Skip to main content

มองโลกในแง่ร้าย

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้เป็นกรรมการภายนอกเพื่อตรวจสอบคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนเป็นกรรมการที่อาวุโสน้อยที่สุด มีกรรมการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเอ่ยมาว่าผู้เขียนมองโลกในแง่ร้าย เมื่อกล่าวถึงกรอบระเบียบบางอย่างที่ต้องการให้คณาจารย์ต่างชาติของสถาบันแห่งนั้นปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพราะแคลงใจในคุณภาพงานที่เอามาให้ดู ผู้เขียนเลยสวนกลับแบบสุภาพไปว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะฝรั่งเองก็เชื่อใจไม่ค่อยได้ เนื่องจากตนเองมีประสบการณ์ตรงสมัยที่สอนที่สหรัฐฯมาก่อน


 


ผู้เขียนไม่ได้โกรธหรือเคืองที่ได้ยินคำท้วงติงแบบนี้ แต่กลับรู้สึกว่าในสังคมนี้ยอมรับฝรั่งมากไป โดยเฉพาะฝรั่งในเมืองไทยซึ่งหลายคน (ไม่ใช่ทุกคน) ไม่มีคุณภาพและชอบย่ำยีคนไทย นอกจากนี้มักชอบเหมาเอาว่าคนไทยไงๆ ก็ไม่กล้าเถียงฝรั่ง ไม่กล้าท้วงติงฝรั่ง ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ผู้เขียนแน่นอน เพราะว่ารู้เช่นเห็นชาติฝรั่งพอสมควร ไม่ว่าในไทยหรือสหรัฐฯ


 


เรื่องไม่เชื่อคุณภาพฝรั่งส่วนมาก (โดยเฉพาะในเมืองไทย) เป็นผลมาจากการทำงานที่นิด้าที่มีอาจารย์ไทยเก่งๆ (และแน่นอนเก่งกว่าฝรั่งหลายคน) และการทำงานในสหรัฐฯที่สอนให้เป็นคนไม่กลัวฝรั่ง จึงรู้จักแยกแยะฝรั่งได้ น่าเสียดายที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมกลัวฝรั่ง บ้าฝรั่งแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่ก็ไม่ได้ให้บอกว่า "ฝรั่งไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ ไม่ต้องสนใจฝรั่ง" ซึ่งอันนั้นก็เกินไป


 


ใจของผู้เขียนอยากให้สังคมไทยมองฝรั่งเป็นคนเช่นเดียวกับและระดับเดียวกับคนไม่ใช่ฝรั่ง ไม่ว่าจะผิวสีใด รวยไม่รวย เก่งไม่เก่ง สังคมไทยมักเหมารวมง่ายๆว่า ฝรั่งผมทองเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยพวกญี่ปุ่น เกาหลี และก็ต่างชาติใครก็ได้ที่พูดอังกฤษได้ พวกนี้เหนือกว่าคนไทยด้วยกัน ในขณะที่ไปดูถูกเพื่อนบ้านแถวๆนี้ ดูถูกแขก ดูถูกใครก็ตามที่ผิวสีเข้มและจน  ทัศนคติเหล่านี้คือทัศนคติที่ไม่พัฒนา เป็นทาส เป็นอาณานิคมทางปัญญา เพราะไม่คิดไม่ไตร่ตรอง เหมาเอาคุณลักษณะตามเปลือกนอกทุกอย่าง เหมาไปว่าถ้าเป็นฝรั่งต้องเก่ง ต้องดี และต้องรวยทุกคน เหมือนกับฝรั่งส่วนมากในเมืองของเขาที่ดูถูกคนเอเชียนหรือแอฟริกันว่ามันด้อยไปเสียหมดทุกคนเช่นกัน


 


วันนั้นเสร็จงานประชุม ผู้เขียนต้องรีบเดินทางกลับมายังนิด้าเพื่อทำงานต่อทันที โดยเฉพาะเรื่องตรวจข้อสอบไล่ที่กองเป็นภูเขาเลากา แล้วต้องตัดเกรดให้เด็ก จึงไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ต่อเพราะเสียเวลาและไม่ติดใจนอกจากได้คิดอีกหนกับมุมมองแบบไทยๆ


 


จากนั้นจนวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2550) ได้ไปเดิน "สยามพารากอน" ที่ตั้งใจว่าจะไปเดินนานแล้ว ตั้งแต่กลับมาทำงานที่เมืองไทยเมื่อ 10 เดือนก่อน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไปสักที จนกระทั่งมีหนุ่มน้อยรุ่นลูกที่รักนับถือกันมาตั้งแต่ผู้เขียนสอนอยู่อเมริกายินดีที่จะไปด้วยเพราะเธอว่างๆ ช่วงนี้ คอยผล "โอเน็ท เอเน็ท" จึงมีเพื่อนไปด้วย ลดความกลัวที่จะไปเหยียบอ่างกะปิไฮโซเค้าแตก เพราะเปิ่นเฉิ่มจากทุ่งหญ้าแพรรี่ในอเมริกา และทุ่งบางกะปิแถวๆ นี้


 


ลำพังชีวิตทั่วไปของผู้เขียนก็จะจับจ่ายเฉพาะร้านค้าแถวบ้าน และพวกห้างดิสเค้านท์สโตร์ที่ขายสินค้ายังชีพและมวลชน ไอ้พวกอัพสเกลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ไม่ค่อยได้ไป ดีหน่อยก็เซ็นทรัลลาดพร้าว ส่วนเดอะมอลล์บางกะปินี่ไม่ค่อยได้เดินกับเค้านัก แม้ว่าจะใกล้กับนิด้าแบบสุดๆ ก็ตามเพราะเสร็จงานแล้วก็แทบอยากกลับบ้านทันที ไม่ก็ไปแวะร้านใกล้ๆ บ้านมากกว่า


 


การไปเดินห้างหรูๆ จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้เขียนเพราะต้องหาเวลาในการทำกิจกรรมดังกล่าว เมื่อมีเพื่อนไปด้วย จึงไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสดังกล่าวนั้น เดินทางไป "สยามพารากอน" ทันที


 


ใช้เวลาจากบริเวณแครายที่นัดเจอกันไปยัง "สยามพารากอน" ประมาณเกือบชั่วโมงครึ่ง ไปติดแหง็กตรงแยกพญาไทและราชเทวีตรงนั้นปาไปกว่าชั่วโมง นึกในใจว่าถ้าเป็นธรรมดานี่จะดุเดือดแค่ไหน เพราะปกติผู้เขียนไม่ได้เข้ากรุงสักเท่าไร ชีวิตวนเวียนแถบลาดพร้าวและทุ่งบางกะปิ และก็สวนทางชาวบ้านที่ขับออกนอกเมืองตอนเช้าและเข้าเมืองตอนเย็น จึงเสียนิสัยที่รถไม่ติดมากเหมือนกับการจราจรอีกฝากหนึ่ง


 


เข้าไป "สยามพารากอน" ก็ให้ความรู้สึกว่าเหมือนเดินในห้างเมืองนอกหรูพอสมควรแห่งหนึ่ง สินค้าก็หลากหลายดี มากพอสมควรสำหรับเมืองไทยที่มีคนจนมากกว่าคนรวยหลายแสนเท่า แต่หากถามว่ามีสินค้าหรูๆ ดีมั้ย ยอมรับว่าดี มีไปเถอะให้คนรวยเค้าซื้อกัน ราคาไม่แพงหรอกเมื่อเทียบกับที่ต้องบินไปซื้อเมืองนอกเอง หลายชิ้นเหมาะกับคนมีรายได้สูง แต่ไม่น่าเกลียดนัก ห้างหรูๆ ในสหรัฐฯหรือยุโรปจริงๆ  มีมากกว่านี้ เมืองไทยได้แค่นี้ถือว่าไม่เว่อร์แต่อย่างใด


 


เคยนึกสงสัยก่อนหน้านี้เพราะมีเพื่อนคนไทยบอกว่าตรงนี้หรูจนจับไม่ได้ เลยมาดูของจริง ก็บอกได้ว่าถ้าหาเงินได้มากๆ ของที่นี่ไม่เรียกว่าแพง แต่ว่าคนไทยคงมีเป็นบางกลุ่มที่จะซื้อได้โดยไม่ต้องปาดเหงื่อนัก ทำให้นึกถึงตอนที่อยู่สหรัฐฯ  เพราะผู้เขียนก็ชอบเดินห้างหรูๆแบบนี้แต่ไม่ค่อยได้ซื้อหรอก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพารากอนเองและร้านอื่นๆ และทำนองนี้ในเมืองนอก เนื่องจากผู้เขียนได้เงินรายได้ที่นั่นปีละสอง-สามล้านบาทไทยถือเป็นรายได้ชั้นกระจอก ซื้อของได้แค่ตามร้านดิสเค้านท์สโตร์เท่านั้นแหละ


 


การที่มีห้างแบบสยามพารากอนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ไทยพยายามเลียนแบบฝรั่ง แต่เลียนแบบได้ไม่เลวนัก ผู้เขียนขอชม เพียงแต่ว่าคนบางกลุ่มอาจซื้อหาจับจ่ายที่นั่นได้เท่านั้น ไม่ใช่ทุกคน ส่วนคนที่จับจ่ายซื้อหาไม่ได้ก็ไม่น่าน้อยเนื้อต่ำใจ การมีห้างหรูให้เดิน มีแอร์เย็นสบายนี่ ไม่น่าเกลียดอะไรนัก เพียงแต่ว่าต้องเข้าใจในกลไกของโลกเสรีทุนนิยมใบนี้ให้ได้ อย่าไปยึดติดกับวัตถุมากไปนัก เพราะว่าความสุขที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องมาจากของหรูๆหราๆแบบนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปสนับสนุนหรือต่อต้าน


 


ผู้เขียนมองว่าการที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเลวไปเสียทุกอย่าง ในโลกตะวันตกนั้น เค้าสอนให้ประชาชนของเค้าขยันทำมาหากินและมีเครื่องอุปโภคบริโภคให้จับจ่ายได้ตามอัตภาพ แต่ในสังคมไทยสิ่งที่น่ากลัวมากก็คือเราไม่ได้สอนค่านิยมให้เป็นคนมีวินัยและจริยธรรมในการทำงาน เราไม่มีค่านิยมชุดนี้ในสังคมไทยที่จะให้คนทำงานอย่างมีจริยธรรมการทำงาน


 


ผู้เขียนชื่นชมในหลายด้านของฝรั่งโดยเฉพาะเรื่องของจริยธรรมการทำงาน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าฝรั่งทุกคนจะเป็นเฉกเช่นที่คนไทยหลายคนก็มีความวิริยะและซื่อสัตย์ต่อตนเองและสังคม จุดนี้เป็นเรื่องที่เราต้องสร้างในสังคมไทย การมีของหรูหราให้ดูให้ซื้อมีมากกว่ามาแค่ยั่วกิเลสตื้นๆ แต่หมายถึงว่าถ้าเราขยันและมีเงินพอที่จะซื้อของที่เราอยากได้บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ส่วนเมื่อวันใดเรามีทรัพย์น้อย เราก็ไม่ต้องไปซื้อของหรูๆ อยู่อย่างธรรมดาก็ได้เช่นกัน


 


ผู้เขียนเชื่อว่าสังคมไทยจะน่าอยู่มากขึ้น ถ้าคนในสังคมจะมองโลกนี้สังคมนี้ อย่างละเอียดลออพอ ไม่ใช่พอคนติอะไรหน่อย ก็ด่าเค้าว่ามองโลกในแง่ร้าย หรือพอคนชมก็เหลิง ยิ่งถ้าเป็นเรื่องฝรั่งนี่ รู้สึกจะโอ๋กันเป็นพิเศษ ชมได้แต่ด่าไม่ได้ หรืออยากให้ฝรั่งชม ทั้งที่ฝรั่งเองตอแหลให้ฟังคนไทยก็ชอบ ถ้าฝรั่งตินี่จะถือเป็นเรื่องใหญ่ต้องวิ่งกันจ้าละหวั่น ถ้าคนไทยด้วยกันติ ถือเป็นเรื่องจับผิด คิดอิจฉาไปซะงั้น สังคมไทยนี่หนีเรื่องมาตรฐานทับซ้อนไปไม่พ้นซักเรื่อง เป็นเพราะมองโลกกันแบบขี้ข้าฝรั่ง แบบโลกยุคอาณานิคมนั่นเอง


 


ตอนนี้หากมีใครมาบอกผู้เขียนว่ามองโลกในแง่ร้าย ผู้เขียนก็จะฟังแล้วมาวิเคราะห์ต่อไป เอาเป็นว่าขอถามคำถามกลับว่า การมองโลกในแง่ดีคือการคิดแบบตื้นๆ ไร้เดียงสา หรืออย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า naivity หรือเปล่าเท่านั้นแหละ