Skip to main content

แม่น้ำเปลี่ยนสีกับเรื่องราวดีๆ ของชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

เคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ไหม?


ใครบางคนถาม...


หนังสืออะไร?


ไม่มีคำตอบจากผู้ถูกถาม แต่มีคำถามจากผู้ถูกถามให้ผู้ถามได้ตอบ...


ก็แม่น้ำเปลี่ยนสีไง...


ผู้ถามตอบ...


 


หนังสือ ‘แม่น้ำเปลี่ยนสี’ ความรู้สึกแรกที่ได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้คือความรู้สึกของจินตนาการที่ส่งไปถึงแม่น้ำในฤดูฝนขณะกำลังหลั่งไหลลงมาจากยอดภูเขาสูงและไหลมาพร้อมกับท่อนซุง กิ่งไม้ รวมทั้งก้อนหิน และเปลี่ยนสีไปตามธรรมชาติของฤดูกาล แต่พอเปิดอ่านก็เจอถ้อยคำจากหน้าแรกของหนังสือที่ทำให้ต้องเปลี่ยนความรู้สึกที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ไปเสียสิ้น...


 


‘แม่น้ำเปลี่ยนสี’ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงกระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน แม้ว่าเขื่อนที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้จะสร้างเสร็จมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ก็ไม่อาจหมดตามไปด้วย


 


ผู้เขียนได้ถ่ายทอดงานเขียนออกมาในรูปแบบของการบันทึก ซึ่งช่วงระยะเวลาที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือเป็นช่วงที่รัฐบาลมีมติให้เปิดเขื่อนปากมูน ช่วงเวลานั้นมันหมายถึงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ชาวบ้านได้สร้างขึ้นมาหลังจากที่ต่อสู้มาเนิ่นนาน


 


‘แม่น้ำเปลี่ยนสี’ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้น้อยมากในประวัติศาสตร์การพัฒนาของไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สร้างโดยคนท้องถิ่น


 


ผู้เขียนได้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่รัฐพยายามบอกว่า เป็นระยะทดลองของการเปิดประตูเขื่อนหลังปิดมานาน ผู้เขียนได้บันทึกถึงชีวิตของผู้คน-ไทบ้านริมฝั่งมูนในช่วงระยะเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการเปิดประตูเขื่อน ผู้เขียนเองไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเขียนบันทึกถึงเรื่องราวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันภายหลังการเปิดเขื่อนเพียงอย่างเดียว แต่ผู้เขียนได้เพิ่มมิติทางด้านอื่นๆ ที่รวมอยู่ในตัวคนที่ผู้เขียนไปสัมผัสด้วยตัวเองเพิ่มเข้ามาด้วย


 


แม้ว่างานเขียนชิ้นนี้จะเป็นบันทึกข้อมูลภาคสนาม แต่งานเขียนชิ้นนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การใส่ข้อเท็จจริงลงไปในงานเขียนจะทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสในการอ่านเพิ่มมากขึ้นด้วย บันทึกแม่น้ำเปลี่ยนสียังได้แสดงให้เห็นความใฝ่ฝันแสนงามของผู้คนที่มีต่อผู้คนทั้งในครัวเรือน ชุมชน และไทบ้านอื่นด้วย และที่ขาดไม่ได้คือหนังสือเล่มนี้ได้บันทึกถึงการกลับมาของปลา คนหาปลา และความคิดของคนหาปลาที่มีต่อสายน้ำที่กลับมาใสและไหลอย่างอิสระอีกครั้ง


 


ผู้เขียนได้บันทึกความจริงอีกด้านหนึ่งออกมาและทำให้รู้ว่า ภายหลังการล่มสลายลงของสถาบันชุมชนที่เกิดจากการพัฒนานั้น คนส่วนหนึ่งหายไปไหน และเมื่อแม่น้ำเริ่มเปลี่ยนสี คนส่วนหนึ่งเริ่มกลับคืนสู่หมู่บ้านริมฝั่งมูนอีกครั้ง โดนเฉพาะคนหาปลาที่เดินทางจากท้องนาสู่เมืองฟ้าอมร คนหาปลา ที่ไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ พวกเขากลับมาหาปลาอีกครั้งทำไม?


 


   


 


บันทึกการผ่านพ้นจากวันเป็นเดือนในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอตัวของผู้เขียนเองด้วยการใช้คำแทนตัวว่า ‘ฉัน’ ซึ่งข้อดีในงานชิ้นนี้ได้ทยอยออกมาจากการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ตามหมู่บ้านริมฝั่งมูน นอกจากนี้แม่น้ำเปลี่ยนสียังได้ชี้ให้เห็นว่า การพึ่งพาแม่น้ำของผู้คนริมฝั่งน้ำมีมานนานแล้ว และมีคนหลากหลายที่ได้พึ่งพาแม่น้ำ การเริ่มต้นที่จะเรียนรู้วิถีของคนริมฝั่งน้ำนั้นก็มีทั้งคนอายุมาก อายุน้อย อย่างเช่นเด็กชายเอกที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในแม่น้ำเปลี่ยนสี


 


‘เอก’ เป็นเด็กชายที่มีบรรพบุรุษเป็นคนหาปลาในแม่น้ำมูนจึงไม่แปลกที่วันหนึ่งเขาได้ลงหาปลา และการได้ปลาในวันแรกที่ออกหาปลามันเหมือนเป็นการเปิดพรมแดนของการเป็นคนหาปลาให้กับเด็กชายคนหนึ่ง แม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องราวเล็กๆ ของคนตัวเล็ก แต่หากว่าการเดินทางไปสู่บางสิ่งที่เด็กชายคนนี้ใฝ่ฝัน มันกลับเป็นสิ่งยิ่งใหญ่


 


การเดินทางกลับมาของคนหาปลาที่ครั้งหนึ่งพวกเขาจำต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านและละทิ้งการหาปลาไป เมื่อพวกเขากลับมาอีกครั้ง ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังเดินทางไปหาความฝันในโลกของความจริงที่ครั้งหนึ่งเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นกับคนหาปลามันไม่ใช่ความฝัน แต่มันคือความจริง หากแต่ว่าการพัฒนาแบบคาดการว่ามันจะดีต่างหากที่ทำให้คนหาปลาแห่งแม่น้ำมูนต้องเดินทางกลับไปสู่ความฝันในโลกแห่งความจริง


 


ความฝันของคนหาปลาที่ครั้งหนึ่งเคยหาปลาแล้วไม่ได้หาปลา ความฝันนั้นมันจะเป็นเรื่องราวของความฝันอันใด ถ้าไม่ใช่ความฝันถึงแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระ และเปลี่ยนสีไปเป็นแม่น้ำที่เคยเป็นมาเหมือนในอดีต...


 


หลังจากแม่น้ำเปลี่ยนสีภายหลังจากได้ไหลอย่างอิสระแล้ว นอกจากคนหาปลาจะได้กลับมาหาปลาอีกครั้ง ประเพณีและวิถีทางวัฒนธรรมของชุมชนริมแม่น้ำมูนก็กลับมาด้วย การทำบุญวันเนา-วันสงกรานต์ บนแก่งจึงเป็นวันรวมคนให้กลับไปสู่วัฒนธรรมของชุมชนอีกครั้ง ภายหลังประเพณีได้หายไปนาน เพราะแก่งจมอยู่ในน้ำใต้ท้องอ่างเก็บน้ำของเขื่อน


 


‘แม่น้ำเปลี่ยนสี’ เป็นบันทึกที่แสดงให้เห็นศักยภาพของคนลุ่มน้ำมูนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาตามแนวทางที่เขามีพลังในการทำ หากบ่อยให้ชุมชนทุกชุมชนมีโอกาสในการกำหนดแนวทางพัฒนาของเขาแล้ว แน่นอนว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาย่อมมีกับชุมชนทุกชุมชนโดยตรง เพียงแต่อย่ายื้อแย่งอำนาจในการจัดการไปจากพวกเขา


 


ธรรมชาติได้ให้คุณค่ามากมายต่อชีวิตหลายชีวิต ดังนั้นอย่าคิดยื้อแย่งเอาผลประโยชน์ที่ธรรมชาติมอบให้มาไปกอบกุมไว้คนเดียว


 


หนังสือ ‘แม่น้ำเปลี่ยนสี’ บันทึกเรื่องราวดีๆ ของชีวิตที่ถูกถ่ายทอดออกมา แม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเกิดในระยะที่หน่วยงานของรัฐบอกว่า มันเป็นการทดลอง แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว การบันทึกเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ไว้ จึงมีคุณค่าไม่น้อยทีเดียว แม้ว่าในแง่ของภาษาทางวรรณกรรม แม่น้ำเปลี่ยนสียังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำเปลี่ยนสีต่างหากที่ยิ่งใหญ่ และได้มาแทนที่ภาษาทางวรรณกรรมอันเป็นส่วนที่ขาดหายไป


           


แม่น้ำได้เดินทางไกลเพื่อคนมาเนิ่นนานแล้ว ในชีวิตหนึ่งคนเรา-เราควรได้ทำเรื่องราวดีๆ ให้กับแม่น้ำ เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณที่แม่น้ำได้ให้ประโยชน์กับพวกเรามามากมายสักครั้ง...


 


หมายเหตุ ผู้เขียนขอใช้คำว่า ‘มูน’ แทนคำว่า ‘มูล’ ด้วยเหตุผลกลใดนั้น เป็นเรื่องราวที่ผู้อ่านน่าจะได้นำไปถกเถียงกันต่อไป