Skip to main content

อากาศวิกฤติ (2)

คอลัมน์/ชุมชน

‘ฐาปนา’


 


กว่าที่คอลัมน์นี้จะโพสต์ขึ้นบนบอร์ดของประชาไท ผมคิดว่าสถานการณ์มลภาวะฉับพลันในเชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดของภาคเหนือน่าจะคลี่คลายแล้ว หลังจากที่ประชาชนต้องทนกับสภาพฝุ่นควันเต็มเมืองมานานร่วมสัปดาห์ จำนวนนับหมื่นที่ต้องเข้าโรงหมอ และจำนวนไม่น้อยที่ต้องย้ายที่อยู่กระทันหัน


 


แม้จะรู้สึกว่าการแก้ปัญหาค่อนข้างจะช้า แต่ก็เข้าใจว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับสภาพราชการไทย ที่มักจะช้าในเรื่องความทุกข์ของราษฎร (แต่เร็วในเรื่องของงบประมาณ) ทำให้กว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ชาวประชาก็เหนื่อยหน่ายไปตามๆ กัน


 


ไม่ทราบว่า การเอาน้ำขึ้นเครื่องบินไปโปรยลงมา, การให้รถดับเพลิงมาฉีดน้ำทั่วเมือง หรือการที่จะให้จัดงานสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จะช่วยให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น และวางแผนการป้องกัน-แก้ไข หากเกิดกรณีเช่นนี้อีก จะโทษว่าเป็นเพราะธรรมชาติ เพราะไฟป่า เพราะปรากฏการณ์เอลนิญโญ หรือเพราะร่องความกดอากาศต่ำ เท่านั้นไม่ได้หรอกครับ ถ้าหากเราไม่ยอมรับว่า มลภาวะที่เกิดขึ้น เรานั่นแหละเป็นคนทำ เราก็จะช่วยกันรุมสกรัมสร้างมลพิษทำร้ายสิ่งแวดล้อมกันต่อไป แล้วเหตุการณ์แบบนี้ก็จะวนเวียนมาอีกไม่จบไม่สิ้น


 


เท่าที่หน่วยงานภาครัฐชี้แจงสาเหตุหลักคือเรื่อง "ไฟป่า" นั้น หลายฝ่ายฟันธงว่า 90% ของไฟป่าที่เกิดขึ้น เกิดจากการเผาป่าของชาวบ้าน เกิดจากกิจกรรมการเผาไร่เผานา หรือเผาป่าเพื่อหาของป่า แต่ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนออกมาบอกว่า มลภาวะในเมืองก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่าเรื่องสาเหตุของไฟป่าเป็นจริงดังที่ท่านว่า ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องไฟป่า ที่จะต้องควบคุมไม่ให้ความรุนแรงขึ้นไปถึงขีดอันตราย ก็เห็นว่าเฝ้าระวังกันอยู่ไม่ใช่หรือครับ


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผมต้องคิดว่า คำว่า "เฝ้าระวัง" ที่หน่วยงานราชการชอบใช้กันนักหนานั้น เอาเข้าจริง มันใช้ได้ในทางปฏิบัติหรือเปล่า?


 


เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปริมาณของฝุ่นควัน จากกิจกรรมที่มนุษย์กระทำทุกๆ ประเภท ล้วนส่งเสริมให้สภาพอากาศที่ย่ำแย่อยู่แล้วนั้น เลวร้ายลงไปอีก แต่สิ่งที่ฝ่ายปกครองทำได้ดีที่สุด มีแค่การติดป้าย "ห้ามเผาขยะ ฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท" หรือห้ามขายหมูกะทะ, ห้ามขายปิ้งไก่ แค่นั้นหรือ อีกหน่อยพอสถานการณ์ดีขึ้น ทุกสิ่งก็กลับสู่สภาพเดิม รอให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ก็ค่อยมาประกาศห้ามกันอีกที ใช่หรือไม่


 


ก็ไม่ใช่เพราะการส่งเสริมให้คนมาเที่ยวกันเยอะๆ ในช่วงหนาวที่ผ่านมาหรอกหรือ จึงทำให้ปริมาณขยะในเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ขยะเหล่านี้ กำจัดด้วยการฝังหรือเผา? มีใครเคยคิดบ้างว่า การใช้น้ำในเมืองเชียงใหม่ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมากแค่ไหน และมีส่วนทำให้ปริมาณน้ำในธรรมชาติลดลงด้วยหรือไม่ เป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าไม้ขาดน้ำ ต้นไม้แห้ง กลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี ใช่หรือไม่? ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว เพิ่มควันให้เมืองเชียงใหม่มากเท่าไร? บางที มลภาวะที่เกิดขึ้น อาจเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับ เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา


 


สถานการณ์มลภาวะเฉียบพลันที่รุนแรงที่สุดใน 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนนั้น หากเปรียบเทียบ แจกแจงกันจริงๆ มีเหตุปัจจัยที่น้ำหนักแตกต่างกันไป เชียงใหม่ และเชียงรายนั้นเป็นเมืองใหญ่เชิงเขา มีประชากรหนาแน่น มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดควันจากการเผาไหม้ในปริมาณสูง  แต่ภูมิประเทศก็ยังเอื้ออำนวยให้อากาศเคลื่อนที่ กระจายควันออกไปได้ ส่วนแม่ฮ่องสอนนั้น เป็นเมืองในหุบเขา แม้ประชากรจะไม่หนาแน่น แต่ควันไฟจากการเผาป่าสะสมค้างอยู่ในเมือง หากฝนไม่ตกแล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้นได้ยาก ถึงขนาดผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เข้าประชุมต้องสวมหน้ากากกันทุกคน มันก็อยู่กันลำบากแล้วละครับ


 


ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบที่มากกว่าเรื่องการท่องเที่ยวไปแล้ว เพราะเมืองเหนือขึ้นชื่อมาแต่ไหนแต่ไรเรื่อง "อากาศดี" แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้ว คงไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำเหมือนเดิมอีกแล้ว ใครที่คิดจะย้ายมาอยู่ทางเหนือ ไม่ว่าจะชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ก็คงต้องทบทวนกันใหม่ เพราะไม่รู้ว่า ฝุ่นควันจะกลับมาอีกเมื่อไร


 


ก็ได้แต่หวังละครับ ว่าเหล่าผู้ปกครอง บ้านเมืองทั้งหลาย จะช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงไปได้ ไม่ใช่แค่ "ขายผ้า(ปิดจมูก)เอาหน้ารอด" แต่ขอให้วางแผน ป้องกัน แก้ไข ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่เพราะเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว แต่ขอให้คิดถึงสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นหลัก


 


เรื่องนี้ เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว แต่เสียหายไปอีกนาน