลาก็ลืมไปเสียสนิท...ว่าโรงเรียนเราเป็นศัตรูกัน


 


@#@#@#@#@


 


ผมกำลังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความรักสถาบันของตัวเอง


 


แน่นอนว่าถ้าถามผมว่าผมยังคงรักโรงเรียนเก่าของผมหรือไม่...ไม่ลังเลเลยที่จะบอกว่าผมรักโรงเรียนนี้ เพราะหลายสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ผมเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้นั้นเกิดจากวิชาความรู้ และครูบาอาจารย์ที่เป็นเหมือนกับช่างปั้นที่ต่างช่วยขึ้นรูปตัวผมจนกลายเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้


 


แต่ในความรักนั้น เราจำเป็นต้องเกลียดอะไรสักอย่างด้วยหรือ?


และหากเราเลือกที่จะรักโดยไม่เกลียด จะถือว่าเราแสดงความรักอย่างไม่สมบูรณ์กระนั้นหรือ?


 


หากคำตอบของทั้งสองคำถามนั้นตอบว่า "ใช่" ผมคงต้องบอกว่า...ผมยินดีที่จะกลายเป็น "หนอนบ่อนไส้" หรือเป็น "คนทรยศ" หากความรักโรงเรียนนั้นจะต้องแสดงด้วยการมองทุกสิ่งที่ตรงข้ามกับเราว่าเป็น "ศัตรู"


 


ผมเชื่อว่ามนุษย์ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้วิธีตื้นๆ แบบนั้นมอง...