Skip to main content

มองทางสู่สภา

คอลัมน์/ชุมชน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นบรรยากาศการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่คึกคักเป็นพิเศษ แม้ว่าช่วงหาเสียงจะมีมุมมองที่เสนอว่าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้อุดมไปด้วยวิชามารก็ตาม


สำหรับผู้เขียนเอง รู้สึกปิติยินดีที่เห็นสื่อโทรทัศน์หลายสถานีแพร่ภาพความตื่นตัวทางการเมืองของผู้เฒ่าผู้แก่, ผู้พิการ, เด็กแนว ที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ รวมไปถึงพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ด้วย


1


ในครั้งแรก ที่ผู้เขียนเกิดไอเดียว่าอยากเขียนเพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้เขียนถึงกับลังเลใจว่าจะหยิบยกประเด็นใดมาพูดคุยในมุมม่วง …แวบแรก คิดที่จะคุยถึงการป่าวประกาศข้อควรระวังต่าง ๆ ดังเช่น


อย่าใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองใด ๆ หรือแม้แต่เสื้อทีมของนักกีฬาที่สกรีนหมายเลขไว้บนเสื้อ ไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้ง
อย่าได้ใช้มือถือที่ถ่ายภาพได้ บันทึกภาพในคูหาเลือกตั้ง
อย่าลืมกำชับผู้สูงอายุ ว่าการขูด, ลบ, ขีดฆ่า ลงบนบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเผลอฉีกบัตรนั้นถึงขั้นผิดกฎหมาย - -


ข้อควรระวังเหล่านี้ กลายเป็นเหตุผลให้แม่ค้าขายอาหารตามสั่งแถวบ้านผู้เขียน ไม่ยอมห่างกระทะเพื่อไปใช้สิทธิ เพราะเธอกล่าวว่ากลัวจะหนีเสือปะจระเข้ หมายถึงหนีจากการเสียสิทธิทางการเมือง กลับถูกปรับฐานผิดกฎหมายการเลือกตั้ง แม่ค้าไม่มั่นใจในตัวเองว่า ความกระเปิ๊บกระป๊าบส่วนไหนของเธอจะล่วงละเมิดกฎซะอย่างนั้น


2


แวบที่สอง คิดที่จะคุยถึง เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่ง ที่ไม่เคยสนใจการเมืองเอาเสียเลย ทั้งยังมองว่าขี้เกียจไปติดอยู่กับการจราจรบนท้องถนนก่อนถึงหน่วยเลือกตั้งอีกด้วย แต่แล้ว เพื่อนคนนี้ก็ถูกพ่อของตน เรียกได้ว่า "ลากขึ้นรถ" เพื่อให้ไปช่วยกากบาทเลือกบางคนบางพรรคที่พ่อชอบ เพื่อนกล่าวว่า "ไม่แน่ใจว่า กาให้เบอร์อะไรไป แต่พอจะจำนามสกุล (ของผู้สมัครแบบแบ่งเขต) ได้" อย่างนี้ ถือว่ารักษาสิทธิหน้าที่ของประชาชนไว้ได้หรือไม่?


ทั้ง 2 ประเด็นที่กล่าวมาชวนให้ผู้เขียนคิดเพลิดเพลินเลยเถิด คิดเพลินไปพลางชมการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง ที่แต่ละสถานีโทรทัศน์แย่งยื้อขอคำสัมภาษณ์จากนักการเมือง เพื่อป้อนข้อมูลให้เกิดการวิเคราะห์อย่างเด็ดดวง บรรยากาศการช่วงชิงคำแถลงการณ์ ว่าไปเป็นเรียลลิตี้โชว์ที่โดนใจสุด ๆ …ลีลาผู้สื่อข่าวแบบไม่ใส่ใจจริตมารยาทกันแล้วนั้น ทำเอาผู้เขียนเคลิ้มอยู่หน้าจอไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง รู้สึกตัวอีกทีก็เพลียจนต้องปลีกตัวไปพักผ่อน


3


กระทั่งวันรุ่งขึ้น วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผลการเลือกตั้งใกล้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ แล้วมีการชวนคุยแบบโต๊ะกลมในรายการหนึ่ง ซึ่งเชิญว่าที่ ส.ส. รุ่นใหม่ไฟแรงของพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร มาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กัน ผู้เขียนเห็นเป็นภาพที่รื่นหูรื่นตา เพราะแต่ละท่านนั้นงามพิศเป็นอย่างมาก ทั้งรูปร่างหน้าตาและท่วงท่าการแสดงความคิดเห็น ผู้เขียนนึกไปถึง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่เพิ่งจะผ่านมาก่อนหน้านี้ ที่เกิดกระแสการบัญญัติฉายาว่ามี "หล่อใหญ่ หล่อเล็ก" จนกระทั่งมวลชนจับตามองว่า ชาว กทม. ชอบเลือกผู้แทนที่รูปร่างหน้าตา หรือไม่อย่างไร?


มาคราวนี้ คนหน้าตาดีมีวุฒิ ตบเท้าเข้าสภากันยกใหญ่ ถ้าสร้างสิ่งใหม่ให้วงการเมืองและ ยังประโยชน์ต่อประชาชนได้จริงคงน่าชื่นใจ


4


เล่ามาทั้งหมด ผู้เขียนเห็นประเด็นหนึ่งที่ร้อยเรียงทุกเรื่องราวเข้ากันได้ และสะท้อนความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ เรื่องของ "ภาพลักษณ์"


ไม่ว่าจะ…การถล่มภาพลักษณ์ของคู่ต่อสู้ผ่านการอภิปรายโจมตีกันและกันของนักการเมือง


การเสนอภาพการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้ที่เคยมีภาพลักษณ์เป็นรอง ไม่ว่าจะคนชรา คนพิการ คนที่เพิ่งได้ออกเสียงทางการเมือง หรือคนที่เคยถูกมองเป็นผีอยู่ในป่าเขา เหมือนจะบอกว่าขยายโอกาสการ หือ-อือ ทางการเมืองแล้ว


ภาพลักษณ์การเมืองไทยในสายตาหญิงก้นครัว หรือเยาวชนบางกลุ่มที่ยังมองการมีส่วนร่วมเหมือนแกว่งเท้าหาเสี้ยน


ภาพลักษณ์ผู้สื่อข่าวบางท่านที่ลืมไปว่า แย่งยุดฉุดดึง, จับหูฟังเสียบเข้ารูหูนักการเมือง หวังได้ข่าวมาขาย ก็มีโอกาสที่ผู้ชมทางบ้านจะจำติดตาได้เช่นกัน


หรือแม้แต่ภาพลักษณ์แฉล้มเฉลาของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่ประชาชนต้องติดตามต่อไปถึงผลงาน


5


ภาพลักษณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เอง หากมีแนวทางในการบริหารจัดวางให้เหมาะสม เป็นไปในทางที่ดีได้ ไม่ว่าเลือกตั้งครั้งไหน ๆ เมื่อเรียกความสนใจให้คนใส่ใจการเมืองได้แล้ว สิ่งที่ผู้คนควรจะเห็นต่อไปน่าจะเป็น


ประโยชน์ของประชาชน ใส-ใส ไม่มี "ยี๊"